×

ถอดบทเรียนบนเส้นทาง 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีน: จุดอ่อนและ 12 จุดเด่นของโมเดลการพัฒนาจีน

05.01.2021
  • LOADING...
ถอดบทเรียนบนเส้นทาง 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีน: จุดอ่อนและ 12 จุดเด่นของโมเดลการพัฒนาจีน

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • ตลอด 70 กว่าปีของจีนภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นพรรคการเมืองเดียวที่กุมบังเหียนนำพาประเทศจีนภายใต้ผู้นำ 5 รุ่นที่นำทัพฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ จนสามารถพลิกโฉมจีนจากประเทศยากจนข้นแค้นและล้าหลัง จนสามารถผงาดขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจสำคัญของโลก
  • แต่เหรียญย่อมมีสองด้าน จนถึงวันนี้ แม้เศรษฐกิจจีนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ก็ยังคงมีสารพัดปัญหาที่ค้างคาและยังแก้ไขไม่สำเร็จ เช่น ปัญหาช่องว่างทางรายได้ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปัญหาชนกลุ่มน้อย 

 

ในปี 2021 นี้ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (The Communist Party of China: CPC) จะมีอายุครบ 100 ปี หลายคนอาจจะสนใจใคร่รู้ว่าในช่วงเวลาหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีประวัติ 100 ปีผ่านร้อนผ่านหนาวมาได้อย่างไร โดยเฉพาะในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองเดียวในการกุมบังเหียนนำพาประเทศจีนฝ่าฟันวิกฤตต่างๆ มาอย่างยาวนาน จนทำให้จีนผงาดขึ้นเป็นชาติมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของโลกได้อีกครั้ง

 

 

ก่อนอื่นต้องขอย้ำว่า ประเด็นจีนเป็นคอมมิวนิสต์แท้หรือเทียมไม่ใช่วัตถุประสงค์ของบทความนี้ แต่จะเน้นถอดบทเรียนบนเส้นทาง 100 ปีของระบอบ ‘คอมมิวนิสต์’ ในเวอร์ชันจีน และวิเคราะห์สรุป 12 คุณลักษณะเด่นของระบบในแบบของจีนเอง และแน่นอนว่าระบอบนี้ไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ดีที่สุดในโลก และยังมีจุดอ่อนสำคัญหลายด้าน ตลอดจนยังคงมีปัญหาค้างคาของจีนที่ยังแก้ไขไม่สำเร็จ โดยจะกล่าวถึงในตอนท้ายของบทความนี้

 

บนเส้นทาง 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ย้อนไปเมื่อเริ่มก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 1921 ในฐานะพรรคการเมืองเล็กๆ ในยุคที่จีนแผ่นดินใหญ่ยังปกครองในระบบสาธารณรัฐภายใต้ชื่อประเทศ ‘สาธารณรัฐจีน’ นำโดย ดร.ซุนยัดเซ็น หัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋ง แต่ต่อมาพรรคก๊กมินตั๋งภายใต้การนำของนายพล เจียงไคเชก ได้เกิดความขัดแย้งกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตง จนเกิดเป็นสงครามการเมือง จนกระทั่งถึงปี 1949 ด้วยหลากหลายปัจจัยที่ทำให้เจียงไคเชกต้องพ่ายแพ้และถอยร่นไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นบนเกาะไต้หวัน ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถประกาศสถาปนาประเทศจีนขึ้นใหม่ในระบอบคอมมิวนิสต์ ภายใต้ชื่อประเทศ ‘สาธารณรัฐประชาชนจีน’ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1949

 

จากวันนั้นถึงวันนี้ ตลอด 70 กว่าปีของประเทศจีนในระบอบคอมมิวนิสต์ พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นพรรคการเมืองเดียวที่กุมบังเหียนนำพาประเทศจีนภายใต้ผู้นำ 5 รุ่นที่นำทัพฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ จนสามารถพลิกโฉมจีนจากประเทศยากจนข้นแค้นและล้าหลัง จนสามารถผงาดขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจสำคัญของโลก

 

 

เริ่มจากผู้นำรุ่นที่ 1 ในยุคเหมาเจ๋อตงในช่วงปี 1949-1976 แม้จะเป็นผู้นำนักยุทธศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่และมีคุณูปการกับประเทศจีนในหลายด้าน แต่การเน้นระบบเศรษฐกิจแบบสั่งการและวางแผนจากส่วนกลางในยุคเหมา รวมทั้งการโดดเดี่ยว (Isolation) ไม่คบค้ากับต่างประเทศ นับเป็นการเลือกเดินเส้นทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาด ทำให้ประชาชนยากจนและประเทศล้าหลัง นอกจากนี้ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (ปี 1966-1976) ก็ได้เกิดความวุ่นวายแตกแยกยาวนานนับสิบปีจนกลายเป็นมุมมืดของประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่

 

จนมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของระบอบคอมมิวนิสต์จีนในยุคปฏิรูปและเปิดกว้าง ภายใต้ผู้นำรุ่นที่ 2 โดย เติ้งเสี่ยวผิง นักปฏิบัตินิยมที่เคยกล่าวคำคมไว้ว่า “ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็คือแมวที่ดี” สะท้อนถึงการไม่ยึดติดลัทธิอุดมการณ์ แต่เน้นการปรับประยุกต์นำกลไกตลาดมาเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจจีนและเปิดกว้างในการคบค้ากับต่างประเทศ เพื่อนำ ‘สี่ทันสมัย’ มาสู่จีน ภายใต้ระบบเศรษฐกิจในแบบของจีนเองที่เรียกว่า Socialist Market Economy with Chinese Characteristics ซึ่งประกาศครั้งแรกในปี 1992 โดยผู้นำรุ่นที่ 3 คือ เจียงเจ๋อหมิน

 

 

และต่อมาจนถึงผู้นำรุ่นที่ 4 ในยุค หูจิ่นเทา ก็ได้เริ่มเน้นให้จีนออกไปมีบทบาทนำในต่างประเทศมากขึ้น จนกระทั่งล่าสุดผู้นำรุ่นที่ 5 ในยุคสีจิ้นผิงที่คิดใหญ่มองไกล ด้วยการผลักดันยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiatives: BRI) จนกลายเป็น Talk of the World และเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล (Data-Driven Economy) จนทำให้จีนสามารถแซงหน้ามหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐฯ ในหลายมิติ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การเป็นสังคมไร้เงินสด การใช้เงิน Digital Currency ได้เป็นชาติแรกของโลกและการมีตลาดออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยการเติบโตของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มของจีน (Platform Economy) 

 

แน่นอนว่าเหรียญย่อมมีสองด้าน จนถึงวันนี้แม้เศรษฐกิจจีนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ก็ยังคงมีสารพัดปัญหาที่ค้างคาและยังแก้ไขไม่สำเร็จ เช่น ปัญหาช่องว่างทางรายได้ ปัญหารัฐวิสาหกิจ ปัญหาหนี้สาธารณะของรัฐบาลท้องถิ่นจีน ปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปัญหาชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะชาวมุสลิมอุยกูร์ เป็นต้น

 

คุณลักษณะเด่นของระบอบ ‘คอมมิวนิสต์’ ในเวอร์ชันจีน จากการวิเคราะห์เส้นทาง 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่สามารถผ่านร้อนผ่านหนาวฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ มาได้จนถึงทุกวันนี้ สามารถถอดบทเรียนออกเป็น 12 คุณลักษณะสำคัญดังนี้

 

 

ข้อ 1 พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่หมกมุ่นยึดติดอุดมการณ์ ไม่ใช่พรรคลัทธินิยมแต่เน้นปฏิบัตินิยม จึงมีการปรับประยุกต์นำระบบกลไกตลาดมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยที่ระบอบการเมืองยังคงเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เพื่อเน้นรักษาเสถียรภาพทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

 

ข้อ 2 พรรคคอมมิวนิสต์จีนพัฒนา ‘โมเดลของจีนเอง’ ไม่ลอกตำราฝรั่งจนหน้ามืดตามัว แต่นำแนวคิดทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกมาปรับประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมและต่อยอด จนสามารถพัฒนาเป็นระบอบสังคมนิยมอัตลักษณ์จีนที่เรียกว่า Socialism with Chinese Characteristics 

 

 

ข้อ 3 พรรคคอมมิวนิสต์จีนเน้นการทดลองแบบค่อยเป็นค่อยไป (Gradualism) เน้นการดำเนินยุทธศาสตร์แบบไม่ผลีผลาม ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เน้นทดลองทำเป็นขั้นเป็นตอน หากทำแล้วได้ผลก็ค่อยขยายผล ถ้าไม่สำเร็จก็จะหยุดทบทวนถอดบทเรียน ก่อนจะปรับแก้ไขเพื่อเดินหน้าต่อ เช่น ในยุคเติ้งเสี่ยวผิง มีการทดลองเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 4 เขตแรก เพื่อทดลองนำกลไกตลาดมาใช้ เมื่อได้ผลแล้วค่อยขยายผลออกไปในพื้นที่อื่นๆ จนครอบคลุมทั่วประเทศจีน หรือในยุคสีจิ้นผิง ก็มีการทดลองใช้เงิน Digital Yuan ใน 4 เมืองสำคัญ ก่อนที่จะขยายไปทดลองใช้ในอีก 28 กว่าเมืองในมณฑลต่างๆ ต่อไป

 

ข้อ 4 พรรคคอมมิวนิสต์จีนเน้นปรับ ดิสรัปต์ตัวเองให้ทันยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง เช่น  มีการปรับประยุกต์นำเทคโนโลยีมาจัดระเบียบสังคมของจีน เพื่อปรับพฤติกรรมทางสังคมที่ไม่เหมาะสมของคนจีนบางกลุ่มโดยการตัดคะแนน/ให้คะแนน ‘เครดิตทางสังคม’ และลงโทษโดยใช้มาตรการ Social Sanctions/Rewards ภายใต้ระบบ Social Credit System ที่ถูกพูดถึงกันมากในขณะนี้

 

ข้อ 5 พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ทำตัวเป็นนกกระจอกเทศที่เอาหัวมุดดินหนีปัญหา แต่จะยอมรับว่ายังคงมีปัญหาและเน้นการวางแผนล่วงหน้าในการเตรียมรับมือกับปัญหา เช่น ยอมรับว่ายังคงมีปัญหาความยากจนในจีน และประกาศทำสงครามกับความยากจนให้หมดสิ้นไปภายในปี 2020 

 

ข้อ 6 พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ คิดใหญ่ มองไกล มองชาติไปข้างหน้า มีความแน่วแน่และต่อเนื่อง จีนจึงมียุทธศาสตร์ระยะยาวที่ชัดเจน เช่น ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง BRI ที่ผลักดันมาตั้งแต่ปี 2013 จนถึงวันนี้มีประเทศต่างๆ ทั่วโลกเข้าร่วม BRI กว่า 70 ประเทศ 

 

ข้อ 7 พรรคคอมมิวนิสต์จีนตระหนักดีว่าการดำรงอยู่ของพรรคคอมมิวนิสต์ต้องมาจากการสร้างความชอบธรรมจากผลงานที่จับต้องได้ จึงเน้น ‘รับฟัง’ ข้อกังวลของประชาชนและแก้ไขปัญหาตามความต้องการของประชาชน เช่น ตระหนักดีว่าปัญหาคอร์รัปชันจะทำให้ประชาชนไม่พอใจและอาจจะเป็นปมเงื่อนไขให้มีคนจีนออกมาประท้วงรัฐบาล ผู้นำจีนในยุคสีจิ้นผิงจึงเน้นปราบคอร์รัปชันอย่างจริงจัง และเน้นรับใช้ประชาชน (Renmin Di Yi ประชาชนต้องมาก่อน)

 

ข้อ 8 พรรคคอมมิวนิสต์จีนเน้นปลูกฝังให้คนจีนภูมิใจในชาติและรักชาติยิ่งชีพ เพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจให้เกิดความรักและสามัคคีของคนในชาติ ทั้งนี้คนจีนมีทัศนะที่เชื่อในความยิ่งใหญ่ของจีนว่าเป็นศูนย์กลางของโลก (Sinocentric) ดังนั้นในยุคสีจิ้นผิงเน้นปลูกฝังการ ‘ฟื้นฟูชาติ’ เพื่อให้จีนกลับมาเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ของโลกได้อีกครั้งหนึ่ง 

 

ข้อ 9 พรรคคอมมิวนิสต์จีนถอดบทเรียนความผิดพลาดในอดีตและไม่ทำผิดซ้ำอีก เช่น กรณีประสบการณ์ความผิดพลาดจากเหตุการณ์เทียนอันเหมิน ทำให้ทางการจีนระมัดระวังไม่ใช้ความรุนแรงในการจัดการกับการประท้วงใหญ่ในฮ่องกง 

 

ข้อ 10 พรรคคอมมิวนิสต์จีนจุดประกายให้คนในชาติมี ‘ความฝัน’ ร่วมกัน การมี ‘ความฝันของจีน’ (Zhong Guo Meng) ในสองวาระสำคัญคือ 1. วาระครบรอบ 100 ปีของการสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 2021 ประเทศจีนต้องบรรลุเป้าหมาย ‘สังคมเสี่ยวคัง’ พออยู่พอกินถ้วนหน้า และ 2. วาระครบรอบ 100 ของการสถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2049 ต้องบรรลุเป้าหมายเป็นประเทศสังคมนิยมที่แข็งแกร่ง ทันสมัย ร่ำรวย มีอารยธรรม ปรองดองและความสวยงาม และเป็นประเทศทรงอิทธิพลของโลก เพื่อฟื้นฟูความเจริญรุ่งเรืองของชนชาติจีนให้กลับมายิ่งใหญ่ในระดับโลกอีกครั้ง 

 

ข้อ 11 พรรคคอมมิวนิสต์จีนเน้นการแข่งขันภาคเอกชนและเปิดรับแรงกดดันจากภายนอกให้เอกชนจีนต้องตื่นตัวและปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและเพื่อเอาชนะ เช่น การเข้าเป็นสมาชิก WTO และเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อให้บริษัทจีนต้องปรับตัวสู้กับต่างชาติ หรือการเปิดให้บริษัท Tesla เข้ามาลงทุนในจีนเพื่อให้บริษัทรถยนต์ EV ในจีนต้องตื่นตัว พัฒนาตัวเองปรับตัวให้รอดจากการแข่งขันกับคู่แข่งที่แข็งแกร่ง/มีเทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง Tesla รวมทั้งการปล่อยให้เอกชนจีนแข่งขันกันเองอย่างเข้มข้น เช่น การแข่งขันระหว่างเครือ Alibaba กับเครือ Tencent  

 

ข้อ 12 พรรคคอมมิวนิสต์จีนเน้นความเด็ดขาดในการกลั่นกรอง/ปิดกั้นบางสื่อจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Twitter และ YouTube ในประเด็นนี้มีหลายมุมมอง มีทั้งนักวิชาการที่วิเคราะห์ว่าจีนทำเช่นนี้เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม ไม่เปิดช่องให้สื่อต่างชาติเข้ามาปลุกปั่นหรือสร้างความแตกแยกของคนในชาติ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นการปิดกั้นสื่อของจีนว่า เป็นการปิดหูปิดตาประชาชน ทั้งนี้แม้ว่าชาวจีนจะไม่สามารถเข้าถึงสื่อโซเชียลมีเดียจากต่างชาติ แต่เอกชนจีนก็ได้พัฒนาสื่อโซเชียลมีเดียของจีนเองจำนวนมากและเป็นที่นิยมในหมู่ของชาวเน็ตจีน เช่น Weibo หรือ Youku เป็นต้น

 

แนวคิด Neo-Authoritarianism ในแบบของจีน จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ระบอบคอมมิวนิสต์ในเวอร์ชันจีนจะเน้นแนวทางปฏิบัตินิยม ไม่ใช่ระบบที่เป็นลัทธินิยม และเป็นระบบสังคมนิยมที่เน้นปรับประยุกต์ใช้ประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจกลไกตลาดแบบทุนนิยม ที่สำคัญสีจิ้นผิงได้เคยกล่าวว่า “แม้ว่าจีนจะสนับสนุนการปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่การเมืองต้องรวมศูนย์อำนาจจึงจะผลักดันการปฏิรูปได้สำเร็จ” ดังนั้นมีนักวิชาการบางคนวิเคราะห์ว่า แท้จริงแล้วจีนเป็นระบบ Neo-Authoritarianism กล่าวคือ แม้ว่าจีนจะสนับสนุนการปฏิรูประบบเศรษฐกิจกลไกตลาด เน้นประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและการเปิดตลาดเสรี/สนับสนุนผู้ประกอบการเอกชน แต่รัฐบาลจีน (พรรคคอมมิวนิสต์จีน) จะแทรกตัวคอยกำกับอยู่ในกลไกภาคธุรกิจทั้งหลายด้วย 

 

อย่างไรก็ดี หนึ่งในจุดอ่อนสำคัญของระบอบคอมมิวนิสต์ในแบบของจีนคือความเสี่ยงจากการยึดตัวบุคคล/ผู้นำเป็นใหญ่ และไร้กลไกการตรวจสอบหรือคานอำนาจ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ลัทธิบูชาบุคคล รวมทั้งการเปิดให้ผู้นำอยู่ในอำนาจแบบไร้วาระ/มีการให้อำนาจแก่ผู้นำหรือคณะผู้นำมากเกินไป หากมีผู้นำเผด็จการ/หลงอำนาจได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำพรรค และเน้นแสวงประโยชน์เพื่อพวกพ้องตนเอง โดยไม่มีกลไกการตรวจสอบเช่นนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็อาจจะหมดความชอบธรรม จนถูกประชาชนลุกฮือออกมาประท้วงต่อต้าน (ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม) ในที่สุด

 

นอกจากนี้พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เคยผิดพลาดบนเส้นทางที่ดำเนินมาในรอบ 100 ปีนี้ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะความผิดพลาดจากการปฏิวัติวัฒนธรรมในยุคเหมาเจ๋อตงที่นำไปสู่ความวุ่นวายและฉุดรั้งให้ประเทศจีนล้าหลังไปนานนับ 10 ปี รวมทั้งความผิดพลาดในการจัดการเหตุการณ์เทียนอันเหมิน จนทำให้หลายประเทศรุมประณามทางการจีน มีการประกาศตัดความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจีนและคว่ำบาตรไม่ขายอาวุธให้กับจีน เป็นต้น 

 

โดยสรุป แม้ว่าระบอบคอมมิวนิสต์ในแบบจีนอาจจะไม่ใช่ระบอบการเมืองการปกครองที่ดีที่สุดในโลก แต่ก็นับว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับ ‘บริบทจีน’ ที่มีประชากรจำนวนมากและมีความหลากหลายสูง มีเนื้อที่กว้างใหญ่และมีความแตกต่างหลากหลายของทรัพยากรในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งยังคงมีช่องว่างทางรายได้และความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูงมาก ดังนั้นความเฉียบขาดเด็ดเดี่ยวในการเน้น ‘รักษาเสถียรภาพ’ อย่างต่อเนื่อง และการปลูกฝังความรักชาติ เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจสร้างความสามัคคีของคนในชาติจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศจีนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถดึงศักยภาพของคนในชาติและสร้างพลังทางเศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เติบใหญ่อย่างก้าวกระโดดมาได้จนถึงทุกวันนี้

     

หมายเหตุ: ผู้เขียนไม่ใช่คอมมิวนิสต์ และไม่ได้ฝักใฝ่ในระบอบคอมมิวนิสต์ แต่ให้ความสนใจเกาะติดพัฒนาการของ ‘ระบบจีนที่ไม่เหมือนใคร’ มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 1992 ในยุคเติ้งเสี่ยวผิง จนมาถึงยุคเจียงเจ๋อหมิน (1993-2003) ยุคหูจิ่นเทา (2003-2013) และยุคสีจิ้นผิง (2013- จนถึงปัจจุบัน) โดยได้เดินทางไปลงพื้นที่ในจีนครบทุกมณฑลและมีผลงานหนังสือเกี่ยวกับจีนมาแล้ว 9 เล่ม

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising