หลังการชนะเลือกตั้งอย่างท่วมท้นของว่าที่ผู้ราชการกรุงเทพมหานคร ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ คนกรุงเทพฯ ต่างตื่นเต้น และเฝ้ารอการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นตามนโยบาย 200 ข้อที่วางไว้ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่เรื่องพื้นฐานทั่วไปไปจนถึงเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกรุง
หนึ่งในนโยบายที่กำลังเป็นกระแสมากที่สุดตอนนี้ทางโซเชียลมีเดีย คือนโยบาย ‘12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ’ ซึ่งว่าที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติได้จัดโครงการนี้ให้อยู่ในหมวดสร้างสรรค์ดีและเศรษฐกิจดี โดยเขาได้อธิบายว่าการจัดเทศกาลคือการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นในรูปแบบหนึ่ง
จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ปี 2564 มีแรงงานที่มีงานทำลดลง 107,354 คนจากปี 2563 หรือคิดเป็นประมาณ 2% ดังนั้นกรุงเทพฯ จะต้องเป็นแหล่งสร้างงานเพื่อทดแทนแรงงานที่หายไป โดยเทศกาลสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเปิดโอกาสประกอบธุรกิจใหม่ๆ ให้กับคนกรุงเทพฯ เป็นเครื่องมือผลักดันความสร้างสรรค์ การออกแบบ ชุมชน รวมถึงดึงอัตลักษณ์และศักยภาพของแต่ละย่านทั่วกรุง และสามารถนำไปต่อยอดธุรกิจท่องเที่ยวหลังเทศกาลจบได้ด้วย
12 เดือน 12 เทศกาล จะมีอะไรบ้างนั้น ทางทีมชัชชาติได้ลิสต์เบื้องต้นมาให้ดูแล้ว สำหรับใครที่มีไอเดียที่ดีกว่า หรืออยากจัดเทศกาลใดๆ สามารถนำเสนอความคิดเห็นของตนเองได้ที่ลิงก์ในหน้านโยบาย www.chadchart.com
12 เทศกาล 12 เดือน หนึ่งในโยบาย 200 ข้อของชัชชาติ
- มกราคม: เทศกาลดนตรีในสวน
- กุมภาพันธ์: เทศกาลดอกไม้แห่งความรัก
- มีนาคม: เทศกาลหนังสือกรุงเทพฯ
- เมษายน: เทศกาลอาหารฮาลาลหลังอาทิตย์ลับขอบฟ้า
- พฤษภาคม: เทศกาลผลไม้ไทย
- มิถุนายน: Pride Month
- กรกฎาคม: เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ
- สิงหาคม: เทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- กันยายน: เทศกาลงานคราฟต์
- ตุลาคม: เทศกาลแข่งเรือกรุงเทพฯ
- พฤศจิกายน: เทศกาล 11.11 ช้อปปิ้งพาราไดส์เฟสติวัล
- ธันวาคม: เทศกาลแห่งแสง ของขวัญกรุงเทพฯ (Bangkok Winter Illumination)
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย
อ้างอิง: