×

รองโฆษกสภาทนายความฯ ระบุผู้ก่อเหตุอายุ 14 ปี กฎหมายระบุอาจไม่ต้องรับโทษ แต่ใช้มาตรการอื่นจัดการ ส่วนผู้ปกครองอาจต้องรับโทษแทน

โดย THE STANDARD TEAM
04.10.2023
  • LOADING...

วันนี้ (4 ตุลาคม) วีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ และรองโฆษกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แสดงความเห็นกรณีเยาวชนชายอายุ 14 ปี ใช้อาวุธปืนก่อเหตุยิงในศูนย์การค้าวานนี้ (3 ตุลาคม) ว่า

 

คดีนี้ผู้ก่อเหตุยังเป็นเด็กชายอายุ 14 ปี ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 ระบุว่า การกระทำที่กฎหมายบัญญัติว่าการลงมือกระทำผิดอาญาโดยเด็กอายุ 12 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปีนั้น เป็นความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ และศาลมีอำนาจไม่ส่งตัวเด็กไปควบคุมที่สถานพินิจฯ แต่จะกำหนดเงื่อนไขตามมาตรา 56 ให้ผู้ปกครองปฏิบัติ 

 

คือในวรรคสามบอกว่า ในกรณีที่ศาลมอบตัวเด็กให้ผู้ปกครอง ศาลอาจกำหนดให้ตั้งเจ้าพนักงานคุมประพฤติควบคุมติดตามดูพฤติการณ์เด็กก็ได้ แต่ถ้าศาลจะไม่ใช้วิธีนี้ ก็ส่งตัวเข้าสถานพินิจฯ ไป เหตุการณ์เด็กกระทำผิดร้ายแรงครั้งนี้ไม่ใช่คดีแรก แต่เกิดมาหลายครั้งแล้ว ขณะที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองเด็กไม่ให้ต้องรับโทษ แต่จะมีมาตรการสำหรับเด็กแทน

 

วีรศักดิ์กล่าวต่อว่า ที่น่าเป็นห่วงคือการเสนอข่าวของสื่อโซเชียลโดยนักข่าวพลเมือง รวมทั้งสื่อหลักบางแห่งเสนอภาพ รูปร่าง ที่อยู่ ชื่อของบุคคลที่เข้าถึงตัวเด็กได้ จะมีกฎหมาย 2 ฉบับคุ้มครองเด็ก คือ 1. คุ้มครองเพราะเขายังเป็นเด็ก คือ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 กับ 2. คุ้มครองในฐานะเขาเป็นผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายอาญา, พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่กฎหมายไม่ยอมให้เปิดเผยถึงตัวเด็กเลย แต่ก็ยังมีการละเมิดกฎหมายอยู่ ซึ่งต้องตระหนักให้มาก

 

แต่ในทางกลับกัน กฎหมายจะไปมุ่งลงโทษผู้ปกครองที่ทอดทิ้งหรือปล่อยปละละเลยให้บุตรหลานของตนไปทำละเมิดคนอื่น คือ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ มาตรา 23, 25 และ 26 ซึ่งมีอัตราโทษสูง

 

ในประเด็นว่าเด็กอาจป่วยเป็นโรคจิต จะได้รับการคุ้มกันโดยกฎหมายหรือไม่ ประเด็นนี้ต้องย้อนไปดูต้นตอของปัญหาว่า พ่อแม่ได้ให้ความรักความอบอุ่นกับลูกหรือไม่ เด็กไม่ใช่สินทรัพย์ของพ่อแม่ที่จะเลี้ยงดูด้วยการตามใจซื้อข้าวของให้ แต่ต้องให้ความใกล้ชิดเอาใจใส่

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X