×

13 วิธีรับมือ ‘บอส’ จอมแผลงฤทธิ์

โดย THE STANDARD TEAM
16.01.2021
  • LOADING...
13 วิธีรับมือ บอสจอมแผลงฤทธิ์

กูรูด้านบริหารทรัพยากรบุคคลออกโรงแนะนำวิธีรับมือกับ ‘Toxic Boss’ หรือเจ้านายที่ชอบแผลงฤทธิ์กดดันกลั่นแกล้งลูกน้อง 

 

ในชีวิตการทำงาน หนึ่งในความโชคดีที่ลูกจ้างส่วนใหญ่ปรารถนามากที่สุดก็คือการพบเจอเจ้านายที่ดีแสนประเสริฐ เพราะจะให้ชีวิตการทำงานราบรื่นและมีความสุข แต่เพราะไม่อาจเลือกเจ้านายได้ ดังนั้น การเจอเจ้านายที่เป็นพิษจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจเลี่ยงได้

 

งานนี้ นิตยสาร Forbes จึงได้รวบรวมความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากสภาทรัพยากรบุคคลของ Forbes (Forbes Human Resources Council) มาแบ่งปันเคล็ดลับประสบการณ์ในการรับมือกับเจ้านายจอมวายร้าย เพื่อให้การทำงานในปีหน้าฟ้าใหม่ราบรื่นและสงบสุขต่อไปได้

 

โดยวิธีการรับมือดังกล่าวมีทั้งหมดด้วยกัน 13 วิธี ซึ่งกูรูแนะนำให้พิจารณาเลือกใช้ โดยคำนึงถึงบริบทแวดล้อมและความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่ตนเองกำลังเผชิญอยู่เป็นหลัก

 

  1. Get support from other leaders จำไว้ว่าความคิดเห็นของบอสก็คือมุมมองของบอส ดังนั้นสิ่งที่แสดงออกจึงเป็นความคิดไม่ใช่ข้อเท็จจริง กรณีที่ความเห็นของเจ้านายกำลังขัดขวางตนเอง Karla Reffold หัวหน้าฝ่ายบุคคลแห่ง Orpheus Cyber แนะว่าให้ลองถามความเห็นจากผู้จัดการหรือผู้บริหารคนอื่นๆ ดู แล้วนำมาพิจารณาปรับปรุงให้ดีขึ้น จำไว้ว่า อย่าปล่อยให้ทัศนคติของเจ้านายเป็นตัวขัดขวางหนทางที่จะได้พัฒนาตนเอง 

 

  1. Talk to your HR manager ปรึกษาพูดคุยกับผู้จัดการฝ่ายบุคคล อธิบายถึงสถานการณ์ที่ตนเองต้องเผชิญ ซึ่งทางผู้จัดการทรัพยากรบุคคลได้รับการว่าจ้างมาเพื่อทำหน้าที่รับฟังและแก้ไขปัญหาเหล่านี้อยู่แล้ว

 

  1. Assume positive intent กรณีที่เกิดความความขัดแย้งกับเจ้านาย ให้คิดในแง่ดีไว้ก่อนว่าการกระทำของเจ้านายอาจเกิดมาจากความหวังดี ลองหาทางไปคุยกับคนที่เจ้านายสนิทเพื่อศึกษานิสัยใจคอ แต่หากไม่ใช่จริงๆ ก็ลองหาทางคุยกับเจ้านายโดยตรง พยายามอธิบายถึงผลลัพธ์การกระทำของเจ้านายว่าส่งผลกระทบต่อตนเองอย่างไรบ้าง และเปิดโอกาสให้เจ้านายได้อธิบาย ถ้าโชคดีก็ได้ทำให้เข้าใจกันมากขึ้น หรือถ้าไม่ อย่างน้อยก็ได้แสดงความคิดเห็นของตนเองแล้ว

 

  1. Focus on what you can control เมื่อต้องทำงานกับจอมวายร้าย ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านาย สิ่งที่ต้องท่องจำให้ขึ้นใจก็คือ คนเราไม่สามารถไปควบคุมใครได้นอกจากตัวของเราเอง ดังนั้นการพยายามควบคุมคนอื่นจึงเป็นเรื่องที่สูญเปล่า ต้องเรียนรู้ที่จะปล่อยจอมวายร้ายไป และหาความช่วยเหลือจากผู้อาวุโสคนอื่นๆ ที่พร้อมจะสนับสนุนและให้กำลังใจตนเอง 

 

  1. Ask a trusted colleague for guidance การขอความเห็นจากเพื่อนร่วมงาน ต้องเป็นเพื่อนร่วมงานที่ตนเองสามารถเชื่อใจได้อย่างแท้จริง รวมถึงมีประสบการณ์และวุฒิภาวะที่ดีเพียงพอที่จะให้คำแนะนำได้ ถ้าจะให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี เพื่อนร่วมงานคนดังกล่าวควรมีตำแหน่งงานที่สามารถรายงานเรื่องไม่ถูกต้องหรือชอบมาพากลไปยังเบื้องบนได้ 

 

  1. If talking with them directly doesn’t help, go to their superior กรณีที่พยายามคุยกับเจ้านายจอมวายร้ายแล้ว แต่ยังไม่แก้ไขปัญหาใดๆ ได้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ให้อธิบายปัญหาและความรู้สึกที่เผชิญอยู่ในปัจจุบันไปให้ผู้จัดการในระดับที่สูงกว่าเจ้านายรับทราบ 

 

  1. Imagine your ideal boss-employee relationship ลองปรับเปลี่ยนทัศนคติของตนเอง ด้วยการจินตนาการถึงความสัมพันธ์ที่ดีในอุดมคติระหว่างเจ้านายกับลูกน้องว่าควรเป็นอย่างไร แล้วลองทำตามนั้น ซึ่งในกรณีที่พยายามปรับปรุงความสัมพันธ์กับเจ้านายจนถึงที่สุดแล้วยังไม่ได้ผล ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าให้ตัดใจ อย่าพยายามดันทุรัง 

 

  1. Focus on clarity, candidness and control เจ้านายจอมวายร้ายส่วนใหญ่มักมีทักษะการสื่อสารที่ค่อนข้างอ่อนด้อย ในกรณีดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญแนะให้โฟกัสที่ 3C คือ Clarity (ความชัดเจน), Candidness (ความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา) และ Control (การควบคุม) ซึ่งหมายถึงการแสดงให้เห็นความรู้สึกนึกคิดของตนเองให้ชัดเจน พูดคุยกับเจ้านายอย่างตรงไปตรงมา และควบคุมปฏิกิริยาของตนเองให้ดีจากการตอบกลับของเจ้านาย  

 

  1. Make specific, time-bound requests กรณีที่ต้องร้องขอความช่วยเหลือหรือความต้องการใดๆ จากเจ้านายจอมวายร้าย หนึ่งในวิธีที่ได้ผลที่สุดก็คือ การกำหนดกรอบเวลา และทำให้เจ้านายรู้ว่าผลลัพธ์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคืออะไรหากไม่ทำตามสิ่งที่ร้องขอในเวลาที่กำหนด โดยหลังจากร้องขอแล้ว ให้พยายามติดตามความคืบหน้าอย่างสม่ำเสมอในทุกโอกาสที่ได้เจอเจ้านาย 

 

  1. Document the bad interactions เก็บบันทึกพฤติกรรมแย่ๆ ของเจ้านายจอมวายร้ายเป็นหลักฐาน ให้ท่องจำไว้เสมอว่า อย่าปล่อยให้พฤติกรรมแย่ๆ เหล่านั้นส่งผลต่อพฤติกรรมและคุณภาพการทำงานของตนเองโดยเด็ดขาด บันทึกหลักฐานพฤติกรรมแย่ๆ เหล่านั้นอย่างตรงไปตรงมา ระบุวันเวลาสถานที่ไว้ให้ชัดเจน และหาทางยื่นคำร้องเรียนดังกล่าวไปยังฝ่ายทรัพยากรบุคคล

 

  1. Decide if it’s a perception or a personality issue ดูว่าปัญหาของตนกับเจ้านายจอมวายร้ายเป็นปัญหาจากทัศนคติที่ไม่ลงรอยกัน หรือเพราะลักษณะนิสัยส่วนบุคคล ถ้าเป็นเพราะทัศนคติ ทางแก้ไขก็คือการพูดคุยสื่อสารอย่างชัดเจนตรงไปตรงมาและมีวุฒิภาวะที่ดี แต่ถ้าเป็นเพราะนิสัยส่วนบุคคล ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลระบุว่า แม้จะมีเทคนิคช่วยปรับแก้ได้ แต่การเปลี่ยนแปลงนิสัยเป็นเรื่องยาก ดังนั้นผลลัพธ์ที่ได้ย่อมมีจำกัด 

 

  1. Look for patterns หรือการมองหารูปแบบวิธีการสื่อสารกับเจ้านายจอมวายร้ายที่ได้และไม่ได้ผล คือวิธีไหนได้ผลลัพธ์ที่ดีก็จำไว้ วิธีไหนที่ไม่ได้ผลก็หลีกเลี่ยงเสีย ซึ่งบางครั้งสิ่งจำเป็นอาจอยู่ที่การควบคุมปฏิกิริยาของตนเองขณะพูดคุยสื่อสารกับเจ้านาย โดยในกรณีที่คุยกันต่อหน้าไม่ได้ผล ก็ให้หาช่องทางอื่นๆ เช่น อีเมลหรือกระดาษเข้ามาช่วยสื่อสารแทน 

 

  1. Continue to execute ต่อให้เจ้านายจะร้ายแผลงฤทธิ์มากเพียงใด ก็อย่าถอดใจกับงานที่รับมอบหมายโดยเด็ดขาด ให้ใส่ใจกับสิ่งที่ตนเองสามารถควบคุมดำเนินได้ สิ่งที่คุมไม่ได้ก็ให้ปล่อยไป เดินหน้าทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ก็พอ 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising