×

17 ปีที่สังคมไทยยังไม่ตกตะกอน วิธีปราบปรามภัยร้าย ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’

19.12.2024
  • LOADING...
17-years-thailand-struggles-to-combat-call-center-scams

HIGHLIGHTS

  • การหลอกลวงแบบคอลเซ็นเตอร์เริ่มระบาดเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อปี 2550 มุกแรกที่เป็นที่รู้จักคือการหลอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่ ปปง.
  • สถิติจากระบบรับแจ้งความออนไลน์พบว่า เฉพาะในหนึ่งวันมีความผิดทางออนไลน์เกิดขึ้นมากถึง 736 เรื่อง มูลค่าความเสียหายสูงถึง 77 ล้านบาท แต่ยอดเงินที่อายัดสำเร็จกลับมีเพียง 11.15%
  • ภัยไซเบอร์ไม่ว่าจะรูปแบบใดไม่มีทางปราบปรามได้อย่างสิ้นซาก เพราะในวัฏจักรนี้ยังมีคำว่า ‘ผลประโยชน์’

“สวัสดีครับ โทรมาจากสถานีตำรวจ, บริษัทขนส่ง, ฝ่ายประชาสัมพันธ์, ธนาคาร, ญาติห่างๆ, เพื่อนเก่าๆ…” 

 

บทสนทนาเหล่านี้ถูกปรับเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามคู่มือหลอกคนที่เขียนไว้อย่างเป็นลำดับขั้นตอน แต่ไม่ว่าบทไหนจะถูกเลือกมาใช้ สายตรงข้ามจะปลอมเป็นใคร จุดประสงค์เดียวที่คนเหล่านั้นต้องการคือ ‘เงิน’

ทีมข่าว THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยเรื่องภัยไซเบอร์ที่มีมากมายหลายรูปแบบและความหวังที่จะต่อสู้กับอาชญากรรมรูปแบบนี้กับ พล.ต.ท. ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

 

พล.ต.ท. ไตรรงค์ ผิวพรรณ

พล.ต.ท. ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

 

พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าวว่า คดีอาชญากรรมทางออนไลน์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แก๊งคอลเซ็นเตอร์มีการพัฒนารูปแบบกลโกงไปตามยุคสมัยตามกิจกรรมที่ประชาชนให้ความสนใจ ทุกครั้งจะมีการสร้างเรื่องหลอกลวงเหยื่อให้หลงเชื่อ ไม่ว่าจะแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐหรือองค์กรต่างๆ ให้ดูมีความน่าเชื่อถือ โดยเป้าหมายคือ ‘การหลอกให้เหยื่อโอนเงินออกจากบัญชีของตนเอง’ ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง 

 

ข้ออ้างที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์มักใช้หลอกเหยื่อที่ตำรวจรวบรวมได้มีดังนี้

 

  • หลอกว่าเหยื่อถูกอายัดบัญชีเงินฝากและเป็นหนี้บัตรเครดิต
  • หลอกว่าบัญชีเงินฝากของเหยื่อพัวพันกับขบวนการค้ายาเสพติดหรือการฟอกเงิน
  • อ้างคืนเงินภาษีในช่วงที่มีการยื่นภาษี
  • อ้างการเรียกให้ชำระภาษีที่ดิน
  • อ้างการชำระหรือคืนเงินค่าไฟฟ้า
  • อ้างว่าเป็นสถาบันการเงิน หลอกขอข้อมูลส่วนตัวเพื่ออ้างว่าจะอัปเดตข้อมูล
  • หลอกว่าส่งพัสดุสิ่งของไปให้แล้วขอเก็บเงิน
  • หลอกว่ามีการโอนเงินผิดไปเข้าบัญชีของเหยื่อ ขอให้โอนเงินคืนมา 

 

“ภัยออนไลน์ต่างๆ เหล่านี้มีการหลอกลวงตั้งแต่เงินหลักร้อยไปจนถึงหลักล้านบาท สร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก และนอกจากการสูญเสียทรัพย์สินแล้ว ยังมีผลเสียต่อสภาพจิตใจของเหยื่อด้วย” พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าว

 

จากข้อมูลสถิติระบบรับแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเราพบว่า ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ไม่เลือกชนชั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภัยไซเบอร์ไม่มีพรมแดน เช่นเดียวกับเทคโนโลยีที่ไร้พรมแดน 

 

“ไม่ว่าจะคนระดับใดของสังคมก็สามารถเป็นเหยื่อได้” พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าว

 

ผลปฏิบัติการทลายแหล่งที่ตั้งเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ผลปฏิบัติการทลายแหล่งที่ตั้งเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์

 

ย้อนดูตัวเรา ย้อนดูสถิติ รู้จักภัย 14 รูปแบบ

 

จากสถิติของระบบรับแจ้งความออนไลน์ เว็บไซต์ thaipoliceonline.go.th สามารถแบ่งกลุ่มคดีอาชญากรรมออนไลน์ออกเป็น 14 ลักษณะคดี ดังนี้

 

  • หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ (ไม่เป็นขบวนการ)
  • หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ (เป็นขบวนการ)
  • หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน
  • หลอกให้กู้เงิน
  • หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์
  • ข่มขู่ทางโทรศัพท์
  • หลอกให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล
  • หลอกเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน
  • หลอกให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบ
  • หลอกให้ลงทุนตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงิน
  • เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล
  • กระทำต่อระบบหรือคอมพิวเตอร์
  • หลอกให้รักแล้วโอนเงิน
  • เข้ารหัสข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น

 

ตั้งแต่การเริ่มใช้ระบบรับแจ้งความออนไลน์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 จนถึง 30 พฤศจิกายน 2567 ช่วงเวลากว่า 2 ปีนี้ชี้ให้เห็นว่า

 

  • อาชญากรรมทางออนไลน์ที่พบมากที่สุดคือ การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ คิดเป็น 46.89% ของอาชญากรรมทั้งหมด มีมูลค่าความเสียหาย 4,867,347,659 บาท
  • อาชญากรรมทางออนไลน์ที่พบได้น้อยที่สุดคือ การเข้ารหัสข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น (Ransomware) คิดเป็น 0.07% ของอาชญากรรมทั้งหมด โดยมีมูลค่าความเสียหาย 203,865,182 บาท

 

ผู้เสียหายจำแนกตามเพศ เป็นหญิง 64% ชาย 36% ช่วงอายุที่ถูกหลอกมากที่สุดคือ 31-40 ปี คิดเป็น 28.72% ขณะที่เด็กต่ำกว่า 18 ปีคือกลุ่มที่ถูกหลอกน้อยที่สุด คิดเป็น 1.07% ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่หลายฝ่ายตั้งเป้าว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกหลอกกลับมีจำนวนเพียง 5.80%

 

ขณะที่ผลการอายัดบัญชีที่ถูกหลอกโอนเงินพบว่า มีผู้เสียหายยื่นเรื่องขออายัดบัญชี 560,412 บัญชี ยอดเงิน 44,904,971,828 บาท เจ้าหน้าที่และธนาคารสามารถอายัดได้ทัน 8,627,715,890 บาท คิดเป็นร้อยละ 11.15 

 

กลุ่มผู้ต้องหาเว็บพนันนิยมแปลงเงินที่ได้จากการทำผิดเป็นของสะสม เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบ

กลุ่มผู้ต้องหาเว็บพนันนิยมแปลงเงินที่ได้จากการทำผิดเป็นของสะสม เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบ

 

กว่า 17 ปีของภัยคอลเซ็นเตอร์ที่อยู่คู่คนไทย

 

ข้อมูลจากโครงการ ‘การศึกษา วิเคราะห์ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในมิติกฎหมายของประเทศในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก, เหนือ-ใต้ (EWEC-NSEC-SEC)’ สะท้อนให้เห็นว่าการหลอกลวงแบบคอลเซ็นเตอร์เริ่มระบาดเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อปี 2550 

 

โดยการหลอกระลอกแรกที่ทำให้ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ การที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ปลอมเป็นสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. เมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ. 2554 แผนครั้งนั้นคือหลอกให้เหยื่อโอนเงินเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ในท้ายที่สุดมีผู้ที่หลงเชื่อโอนเงินให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ถึง 56 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 15 ล้านบาท

 

ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และสถาบันการเงินภาคเอกชน ก็เห็นชอบให้จัดตั้ง ศูนย์ให้บริการประชาชนเพื่อป้องกันการถูกหลอกโอนเงินผ่านระบบออนไลน์ โดยเลือกใช้ศูนย์ของกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว เพื่อเป็นศูนย์ดำเนินการต่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์

 

17 ปีต่อมา...

 

ข้อมูลระบบรับแจ้งความออนไลน์รายงานว่า สถิติการรับแจ้งคดีออนไลน์ 3 ปีมีดังนี้

 

  • ปี 2565 มี 13,591 เรื่อง ความเสียหาย 1,500 ล้านบาท 
  • ปี 2566 มี 19,775 เรื่อง ความเสียหาย 2,100 ล้านบาท 
  • ปี 2567 (นับถึงเดือนพฤศจิกายน) มี 38,886 เรื่อง ความเสียหาย 2,766 ล้านบาท

 

ของกลางที่ตรวจยึดได้จากเครือข่ายเว็บพนัน

ของกลางที่ตรวจยึดได้จากเครือข่ายเว็บพนัน

 

หากเฉลี่ยเป็นรายวัน เฉพาะในหนึ่งวันมีคดีออนไลน์เกิดขึ้น 736 เรื่อง มูลค่าความเสียหาย 77 ล้านบาท

 

‘ตำรวจ’ หนทางที่หวังพึ่ง

 

แน่นอนว่าเมื่อเกิดเหตุด่วน-เหตุร้าย สิ่งที่ประชาชนนึกถึงและหวังให้เป็นที่พึ่งในการแก้ปัญหาก็คือ ‘เจ้าหน้าที่ตำรวจ’ ซึ่งในหมวดของภัยไซเบอร์เราจำเป็นที่จะต้องใช้ตำรวจไซเบอร์เข้ามาดูแล

 

ผลการตรวจค้นเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สถานที่ใช้ฟอกเงิน

ผลการตรวจค้นเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สถานที่ใช้ฟอกเงิน

 

พล.ต.ท. ไตรรงค์ ได้อธิบายไว้ว่า กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือที่รู้จักในชื่อ ‘ตำรวจไซเบอร์’ มีหน้าที่ป้องกันและปราบปราม สืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อน หรือเป็นอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่สำคัญ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ 

 

มีทั้งหมด 7 กองบังคับการ คือ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1-5, กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี และกองบังคับการอำนวยการ

 

โจทย์หลักของตำรวจไซเบอร์ยุคใหม่คือ ควบคุมและลดภัยความหวาดกลัวของประชาชนจากอาชญากรรมออนไลน์, ตัดองค์ประกอบการเกิดอาชญากรรมด้วยการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและความตระหนักรู้ภัยกลโกงมิจฉาชีพ, การพัฒนาเจ้าหน้าที่ในองค์กรให้มีสมรรถนะรู้เท่าทันเทคโนโลยี พร้อมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ภาคเอกชน ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศ

 

การหารือประเด็นอาชญากรรมออนไลน์ข้ามชาติ ระหว่างตำรวจไซเบอร์กับสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย

การหารือประเด็นอาชญากรรมออนไลน์ข้ามชาติ ระหว่างตำรวจไซเบอร์กับสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย

 

พล.ต.ท. ไตรรงค์ ยอมรับว่าการเริ่มต้นยุคใหม่ที่ว่านี้ตำรวจได้ถอดบทเรียนของบรรดามิจฉาชีพ จนทำให้เข้าใจว่ามิจฉาชีพมีการปรับเปลี่ยนวิธีการอย่างรวดเร็ว และสร้างแนวทางใหม่ๆ มาใช้ในการหลอกเหยื่อ เจ้าหน้าที่ต้องพัฒนาเครื่องมือให้ทันสมัย และที่สำคัญคือต้องไม่ใช่การทำงานเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งภายในและภายนอกประเทศ

 

“เราเชื่อว่าความมุ่งมั่นตั้งใจของเจ้าหน้าที่ เทคโนโลยีที่ทันสมัย ภาคีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกัน จะสามารถก้าวนำภัยไซเบอร์ที่เกิดขึ้นได้” พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าว

 

ภารกิจตรวจค้นบริษัทต้องสงสัยว่าเป็นแหล่งฟอกเงินให้เว็บพนันชาวจีน

ภารกิจตรวจค้นบริษัทต้องสงสัยว่าเป็นแหล่งฟอกเงินให้เว็บพนันชาวจีน

 

วันนี้ตำรวจเองยังถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการภัยไซเบอร์?

 

พล.ต.ท. ไตรรงค์ มองว่าข้อความเห็นนี้ของสังคมเป็นหน้าที่ของตำรวจที่ต้องแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใส สร้างกลไกการตรวจสอบภายในที่เข้มงวด มีความจริงจังในการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด และต้องสื่อสารให้ชัดเจนกับประชาชน ให้รับรู้ถึงความคืบหน้าและความพยายามในการดำเนินคดี

 

‘สายตรวจไซเบอร์’ ความหวังใหม่?

 

การลงพื้นที่ภารกิจจับกุมผู้ต้องหาถ่ายคลิปอนาจารเด็กหญิงวัย 10 ขวบ

การลงพื้นที่ภารกิจจับกุมผู้ต้องหาถ่ายคลิปอนาจารเด็กหญิงวัย 10 ขวบ

 

พล.ต.ท. ไตรรงค์ เล่าว่า เมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ระหว่างที่สายตรวจไซเบอร์ลาดตระเวนในโซเชียลมีเดียได้เจอคลิปลามกอนาจาร 1 คลิป เนื้อหาในคลิปคือการกระทำชำเราเด็กหญิงที่คาดว่าอายุไม่เกิน 10 ขวบ โดยเด็กมีสภาพอิดโรยและคล้ายกับถูกกักขัง สายตรวจไซเบอร์จึงสืบหาต้นทางจนพบว่า ชายที่อยู่ในคลิปถ่ายคลิปดังกล่าวด้วยตัวเอง และขายให้กลุ่มที่มีความชื่นชอบเฉพาะทางในกลุ่มไลน์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อซื้อขายคลิปลามกเท่านั้น สถานที่เกิดเหตุคือในเรือประมง จังหวัดระยอง

 

ใช้เวลาไม่นานหลังจากที่เจอคลิปต้นเรื่อง สายตรวจไซเบอร์ได้ประสานตำรวจในพื้นที่เข้าจับกุมผู้ก่อเหตุและเข้าให้ความช่วยเหลือเด็กหญิงคนดังกล่าว

 

ผู้ต้องหาในคดีถ่ายคลิปเด็กหญิงวัย 10 ขวบ ทำแผนประกอบคำรับสารภาพ

ผู้ต้องหาในคดีถ่ายคลิปเด็กหญิงวัย 10 ขวบ ทำแผนประกอบคำรับสารภาพ

 

“ความอันตรายของภัยไซเบอร์ไม่ได้มีแค่เรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เราต้องปราบปรามเท่านั้น ในที่นี้เราต้องดูแลชีวิตคนที่ถูกคุกคามในโลกไซเบอร์ด้วย” พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าว

 

พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าวว่า กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยีตั้งคณะทำงานสายตรวจไซเบอร์จำนวน 15 นาย คัดเลือกจากตำรวจฝ่ายประมวลผล สืบสวน สอบสวน ที่มีความชำนาญในการตรวจสอบวิเคราะห์อาชญากรรมจำนวน 12 คน ระดับสารวัตร 6 คน และรองสารวัตร 6 คน เข้าเวรวันละ 2 คน เพื่อดูแลอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจำนวน 6 กลุ่มจากทั้งหมด 14 ประเภท 

 

สายตรวจชุดนี้ต้องสลับเข้าเวรทุกวัน เพื่อตรวจสอบเหตุทั้งในระบบแจ้งความออนไลน์และแหล่งข่าวเปิด (โซเชียลมีเดีย) เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ว่ามีภัยออนไลน์ใดที่สร้างความเสียหายกับประชาชน

 

“หลักการคล้ายกันกับตำรวจจราจรคือ เรายืนตามสี่แยกไฟแดง ถ้าพบใครฝ่าไฟแดงเราต้องแสดงตัวจับ” พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าว

 

การหารือความร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศ

การหารือความร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศ

 

พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าวย้ำว่า การปราบปรามภัยไซเบอร์ให้เด็ดขาดต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งเครือข่ายโทรศัพท์ ธนาคาร และหน่วยงานภาครัฐ อาชญากรรมนี้ไม่สามารถปิดจบได้แค่ที่หน้างานตำรวจ แต่ยืนยันว่าปัจจุบันตำรวจเองปรับตัวแล้ว เราทำงานเชิงรุก ไม่ได้รอให้ผู้เสียหายเข้ามา แต่ค้นหาสิ่งที่จะสร้างความเสียหาย

 

แต่ในขณะที่ตำรวจพยายามปรับตัว อีกฝั่งอย่างแก๊งมิจฉาชีพก็ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้ไม่ได้ใช้แค่การคุยโทรศัพท์หรือส่งข้อความหาเหยื่อเท่านั้น แต่ใช้การวิดีโอคอลในห้องที่เซ็ตเป็นฉาก อีกทั้งใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติในการโอนเงินด้วย 

 

รูปแบบการทำงานของหุ่นยนต์นี้คือ หากผู้เสียหายพลาดท่าโอนเงินให้มิจฉาชีพแล้ว ระยะเวลาเพียง 1 นาทีระบบคอมพิวเตอร์จะกระจายเงินเป็นหลายทาง ส่วนใหญ่จะแปลงเงินเป็นสกุลเงินดิจิทัลให้ยากต่อการตรวจสอบ หลังจากนั้นจึงย้ายเงินทั้งหมดออกนอกประเทศแบบออนไลน์ แน่นอนว่าทั้งกระบวนการนี้ใช้เวลาเพียง 1 นาทีเท่านั้น เราจึงเห็นได้ว่าการอายัดเงินจนนำมาสู่การคืนผู้เสียหายเปอร์เซ็นต์ที่ทำได้เป็นเพียงจุดทศนิยม

 

พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะนี้ตำรวจไซเบอร์มีการพัฒนาแอปพลิเคชัน Cyber Check เพื่อช่วยประชาชนในการคัดกรองมิจฉาชีพจากเบอร์โทรศัพท์ รวมไปถึงการตรวจสอบเลขบัญชีธนาคารก่อนจะโอนเงินได้ ซึ่งประชาชนสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Cyber Check ได้ทั้งบนระบบปฏิบัติการ Android และ iOS และมีโครงการวัคซีนไซเบอร์ สร้างภูมิคุ้มกันป้องกันภัยออนไลน์ให้แก่ประชาชน เช่น การจัดทำแบบทดสอบทางออนไลน์เพื่อรับของรางวัล

 

พล.ต.ท. ไตรรงค์ ร่วมตรวจสอบของกลางที่ยึดได้จาก ที่เกิดเหตุแหล่งที่ตั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์

พล.ต.ท. ไตรรงค์ ร่วมตรวจสอบของกลางที่ยึดได้จากที่เกิดเหตุแหล่งที่ตั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์

 

จากรูปแบบการหลอก สถิติความเสียหาย และพัฒนาการที่ไม่หยุดยั้งของมิจฉาชีพ ทำให้เราแทบจะปักใจเชื่อได้เลยว่า อีก 5 ปีหรือ 10 ปี ภัยไซเบอร์นี้ก็จะยังคงคุกคามคนไทย

 

ประการที่หนึ่ง เพราะการก้าวไปข้างหน้าของเทคโนโลยีและมิจฉาชีพที่ 17 ปีที่ผ่านมาไม่เคยหยุด

 

ประการที่สอง ที่เป็นส่วนสำคัญที่เราไม่ควรอายที่จะพูดว่า เพราะคำว่า ‘ผลประโยชน์อันหอมหวาน’ มันเย้ายวนให้แม้แต่ผู้พิทักษ์รักษากฎหมายบางส่วนยังยอมเอื้อให้แก๊งเหล่านี้หลอกคนในชาติด้วยกันเองได้ 

 

และประการที่สาม คือปัจจัยด้านกฎหมายที่ล้วนมีช่องว่างและช่องโหว่ ทำให้ตัวการใหญ่ที่ส่วนมากเป็นชาวจีนที่ไม่สามารถหาประโยชน์ในประเทศตัวเองได้ เนื่องจากบ้านเมืองพวกเขามีกฎหมายที่เด็ดขาด หันมาเลือกประเทศที่อ่อนแอกว่าเป็นฐานที่ตั้งและเป็นเหยื่อ

 

สุดท้ายนี้เรายังเชื่อว่าประชาชนยังคงรอคอยยาแรงที่จะมากำจัดภัยไซเบอร์นานารูปแบบให้หมดไป แต่ในขณะเดียวกันประชาชนทุกคนเองล้วนต้องมีวัคซีนป้องกันตัวเองเบื้องต้นก่อน เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของ ‘ความโลภ ความกลัว และความรัก’ ที่แก๊งเหล่านี้ใช้มาหลอกเรา

 

อ้างอิง:

  • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
  • สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising