×

10 เรื่องต้องรู้ วัคซีน Johnson & Johnson ที่เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนในไทย

27.03.2021
  • LOADING...
10 เรื่องต้องรู้ วัคซีน Johnson & Johnson ที่เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนในไทย

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • วัคซีน Janssen บริษัทยาของ Johnson & Johnson (J&J) เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย นับเป็นวัคซีนโควิด-19 ลำดับที่ 3 ที่ได้รับการอนุมัติกรณีฉุกเฉินต่อจากวัคซีน AstraZeneca และ Sinovac 
  • ขณะนี้วัคซีน J&J ยังเป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิดเดียวที่ฉีดเพียง 1 เข็ม ข้อดีในแง่ของการบริหารจัดการคือไม่ต้องออกใบนัด (และไม่ลืมมาตามนัด) และลดต้นทุนในการขนส่งและเก็บรักษาวัคซีนได้
  • วัคซีน J&J ทดลองเฟส 3 ในอาสาสมัครประมาณ 44,000 คน พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการปานกลางถึงรุนแรงหลังได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 สัปดาห์เท่ากับ 66.9% และลดลงเล็กน้อยเหลือ 66.1% หลังได้รับวัคซีนอย่างน้อย 4 สัปดาห์ (สังเกตว่าไม่ใช่การป้องกันการติดเชื้อ)

วัคซีน Janssen บริษัทยาของ Johnson & Johnson (J&J) เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยตามที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 นับเป็นวัคซีนโควิด-19 ลำดับที่ 3 ที่ได้รับการอนุมัติกรณีฉุกเฉินต่อจากวัคซีน AstraZeneca และ Sinovac 

 

วัคซีนนี้มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไรบ้าง ขอสรุปเป็นทั้งหมด 10 ข้อด้วยกัน

 

1. วัคซีน J&J เป็นวัคซีนชนิดเวกเตอร์ไวรัส

วัคซีน J&J มีชื่อในการวิจัยว่า JNJ-78436735 หรือ Ad26.COV2.S ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีเวกเตอร์ไวรัส (Viral Vector) คือนักวิจัยตัดต่อสารพันธุกรรมบางส่วนของเชื้อโควิด-19 ให้กับไวรัสอะดีโนสายพันธ์ุ 26 เพื่อเป็น ‘เวกเตอร์’ หรือพาหะเข้าสู่เซลล์ของร่างกาย 

 

ซึ่งคล้ายกับวัคซีน AstraZeneca ซึ่งใช้ไวรัสอะดีโนที่ก่อโรคในลิงชิมแปนซีเป็นเวกเตอร์เช่นกัน 

 

ถึงแม้ชื่อชนิดของวัคซีนจะบอกว่าใช้ไวรัสเป็นพาหะ และไวรัสอะดีโนเป็นไวรัสทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร แต่ไวรัสที่อยู่ในวัคซีนผ่านกระบวนการผลิตที่ทำให้ไม่สามารถแบ่งตัวตามปกติ จึงไม่สามารถทำให้ป่วยโรคได้ วัคซีนชนิดเวกเตอร์ไวรัสจึงมีความปลอดภัย

 

2. วัคซีน J&J ฉีดเพียงเข็มเดียว

ขณะนี้วัคซีน J&J ยังเป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิดเดียวที่ฉีดเพียง 1 เข็ม (เจ็บแขนเพียงครั้งเดียว) เพราะจากการทดลองในเฟส 1-2 การฉีดวัคซีนเข็มแรกสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี และระดับภูมิคุ้มกันยังคงที่อย่างน้อย 2 เดือน ส่วนการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 2 ไม่ได้เพิ่มระดับภูมิคุ้มกันมากนัก 

 

ข้อดีในแง่ของการบริหารจัดการคือไม่ต้องออกใบนัด (และไม่ลืมมาตามนัด) และลดต้นทุนในการขนส่งและเก็บรักษาวัคซีนได้

 

เมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีน Sputnik V ของรัสเซีย ที่ใช้ไวรัสอะดีโนสายพันธุ์ 26 ในเข็มแรกเหมือนกัน ยังต้องฉีดทั้งหมด 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ (แต่เนื่องจากในขณะเดียวกันร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อสายพันธ์ุ 26 ด้วย จึงต้องเปลี่ยนไปใช้สายพันธ์ุ 5 ในเข็มที่ 2 แทน)

 

3. วัคซีน J&J มีประสิทธิภาพประมาณ 66%

วัคซีน J&J ทดลองเฟส 3 ในอาสาสมัครประมาณ 44,000 คน ในหลายประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา, บราซิล, ชิลี, โคลอมเบีย, เม็กซิโก, เปรู, แอฟริกาใต้ และอเมริกา พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการปานกลางถึงรุนแรงหลังได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 สัปดาห์เท่ากับ 66.9%

 

และลดลงเล็กน้อยเหลือ 66.1% หลังได้รับวัคซีนอย่างน้อย 4 สัปดาห์ (สังเกตว่าไม่ใช่การป้องกันการติดเชื้อ)  

 

เปรียบเทียบกับวัคซีน AstraZeneca มีประสิทธิภาพ 70.4% (62.1-90.0%) ส่วนอาการรุนแรงหรือวิกฤต วัคซีน J&J สามารถป้องกันได้ 76.7% และ 85.4% หลังจากได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 และ 4 สัปดาห์ตามลำดับ และไม่มีอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนคนใดเสียชีวิต 

 

4. ประสิทธิภาพของวัคซีน J&J ต่อสายพันธ์ุใหม่ลดลง

วัคซีน J&J มีประสิทธิภาพค่อนข้างดีต่อเชื้อโควิด-19 สายพันธ์ุ G เดิมคือประสิทธิภาพในอเมริกาเท่ากับ 74.4% แต่ประสิทธิภาพในแอฟริกาใต้ ซึ่งมีการระบาดของสายพันธ์ุ B.1.351 ลดลงเหลือ 52.0% ส่วนสายพันธ์ุอังกฤษ (B.1.1.7) และสายพันธ์ุบราซิล (P.1) ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ

 

กรณีของแอฟริกาใต้ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่เทียบเคียงกับไทยได้ คือความชุกของผู้ที่มีต่อไวรัสอะดีโนสายพันธ์ุ 26 (เคยเป็นหวัดจากไวรัสชนิดนี้) ประมาณ 50% ใกล้เคียงกัน โดยผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสที่เป็นเวกเตอร์ ‘อาจ’ กระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 ได้น้อยลง แต่ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานสนับสนุน

 

5. ผู้สูงอายุสามารถฉีดวัคซีน J&J ได้

ในการทดลองเฟส 3 มีกลุ่มอาสาสมัครที่เป็นผู้สูงอายุ 34.6% ถือว่าเป็นสัดส่วนที่มากกว่าวัคซีนของ 2 บริษัทแรกที่ได้รับอนุมัติในไทย และถ้าแยกย่อยลงไปอีกจะมีผู้ที่มีอายุมากกว่า 75 ปีอยู่ 3.7% ดังนั้นวัคซีนนี้จึงสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้สูงอายุได้อย่างปลอดภัย

 

6. วัคซีน J&J สามารถเก็บรักษาได้ในตู้เย็นทั่วไป

การขนส่งและการเก็บรักษาวัคซีน J&J ต้องเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิของตู้เย็นทั่วไป แต่เนื่องจาก 1 ขวดสามารถแบ่งฉีดได้ 5 โดส ระหว่างที่นำออกมาฉีดให้กับผู้รับวัคซีน สามารถวางไว้ที่อุณหภูมิ 9-25 องศาเซลเซียสได้นาน 12 ชั่วโมง

 

7. วัคซีน J&J ราคาเข็มละ 10 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

เนื่องจากวัคซีน J&J ฉีดเพียงเข็มเดียว ราคา 10 ดอลลาร์จึงถือว่าไม่แพง เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพ และวัคซีนอื่นที่ต้องฉีด 2 เข็ม เช่น วัคซีน AstraZeneca ราคาเข็มละ 2-5 ดอลลาร์, วัคซีน Sputnik V ราคาเข็มละ 10 ดอลลาร์, วัคซีน Sinovac ราคาเข็มละ 30 ดอลลาร์

 

8. อาการข้างเคียงของวัคซีน J&J เหมือนวัคซีนอื่น

จากการติดตามอาการภายหลังจากได้รับวัคซีน พบอาการเฉพาะที่ 0.7% และอาการตามระบบของร่างกาย 1.8% ส่วนใหญ่จึงเป็นอาการไม่รุนแรงและเหมือนกับวัคซีนชนิดอื่น ได้แก่ 

 

  • ปวดบริเวณที่ฉีด 48.6%
  • ปวดศีรษะ 38.9%
  • อ่อนเพลีย 33.2% 
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ 33.2%

 

อาการแพ้พบเป็นผื่นลมพิษชนิดไม่รุนแรง 5 ราย (1 รายใน 10,000 คน) ส่วนอาการลิ่มเลือดอุดตันพบในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน 15 ราย เทียบกับกลุ่มควบคุม 10 ราย ด้วยจำนวนผู้ป่วยเพียงเท่านี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าวัคซีนเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการรุนแรง

 

9. วัคซีน J&J ได้รับการอนุมัติในอเมริกาและยุโรปแล้ว

องค์การอาหารและยาแห่งอเมริกาอนุมัติให้ใช้วัคซีน J&J ในกรณีฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564 ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป นับเป็นวัคซีนลำดับที่ 3 ต่อจากวัคซีน Pfizer-BioNTech และ Moderna (ถึงแม้จะเป็นลำดับที่ 3 เหมือนกับไทย แต่ 2 ลำดับแรกไม่เหมือนกัน)

 

ต่อมาวันที่ 11 มีนาคม 2564 ก็ได้รับอนุมัติจากองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป นับเป็นลำดับที่ 4 โดยในยุโรปมีวัคซีน AstraZeneca เพิ่มจากในอเมริกาอีก 1 บริษัท ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าวัคซีน J&J มีมาตรฐาน และน่าจับตามองอย่างยิ่ง หากมีการนำเข้ามาฉีดในไทย

 

10. วัคซีน J&J ยังไม่มีกำหนดว่าจะเข้ามาในไทยเมื่อใด

ถึงแม้การอนุมัติวัคซีน J&J ให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน โดยบริษัท Janssen Cilag เป็นผู้ขึ้นทะเบียนขอนำเข้า จะสะท้อนว่ารัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นวัคซีนของบริษัทอื่น แต่คำถามที่สำคัญคือ ประชาชนทั่วไปจะเข้าถึงวัคซีน J&J หรือไม่ และจะนำเข้ามาในไทยเมื่อไร 

 

กรณีนี้กรุงเทพธุรกิจอ้างถึง นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. ว่า รัฐบาลไม่ได้มีคำสั่งซื้อวัคซีน J&J แต่อย่างใด แสดงว่าภาคเอกชนต้องเป็นผู้นำเข้าและเป็นผู้ให้บริการฉีดวัคซีน J&J ดังนั้นถ้าใครอยากฉีดวัคซีนนี้คงต้องเตรียมเงินไว้ระหว่างที่รอความชัดเจนจากโรงพยาบาลเอกชนอีกครั้ง

 

แต่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์หรือกลุ่มเสี่ยง หากได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุขแล้วควรเข้ารับการฉีดวัคซีนตามกำหนด เพราะสถานการณ์โควิด-19 ในไทยยังมีโอกาสระบาดเป็นวงกว้าง และทุกวัคซีนสามารถป้องกันอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตได้

 

 พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X