วันนี้ (26 กุมภาพันธ์) พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะรองประธาน คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 โดยมี พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภาครัฐ ภาคเอกชน และตัวแทนเกษตรกรชาวนา เข้าร่วม ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคาร 150 ปีกระทรวงการคลัง ว่า เพื่อเป็นการแก้ไขความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวนาที่ปลูกข้าวนาปรัง กระทรวงพาณิชย์ในฐานะฝ่ายเลขานุการ นำเสนอมาตรการตามข้อเรียกร้องของพี่น้องเกษตรกรทุกมาตรการ ซึ่งที่ประชุม นบข. มีการพิจารณาและเห็นชอบร่วมกันในมาตรการสนับสนุนช่วยเหลือชาวนาในช่วงการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกข้าวนาปรังของประเทศในอัตราไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 10 ไร่ เฉพาะเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีเงื่อนไขให้เกษตรกรวางแผนปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังบางส่วนไปปลูกพืชอื่นที่ให้มูลค่าสูงขึ้น หรือปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวที่เพาะปลูกให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เป็นต้น โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย ร่วมกันกำหนดเงื่อนไขที่เหมาะสม เกษตรกรสามารถดำเนินการได้มีประสิทธิภาพ รวมถึงให้สอดคล้องกับกลไกตลาด ก่อนนำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติและจัดสรรงบประมาณต่อไป โดยจะให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อวางแผนการดำเนินการด้านการพัฒนาการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้เป็นที่ต้องการของตลาด อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและรายได้ให้กับเกษตรกร และสามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในด้านการตลาดข้าวทั้งภายในและต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน
พิชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายในยังมีมาตรการในการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เป้าหมาย 500,000 ตัน ร่วมกับสมาคมข้าวถุง จัดทำข้าวถุงจากข้าวนาปรัง ส่งข้าวถุงให้ห้างค้าปลีก โมเดิร์นเทรด ร้านค้าท้องถิ่น ดึงอุปทานออกจากตลาด ในส่วนของการส่งเสริมการส่งออกข้าวไทย โดยกรมการค้าต่างประเทศขอความร่วมมือ EXIM BANK พิจารณาจัดสรรสินเชื่อพิเศษให้ผู้ประกอบการส่งออกข้าว เพื่อกระตุ้นการรับซื้อและเก็บสต็อกข้าวจากเกษตรกร และเร่งรัดการซื้อขายตามสัญญากับประเทศจีน ปริมาณ 280,000 ตัน และเปิดตลาดส่งออกใหม่ที่แอฟริกาใต้เพื่อดึงอุปทานออกจากตลาด