วันนี้ (31 มกราคม) กลุ่มคณะราษฎรยกเลิกมาตรา 112 (ครย.), กลุ่มทะลุวัง, กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ, กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน เข้ายื่นหนังสือที่สำนักงานพรรคเพื่อไทย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เพื่อเสนอนโยบายเร่งด่วน 3 ข้อเรียกร้องของ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ ซึ่งปัจจุบันประท้วงด้วยการอดน้ำและอาหารในเรือนจำ ก่อนส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
สำหรับข้อเรียกร้องของทานตะวันและอรวรรณ คือ
- ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรกมาก่อนสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอิสระ ปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี
- ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง
- พรรคการเมืองทุกพรรคต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิกมาตรา 112 และ 116
ขณะที่พรรคเพื่อไทย โดย ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค กล่าวว่า หลังจากที่พรรคเพื่อไทยได้พูดคุยกับเยาวชนและประชาชนที่มาที่พรรคเพื่อไทย มีข้อสรุปดังนี้
- การถอนประกันตัวเอง และอดอาหารและน้ำของทานตะวันและอรวรรณ พรรคเพื่อไทยมีความห่วงใยในความปลอดภัยแห่งชีวิตและทรัพย์สินของนักศึกษาทั้ง 2 คน ซึ่งควรจะมีชีวิต เป็นกำลังสำคัญของครอบครัวและชาติบ้านเมืองต่อไป และมีข้อฝากว่าแพทย์มีหน้าที่รักษาผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะที่เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต แม้จะขัดต่อเจตนารมณ์และความยินยอมของผู้ป่วย ตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม, ข้อบังคับแพทยสภา และพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม จึงไม่ได้หมายความว่าแพทย์จะสามารถปล่อยให้ผู้ป่วยสิ้นชีวิตไปต่อหน้าต่อตาโดยมิได้ทำอะไรเลย
- พรรคเพื่อไทยเห็นว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะสิทธิในการประกันตัว ย่อมได้รับความคุ้มครอง เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมทั้งของไทยและนานาอารยประเทศ พรรคเห็นว่าการให้ประกันตัวผู้ต้องหา ซึ่งเป็นนิสิต นักศึกษา และเป็นเพียงผู้เห็นต่างทางความคิด มิได้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงใดๆ ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก จึงถึงเวลาที่ควรจะได้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ
ดังเช่นที่พรรคเพื่อไทยได้เคยเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิการประกันตัว จะต้องเป็นหลักการไม่ให้ประกันต้องเป็นข้อยกเว้น จะคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้เกิน 1 ปีไม่ได้ และให้เพิ่มเติมในสิทธิกระบวนการยุติธรรมไว้ในรัฐธรรมนูญ
- ส่วนข้อเสนอให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116 นั้น พรรคเพื่อไทยเห็นว่า กรณีมาตรา 116 นั้นเป็นความผิดที่เรียกว่าเป็นการยุยง ปลุกปั่น เป็นกฎหมายที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากที่สุด จนถูกเรียกได้ว่ากฎหมายครอบจักรวาล มีองค์ประกอบหรือการตีความได้อย่างกว้างขวาง การแก้ไขหรือยกเลิกจึงน่าจะกระทำได้
ส่วนกรณีการยกเลิกมาตรา 112 นั้น พรรคเห็นว่ามาตรานี้บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองประมุขของรัฐ ควบคู่กับประวัติศาสตร์ของประเทศที่ยอมรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การจะยกเลิกหรือแก้ไขใดๆ มีความเห็นหลากหลายในสังคม และมีความแตกต่างกันในทางความคิดแบบสุดขั้ว อาจเรียกได้ว่าถึงขั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน จนยากที่จะหาบทสรุปที่เป็นไปในทางสันติและความสมานฉันท์ของคนในประเทศ การยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและรัฐสภาที่ควรจะเป็นองค์กรรับผิดชอบโดยเร่งด่วน พรรคเพื่อไทยจะเสนอเป็นญัตติด่วนเพื่อปรึกษาหารือกันในรัฐสภา
ในชั้นนี้พรรคจึงเห็นว่าการปรึกษาหารือกันในแนวทางปฏิบัติของการบังคับใช้มาตรา 112 จะเป็นทางออกหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาได้ในเบื้องต้น และไม่อาจกระทำได้โดยลำพังของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเท่านั้น