กาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เผยถึงความคืบหน้าสถานการณ์การสู้รบระหว่างกองทัพอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาสในปาเลสไตน์วันนี้ (9 ตุลาคม) โดยระบุว่า พัฒนาการของสถานการณ์ในช่วงเวลานี้ยังคงมีความรุนแรง กลุ่มฮามาสในฉนวนกาซายังคงโจมตีเข้ามายังเขตพื้นที่ของอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กองทัพอิสราเอลเองพยายามกระชับพื้นที่ เพื่อให้ได้พื้นที่คืนมา
ทางการอิสราเอลพยายามช่วยเหลือตัวประกันและผู้ถูกจับกุม ซึ่งได้รับการยืนยันว่ามีมากกว่า 100 คน โดยเป็นพลเมืองสัญชาติต่างๆ เช่น อิสราเอล, ฝรั่งเศส, จอร์เจีย รวมถึงไทย ล่าสุด กองทัพอิสราเอลได้สั่งอพยพพลเมืองทุกคนที่อยู่ใกล้ฉนวนกาซา รวมถึงพี่น้องคนไทยแล้ว ซึ่งจะพยายามอพยพให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง เน้นความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ทางการอิสราเอลยังได้บรีฟคณะทูตผ่านทางออนไลน์ โดยให้ชี้แจงข้อมูลและภาพรวมของสถานการณ์ เพื่อลดความกังวลของสาธารณชน พร้อมระบุว่า สนามบินยังคงเปิดให้บริการตามปกติ โดยมีเที่ยวบินให้บริการราวร้อยละ 50 ขณะที่สถานศึกษาและร้านค้าส่วนใหญ่ปิดให้บริการทั่วประเทศ จะมีบางพื้นที่แถบตอนกลางของประเทศที่ยังพอเปิดให้บริการได้อยู่บ้าง แต่หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินก็จำเป็นต้องลงไปหลบยังหลุมหลบภัย
ขณะที่สถานการณ์ของพี่น้องแรงงานไทยในอิสราเอล ล่าสุด ทางการไทยได้รับแจ้งจากนายจ้าง มีคนไทยเสียชีวิตแล้ว 12 คน ได้รับบาดเจ็บ 8 คน และยังถูกจับกุมตัวไว้อีก 11 คน ซึ่งในส่วนนี้ทางการไทยยังไม่ได้เปิดเผยรายชื่อผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด เพราะอยากให้ทางญาติรับทราบก่อน อีกทั้งรายชื่อดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการยืนยันจากทางการอิสราเอล แต่ทางการไทยจะติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด
ทางการอิสราเอลระบุว่า สถานการณ์ในขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นจนถึงขั้นต้องอพยพใหญ่ แต่ถ้าพี่น้องแรงงานไทยขวัญเสียหรือต้องการกลับบ้านก็ยินดีประสานงานช่วยเหลือ โดยทางสถานทูตไทยพยายามติดต่อและให้กรอกแบบฟอร์มแสดงความจำนง โดยตัวเลขล่าสุดเมื่อเวลา 21.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น มีพี่น้องคนไทยขอกลับไทยจำนวน 1,099 คน และมีคนที่ยังขอไม่เดินทางกลับไทยจำนวน 22 คน โดยมีแรงงานไทยอาศัยอยู่ในอิสราเอลทั้งหมดราว 30,000 คน และอาศัยอยู่บริเวณใกล้กับฉนวนกาซาราว 5,000 คน
นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญประเมินสถานการณ์เบื้องต้นคาดการณ์ว่า ปฏิบัติการครั้งนี้อาจยืดเยื้อ โดยหน่วยงานไทยได้ประสานงานกับทางการอิสราเอลอย่างใกล้ชิด และได้มีการเตรียมการแผนอพยพ โดยการใช้เครื่องบินกองทัพอากาศ หากสถานการณ์พร้อมที่จะไปลำเลียง ก็จะดำเนินได้อย่างรวดเร็ว โดยเบื้องต้นต้องรู้วันและเส้นทางการบิน เพราะต้องขออนุญาตข้ามน่านฟ้าประเทศต่างๆ โดยทางการไทยให้คำมั่นว่า ทุกฝ่ายจะให้ความช่วยเหลือพี่น้องแรงงานชาวไทยในอิสราเอลอย่างเต็มที่
ภาพ: กระทรวงการต่างประเทศ
อ้างอิง:
- กระทรวงการต่างประเทศ