×

‘170 หุ้นยั่งยืน’ ในตลาดหุ้นไทย ช่วยโลกและแสดงความโปร่งใสขององค์กรอย่างไรบ้าง?

09.04.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • บจ. ในตลาดหลักทรัพย์ฯ นำเรื่อง ESG เข้าไปดำเนินงานเป็นนโยบายและกลยุทธ์องค์กรมาตั้งแต่ปี 2558 สนองตอบนโยบายที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประกาศทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน และกว่า 8 ปีก็มีพัฒนาการด้าน ESG ต่อเนื่อง
  • ล่าสุดปี 2565 ตลาดหุ้นไทยมี ‘หุ้นยั่งยืน’ ทั้งหมด 170 บจ. โดยมี บจ. ที่ประกาศชัดเจนว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 138 แห่ง ซึ่งช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกไปแล้ว 13.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และจากโครงการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้ถึง 654.45 ล้านบาท
  • ขณะเดียวกัน มี บจ. ที่ประกาศลุยนโยบายสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน 148 แห่ง และเพื่อความโปร่งใส มี บจ. ที่เลือกประธานกรรมการบริษัทจากกรรมการอิสระเป็นใหญ่และเป็นคนละคนกับผู้นำขององค์กร พร้อมชูพลังผู้หญิง เพราะมีกรรมการผู้หญิงมากกว่า 1 คนสูงถึง 112 บริษัท

ความเข้มข้นเรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายลุกขึ้นมาทำอย่างชัดเจน โดยเฉพาะภาคธุรกิจหรือเอกชน เพราะหากไม่ทำอะไรเลยก็จะมีความเสี่ยงที่จะทำธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ยากลำบากขึ้น 

 

บริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) เริ่มมีการปรับตัวมาตั้งแต่ปี 2558 หลังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จัดทำ Thailand Sustainability Investment (THSI) หรือรายชื่อหุ้นยั่งยืนใน บจ. ที่มีการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีการบริหารงานตามหลักบรรษัทภิบาล (Environmental Social and Governance หรือ ESG) และพบว่าตลอด 8 ปีที่ผ่านมา มี บจ. ได้รับคัดเลือกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


โดยปี 2565 มีทั้งหมด 170 บริษัท จากที่ส่งรายชื่อมาทั้งหมด 221 บริษัท ซึ่งเป็นปีที่ 2 ที่ ตลท. จัดทำ ‘สรุปการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนในรายชื่อหุ้นยั่งยืน ปี 2565’ (ESG Impact Assessment Report: THSI 2022) ขึ้นมา ซึ่งมีกระบวนการดำเนินการด้าน ESG เข้าไปในการทำธุรกิจ และปรับเป็นกลยุทธ์องค์กรที่ครอบคลุมทั้งหมด 8 หมวดอุตสาหกรรม แบ่งเป็น กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม 24 บริษัท กลุ่มทรัพยากร 28 บริษัท กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร 22 บริษัท กลุ่มบริการ 33 บริษัท กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค 4 บริษัท กลุ่มเทคโนโลยี 11 บริษัท กลุ่มธุรกิจการเงิน 21 บริษัท และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 27 บริษัท

 

ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment)

 

  • บจ. ประกาศจุดยืนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 138 แห่ง 
  • ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกแล้ว 13.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์
  • ช่วยลดค่าใช้จ่ายจากโครงการด้านสิ่งแวดล้อมได้ถึง 654.45 ล้านบาท
  •  

 

โดยหุ้นยั่งยืนทั้ง 170 แห่ง คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและนำเข้าไปปรับใช้ในกระบวนการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม โดยปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และแก้ไขการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่โครงการใช้พลังงานหรือไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ 577 โครงการ โครงการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ 133 โครงการ โครงการบริหารจัดการของเสีย 276 โครงการ รวมถึงมีการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกถึง 148 บริษัท 

 

หากดูปริมาณเชื้อเพลิงที่ลดได้ถึง 155,920 ตัน และจากการลดใช้ไฟฟ้าได้ถึง 10,652,486,145.81 กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) โดยคิดเป็นปริมาณการใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด 248,190,001,290 กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) อีกทั้งสามารถลดปริมาณน้ำแล้วยังสามารถนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้อีก 227.46 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่ากับว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายจากโครงการด้านสิ่งแวดล้อมได้ถึง 654.45 ล้านบาท

 

นอกจากนั้น โครงการทั้งหมดนี้ยังช่วยทำให้ปริมาณของเสียลดลงหรือนำกลับมารีไซเคิลได้อีก 2,777,719 ตัน อีกทั้งยังมีปริมาณพลาสติกที่ลดลงหรือจากการนำไปรีไซเคิลได้ถึง 7,997 ตัน โดยทั้งหมดนี้คิดเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ถึง 13.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงจากการให้สินเชื่อด้านสิ่งแวดล้อมถึง 1.34 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และที่สำคัญมี บจ. ที่ได้กำหนดเป้าหมายเชิงปริมาณในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 138 บริษัท จากจำนวนหุ้นยั่งยืนทั้งหมด 170 บริษัท

 

ทั้งนี้ เน้นบริหารจัดการเรื่องการใช้ทรัพยากรต่างๆ ในกระบวนการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งการใช้พลังงานไฟฟ้าหรือน้ำให้คุ้มค่า ตั้งแต่ตรวจสอบ เปลี่ยน และติดตั้งอุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยลง ปรับปรุงเครื่องจักรในการผลิตให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าโดยเปล่าประโยชน์ นำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมถึงใช้กระบวนการวิเคราะห์ Big Data ไปช่วยบริหารการใช้พลังงานที่เหมาะสมตามการใช้งานจริงของพฤติกรรมลูกค้า 

 

นำเทคโนโลยีหรือการออกแบบมาบริหารจัดการน้ำให้ใช้ประโยชน์สูงสุด หรือสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ เช่น นำน้ำทิ้งที่ผ่านระบบการบำบัดน้ำเสียแล้วไปหมุนเวียนใช้ซ้ำในระบบสุขาภิบาล หรือใช้ประโยชน์อื่นๆ อย่างการรดน้ำต้นไม้ โดยพยายามนำของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตไปพัฒนาแปรรูปอย่างอื่นต่อ อย่างการนำกากพืชและน้ำหมักจากโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพมาบำบัดเพื่อไปใช้ในการปรับปรุงดิน หรือนำของเสียจากผลิตภัณฑ์มาสร้างอุปกรณ์ที่ใช้ภายในสำนักงาน ลดการใช้กระดาษลงจากการเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงหาวิธีการประยุกต์และเพิ่มมูลค่าของเสียที่เกิดจากการผลิตให้มีมูลค่ามากขึ้น (Upcycling) สำหรับของเสียอันตรายที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ บริษัทมีการส่งกำจัดอย่างถูกวิธี 

 

โดยกลุ่มเทคโนโลยีพยายามบริหารจัดการของเสียที่เกิดจากการดำเนินงานให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) บริษัทได้ตั้งจุดรับและรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำไปกำจัดหรือรีไซเคิลให้ถูกวิธีมากขึ้น หรือกลุ่มการเงินก็พร้อมสนับสนุนการให้สินเชื่อในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทน เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือกลุ่มสินค้าบริโภคก็นำ AI มาคำนวณยอดสั่งอาหาร เพื่อลดขยะจากเศษอาหารให้น้อยที่สุด

 

นอกจากนั้น พยายามลดการใช้พลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์ หรือใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทน อีกทั้งพยายามออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เอื้อต่อการนำไปรีไซเคิล และตั้งเป้าการทำ Zero Waste หรือการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาอาคาร เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมสนับสนุนการใช้แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยลดการเกิดของเสียตั้งแต่ต้นทางให้ได้มากที่สุด รวมถึงการพัฒนาสินค้าใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และที่สำคัญคือการรณรงค์ให้พนักงานเกิดความเข้าใจในการปฏิบัติงานที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง

 

ด้านสังคม (Social) 

 

  • 148 บริษัทที่จัดทำและเปิดเผยนโยบายสิทธิมนุษยชน
  • 63 แห่งมีกระบวนการตรวจสอบจริงจัง Human Rights Due Diligence
  • คำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงาน และพร้อมพัฒนาทักษะให้พนักงาน

 

บจ. ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน (Human Rights) ซึ่งเป็น 1 ใน 2 หัวข้อที่นับจากปี 2564 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ประกาศใหม่รวมรายงาน 56-1 แล 56-2 (รายงานประจำปี) และรายงานความยั่งยืน (SD Reporting) มาอยู่ในเล่มเดียวกันที่เรียกว่า ‘One Report’ แต่ต้องมีรายงานเรื่องการทำธุรกิจที่คำนึงถึงการสร้างภาวะก๊าซเรือนกระจกหรือทำให้โลกร้อน และการรายงานเรื่องสิทธิมนุษยชน

 

โดยหุ้นยั่งยืน 170 บริษัท มี 148 บริษัทที่จัดทำและเปิดเผยนโยบายสิทธิมนุษยชน และมี 63 แห่งที่มีกระบวนการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) โดยให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนในการทำธุรกิจตามแนวทางสากล ไม่ใช้แรงงานผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ จัดให้มีช่องทางในการแจ้งเบาะแสและข้อร้องเรียนกรณีเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีกระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนเป็นประจำ พร้อมกำหนดนโยบายและแนวทางการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายในห่วงโซ่คุณค่าของบริษัท และนำประเด็นความเสี่ยงเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมมาพิจารณาในการให้สินเชื่อสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะ

 

ตลอดจนปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรมด้วยการจัดอบรมเพื่อให้พนักงานตระหนักถึงความปลอดภัยในขณะปฏิบัติงาน โดยมีการประเมินความเสี่ยงและผลกระทบต่อแรงงานในกระบวนการผลิต พร้อมสร้างระบบองค์ความรู้เพื่อพัฒนาทักษะให้แก่พนักงานอยู่เสมอ มีการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่เกิดจากเครื่องจักร และกำหนดมาตรการป้องกันอันตรายที่เกิดจากการทำงาน มีระบบตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องจักรและประเมินความเสี่ยงจากการทำงานอยู่เสมอ พร้อมทั้งส่งเสริมวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยทั่วทั้งองค์กร มีการกำหนดเป้าหมายในการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของพนักงาน โดยเปิดเผยข้อมูลสถิติจำนวนชั่วโมงฝึกอบรมโดยเฉลี่ยของพนักงานต่อปี กำหนดเป้าหมายเชิงปริมาณด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของพนักงาน

 

อีกทั้งพยายามส่งเสริมและเพิ่มโอกาสให้คนหลากหลายกลุ่ม เช่น ให้ความรู้การบริหารการเงินแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยและเกษตรกร ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาทำธุรกรรมการเงินได้อย่างปลอดภัยด้วยตัวเอง ออกผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มโอกาสให้บริษัทขนาดเล็กหรือ SME เข้าถึงการบริหารความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน หรือผ่านโครงการส่งเสริมอาชีพให้แก่กลุ่มเกษตรกรและผู้ด้อยโอกาสทางสังคมเพื่อสร้างรายได้ และเข้าถึงบริการทางการเงินหรือบริการประกันภัย หรือโครงการด้านการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร

 

ด้านบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ (Governance)

 

  • ตั้งประธานกรรมการเป็นคนละคนกับผู้นำองค์กรถึง 157 บริษัท
  • มีประธานกรรมการเป็นกรรมการอิสระทั้งหมด 79 บริษัท 
  • ชูพลังหญิง ตั้งเป็นกรรมการมากกว่า 1 คนสูงถึง 112 บริษัท 
  • เปิดเผยความเสี่ยงพร้อมแผนตั้งรับจากปัจจัยที่อาจเกิดขึ้นทุกเมื่อ

 

จากข้อมูล 170 บริษัท ให้ความสำคัญในการจัดโครงสร้างของคณะกรรมการบริษัทเป็นอย่างมาก โดยแต่งตั้งประธานกรรมการเป็นคนละคนกับผู้นำบริษัทถึง 157 บริษัท มีประธานกรรมการเป็นกรรมการอิสระทั้งหมด 79 บริษัท ให้ความสำคัญในการแต่งตั้งกรรมการอิสระมากกว่า 50% ถึง 46 บริษัท และมีกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารมากกว่า 66% ถึง 118 บริษัท 

 

โดยให้ความสำคัญกับการแต่งตั้งกรรมการที่เป็นผู้หญิงมากกว่า 1 คนมากถึง 112 บริษัท และมีนโยบายชัดเจนในการตั้งคณะกรรมการด้านบรรษัทภิบาลหรือความยั่งยืนถึง 152 บริษัท และมี บจ. มากถึง 125 บริษัทที่ได้รับการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (โครงการ Collective Action Coalition: CAC) โดยอีก 16 บริษัทประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมแล้ว

 

และสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจยุคนี้ที่มักมีเหตุการณ์ภายนอกเข้ามาส่งผลกระทบอย่างไม่ทันตั้งตัว แต่ บจ. ก็มีแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน ESG และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา (Emerging Risk) โดยได้เปิดเผยความเสี่ยงที่อาจจะส่งผลกระทบกับบริษัทพร้อมแนวทางการบริหารความเสี่ยงไว้ รวมถึงยังเปิดเผยประเด็นความเสี่ยงที่อาจเกิดจากคู่ค้าของบริษัทขึ้นได้ โดยเฉพาะการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) 123 บริษัท

 

ESG Impact Assessment Report: THSI 2022 น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าภาคเอกชนได้ขยับและทำเรื่อง ESG อย่างจริงจัง โดยพยายามปรับกระบวนท่าทุกอย่างให้เข้าไปอยู่ในกลยุทธ์และแผนงานขององค์กร ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป็นบริษัทมหาชนที่มีความยั่งยืนอย่างแท้จริง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X