พิชัย ชุณหวชิร เตรียมงบ 1 หมื่นล้านบาทช่วยแก้หนี้ให้กับลูกค้าธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่เป็นหนี้เสีย (NPL) จากโควิดราว 1 ล้านราย รายละไม่เกิน 10,000 บาท เพื่อให้ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวกลับเข้าสู่ระบบอีกครั้ง และชำระหนี้ได้ตามความสามารถ โดยกำหนดกรอบเวลาชำระคืนไม่เกิน 2 ปี
วันนี้ (13 พฤษภาคม) พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้ออมสินเร่งเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มหนี้เสียจากสินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดจำนวน 1 ล้านราย วงเงินรายละไม่เกิน 10,000 บาท โดยรัฐบาลได้ตั้งวงเงินงบประมาณสำหรับส่วนนี้ไว้แล้ว 1 หมื่นล้านบาท
“ลูกหนี้เสียกลุ่มนี้มาจาก 2 ธนาคาร คือ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ให้กู้ไปรายละ 10,000 บาทในช่วงโควิด ซึ่งมี 1 ล้านรายที่ยังค้างชำระหนี้อยู่ โดยรัฐบาลต้องการปลดหนี้ให้ เพื่อให้ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวหลุดพ้นจากการติดสถานะเครดิตบูโร” พิชัยกล่าว
ด้าน วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ลูกหนี้กลุ่มหนี้เสีย (NPL) จากสินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดจำนวน 1 ล้านราย แบ่งเป็น ลูกหนี้ของออมสินประมาณ 8 แสนราย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ประมาณ 6 แสนราย โดยรัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มดังกล่าว ซึ่งลูกหนี้ส่วนใหญ่ค้างชำระหนี้เพียง 3,000-5,000 บาทเท่านั้น
“ตอนนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ตั้งงบประมาณและอนุมัติเรียบร้อยแล้ว โดยงบประมาณจะทยอยออกมาเป็นช่วงๆ ซึ่งตอนนี้ธนาคารออมสินได้ช่วยลูกหนี้กลุ่มหนี้เสียจากสินเชื่อฉุกเฉินโควิดแล้วกว่า 7 แสนรายจากทั้งหมด 8 แสนราย”
มาตรการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีมติให้เร่งช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวให้หลุดพ้นสถานะ NPL เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ลูกหนี้เสียประวัติเครดิตและยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบได้อีกในอนาคต
โดยให้ธนาคารนำงบประมาณชดเชยค่าเสียหายจากหนี้เสียที่รัฐบาลจัดสรรให้สำหรับโครงการสินเชื่อดังกล่าวมาใช้ชำระหนี้แทนลูกหนี้ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ไตรมาส 1/67
ล่าสุดธนาคารออมสินเปิดเผยเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ได้ดำเนินการเพิ่มเติมอีกกว่า 90,000 ราย ทำให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้แล้วเป็นจำนวนกว่า 720,000 รายภายในระยะเวลา 3 เดือนตั้งแต่เริ่มมาตรการ ทั้งนี้ คาดว่าในไตรมาส 4/67 จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้เพิ่มอีกจำนวนกว่า 100,000 รายเมื่อได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาล
อนึ่ง มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สถานะ NPL ของโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นการช่วยเหลือที่ดำเนินการเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เสียวินัยทางการเงิน โดยรัฐบาลมีนโยบายผลักดันการแก้ปัญหาหนี้ประชาชนทุกกลุ่มให้ประสบความสำเร็จและยั่งยืนเป็นวาระแห่งชาติ