วันนี้ (11 กุมภาพันธ์) เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนจัดกิจกรรม 11.2 Love Fair ที่ลานประชาชน หน้าอาคารรัฐสภา เกียกกาย โดยเชิญชวนผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางเมืองและประชาชนทั่วไปที่สนใจ เข้าร่วมแสดงพลังเป็นหมุดหมายสำคัญของแคมเปญล่ารายชื่อเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนต่อสภาผู้แทนราษฎร
โดยในวันนี้มีกิจกรรมหลักคือการรวบรวมผู้ต้องหาทางการเมืองทุกคดีความ ทุกช่วงเวลา และฝั่งการเมือง กว่า 300 คน ถ่ายภาพร่วมกันเพื่อแสดงพลังเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันการออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน ซึ่งในวันนี้มีแกนนำกลุ่มราษฎรและนักกิจกรรมทางการเมืองมาร่วมกิจกรรม เช่น จตุรภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน, รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ รวมถึง ช่อ-พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน กล่าวเรียกร้องให้มีการผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน โดยเริ่มด้วยการเล่าเรื่องราวเส้นทางการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เดินเคียงคู่กับการทำงานในฐานะทนายความของ อานนท์ นำภา จากผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเฟซบุ๊ก เขียนบทกวี ไปจนถึงการกดแชร์โพสต์ โดยที่มีอานนท์รับหน้าที่ว่าความ ผ่านความเจ็บปวดจากความอยุติธรรมของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
“พวกเราที่มารวมตัวกันในวันนี้ต่างก็แบกเอาเรื่องราว บาดแผล ความเจ็บแค้น ความทรงจำเอาไว้มากมายนับกันไม่ถ้วน เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมากฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐที่จะสร้างความหวาดกลัว และกระบวนการยุติธรรมกลายเป็นกระบวนการที่ใช้สร้างภาระสร้างความปั่นป่วนในชีวิต โดยเฉพาะในคดีมาตรา 112 ที่ถามหาความปกติได้ยาก เพราะผู้พิพากษาเองก็ทราบว่ามันไม่ใช่คดีปกติ” ยิ่งชีพกล่าว
ยิ่งชีพกล่าวต่อว่า ทนายความอย่างอานนท์คือประจักษ์พยานของความไม่ปกติ จนถึงวันที่ต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องการปฏิรูปสถาบัน และยกเลิกมาตรา 112 ทำให้อานนท์ต้องถูกส่งเข้าเรือนจำเสียเอง
“ข้อเสนอนิรโทษกรรมประชาชนที่ต้องเรียกร้องเพื่อให้ได้มาในวันนี้ เป็นเรื่องเดียวกันกับที่เราเรียกร้องกันมาตลอดหลายปี คือเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และคือการทวงคืนความยุติธรรมให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และคือการเสนอใช้สิทธิช่วยกันเสนอต่อผู้มีอำนาจสูงสุดอย่างเป็นทางการให้ปล่อยเพื่อนเรา”
หลังจากนี้กิจกรรมปิดท้ายแคมเปญนิรโทษกรรมประชาชนคือ ‘ส่งรักให้ถึงสภา ถามหาความยุติธรรม เพื่อนิรโทษกรรมประชาชน’ จะจัดขึ้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ลานประชาชน โดยมีการเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองมารับรายชื่อประชาชน พร้อมกับแสดงความเห็นและจุดยืนต่อการนิรโทษกรรมประชาชน
สำหรับแคมเปญนิรโทษกรรมประชาชนประกอบไปด้วยองค์กรภาคประชาสังคมอย่างน้อย 23 องค์กร อาสาสมัครและนักกิจกรรมอีกมากกว่าร้อยคน มีเป้าหมายเพื่อนำเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. … โดยใช้ช่องทางตามกฎหมายในการรวบรวมรายชื่ออย่างน้อย 10,000 รายชื่อ โดยกิจกรรมล่ารายชื่อมีตั้งแต่วันที่ 1-14 กุมภาพันธ์ ผ่านจุดล่ารายชื่อมากกว่าร้อยจุดทั่วประเทศ และช่องทางออนไลน์ พร้อมกับกิจกรรมต่างๆ
เนื้อหาหลักของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนคือการยกเลิกคดีที่เกิดจากการแสดงออกทางการเมืองหรือมีมูลเหตุทางการเมืองทั้งหมดตั้งแต่การรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยครอบคลุมคดีที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย เช่น คำสั่งและประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปจนถึงความผิดในมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
รวมถึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน ประกอบไปด้วยตัวแทนจาก สส. ในสภา ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองในช่วงเวลาต่างๆ ไปจนถึงภาคประชาสังคมที่ทำงานติดตามคดีการเมือง ทำหน้าที่พิจารณานิรโทษกรรมคดีอื่นๆ ที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองด้วย เพื่อรับประกันว่าจะไม่มีใครตกหล่นจากการนิรโทษกรรมประชาชน