×

100 ภาพข่าวแห่งปี 2563 ผ่านชัตเตอร์ช่างภาพ THE STANDARD

28.12.2020
  • LOADING...
100 ภาพข่าวแห่งปี 2563 ผ่านชัตเตอร์ช่างภาพ THE STANDARD

ตลอดปี 2563 มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย หลายเหตุการณ์ผ่านมาแล้วผ่านไป แต่อีกหลายเหตุการณ์ยังคงวนเวียนและต่อเนื่อง หรืออาจลากยาวข้ามไปปีหน้า

 

ในจำนวนหลายหมื่นภาพถ่ายจากช่างภาพของ THE​​​ STANDARD ที่บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดปี 2563 ตามไทม์ไลน์ นี่คือ 100 ภาพที่คัดสรรมาบอกเล่าแก่ผู้อ่าน เพื่อย้อนทวนความทรงจำเป็นบทเรียนรวมถึงมองภาพในอนาคตไปพร้อมๆ กัน 

 

มกราคม

 

 

นักปั่นจักรยานสวมหน้ากากป้องกันในขณะที่พื้นที่กรุงเทพมหานครถูกปกคลุมด้วยฝุ่นละอองทั้ง PM10 และ PM2.5 ท่ามกลางการจราจรที่หนาแน่นบริเวณแยกอโศก-เพชรบุรี เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณของทหาร-ตำรวจ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 และวันกองทัพไทย ณ ศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศร จังหวัดสระบุรี สำหรับการจัดพิธีสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณของทหาร-ตำรวจครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในรัชสมัยรัชกาลที่ 10 ที่ทหาร-ตำรวจทุกหมู่เหล่าได้ร่วมในพิธีสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณโดยพร้อมเพรียงกัน เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว ประสิทธิชัย เขาแก้ว ผู้ต้องหาคดีชิงทรัพย์ทองคำที่ร้านทองออโรร่า ห้างโรบินสัน จังหวัดลพบุรี และยิงผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 3 ราย บาดเจ็บ 4 ราย ออกจากสถานีตำรวจท่องเที่ยวลพบุรี มุ่งหน้าสู่กองปราบปราม กรุงเทพมหานคร หลังเค้นสอบและนำชี้จุดต่างๆ ตลอดทั้งวัน เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

 

นักท่องเที่ยวชาวจีนสวมหน้ากากอนามัยระหว่างมาเที่ยวชมวัดพระแก้วในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยบริษัททัวร์หลายแห่งได้ตระหนักและรับรู้ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่เกิดขึ้น ซึ่งบริษัททัวร์หลายแห่งได้ทำการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยให้กับนักท่องเที่ยวทุกคน เพื่อเป็นการป้องกันและเฝ้าระวังโรคในเบื้องต้น เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

กุมภาพันธ์

 

 

ศูนย์การค้าย่านราชประสงค์จัดทำข้อความขึ้นจอสื่อถึงการให้กำลังใจประเทศจีนรวมถึงเมืองที่เป็นพื้นที่เสี่ยงอย่างนครอู่ฮั่นให้ผ่านพ้นวิกฤตเลวร้ายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

คนไทย 138 คนที่อยู่ในนครอู่ฮั่นเดินทางกลับถึงไทยโดยเครื่องบินสายการบินไทยแอร์เอเชีย เที่ยวบินพิเศษ ลงจอดที่รันเวย์ของกองบินทหารเรือ ซึ่งอยู่ติดกับสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา หลังการระบาดของโควิด-19 เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

 

ป้ายของห้างสรรพสินค้าเทอร์มินัล 21 สาขานครราชสีมา สะท้อนบนกระจกที่มีร่องรอยกระสุนจากเหตุกราดยิง มีประชาชนเสียชีวิตรวม 20 ราย และบาดเจ็บ 42 ราย โดยผู้ก่อเหตุถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญ หลังซ่อนตัวภายในห้างเป็นเวลานานกว่า 17 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

 

พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก หลั่งน้ำตาระหว่างการแถลงข่าวกรณีกำลังพลก่อเหตุกราดยิงประชาชนที่ห้างเทอร์มินัล 21 สาขานครราชสีมา โดยกล่าวขอโทษและแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อกรณีที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ก่อเหตุเป็นกำลังพลของกองทัพบก พร้อมแสดงความเสียใจต่อครอบครัวประชาชน ตลอดจนข้าราชการที่ต้องเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ และแสดงความเสียใจต่อประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พร้อมด้วย ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ คณะกรรมการบริหาร และ ส.ส. ของพรรค ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังทราบผลคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยได้ประกาศตั้งคณะอนาคตใหม่เพื่อรณรงค์อุดมการณ์เดิมและทำสังคมให้ก้าวไปข้างหน้า พร้อมเดินหน้าทำงานการเมืองและสานต่ออุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคตั้งแต่ก่อตั้ง และขอให้สมาชิกพรรคอนาคตใหม่ตาม ส.ส. ของพรรคไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

สีสันของผู้เข้าร่วมงาน ‘Chiang Mai Pride 2020’ หนึ่งในงานไพรด์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไทยซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยในปีนี้ครบรอบ ‘11 ปีเสาร์ซาวเอ็ดรำลึก’ ประวัติศาสตร์บาดแผลในความทรงจำของกลุ่ม LGBTQ ที่เคยถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและนำไปสู่การเลือกปฏิบัติในท้ายที่สุด เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 / ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา

 

มีนาคม 

 

 

ประชาชนเข้าแถวบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพื่อซื้อหน้ากากอนามัยตามโครงการธงฟ้าสู่ชุมชนของกรมการค้าภายใน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สินค้าหลายชนิดขาดแคลนและมีราคาสูง โดยกำหนดโควตาการจำหน่ายหน้ากากอนามัยให้ประชาชนซื้อได้คนละ 1 แพ็ก มี 4 ชิ้น ราคา 10 บาท เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

ผู้คนให้ความสำคัญกับการสวมหน้ากากอนามัยระหว่างการเดินทางไปทำงานในช่วงเช้าที่บริเวณย่านช่องนนทรี ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังระบาดเพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต 

 

 

ประชาชนกำลังเลือกซื้ออาหารแห้งตรงชั้นวางสินค้าที่เหลือสินค้าอยู่ไม่มากในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร เหตุการณ์นี้เกิดจากกระแสความตระหนกกับการเตรียมพร้อมรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563 / ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา

 

 

พนักงานร้านอาหารแห่งหนึ่งบนถนนข้าวสารให้กำลังใจซึ่งกันและกันในวันทำงานวันสุดท้าย หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ปิดสถานประกอบการและสถานบริการเป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 18-31 มีนาคม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

 

บรรยากาศศาลท้าวมหาพรหม แยกราชประสงค์ เงียบเหงาไร้นักท่องเที่ยวในช่วงเวลาแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

ร้านค้าย่านสำเพ็งนำหมวกกันไวรัสวางขายในราคาตั้งแต่ 120-250 บาท ขึ้นอยู่กับวัสดุของหมวก สินค้าชนิดนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก ถือเป็นสินค้าที่ขายดีไม่แพ้หน้ากากผ้าและเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ นับเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

พนักงานรักษาความปลอดภัยของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ดูความเรียบร้อยขณะประตูกำลังปิดในเวลา 20.00 น. ของวันที่ 22 มีนาคม 2563 หลังจากกรุงเทพมหานครออกคำสั่งปิด 8 สถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โควิด-19 ซึ่งรวมถึงห้างสรรพสินค้าทุกแห่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑลด้วย ยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารแบบสั่งกลับบ้าน / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

ผู้ขับรถตุ๊กตุ๊กย่านสุขุมวิทมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ตัดสินใจปรับรถเป็นรถขายผักและอาหารสดเหมือนกับรถพุ่งพวง เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ลูกค้าซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่หายไปจากพื้นที่ จึงตัดสินใจปรับรถมาขายอาหารสดแทน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 / ภาพ: ดิษยุตม์ ธนบุญชัย

 

 

พนักงานฟู้ดเดลิเวอรีนั่งคอยในพื้นที่จัดระเบียบเว้นระยะห่าง โดยศูนย์การค้าเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า ได้จัดมาตรการป้องกันด้วยการให้บริการอำนวยความสะดวก เปิดจุด Pick Up Counter ให้ร้านค้ามารับ Delivery และ Take Away พร้อมร่วมกับ Delivery Platform เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสวมหน้ากากอนามัยพร้อมถุงมือ หลังจากที่มีคำสั่งประกาศกรมการขนส่งทางรางออกมาตรการให้ผู้โดยสารทุกคนต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าก่อนเข้ามาใช้บริการในระบบ เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นวันแรกที่เริ่มบังคับใช้มาตรการดังกล่าว / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

เจ้าหน้าที่ทหารร่วมกับสำนักงานเขตบางรักทำการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณถนนสุรวงศ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการของกรุงเทพมหานครให้หน่วยงานในสังกัดทำความสะอาดบริเวณพื้นที่สาธารณะเพื่อลดการแพร่เชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

จุดตรวจคัดกรองบุคคลที่เดินทางข้ามเขตจังหวัดบริเวณถนนราชพฤกษ์ ฝั่งขาเข้า เป็นวันแรกของการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งหนึ่งในข้อกำหนดสำคัญคือการตั้งด่านตรวจเพื่อลดการเดินทางของประชาชน โดยเฉพาะการเดินทางข้ามจังหวัด เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

 

บรรยากาศแม่น้ำเจ้าพระยาที่นิ่งสงบ ไร้การจราจรทางน้ำ มีแต่เพียงเรือข้ามฟากและเรือขนส่งสินค้า ขณะที่เรือด่วนเจ้าพระยาได้หยุดให้บริการเป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลาร่วม 1 เดือนเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร และเพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์การแพร่กระจายของโควิด-19 ให้ยุติลงได้อย่างรวดเร็ว เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2563  / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

พระสงฆ์วัดมัชฌันติการามปรับตัวในการอยู่ร่วมกับสังคมโดยการสวมเฟซชีลด์ สวมหน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์หลังหยิบของจากญาติโยมที่มาใส่บาตรทุกครั้งที่ต้องออกบิณฑบาตช่วงเช้าของทุกวัน เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

เมษายน

 

 

บรรยากาศสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าในช่วงเวลาเคอร์ฟิว หลัง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกจากเคหสถานตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน จนกว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

 

เครื่องบินสายการบินไทยจอดอยู่ในลานจอดสนามบินสุวรรณภูมิ หลังจากการประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ห้ามทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว มีผลตั้งแต่วันที่ 4-6 เมษายน ทำให้ผู้โดยสารชาวไทยและต่างประเทศไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ รวมทั้งการประกาศหยุดบินชั่วคราวทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศของหลายสายการบินในช่วงเดือนเมษายนนี้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2563 / ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา

 

 

ลิลาวรรณ วิริยะไพศาล นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตที่ทำงานพาร์ตไทม์ที่ร้าน The Pizza Company สาขา The Market (ราชดำริ) ใช้เวลาในช่วงเบรกจากการทำงานมาเรียนหนังสือผ่านระบบออนไลน์ท่ามกลางกล่องพิซซ่า โดยใช้แอปพลิเคชัน Zoom ในการเรียน ขณะที่สถานศึกษาต้องปิดทำการเรียนการสอนเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

โรงพยาบาลพระรามเก้าสาธิตขั้นตอนการสวมเฟซชีลด์ให้กับเด็กแรกเกิด สำหรับเฟซชีลด์ดังกล่าวผลิตขึ้นจากทีมพยาบาลห้องเด็กอ่อน ผ่านการออกแบบมาสำหรับเด็กแรกเกิดโดยเฉพาะ ซึ่งมีการดัดแปลงมาจากของผู้ใหญ่ ตัวพลาสติกได้รับการหุ้มกรอบเรียบร้อย ส่วนฟองน้ำที่ใช้ก็มีขนาดที่หนามาก ทำให้เว้นระยะห่างระหว่างตัวหน้ากากกับเด็กพอสมควร พร้อมแนะนำให้สวมใส่เฉพาะตอนที่อยู่ในรถ และถอดออกเมื่อถึงบ้านแล้ว ไม่แนะนำให้ใส่เวลาอยู่ในบ้าน แต่ให้ใส่ในระยะเวลาสั้นๆ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

พนักงานของโรงแรมเอเชียกำลังประกอบอาหารอยู่ด้านหน้าโรงแรม ในระหว่างที่โรงแรมหยุดกิจการจากผลกระทบโควิด-19 ทางผู้บริหารอนุญาตให้พนักงานของโรงแรมประกอบอาหารเพื่อจำหน่ายเป็นรายได้หล่อเลี้ยงพนักงานและครอบครัว เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563 / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

 

พนักงานโรงงานไทยวาโก้กำลังผลิตหน้ากากอนามัย ขณะที่ทางบริษัทมีนโยบายเร่งด่วน โดยปรับแผนการผลิตชุดชั้นในเพื่อหันมาผลิตหน้ากากซึ่งเป็นวัตถุดิบใหม่ของส่วนประกอบของชุดชั้นในและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของวาโก้ โดยจะส่งมอบให้องค์กรต่างๆ เพื่อมอบให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 / ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา

 

 

ภาพมุมสูงของกรุงเทพมหานครจากตึกใบหยกชั้น 81 ในช่วงการประกาศเคอร์ฟิว ห้ามประชาชนออกจากเคหสถานในเวลา 22.00-04.00 น. เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

ร้านขายเสื้อผ้าแฟชั่นย่านสยามสแควร์ติดป้ายลดราคาทั้งร้านประชดโควิด-19 เนื่องจากตลอดเดือนเมษายนที่ผ่านมามีผู้คนมาจับจ่ายใช้สอยจำนวนน้อยจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

พฤษภาคม

 

 

นางรำสวมเฟซชีลด์ระหว่างรำแก้บน ขณะที่ศาลท้าวมหาพรหมเปิดให้บริการตามปกติจากมาตรการคลายล็อกดาวน์ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

บรรยากาศของร้านทำผมที่เปิดให้บริการวันแรกหลังจากมาตรการคลายล็อกดาวน์ โดยผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการต้องปฏิบัติตามมาตรการด้วยการสวมหน้ากากอนามัยหรือเฟซชีลด์ และผู้ใช้บริการต้องโทรจองคิวนัดหมายล่วงหน้า เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

 

ประชาชนนั่งรอคิวที่กรมประชาสัมพันธ์ เป็นวันแรกที่กระทรวงการคลังย้ายจุดรับเรื่องร้องเรียน จากเดิมที่ด้านข้างกระทรวงการคลังไปที่กรมประชาสัมพันธ์ สำหรับมาตรการเยียวยา 5,000 บาท มีผู้ที่ผ่านเกณฑ์เยียวยาทั้งสิ้น 11 ล้านคน โดยกระทรวงการคลังจะดำเนินการโอนเงินเยียวยา 5,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน ให้ผู้ผ่านเกณฑ์ที่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

 

ศูนย์อาหารภายในซอยละลายทรัพย์ สีลม ที่เปิดให้บริการโดยมีการจัดโต๊ะแบบเว้นระยะห่างให้นั่งได้คนเดียวเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 หลังจากที่รัฐบาลผ่อนปรนให้บางกิจการหรือกิจกรรมกลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

ร้านอาหารริมทางบนถนนเยาวราชนำแผ่นพลาสติกมาทำเป็นฉากกั้นบนโต๊ะอาหาร ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

ตู้ปันสุขที่อัดแน่นไปของบริโภค ตั้งอยู่บริเวณกลางซอยวิภาวดี 60 ถูกนำมาตั้งไว้ท่ามกลางกระแสตู้ปันสุขและปรากฏการณ์แบ่งปันอาหารที่มีให้เห็นในหลากหลายชุมชนทั่วประเทศไทย ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเอื้อเฟื้อแบ่งปันของสังคมไทยในยามที่ผู้คนจำนวนมากตกอยู่ในภาวะวิกฤตด้านปัญหาปากท้องในช่วงวิกฤตของสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

 

 

ร้านอาหารเวียดนาม Maison Saigon นำตุ๊กตาแพนด้ามานั่งร่วมโต๊ะเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างเป็นมิตร และยังช่วยคลายเหงาสำหรับผู้ที่มารับประทานอาหารคนเดียว เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 / ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา

 

 

ครอบครัวของเด็กระดับชั้นอนุบาลกำลังเรียนผ่านระบบ DLTV ในวันแรกของการเริ่มเรียนออนไลน์ และผ่านระบบโทรทัศน์ของนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล-อาชีวศึกษา โดยมีปัญหาเกิดขึ้นตั้งแต่เช้าคือเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน DLTV ล่ม เข้าไม่ได้ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

มิถุนายน

 

 

บรรยากาศของโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งเตรียมพร้อมเปิดให้บริการ โดยมีการติดสัญลักษณ์ตามมาตรการเว้นระยะห่าง หลังจากที่ต้องปิดชั่วคราวจากสถานการณ์โควิด-19 นานกว่า 2 เดือน เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 / ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา

 

 

เด็กนักเรียนและอาจารย์ต้องสวมหน้ากากตลอดเวลาในห้องสอบ ระหว่างการจัดสอบคัดเลือกนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

ปรากฏการณ์เมฆหมวกสีรุ้งลอยเหนือท้องฟ้ากรุงเทพมหานคร ปรากฏการณ์ความงดงามนี้ปรากฏขึ้นเป็นสัญญาณเตือนว่าพายุฝนฟ้าคะนองกำลังจะตามมา เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ทำกิจกรรมแสดงสัญลักษณ์โดยผูกริบบิ้นสีขาวที่รั้วหน้าทำเนียบรัฐบาล ประตู 3 เพื่อประณามการอุ้มหายของผู้ลี้ภัยทางการเมือง กรณี วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่หายตัวไปในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

แรงงานชาวเมียนมาล้อมวงเล่นชินลง ซึ่งชาวเมียนมากลุ่มนี้ทำงานเป็นพนักงานตามร้านต่างๆ ในถนนข้าวสาร ขณะที่บรรยากาศของถนนข้าวสารยังคงเงียบเหงา มีเพียงร้านอาหารไม่กี่ร้านที่เปิดบริการหลังจากมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 4 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยฉายสไลด์โปรเจกเตอร์จำลองเหตุการณ์พระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม พร้อมนำหมุดคณะราษฎรจำลองมาวางไว้บนพื้นถนนราชดำเนิน เพื่อรำลึกครบ 88 ปี วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

พนักงานสถานบันเทิงย่านเอกมัยทำความสะอาดแผ่นพลาสติกกั้นเว้นระยะห่างก่อนที่จะเปิดให้บริการ หลังมีการผ่อนปรนให้ผับ-บาร์เปิดได้อีกครั้ง เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2563 / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

กรกฎาคม

 

 

เด็กนักเรียนระดับชั้นอนุบาล โรงเรียนวัดคลองเตย นั่งเล่นในฉากพลาสติกที่ติดตั้งไว้ในห้องเรียนตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมในวันแรกของการเปิดภาคเรียนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 / ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา

 

 

กลุ่มนักเรียนที่เรียกตัวเองว่าองค์กรนักเรียนเลว เดินทางมายังกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อยื่นหนังสือขอความชัดเจนในการบังคับใช้กฎการไว้ทรงผมของนักเรียน พร้อมแสดงสัญลักษณ์ด้วยการตัดผมเพื่อให้ผู้ใหญ่ในกระทรวงรับรู้และเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

บรรยากาศการจัดชกมวยครั้งแรกของเวทีราชดำเนิน หลังจากถูกสั่งปิดเป็นระยะเวลาหลายเดือน โดยใช้ระบบสนามปิดแบบไม่มีคนดู มีการถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊ก Rajadamnern Stadium และยูทูบ Rajadamnern Channel สำหรับผู้เกี่ยวข้องต้องสวมหน้ากากอนามัย ตรวจวัดอุณหภูมิ และลงทะเบียนเข้าระบบไทยชนะ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

 

บรรยากาศท่าเรือเกาะเสม็ดที่ไร้นักท่องเที่ยว หลังจากที่มีทหารอียิปต์เข้ามาพำนักอยู่ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดระยองชั่วคราว และตรวจพบว่าป่วยจากโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากยกเลิกการจองที่พักบนเกาะเสม็ด เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

 

ผู้ชุมนุมส่องไฟฉายเพิ่มความสว่างให้รัฐธรรมนูญในการชุมนุมที่จัดโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน โดยมีข้อเรียกร้องให้ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน แก้รัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

ผู้มาร่วมงานถือรูป ซีอุย แซ่อึ้ง ก่อนที่จะเริ่มพิธีฌาปนกิจ โดยมีการเคลื่อนย้ายร่างจากศิริราชพยาบาลไปยังวัดบางแพรกใต้ จังหวัดนนทบุรี ถือเป็นการปิดตำนานซีอุย มนุษย์กินคน ที่ถูกกล่าวหามานานกว่า 61 ปี ซึ่งไม่มีอะไรยืนยันได้ว่าข้อกล่าวหาที่ซีอุยได้รับเป็นความจริง เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษายืนตากฝนทำกิจกรรม ‘โรงเรียนไล่ยุง แต่เราไล่เผด็จการ’ ซึ่งเป็นกิจกรรมในรูปแบบแฟลชม็อบ โดยเรียกร้องย้ำจุดยืน 3 ข้อ ยุบสภา-หยุดคุกคาม-ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

ผู้ชุมนุมถือตุ๊กตาแฮมทาโร่ในการชุมนุมที่จัดโดยแนวร่วมนวชีวิน ในกิจกรรม #วิ่งกันนะแฮมทาโร่ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง โดยมีการเปิดเพลงแฮมทาโร่เวอร์ชันที่มีการแปลงเนื้อ เพิ่มเติมคำว่า ‘ยุบสภา’ และ ‘ของอร่อยที่สุดก็คือภาษีประชาชน’ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

กลุ่มนักเรียนเลวจัดกิจกรรมเดินขบวน Pride นักเรียน ภายใต้แฮชแท็ก #เราไม่ใช่ตัวประหลาด และเดินขบวนเพื่อไปยื่นข้อเรียกร้องต่อกระทรวงศึกษาธิการใน 4 ประเด็นของนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ประกอบไปด้วย เรื่องทรงผม เครื่องแต่งกาย ความเข้าใจที่ถูกต้อง และการเลือกปฏิบัติ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 / ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา

 

สิงหาคม

 

 

ผู้ชุมนุมสวมหน้ากากคล้ายใบหน้า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในการชุมนุมของกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มมอกะเสด โดยผู้ชุมนุมบางส่วนแต่งกายในชุดแม่มดหรือตัวละครต่างๆ ในวรรณกรรม ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

คลิปปราศรัยของ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการผู้ลี้ภัยทางการเมือง ถูกเปิดระหว่างการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ซึ่งเป็นการชุมนุมใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขึ้นเวทีการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน อ่าน 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ช่วยพยุง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หลังเสร็จจากการถ่ายรูปรวมของคณะรัฐมนตรี หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีรัฐมนตรีหลายตำแหน่งลาออก หน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

ผู้ชุมนุมนั่งอยู่บนถนนราชดำเนินพร้อมเปิดไฟฉายโทรศัพท์มือถือระหว่างการชุมนุมใหญ่ของคณะประชาชนปลดแอก #ขีดเส้นใต้ไล่เผด็จการ ประกาศจุดยืนทางการเมืองผ่าน 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน และ 1 ความฝัน เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

นักเรียนชั้นมัธยมติดโบขาวที่กระเป๋า หลังเกิดปรากฏการณ์นักเรียนแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองด้วยโบขาว เพื่อแสดงออกถึงการเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่เอาเผด็จการ ซึ่งก่อนหน้านี้มีหลายโรงเรียนในต่างจังหวัดได้เริ่มทำแคมเปญดังกล่าว เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

นักเรียนโรงเรียนสามเสนวิทยาลัยจัดกิจกรรม #ลูกสามเสนไม่เอาเผด็จการ ด้วยการชูกระดาษเปล่าเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และชูสามนิ้วไปพร้อมกัน โดยมีนักเรียนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 เข้าร่วม เพื่อต้องการเรียกร้องและยืนยันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

 

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชูสองนิ้วให้กลุ่มผู้สื่อข่าว โดยระหว่างนั้นได้มีสื่อมวลชนจากสถานีโทรทัศน์ Channel 4 ซึ่งเป็นทีวีสาธารณะของอังกฤษ ตะโกนถามว่า General Prayut, they’re calling you as dictator sir. Are you gonna give them democracy sir? (มีเด็กๆ เรียกท่านว่าเป็นผู้นำเผด็จการ ท่านจะคืนประชาธิปไตยให้พวกเขาหรือไม่) ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ได้ตอบคำถาม เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รับฟังปัญหาและพูดคุยกับกลุ่มนักเรียนที่มีข้อสงสัยและคำถามหลายอย่างเกี่ยวกับสถาบันการศึกษา ระหว่างการชุมนุมหน้ากระทรวงศึกษาธิการที่จัดโดยกลุ่มนักเรียนเลว เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

หญิงรายหนึ่งยืนประท้วงพร้อมถือป้าย #ประชาชนไม่เอาเรือดําน้ำ บริเวณถนนราชดำเนิน เพื่อเป็นการคัดค้านการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ภายหลังที่คณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ICT รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณางบประมาณ พ.ศ. 2564 เห็นชอบให้กองทัพเรือจัดหาเรือดำน้ำ 2 ลำ โดยใช้งบประมาณกว่า 22,500 ล้านบาท เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ The Bottom Blues และจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ฝ่าแนวกั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ จากนั้นแอมมี่ได้สาดสีใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่วางกำลังภายใน สน. ระหว่างการทำกิจกรรม ‘เราคือเพื่อนกัน นอนแคมป์ไม่นอนคุก’ เพื่อเดินเท้าไปพบตำรวจตามหมายเรียกที่สถานี เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

คชโยธี เฉียบแหลม หรือเกม จากกลุ่มเยาวชนช่วยชาติ ขึ้นพูดแสดงจุดยืนระหว่างกิจกรรมแสดงจุดยืนภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ของกลุ่มไทยภักดี ที่จัดโดย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี ซึ่งได้นัดรวมตัวสมาชิกและเครือข่ายที่มีจุดยืนเดียวกันที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2563 / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

กันยายน

 

 

ประชาชนต่อแถวซื้อปาท่องโก๋ การบินไทย ที่สำนักงานการบินไทย สีลม ซึ่งเปลี่ยนมาเป็นภัตตาคารจำหน่ายอาหาร โดยในช่วงเช้าตรู่มีผู้สนใจซื้อเป็นจำนวนมาก ขณะที่การบินไทยกำลังเจอมรสุมรุนแรงจากภาวะที่ต้องฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

ศูนย์กลางประสานงานนักศึกษา อาชีวะ ประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือ ศอปส. เคลื่อนขบวนชุมนุมมายังอาคารไทยซัมมิท ที่ทำการคณะก้าวหน้า พร้อมอ่านแถลงการณ์ไล่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พ้นประเทศไทย เพราะเห็นว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของกลุ่มผู้ชุมนุมคณะประชาชนปลดแอก และเพื่อเตือนธนาธรให้หยุดพฤติกรรมการจาบจ้วงสถาบันฯ รู้สำนึกคุณแผ่นดิน และหยุดสนับสนุนม็อบปลดแอก เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

มวลชนเปิดไฟฉายจากมือถือพร้อมชูโบกไปมาในค่ำคืนแรกของการชุมนุม #ทวงอำนาจคืนราษฎร ที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 / ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา

 

 

แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมร่วมกันปักหมุด ‘คณะราษฎร 2563’ บริเวณหน้าเวทีการชุมนุมที่สนามหลวง โดย เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ กล่าวรำลึกถึงคณะราษฎรและวีรชนในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในยุคต่างๆ ก่อนการปักหมุด พร้อมอ่านประกาศคณะราษฎร พ.ศ. 2563 ฉบับที่ 1 และประกาศข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563 / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

 

ประชาชนทำสัญลักษณ์สามนิ้วกับหมุด ‘คณะราษฎร 2563’ หลังแกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมร่วมกันปักหมุดคณะราษฎร 2563 บริเวณหน้าเวทีการชุมนุมที่สนามหลวง เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563 / ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา

 

 

มวลชนรวมตัวกันบนถนนหน้าศาลฎีกา ระหว่างที่ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ยื่นจดหมายเปิดผนึกข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันถึง พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี โดยมี พล.ต.ท. ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะนายตำรวจราชองครักษ์เป็นตัวแทนในการรับหนังสือ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563 / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

กลุ่มผู้สนับสนุนโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เดินเท้าไปยังอาคารรัฐสภา เพื่อยื่นรายชื่อที่ได้มีการรวบรวมจำนวน 100,732 รายชื่อต่อประธานรัฐสภา แสดงเจตจำนงและใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญในการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

กลุ่มมวลชนตั้งแถวขนาบทางรถพร้อมตะโกนถ้อยคำเพื่อส่ง ส.ส.-ส.ว. กลับบ้าน ขณะที่รถของ ส.ส.-ส.ว. และเจ้าหน้าที่ของรัฐสภาขับออกมาจากอาคารรัฐสภา หลังจากการประชุมร่วมรัฐสภามีมติ 431 ต่อ 255 ให้ตั้งกรรมาธิการศึกษาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นเวลา 30 วัน เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

ตุลาคม

 

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเลอะสีจากการสาดสีโดยผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวแกนนำหลายคน รวมถึง ไผ่ ดาวดิน และแอมมี่ The Bottom Blues ก่อนที่จะมีชุมนุมใหญ่คณะราษฎร 14 ตุลา เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

 

กลุ่มมวลชนคณะราษฎรเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อแสดงพลังขับไล่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

ผู้ชุมนุมรวมตัวกันบนถนนราชดำริในการชุมนุม #15ตุลาไปราชประสงค์ โดยกลุ่มคณะราษฎร สำหรับกิจกรรมที่เกิดขึ้นในการชุมนุมครั้งนี้ แม้แกนนำคนสำคัญหลายคนจะถูกจับกุมตัว แต่จำนวนผู้ชุมนุมไม่ได้ลดน้อยลง เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 / ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา

 

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจตรึงกำลังปิดกั้นพื้นที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ขณะที่รถไฟฟ้าบีทีเอสแจ้งปิดให้บริการ 2 สถานี ได้แก่ สถานีชิดลม และสถานีราชดำริ เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎรเข้ามาในพื้นที่ โดยกลุ่มคณะราษฎรได้ประกาศเปลี่ยนสถานที่ชุมนุมเป็นแยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมของมวลชนกลุ่มคณะราษฎรบริเวณหน้าสยามเซ็นเตอร์ โดยเจ้าหน้าที่ใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดใส่กลุ่มผู้ชุมนุมเป็นระยะๆ สลับกับการตั้งแถวพร้อมโล่และกระบองเดินหน้ากดดันจนผู้ชุมนุมต้องถอยร่น และในที่สุดเวลา 20.23 น. แกนนำได้ประกาศยุติการชุมนุม เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

ผู้ชุมนุมคณะราษฎรในการชุมนุมที่ห้าแยกลาดพร้าวนั่งอย่างเป็นระเบียบ โดยมีการแจกอุปกรณ์ป้องกันตัวอย่างหมวกและหน้ากากป้องกันแก๊สน้ำตาให้กับผู้ที่มาร่วมชุมนุม ท่ามกลางข่าวลือว่ามีรถฉีดน้ำแรงดันสูงที่ใช้สลายการชุมนุมที่แยกปทุมวันจอดอยู่ใกล้พื้นชุมนุม เมื่อวันที่ 17 คุลาคม 2563 / ภาพ: วรวัฒน์ ฉิมคล้าย

 

 

กลุ่มผู้ชุมนุมเปิดไฟฉายในโทรศัพท์มือถือเพื่อแสดงสัญลักษณ์ในการขับไล่เผด็จการระหว่างการชุมนุมที่แยกเกษตร เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

กลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎรขึงป้ายข้อความบนรถเมล์ที่ถูกนำมาเป็นแนวกั้นบริเวณแยกพาณิชยการ ก่อนถึงทำเนียบรัฐบาล หลังจากที่เดินเท้ามาจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพื่อยื่นป้ายไวนิลจำลองหนังสือลาออกของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังห้ามปรามกลุ่มภาคีเครือข่ายปกป้องสถาบันฯ ขณะกำลังขับไล่แนวร่วมกลุ่มรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่ปักหลักตั้งเวทีปราศรัยหน้าตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้ออกไปนอกรั้วของมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระดำเนินออกจากศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเยี่ยมพสกนิกรที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จข้างรั้วกำแพงพระบรมมหาราชวัง ทรงโบกพระหัตถ์ แย้มพระสรวลทักทายพสกนิกรอย่างใกล้ชิด ภายหลังทรงประกอบพิธีถวายราชสักการะ​พระบาทสมเด็จพระจุลจอม​เกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต​ พระบาทสมเด็จพระจุลจอม​เกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

ตัวแทนกลุ่มราษฎร มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน และวารินทร์ แพทริก เข้ายื่นหนังสือต่อสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีให้ตรวจสอบการใช้พระราชอำนาจในฐานะพระประมุขแห่งรัฐของไทยบนดินแดนประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

บัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถ่ายภาพคู่กับสแตนดี้รูปบุคคลต่างๆ ที่ถูกนำมาตั้งไว้ในส่วนหนึ่งของกิจกรรมของเพจบัณฑิตธรรมศาสตร์ของราษฎรในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

พฤศจิกายน

 

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงฤดูฝนเป็นเครื่องทรงฤดูหนาว ถวายพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธี ทรงพระดำเนินเยี่ยมเยียนประชาชนที่มารอเฝ้าฯ รับเสด็จ โดยทรงพระดำเนินจากประตูวิเศษไชยศรีมาตามถนนหน้าพระลาน ผ่านประตูวิมานเทเวศร์ มาถึงหน้าศาลหลักเมืองและศาลฎีกา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมระหว่างการชุมนุมของกลุ่มราษฎรระหว่างเคลื่อนขบวน โดยมีจุดหมายคือสำนักพระราชวัง ณ พระบรมมหาราชวัง เพื่อนำจดหมายที่เขียนไว้ส่งไปให้ใกล้บริเวณพระบรมมหาราชวังให้มากที่สุด โดยมีการอ่านแถลงการณ์ราษฎร ใจความสื่อถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เรียกร้องให้ฟังเสียงประชาชนและข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 / ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา

 

 

ผู้ชุมนุมราษฎรนำผ้าสีขาวผืนใหญ่ที่ให้ผู้ชุมนุมร่วมกันเขียนสิ่งที่มุ่งหวังขึ้นไปประดับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในการชุมนุม ‘ม็อบเฟส’ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

ช่วงบ่าย – มวลชนราษฎรนำเป็ดยางเป่าลมมาใช้เป็นโล่ป้องกันตัวเองจากการถูกรถฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดเพื่อสลายการชุมนุมบริเวณแยกเกียกกาย ในการชุมนุมเพื่อแสดงออกเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงกับญัตติที่กำลังมีการอภิปรายในรัฐสภา เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

ช่วงค่ำ – มวลชนราษฎรนำเป็ดยางเป่าลมมาใช้เป็นโล่ป้องกันตัวเองจากการถูกรถฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดเพื่อสลายการชุมนุมบริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา ในการชุมนุมเพื่อแสดงออกเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงกับญัตติที่กำลังมีการอภิปรายในรัฐสภา เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

มวลชนราษฎรสาดสีใส่ป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และความไม่พอใจในเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่แยกเกียกกายและหน้าอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบทำการซ้อมเผชิญเหตุบริเวณแนวกั้นหน้าธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีการซ้อมในกรณีมีเหตุชุลมุนจากกลุ่มผู้ชุมนุม อีกทั้งมีการปิดเส้นทางที่จะเข้าไปยังสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ขณะที่กลุ่มราษฎรประกาศเปลี่ยนสถานที่ชุมนุมไปที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

แกนนำราษฎรยืนยันถึงข้อเรียกร้องเดิมว่าไม่สามารถถอยหลังได้ เพราะเพดานได้ทะลุไปแล้ว โดย เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ได้ประกาศชัยชนะของประชาชนที่ได้มาถึงกรมทหารราบที่ 11 จากนั้นมวลชนได้ร่อนกระดาษระบุข้อความที่พับเป็นเครื่องบินเข้าไปในกรมทหารราบที่ 11 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 / ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

ธันวาคม

 

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ประทับรถยนต์ไฟฟ้าพระที่นั่งเสด็จฯ ไปยังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในการทรงจุดเทียนมหามงคลเพื่อถวายราชสดุดีและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2563 / ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา

 

 

ขบวนเสด็จฯ เคลื่อนผ่านบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขณะที่ผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณเดียวกันยืนหันหลังพร้อมกับร้องเพลงชาติไทย เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

ลวดหนามหีบเพลงถูกนำมาล้อมตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยสืบเนื่องจากกรณีที่มีการพบผู้ป่วยโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร บรรยากาศโดยรอบมีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลควบคุมพื้นที่ตามมาตรการการป้องกันโรค เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2563 / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

 

แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาที่พักอาศัยในชุมชนไทยยูเนี่ยน อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เข้าแถวตรวจคัดกรองตรวจโควิด-19 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2563 / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising