×

18 Again ซีรีส์ที่บอกเราว่า ‘ชีวิตตัวเองต้องซ่อมเอง’ พร้อมเหตุผลที่คุณควรดูเพื่อชุบชูจิตใจ

23.02.2021
  • LOADING...
18 Again

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • ความฝันในชีวิตคนเราเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เพียงแค่ว่าในช่วงวัยนั้นๆ เราได้ลองทำอะไรสักอย่างเพื่อความฝันนั้นดูแล้วหรือยัง หรือตรงกันข้าม เราเลือกหยิบใช้ความฝันนั้นมาเป็นเพียงข้ออ้างของความผิดพลาดในปัจจุบัน อย่างเช่นที่ ฮงแดยอง อ้างมาตลอดว่าเพราะเขาไม่เลือกความฝันในตอนนั้น ชีวิตเขาจึงพังอย่างเช่นทุกวันนี้
  • จองดาจอง เคยมีความฝันอยากเป็นผู้ประกาศข่าว แต่ด้วยการมีลูกแต่ยังเล็ก ทำให้เธอเรียนจบช้ากว่าชาวบ้านไปเกือบสิบปี สุดท้ายความอุตสาหะทั้งมวลยังถูกท้าทายด้วยขนบสังคมเกาหลีใต้ที่ให้ค่ากับผู้หญิงที่แต่งงานมีลูกว่าควรจะเลี้ยงลูกอยู่บ้านมากกว่าทำงานข้างนอก โดยเฉพาะกับการเป็นผู้ประกาศข่าวที่ภาพลักษณ์สำคัญกว่าความสามารถ
  • ‘ความฝัน’ ที่เคยมีในวัยเยาว์มันก็ยังเป็นความฝัน แต่เขาเรียนรู้แล้วว่าไม่จำเป็นต้องทำความฝันทุกอย่างให้เป็นจริงก็ได้ 

18 Again จริงๆ แล้วมีความเป็นซีรีส์เกาหลีที่ดูง่าย ดูสบายๆ แฝงด้วยข้อคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์และชีวิตการทำงานเอาไว้มากมาย คล้ายๆ การมีใครสักคนคอยรับฟังและให้คำแนะนำในวันที่เหนื่อยล้า นั่นอาจเป็นเหตุผลที่วางซีรีส์เรื่องนี้ไว้คืนวันจันทร์และอังคาร ขณะออกฉายทาง JTBC ในปี 2019

 

แต่กระแสของ 18 Again กลับยังคงอยู่ข้ามปี จากการฉายผ่านทางสตรีมมิงเกือบทุกเจ้า เพราะถึงทุกวันนี้ยังคงมีการบอกปากต่อปากเกี่ยวกับความดีงามของซีรีส์เรื่องนี้ ซึ่งโดยภาพรวมคือการพาคนดูหลบหนีโลกความเป็นจริงไปตอบคำถามสำคัญๆ หลายข้อของชีวิต

 

…ความฝันที่สุดในชีวิตคืออะไร ได้ทำทุกอย่างเพื่อฝันนั้นหรือยัง

 

…ความสัมพันธ์ที่เจ็บจำฝังใจกับพ่อแม่ คุณจะก้าวข้ามผ่านมันอย่างไร

 

…และถ้าย้อนกลับไปได้ คุณอยากจะกลับไป ‘ซ่อม’ ชีวิตช่วงไหน

 

18 Again

18 Again

 

“ชีวิตตัวเองก็ต้องซ่อมเอง”

ฮงแดยอง ในวัยเฉียด 40 (รับบทโดย ยุนซังฮยอน) เป็นช่างซ่อมเครื่องซักผ้าของบริษัทซองจงอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าไม่บอกคงไม่รู้ว่าเขาเคยเป็นนักบาสเกตบอลมือรางวัลของโรงเรียน มีฝีมือขนาดว่าจะถูกทาบทามให้เข้าทีมมหาวิทยาลัย แต่แล้ว จองดาจอง แฟนสาวก็มาตั้งท้องช่วงมัธยมปลาย จนเขาถอดวางความฝันและเริ่มต้นการเป็นหัวหน้าครอบครัวตั้งแต่อายุ 18

 

คุณปู่ที่เรียกฮงแดยองมาซ่อมเครื่องซักผ้าถามเขาว่า “อยากกลับไปซ่อมชีวิตตัวเองไหม” แดยองตอบกลับไปว่า “ชีวิตตัวเอง ผมก็ต้องซ่อมเอง” 

 

การที่ซีรีส์เลือกให้ฮงแดยองทำงานเป็นช่างซ่อมเครื่องซักผ้า ทั้งยังทำให้เห็นว่าเขาเป็นนักซ่อมที่ชอบจัดการหลอดไฟที่เสีย ชอบช่วยเหลือคนโน้นคนนี้ แต่กับชีวิตของตัวเองดูเหมือนว่าเขาจะไม่รู้วิธีการ ‘ซ่อม’ จึงได้แต่ ‘ซ่อน’ มันเอาไว้

 

ระหว่างที่เวลาเดินทางไปเรื่อยๆ บาดแผลในชีวิตโชกโชนก็ทำให้ฮงแดยองเหน็ดเหนื่อย ไหนจะปัญหากระทบกระทั่งอย่างไม่ตั้งใจในครอบครัว ไปจนถึงปัญหาเรื่องการทำงานซึ่งเป็นโลกอีกใบซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตคนเราไม่แพ้กัน การสะสมของปัญหาเล็กๆ น้อยๆ กลายเป็นก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งไม่เคยได้เปิดใจคุยกัน ก็เหลือเพียงรอวันที่ทุกอย่างจะล่มสลาย ชีวิตของฮงแดยองก็เป็นแบบนั้น พ่อขี้บ่นที่วันๆ ดุด่าแต่ลูกๆ เพราะกลัวพวกเขาไร้อนาคต ส่วนตัวเองก็ไม่ได้มีหน้าที่การงานก้าวหน้า พออยู่บ้านก็เป็นพ่อที่กินเหล้า ดูทีวี และบ่นว่าเหนื่อยอยู่ตลอดเวลา 

 

18 Again

 

พระจันทร์ครึ่งดวง 

คิมฮานึล รับบท จองดาจอง คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่กำลังอยู่ระหว่างหย่าร้างกับฮงแดยอง สามีที่ในอดีตเลือกทิ้งความฝันแล้วมาเริ่มต้นชีวิตครอบครัวกันด้วยความยากลำบาก พร้อมๆ กับลูกแฝดชาย-หญิงที่ยิ่งต้องการรายได้มาจุนเจือครอบครัวเป็นทวีคูณ

 

จองดาจองเคยมีความฝันอยากเป็นผู้ประกาศข่าว แต่ด้วยการมีลูกแต่ยังเล็ก ทำให้เธอเรียนจบช้ากว่าชาวบ้านไปเกือบสิบปี สุดท้ายความอุตสาหะทั้งมวลยังถูกท้าทายด้วยขนบสังคมเกาหลีใต้ที่ให้ค่ากับผู้หญิงที่แต่งงานมีลูกว่าควรจะเลี้ยงลูกอยู่บ้านมากกว่าทำงานข้างนอก โดยเฉพาะกับการเป็นผู้ประกาศข่าวที่ภาพลักษณ์สำคัญกว่าความสามารถ

 

ขณะที่จองดาจองวิ่งตามความฝัน เธอมักตัดพ้อกับสามีที่ไม่เอาไหน หลายๆ ฉากที่เราได้เห็นพระจันทร์ครึ่งดวงไปจนถึงพระจันทร์เดือนดับที่แทนความหมายของการขาดหาย จองดาจองมองเห็นพระจันทร์เพียงแค่ครึ่งดวง ทั้งๆ ที่พระจันทร์มันกลมอยู่อย่างนั้นเป็นปกติ เพียงแต่ว่าจะมีแสงส่องกระทบให้เราได้เห็นมากน้อยเพียงใด เช่นเดียวกับการมองชีวิตคู่ที่จองดาจองมองไม่เห็นฮงแดยอง รู้สึกว่าเขาไม่เคยอยู่เคียงข้างในเวลาที่ต้องการ ทั้งที่จริงๆ แล้วเขาไม่เคยหายไปไหนเลย

 

18 Again

 

ความฝันในชีวิตเปลี่ยนแปลงได้เสมอ

เคยมีคำบอกว่า “ยิ่งผ่านชีวิตคุณจะยิ่งเข้าใจมัน” สำหรับฮงแดยองก็เช่นกัน ประสบการณ์ชีวิตที่หนักหนาผ่านเข้ามา และทำให้เขารู้ว่าความฝันในชีวิตได้เปลี่ยนไปแล้ว ในวัย 18 บาสเกตบอลอาจเป็นสิ่งที่เขาชอบที่สุด แต่เมื่อมีครอบครัว ต้องหาเงินอดมื้อกินมื้อ ทำงานหลายอย่างกว่าจะพอลืมตาอ้าปากได้ ‘ความฝัน’ ที่เคยมีในวัยเยาว์มันก็ยังเป็นความฝัน แต่เขาเรียนรู้แล้วว่าไม่จำเป็นต้องทำความฝันทุกอย่างให้เป็นจริงก็ได้ 

 

และความฝันในชีวิตคนเราเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เพียงแค่ว่าในช่วงวัยนั้นๆ เราได้ลองทำอะไรสักอย่างเพื่อความฝันนั้นดูแล้วหรือยัง หรือตรงกันข้าม เราเลือกหยิบใช้ความฝันนั้นมาเป็นเพียงข้ออ้างของความผิดพลาดในปัจจุบัน อย่างเช่นที่ฮงแดยองอ้างมาตลอดว่าเพราะเขาไม่เลือกความฝันในตอนนั้น ชีวิตเขาจึงพังอย่างเช่นทุกวันนี้

 

18 Again

18 Again

 

18 วัยเยาว์แห่งความเชื่อ ความฝัน และความหวัง

ซีรีส์ 18 Again เลือกให้ฮงแดยองย้อนกลับไปในวัย 18 ปี ช่วงเวลาที่เขาพูดในซีรีส์เสมอๆ ว่า “เป็นวัยแห่งความฝันและความหวัง” ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้ววัยหนุ่มสาวคือช่วงเวลาที่น่าจดจำที่สุด กับชีวิตที่ไร้ซึ่งภาระบนบ่า ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรใดๆ มีความฝันและความเชื่อที่อยู่ในใจเพื่อพุ่งไปข้างหน้า

 

วัยที่อยู่บนรอยต่อก่อนที่จะเข้ามหาวิทยาลัย เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีภาระหน้าที่มากมายรออยู่ 18 Again ฉายให้เห็นภาพนั้นจากการที่ฮงแดยองดิ้นรนทำงานทั้งที่ถูกลดค่าจากบริษัทที่เขาภักดีมายาวนาน, จองดาจองที่สมัครงานผู้ประกาศข่าวนับครั้งไม่ถ้วนและถูกปฏิเสธตลอดมา เพราะสถานะทางสังคมที่ไม่ยอมรับผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว

 

วัย 18 จึงเป็นตัวแทนความอิสระที่คนดูในวัยผู้ใหญ่ได้ย้อนเวลากลับไปชื่นชมความสุขในวัยเยาว์ สำหรับคนดูในวัยรุ่น ก็เป็นการอธิบายเหตุผลว่าทำไมพ่อแม่ถึงพยายามยัดเยียดความฝันของตัวเองให้กับลูกๆ และทางออกของปัญหาทั้งหมดคือการหันหน้าเข้ามาพูดจากันอย่างจริงใจ

 

18 Again

 

ซีรีส์สานสัมพันธ์ครอบครัวที่ช่วยเยียวยาบาดแผลและระบายความรู้สึกผิด

ไม่แปลกใจเลยที่ซีรีส์ 18 Again ได้รับความนิยมล้นหลามมาจนถึงวันนี้ นั่นเพราะตัวละครที่มีชีวิตอยู่ในเรื่อง เราสามารถเอาตัวเองเข้าไปสวมทับได้ ทั้งในฐานะลูกสาว ลูกชาย พ่อ แม่ เพื่อน คนรัก ไปจนถึงผู้สูงวัยในครอบครัว ทั้งด้วยเรื่องราวยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริงในชีวิตประจำวันที่เราอาจเผลอหลงลืมคนใกล้ตัวหรือพูดจาทำร้ายจิตใจ สร้างความบาดหมางโดยไม่ตั้งใจ

 

ทุกๆ วันเราวิ่งวุ่นกับเรื่องราวของตัวเอง จนลืมความรู้สึกคนที่รักใกล้ตัว และหวังแต่ว่าพวกเขาจะเข้าใจ ซีรีส์เรื่องนี้พาเราเก็บรายละเอียดเล็กน้อยเหล่านั้น ทั้งยังสอนให้เรารู้จักมองในมุมของคนอื่นๆ และเรียนรู้ได้ว่า สำหรับ ‘ครอบครัว’ แล้วนั้น เรา ‘ยกโทษ’ ให้กันและกันได้เสมอ 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X