‘หอการค้าไทย-จีน’ จัดประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่ 16 ฟื้นเศรษฐกิจโลกด้วยภูมิปัญญานักธุรกิจชาวจีน หวังช่วยดันอีอีซีเชื่อมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน ด้าน ‘เจ้าสัวธนินท์’ ขึ้นเวทีโชว์วิสัยทัศน์ ดึงเทคโนโลยีพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยศักยภาพคนรุ่นใหม่ ไม่เพลี่ยงพล้ำในเวทีโลก
หอการค้าไทย-จีนได้จัดการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention: WCEC) ครั้งที่ 16 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายน 2566 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจทั่วโลกกว่า 4,000 คนจาก 50 ประเทศ
โดยมี พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี และ เกาหยุนหลง รองประธานสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรี และ ธนินท์ เจียรวนนท์ นายกสมาคมนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และประธานกิตติมศักดิ์ถาวรหอการค้าไทย-จีน, กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย, สนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, หลี เสี่ยวปอ นายกสมาคมการค้าวิสาหกิจจีน-ไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ICBC, ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และ เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเปิดงานว่า การประชุมวันนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญประสานความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน โดยเมืองไทยมีนักธุรกิจเชื้อสายจีนจำนวนมาก และมีส่วนสำคัญพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ และสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยมายาวนาน ถือเป็นโอกาสและเวลาที่เหมาะสม ประเทศต่างๆ ได้เปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ จึงมีความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทางระหว่างประเทศ และประเทศไทยมีความพร้อมทุกๆ ด้านเพื่อต้อนรับแขกผู้มาเยือน
“ผมเชื่อมั่นว่าการประชุมนักธุรกิจชาวจีนครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมรับทราบพัฒนาการทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย และเห็นลู่ทางโอกาสทางธุรกิจการค้าการลงทุนกับประเทศไทย ซึ่งสะท้อนจากนโยบายและศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน ทั้งจากการขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศของไทยภายใต้ความตกลงทางการค้าที่ทันสมัย ซึ่งรวมถึง FTA อาเซียน-จีน และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ตลอดจนการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าในรูปแบบที่มีความยืดหยุ่น ทั้งนี้ จากการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนในเขตพื้นที่อีอีซี ตลอดจนโอกาสการร่วมลงทุนกับไทย ในอุตสาหกรรมเป้าหมายในระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ในต่างประเทศ อันเกิดจากการกระจายการเจริญเติบโตภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศอย่าง ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’
ณรงค์ศักดิ์ พุทธมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน และประธานกรรมการจัดงาน WCEC ครั้งที่ 16 กล่าวสุนทรพจน์ต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมว่า ในขณะนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลกเป็นเวทีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งของนักธุรกิจชาวจีนและนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลจากทั่วโลก ใช้เป็นโอกาสมาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลและโอกาสทางธุรกิจ การค้า การลงทุน รวมถึงการกระชับความสัมพันธ์และเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“หอการค้าไทย-จีนได้ให้ความสำคัญกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งการประชุมครั้งนี้จัดภายใต้หัวข้อร่วมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยภูมิปัญญานักธุรกิจจีน โดยหวังให้มีโอกาสพัฒนาจาก ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ที่เป็นความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และเขตอ่าวเศรษฐกิจกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า”
ในการประชุม นักธุรกิจจีนที่เข้าร่วมให้ความสนใจในการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV และอุตสาหกรรมต่อเนื่องในไทย เพราะเชื่อว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาป ซึ่งรัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมอยู่แล้ว ส่วนการที่ไทยกำลังจะได้รัฐบาลใหม่และเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็สามารถทำให้เกิดการพัฒนาประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
เฉินซวี่ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการชาวจีนโพ้นทะเลแห่งคณะรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาชนจีน (เทียบเท่ารัฐมนตรี) กล่าวว่า การส่งเสริมให้มีความสัมพันธ์กับนานาประเทศถือเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาเศรษฐกิจ ตนเชื่อมั่นว่าการประชุมครั้งจะเป็นการเสริมพลังต่อความร่วมมือของนักธุรกิจชาวจีน และจะเป็นประโยชน์ต่อศักยภาพทางธุรกิจ รวมถึงเป็นการยกระดับการค้าขาย เวทีการประชุมครั้งนี้จะทำให้นักธุรกิจชาวจีนได้แสดงความรู้ ความสามารถ และนำมาซึ่งการพัฒนาร่วมกัน
เจ้าสัวซีพีย้ำต้องดึงเทคโนโลยีเพิ่มศักยภาพธุรกิจ
จากนั้น ธนินท์ เจียรวนนท์ นายกสมาคมนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และประธานกิตติมศักดิ์ถาวรหอการค้าไทย-จีน กล่าวปาฐกถาพิเศษว่า ปัจจุบันโลกของเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก เราจึงจำเป็นต้องศึกษาวิทยาการด้านต่างๆ จากสหรัฐอเมริกา และต้องนำทรัพยากรจากทั่วโลกทั้งด้านบุคลากร เงินทุน เทคโนโลยี และวัตถุดิบ เข้ามาที่จีน ซึ่งในวันนี้กล่าวได้ว่าจีนมีปัจจัยพื้นฐานในด้านต่างๆ เหล่านี้พร้อมที่จะพลิกโฉมการพัฒนาจากเดิมที่ใช้แรงงานราคาถูก เราจึงมีความมั่นใจในนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ โลกยุคใหม่ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจคือ สงครามแข่งขันในด้านการค้า จึงต้องมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ บริการ และเทคโนโลยี รวมถึงต้องพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้และความสามารถทัดเทียมระดับนานาชาติ แข่งขันได้อย่างไม่เพลี่ยงพล้ำในเวทีโลก ซึ่งในโลกอนาคตจะเป็นโลกของหุ่นยนต์และไบโอเทคโนโลยี แต่ไม่ต้องกลัวคนตกงาน เพราะหุ่นยนต์จะใช้แรงงานแทนคน ส่วนคนต้องหันไปทำงานที่ใช้ทักษะสูงกว่านั้น
“การผลิตเทคโนโลยีเป็นเรื่องยาก แต่การนำมาใช้นั้นง่าย สมัยก่อนคนชอบมองว่า เกษตรกรจะไปใช้เทคโนโลยียากๆ ได้อย่างไร แต่ในความเป็นจริง ความยากมันอยู่ที่คนผลิตเทคโนโลยี แต่พอเกษตรกรนำมาใช้มันง่ายแล้ว อย่างตอนที่ตนขยายไปทำธุรกิจที่จีน ได้หาข้อมูลจนพบว่า มอเตอร์ไซค์ที่ทนที่สุด ขับขึ้นเขาได้ ซ่อมง่าย คือ Honda ซึ่งตอนไปญี่ปุ่น รุ่นนี้เค้าไม่ใช้กันแล้ว เพราะมีรุ่นที่ดีกว่า ทำให้เจรจาขอซื้อมาในราคาที่ถูกมากได้ และขายดีมากที่จีน ดังนั้น เราต้องเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเทคโนโลยีที่ดีที่สุดเสมอไป”
ประธานอาวุโสเครือซีพีกล่าวต่อว่า ประเทศไทยของเรามีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ของโลก ผ่านการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่โครงการที่ช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย เช่น สิทธิปลอดภาษีโครงการที่ส่งเสริมการสร้างสรรค์เทคโนโลยี ซึ่งในยุค 4.0 ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงยังมีความสำคัญ เพราะอีคอมเมิร์ซต้องอาศัย Real Economy ในการผลิตสินค้าที่จับต้องได้ และต้องอาศัยโลจิสติกส์ โดยเฉพาะการขนส่งทางบก เพื่อส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภค การพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริงที่ใช้นวัตกรรมในการผลิตให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพสูง มูลค่าสูงขึ้น จึงจะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์ดำรงอยู่ต่อไป
“การค้าของโลกในอนาคตนั้นจะต้องให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยี เพราะเมื่อมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยจะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น คุณภาพของสินค้าก็จะดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค เศรษฐกิจในยุค 4.0 ไม่ได้หมายถึงให้เราละทิ้งธุรกิจเก่าที่เคยมีมาก่อน แต่ให้เราใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนาและปรับปรุงธุรกิจที่เรามีอยู่ ทำให้ธุรกิจมีความทันสมัยมากขึ้น และสามารถขยายธุรกิจออกไปให้มากขึ้น” ประธานอาวุโสธนินท์กล่าว
ทั้งนี้ ในการประชุมจะเป็นการประชุมกลุ่มย่อย 4 หัวข้อ ได้แก่
- ภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศไทย
- โอกาสพัฒนาจาก ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ‘ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและเขตอ่าวเศรษฐกิจกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า’
- แนวคิดและภูมิปัญญาการดำเนินธุรกิจของนักธุรกิจชาวจีน
- การสืบสานและพันธกิจของนักธุรกิจชาวจีนรุ่นใหม่ จะมีผู้บริหารระดับสูงในไทยและนักธุรกิจจีนขึ้นบรรยายให้ความรู้ โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจ เช่น ภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศไทย, แนวความคิดและภูมิปัญญาการดำเนินธุรกิจของนักธุรกิจชาวจีน และการสืบสานและพันธกิจของนักธุรกิจชาวจีนรุ่นใหม่