×

โฆษก ทบ. ยืนยัน กอ.รมน.ภาค 3 มีสิทธิแจ้งความ ม.112 พอล แชมเบอร์ส ติงวิโรจน์พูดฟันธงเชิงประจาน

โดย THE STANDARD TEAM
28.04.2025
  • LOADING...
พอล แชมเบอร์ส

วันนี้ (28 เมษายน) พล.ต. วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีจากการประชุมคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 24 เมษายน 2568 วาระพิจารณาศึกษา เรื่อง กอ.รมน.ภาค 3 ไปแจ้งความให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี พอล แชมเบอร์ส (Paul Chambers) นักวิชาการชาวอเมริกัน อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยนเรศวร ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ สภ.เมืองพิษณุโลก เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2568 โดยจากที่ได้ติดตามผลของการประชุมพบว่า อาจมีรายละเอียดบางอย่างที่ผู้แทนหน่วยที่เข้าร่วมประชุมอาจนำเสนอไม่ครบ จึงขอเรียนเพิ่มเติมให้ดังนี้

 

  1. เรื่องข้อสงสัยว่า กอ.รมน.ภาค 3 ใช้อำนาจอะไรไปแจ้งความ

 

พล.ต. วินธัย ชี้แจงว่า การไปแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง เมื่อพบเห็นว่าอาจมีการกระทำเข้าข่ายผิดกฎหมายบ้านเมืองเป็นเรื่องปกติ ที่ทุกคนทั่วไปสามารถทำได้ ต่างจากการไปขอจับกุมผู้กระทำความผิดที่จำเป็นต้องอ้างใช้อำนาจตามกฎหมายในกรณีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นความผิดต่อแผ่นดิน ใครที่พบเห็นข้อความที่มีลักษณะเข้าข่ายทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดในลักษณะดูหมิ่นสถาบันฯ ก็สามารถแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้นำเข้าสู่กระบวนการทางศาลเพื่อพิจารณาได้ โดยผู้ถูกกล่าวหาจะสามารถพิสูจน์ตัวเอง แก้ต่างข้อกล่าวหาได้ตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม

 

  1. การดำเนินการต่อกรณีนี้

เริ่มจากได้รับแจ้งจากประชาชน กอ.รมน.ภาค 3 จึงได้มีการติดตามตรวจสอบ และนำเข้ากระบวนการพิจารณาของหน่วย พบว่ามีพฤติกรรมใช้ความรู้สึกส่วนตัวตีความและกระจายไปยังบุคคลภายนอก อันมีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงได้ทำหนังสือร้องทุกข์ดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยต่อไป ซึ่งปัจจุบันอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน

 

  1. สำหรับข้อกังวลเนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาเป็นชาวต่างประเทศนั้น กฎหมายของประเทศนั้นย่อมสามารถใช้บังคับได้กับทุกคนที่อยู่ในประเทศนั้นตามหลักสากล ไม่มีประเทศไหนในโลกจะมีข้อยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายให้กับคนสัญชาติอื่นที่ไม่ใช่สัญชาติตัวเอง ซึ่งหากผู้ถูกแจ้งความคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็สามารถใช้ช่องทางของกฎหมายมาดำเนินการผู้แจ้งความได้

 

  1. ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ วันนั้นพบว่า มีภาพบรรยากาศที่อาจดูน่ากังวลเนื่องด้วยมีบางคนมีการใช้คำพูดในลักษณะดูหมิ่น เสียดสีผู้เข้าร่วมประชุม เช่น “โง่แต่ขยัน ลุแก่อำนาจ ไร้สติปัญญา และขาดทักษะ ภาษาอังกฤษ”

 

พล.ต. วินธัย ชี้แจงว่า เนื่องจากรายละเอียดประกอบข้อมูลการฟ้องอยู่ในระบบของกระบวนการยุติธรรมไปแล้ว ซึ่งการจะเปิดเผยคงทำได้แบบจำกัด ส่วนการโต้แย้งผ่านการประชุมฯ ไม่น่าส่งผลต่อรูปคดีจริง เนื้อหาที่นำมายกตัวอย่างมาพูดโต้แย้งกันในที่ประชุม ก็อาจไม่อยู่ในประเด็นหลักการฟ้องในครั้งนี้ 

 

“แต่กลับพบว่าถูกนำมาเป็นประเด็นเพื่อใช้เหยียดหยาม ประจานด้อยค่าบุคคลและองค์กร อยู่หลายคำหลายประโยค เช่น โง่แต่ขยัน ลุแก่อำนาจ ไร้สติปัญญา หรือเป็นหน่วยงานดักดาน ทั้งหมดเหล่านี้ขอให้ทางองค์กรที่รับผิดชอบหรือสังคมเป็นผู้พิจารณา”

 

  1. พล.ต. วินธัย ชี้แจงกรณีที่มีหลายความเห็นกล่าวถึงการใช้เวทีกลไกสภานี้ เพื่อพยายามปกป้องช่วยเหลือผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดหรือไม่ เช่น ชี้แจงว่าข้อความที่เป็นประเด็นนั้น ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้เขียนเอง พร้อมได้ยกตัวอย่างว่า เพราะเขาใช้คำสรรพนามภาษาอังกฤษว่า he ไม่ได้ใช้คำว่า I ซึ่งกรณีนี้ คณะกรรมาธิการอาจเข้าใจว่าประเด็นปัญหาที่ถูกนำไปแจ้งความคือตรงนี้ จึงมุ่งมาช่วยเหลือพยายามแก้ต่างให้ผ่านเวทีประชุมนี้ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ เพราะข้อมูลที่เป็นประเด็นปัญหานำไปสู่การฟ้องร้องทางคดีนั้นอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมไปแล้ว ทำให้ประเด็นที่นำเอาไปถกเถียงในวันนั้น อาจไม่ใช่ประเด็นหลักที่ใช้ประกอบการฟ้องร้องครั้งนี้ก็ได้ 

 

“ซึ่งจากการที่ประธานที่ประชุมได้ไปพูดฟันธงต่อสาธารณะในทำนองประจานให้มีผลต่อภาพลักษณ์บุคคลและหน่วยงานนั้น เป็นเรื่องที่สังคมต้องเป็นผู้พิจารณา ซึ่งอาจต้องไปดูในระเบียบ และมารยาทวิธีการปฏิบัติในการประชุม”

 

  1. กรณีมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 พล.ต. วินธัย ชี้แจงว่า ปกติกลไกนี้มีไว้สำหรับการเสนอจัดทำแผนงานเพื่อใช้บริหารจัดการแก้ไขปัญหาความมั่นคง โดยเฉพาะปัญหาที่มีความยุ่งยากและซับซ้อน และอาจต้องอาศัยหลายหน่วยงานมาร่วมแก้ จึงมีขั้นตอนต่างๆ ไปให้ฝ่ายบริหารอนุมัติ เพื่อนำไปประกอบกับกลไกของกฎหมายตาม มาตรา 15 เพื่อใช้แก้ไขปัญหาความมั่นคงนั้นๆ ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกรณีคดีของ พอล แชมเบอร์ส เป็นคดีอาญาปกติ ไม่ใช่การเสนอแผนเพื่อจะขออนุมัตินำไปใช้แก้ปัญหาความมั่นคง

 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อ 24 เมษายน ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ที่มี วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน เป็นประธาน ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้แทน กอ.รมน.ภาค 3 ชี้แจงกรณีการแจ้งข้อหา มาตรา 112 ต่อ พอล แชมเบอร์ส 

 

โดยตัวแทน กอ.รมน.ภาค 3 ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า นำข้อมูลประกอบการแจ้งความมาจากโพสต์เฟซบุ๊กของประชาชน และใช้อำนาจตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ซึ่งที่ประชุมแย้งว่าการดำเนินการแจ้งความควรต้องผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีก่อน

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising