×

นักวิจัยไทยพบ 13 กาแล็กซีในยุคแรกเริ่มของเอกภพ จากข้อมูลกล้องเจมส์ เว็บบ์

01.02.2024
  • LOADING...

ดร.ณิชา ลีโทชวลิต นักวิจัยของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT ได้นำทีมคณะนักดาราศาสตร์นานาประเทศตรวจพบกาแล็กซีมวลน้อยเพิ่มอีก 13 แห่งที่มีอยู่ตั้งแต่เอกภพ มีอายุเพียง 550-700 ล้านปี

 

งานวิจัยดังกล่าวได้ศึกษาข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ภายใต้โครงการวิจัย GLASS-JWST-ERS เพื่อตรวจหากาแล็กซียุคแรกเริ่มของเอกภพ ที่กำเนิดขึ้นมาในช่วงประมาณ 13,000 ล้านปีที่แล้ว ในยุค Epoch of Reionization หรือเป็นช่วงที่สสารระหว่างกาแล็กซีกลับกลายเป็นพลาสมาอีกครั้ง

 

จากข้อมูลภาพถ่ายชุดแรกของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ที่ใช้กล้อง NIRCam สำรวจจักรวาลในช่วงคลื่นอินฟราเรดใกล้ (ช่วงความยาวคลื่นระหว่าง 900-4,400 นาโนเมตร) ทำให้ทีมวิจัยสามารถตรวจพบกาแล็กซีในอวกาศห้วงลึกเพิ่มอีก 13 แห่ง ซึ่งมีมวลน้อยกว่าดาราจักรทางช้างเผือกระหว่าง 10-100 เท่า

 

นักดาราศาสตร์ต้องการศึกษากาแล็กซีในช่วง Epoch of Reionization เพื่อให้เข้าใจถึงวิวัฒนาการของเอกภพในช่วงเวลาดังกล่าว โดยกล้องเจมส์ เว็บบ์ ที่ถูกสร้างมาให้ศึกษาจักรวาลในช่วงคลื่นอินฟราเรด เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่ช่วยให้นักดาราศาสตร์มองย้อนกลับไปถึงช่วงเวลาการกำเนิดดาวฤกษ์และกาแล็กซีแห่งแรกของเอกภพ

 

ข้อมูลจากงานวิจัยนี้พบว่ากาแล็กซีดังกล่าวมีอัตราการกำเนิดดาวฤกษ์ใหม่ประมาณ 1-10 ดวงต่อปี โดยที่แต่ละดวงมีอายุเฉลี่ยระหว่าง 30-200 ล้านปี ตรงตามทฤษฎีที่นักดาราศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้

 

งานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Astrophysical Journal Letters เมื่อเดือนตุลาคม 2023

 

ก่อนหน้านี้ ดร.ณิชา ลีโทชวลิต นักวิจัยของกลุ่มวิจัยจักรวาลวิทยาและดาราศาสตร์ทฤษฎี สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เป็นหนึ่งในทีมวิจัยที่ได้ร่วมค้นพบกาแล็กซี GLASS-z12 ที่อยู่ห่างไปประมาณ 13,600 ล้านปีแสง จากข้อมูลชุดแรกของกล้องเจมส์ เว็บบ์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2022 ซึ่งนับเป็นดาราจักรที่มีอยู่ในยุคแรกเริ่มของเอกภพ และอยู่ไกลโลกที่สุดแห่งหนึ่ง

 

ภาพ: NASA, ESA, CSA

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X