THE STANDARD ชวนกลับไปดูต้นตอของ CPTPP และมุมมองต่อข้อตกลงนี้ว่ามีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทยอย่างไร ไทยควรเข้าร่วมข้อตกลงนี้หรือไม่
15 ปีจาก TPSEP-TPP ถึง CPTPP
เมื่อมองย้อนกลับไป ข้อตกลง CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก เป็นข้อตกลงที่ถูกยกระดับมาจากข้อตกลง TPP หรือ Trans-Pacific Partnership Agreement ที่เคยเป็นประเด็นร้อนในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้
ข้อตกลง TPP นี้เริ่มต้นในปี 2549 หลังจากสมาชิกเริ่มต้น 4 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์, บรูไน, นิวซีแลนด์, ชิลี ได้บรรลุข้อตกลงหุ้นส่วน Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement หรือ TPSEP ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าในกลุ่มประเทศขอบของมหาสมุทรแปซิฟิก
และหลังจากนั้น 2 ปีก็มีอีก 8 ประเทศสนใจมาพูดคุยเพื่อจะเข้าร่วมกลุ่มด้วย ได้แก่ ออสเตรเลีย, เปรู, เวียดนาม, มาเลเซีย, เม็กซิโก, แคนาดา, ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา และเปลี่ยนชื่อเป็นข้อตกลง TPP ซึ่งบรรลุข้อตกลงกันไปในที่สุดเมื่อปี 2559
แต่ผ่านไปไม่ถึงปี ช่วงปี 2560 สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงทันทีหลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเพียง 3 วันเท่านั้น ส่งผลให้ข้อตกลง TPP ต้องชะงักลงไป และต้องกลับไปพูดคุยกันใหม่อีกครั้ง ก่อนที่ปี 2561 ประเทศสมาชิกที่เหลือจะกลับมาพร้อมกับข้อตกลงใหม่คือ CPTPP ฉบับนี้ ซึ่งถูกบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ภายหลังจากที่มี 6 ประเทศได้ลงนามสัตยาบันรับรอง
CPTPP ใหญ่แค่ไหน แล้วไทยจะได้อะไร
เมื่อเทียบกับ ‘เขตการค้าเสรี’ ต่างๆ ในโลก การเข้าร่วม CPTPP จะทำให้เข้าถึง ‘ตลาด’ ขนาดใหญ่ของประเทศสมาชิก โดยประเทศเหล่านี้มี GDP รวมกันประมาณ 12.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 15% ของ GDP โลก ถือเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA (25.5% ของ GDP โลก) และตลาดร่วมของสหภาพยุโรป หรือ European Single Market (28.2% ของ GDP โลก)
ทั้งนี้ก่อนการถอนตัวของสหรัฐฯ ประเทศสมาชิกของ CPTPP มีขนาดตลาดรวมกันประมาณ 30.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นกว่า 36% ของ GDP โลก และจะกลายเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก
หากเทียบกับเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA ที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่ จะมี GDP ของประเทศสมาชิก 10 ประเทศรวมกันเพียง 2.94 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.6% ของ GDP โลก) หรือเป็นตลาดขนาดใหญ่กว่าไทยเพียง 6.7 เท่า
ขณะที่หากไทยเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP จะทำให้ไทยเข้าสู่ตลาดขนาด 14.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (17.5% ของ GDP โลก) หรือใหญ่กว่าประเทศตัวเองได้ถึง 32.6 เท่า (รวม CPTPP และ AFTA) ขณะที่ปัจจุบันหลังจากเริ่มมีกระแสว่าสหรัฐฯ อาจจะเข้ามาร่วมกลุ่มอีกครั้งอาจจะทำให้การเข้าร่วมข้อตกลงในครั้งนี้จะเปิดไทยเข้าสู่ตลาดที่ใหญ่กว่าประเทศไทยถึงเกือบ 70 เท่า
ขณะที่หากดูมูลค่าการค้าของไทยกับประเทศสมาชิก CPTPP ปัจจุบัน คิดเป็นเพียง 140,009 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 หรือคิดเป็น 28.2% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย ตรงนี้อาจจะเป็นช่องว่างให้ไทยสามารถไปทำตลาดเพิ่มเติมได้ในอนาคต
จะคุ้มค่าหรือไม่? เมื่อไทยมี FTA กับสมาชิกส่วนใหญ่แล้ว
อย่างไรก็ดี หากมองลึกลงไปปัจจุบัน ไทยเองก็มีข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA กับกลุ่มประเทศเหล่านี้อยู่แล้วเป็นส่วนใหญ่ โดยจากข้อตกลงการค้าของไทย 19 ฉบับ 6 ฉบับเป็นข้อตกลงกับประเทศอยู่ใน CPTPP แบ่งเป็นประเทศอาเซียน 4 ประเทศ (รวมกัน 1 ฉบับ) และประเทศอื่นๆ อีก 5 ประเทศ ทำให้เหลือเพียงเม็กซิโกและแคนาดาที่ไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรี (แต่แคนาดาเองยังอยู่ในระหว่างการเจรจา)
แปลว่าแท้ที่จริงแล้วปัจจุบันไทยเองสามารถเข้าถึงตลาดขนาด 11.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (13.6% ของ GDP โลก) อยู่แล้ว ซึ่งใหญ่กว่าตัวเองมากถึง 25.4 เท่า (จาก AFTA และ FTA อื่นๆ ที่เป็นสมาชิก CPTPP) และหากไทยเข้าร่วม CPTPP อาจจะเข้าถึงตลาดที่ใหญ่ขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยจะเพิ่มขึ้นเพียง 3.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขนาดตลาดจาก 25.4 เท่าเป็น 32.6 เท่า
ขณะที่ปัจจุบันไทยกับกลุ่มอาเซียนมีมูลค่าค้าขายกัน 58,042 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 12.8% ของมูลค่าการค้าทั้งหมด และในอีก 5 ประเทศ ที่มีข้อตกลงกับไทยอยู่แล้วก็มีมูลค่าการค้ากับไทยทั้งหมด 75,719 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (15.7% ของมูลค่าการค้าทั้งหมด) ซึ่งรวมกันคิดเป็นเกือบทั้งหมดของมูลค่าการค้าในปัจจุบันระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก CPTPP
คำถามคือการเข้าร่วม CPTPP จะสร้างประโยชน์อะไรเพิ่มเติมได้แค่ไหนจากข้อตกลงเดิมที่มีอยู่ และคุ้มค่ากับสิ่งที่จะสูญเสียไปหรือไม่ และอีกด้านหนึ่งท่าทีของสหรัฐฯ ที่จะกลับเข้ามาในกลุ่มอาจจะมีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจครั้งนี้ต่ออนาคตของเศรษฐกิจไทย
นอกจากผลด้านเศรษฐกิจ ไทยจะเสียอะไร?
เมื่อถามว่าแล้วไทยจะเสียอะไรไปบ้าง เสียงคัดค้านจาก NGO ระบุว่า การเข้าร่วมความตกลงนี้จะส่งผลให้ไทยต้องแก้กฎหมายบางฉบับที่อาจเกิดผลกระทบต่อภาคเกษตรและระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิในเมล็ดพันธุ์พืช การคุ้มครองสิทธิบัตรยา รวมถึงการคุ้มครองการลงทุนให้ชาวต่างชาติ
ตัวอย่างเช่น ต้องเป็นภาคีในอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV) ซึ่งคุ้มครองบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรให้ผูกขาดเมล็ดพันธุ์ได้ยาวนานถึง 15-20 ปี ทำให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกรอบเพาะปลูก, เนื้อหาในความตกลง CPTPP หลายส่วนที่ส่งผลต่อการเข้าถึงและการพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศ และส่งผลต่อเรื่องสุขภาพและระบบสาธารณสุข เช่น การผูกโยงการขึ้นทะเบียนตำรับยากับระบบสิทธิบัตร (Patent linkage) และข้อผูกมัดในบทว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐและทรัพย์สินทางปัญญา, ความตกลง CPTPP จะทำให้การใช้มาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร หรือ (Compulsory Licensing หรือ CL) ทำได้ยากขึ้น เนื่องจากสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องตามบทคุ้มครองการลงทุน เป็นต้น
สุดท้ายแล้ว จะ #CPTPP หรือ #NoCPTPP ก็ยังต้องจับตากันต่อไปว่าไทยจะตัดสินใจเข้าร่วมประชุมหรือไม่ และการเจรจาจะออกมาในทิศทางใด
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า