เป็นเวลาเกือบ 2 เดือนแล้วที่ประเทศไทยผ่านพ้นการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ที่มีผู้มาใช้สิทธิมากที่สุดในประวัติศาสตร์
หลังการเข้าคูหาด้วยความหวัง สังคมไทยกลับต้องตกอยู่ภายใต้ความหวาดระแวง ความไม่มั่นคง และเข้าใกล้ความสิ้นหวังในทุกขณะ เพราะไม่รู้ว่าการเมืองไทยในวันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร ใครจะได้เป็นนายกฯ และใครจะได้เข้าไปนั่งทำงานในทำเนียบรัฐบาล แม้คะแนนเสียงจะปรากฏชัดว่าประชาชนต้องการอะไร แต่เรื่องง่ายๆ กลับกลายเป็นเรื่องยากๆ เมื่อการจัดตั้งรัฐบาลเกิดปัญหามากมายระหว่างทาง
สิ่งที่สังคมเฝ้าจับตามากที่สุดไม่ใช่เรื่องการแก้ปัญหาประเทศตามที่พรรคการเมืองต่างๆ ได้นำเสนอนโยบายเอาไว้ แต่เป็นละครการเมืองฉากใหญ่ที่ว่าด้วยเรื่องของดีลลับ การสลับขั้ว การโยนหินถามทางที่สร้างความสับสนงุนงงให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก แม้จะแสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนมาแล้วผ่านการเลือกตั้ง แต่ทุกอย่างก็ดูจะสามารถพลิกผันได้ตลอดเวลา เรียกได้ว่าต้องติดตามสถานการณ์กันแบบนาทีต่อนาที
ก่อนการเลือกตั้งเราเคยถกเถียงกันอย่างเข้มข้นถึงแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ ของประเทศ ทั้งต้นทุนทางพลังงานที่ใกล้จะถึงเดดไลน์ในการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลครั้งใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของคนไทยทุกคน ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ขณะนี้โลกได้เข้าสู่อิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งจะตามมาด้วยภัยแล้งรุนแรง ฝนตก น้ำท่วม และความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยังไม่นับรวมปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สังคมผู้สูงอายุ ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และปัญหาอื่นๆ อีกมากมายที่รอคอยให้รัฐบาลใหม่มาแก้ไข
หลังการเลือกตั้งสิ่งที่เราถกเถียงกันมากที่สุดคือการตัดสินใจของ ส.ว. ที่จะยกมือโหวตให้ใคร การทำหน้าที่ของ กกต. รวมไปถึงองค์กรอิสระต่างๆ ความเป็นไปได้ที่จะเกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อยหรือการพลิกขั้วทางการเมือง ซึ่งสวนทางกับฉันทามติของประชาชนอย่างสิ้นเชิง ราวกับว่าปัญหาที่เราเคยทุ่มเทเวลาถกเถียงกันไม่เคยมีอยู่จริง
ในสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยระบอบประชาธิปไตย เราถูกปลูกฝังและท่องจำกันติดปากว่า ‘อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน’ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้ากลับดูไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเกมแย่งชิงอำนาจของคนกลุ่มเล็กๆ ยังคงดำเนินต่อไป กลไกที่บิดเบี้ยวได้แสดงให้เห็นแล้วว่าแท้จริงแล้วอำนาจที่แท้จริงอยู่ในมือใคร
13 กรกฎาคม 2566 จะเป็นอีกวันที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ ในฐานะจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประเทศไทย เราอาจจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่จะมาผลักดันในการแก้ปัญหาประเทศ นำพาประเทศไปสู่ทิศทางที่คนส่วนใหญ่คิดเห็นตรงกัน หรือทางตรงกันข้าม นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตครั้งใหญ่ทางการเมือง เมื่อประชาชนได้ตระหนักรู้แล้วว่าอำนาจอธิปไตยไม่ใช่ของพวกเขาอย่างที่ควรจะเป็น
นี่คือทางแยกของประเทศไทยที่ทุกฝ่ายจำเป็นต้องเลือกอย่างระมัดระวังที่สุด