×

10 เทคโนโลยีเปลี่ยนธุรกิจขับเคลื่อนประเทศที่น่าจับตามองในปี 2017

22.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เปิดเผย 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจ และอาจส่งผลต่อธุรกิจประเทศไทยออกมานำเสนอสู่สาธารณชน เพื่อให้ผู้ประกอบการและคนทั่วไปเตรียมตัวได้อย่างเหมาะสม
  • เทคโนโลยีส่วนใหญ่ที่ถูกนำเสนอเกี่ยวข้องกับการคำนึงถึงประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ทั้งในด้านสุขภาพ การรักษา และอาหาร ในขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
  • ดร. ณรงค์กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการแนะนำเทคโนโลยีเหล่านี้คือกระบวนในการเชื่อมโยงเทคโนโลยีทั้งหมดให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยชี้ให้เห็นว่าภาคผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการศึกษาว่าจะสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้อย่างไร

     กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดงาน ‘Thai Tech Expo 2017’ ในระหว่างวันที่ 20-24 กันยายนนี้ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยชูแนวคิด ‘อินโนฟิวชั่น: เสริมพลังธุรกิจด้วยวิทย์และนวัตกรรม’ (INNO-FUSION : Power Up Business with STI)

     ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการที่รวบรวมผลงานวิจัยเจ๋งๆ ของคนไทยและหน่วยงานต่างๆ เอาไว้มากมาย แต่ไฮไลต์ของงานที่เราเลือกพูดถึงคือช่วงการบรรยายในหัวข้อ ‘10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจ’ โดย ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่จัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 22 กันยายน 2560

     นี่ถือเป็นครั้งที่ 8 แล้วที่ สวทช. หยิบเอาเทคโนโลยี 10 อย่างที่อาจส่งผลต่อธุรกิจประเทศไทยออกมานำเสนอสู่สาธารณชน เพื่อให้ผู้ประกอบการและคนทั่วไปเตรียมตัวได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเทคโนโลยีบางอย่าง นวัตกรรมบางชิ้น ก็น่าจะเคยผ่านตาหลายคนกันมาบ้างแล้ว แต่เมื่อ สวทช. เลือกออกมานำเสนอเช่นนี้ เราจึงคิดว่ามันน่าจะมีความสนใจอยู่ไม่น้อย  

1. สารเสริมอาหารไร้เคมีเจือปน (Phytonutrients)

     ปัจจุบันเทรนด์การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารคลีน-อาหารมังสวิรัติ รวมถึงอาหารเสริมชนิดผงและซองกำลังเป็นที่นิยมในหมู่คนที่รักการดูแลสุขภาพ แต่ในอีกมุม สารเสริมเหล่านี้อาจเจือปนมาด้วยสารเคมีจากกระบวนการในการผลิตและการปรับปรุงทางเคมี

     แต่เทคโนโลยีในปัจจุบัน หรือ Super Critical Water หรือ Super Critical Carbon Dioxide จะเข้ามาช่วยในการสกัดสารเหล่านี้ภายใต้การควบคุมที่จำกัด เพื่อให้ได้คุณภาพของสารเสริมอาหารในปริมาณที่เหมาะสมและปราศจากสารเคมี

     โดยปัจจุบัน สวทช. และมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งมีหน่วยงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ Functional Food ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะช่วยส่งเสริม Bio Economy หรือเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ และยังช่วยต่อยอดในการเพิ่มมูลค่าทางการเกษตรมากกว่าการแปรรูปผลิตผลตามกระบวนการปกติทั่วไปๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่สารสกัดจากพืชผลทางการเกษตรที่ได้จากกระบวนการนี้ก็สามารถนำไปใช้ประกอบอาหารคน สัตว์ และเวชสำอางได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยได้เป็นอย่างดี

 

 

——————

2. ‘Superfood’ ไม่ต้องฆ่าสัตว์กันอีกต่อไป เมื่อเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงในห้องแล็บได้แล้ว! (Cellular Agriculture)

     ดร. ณรงค์ และ สวทช. นิยามกระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์จากห้องปฏิบัติการว่าเป็น ‘เนื้อสัตว์ไม่ต้องฆ่า’ โดยเปรียบกับการปลูกพืชแบบปักชำ หรือการตอนกิ่ง แตกต่างกันตรงที่ขั้นตอนและกระบวนการเท่านั้น ซึ่ง Cellular Agriculture จะเริ่มต้นด้วยการนำเนื้อเยื่อของสัตว์มาสกัดเป็นสเต็มเซลล์ แล้วเพาะเลี้ยงเสต็มเซลล์นั้นๆ ให้เป็นเส้นใยกล้ามเนื้อในห้องปฏิบัติการ ก่อนผสมเส้นใยกับไขมัน แต่งสี และทำให้มีรูปร่างคล้ายเนื้อสัตว์

     โดยตอนนี้บริษัท Memphis Meats สามารถสร้างเนื้อสัตว์จากกระบวนการนี้ได้แล้ว แต่ปัญหาคือต้นทุนในการผลิตยังมีราคาที่สูงอยู่ โดยราคาเริ่มต้นของเนื้อวัว 450 กรัมอยู่ที่ 2,400 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 79,416 บาท แต่ภายใน 4 ปีข้างหน้า เชื่อกันว่าต้นทุนในการผลิตของมันจะถูกลงและจับต้องได้มากขึ้นอย่างแน่นอน

 

 

     เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากสเต็มเซลล์ไม่เพียงแต่จะช่วยลดการทำปศุสัตว์และลดปริมาณการคร่าชีวิตสัตว์เท่านั้น แต่ยังช่วยลดการแพร่กระจายโรคติดต่อจากสัตว์สู่มนุษย์ให้น้อยลง ทั้งยังช่วยให้ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมกลับมาสมบูรณ์มากขึ้นอีกด้วย

     ปัจจุบันสถาบันการศึกษาในประเทศไทยมีการเปิดหลักสูตรที่ทำการศึกษาและวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจัง เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่มีสาขาวิศวกรรมเนื้อเยื่อแล้ว

 

——————

3. จุลินทรีย์ผลิตสารออกฤทธิ์มูลค่าสูงจากอากาศ (From Air to Chemical Bacteria)
     เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถดึงคาร์บอนไดออกไซด์จากจุลินทรีย์ออกมาแล้วผลิตเป็นสารออกฤทธิ์มูลค่าสูงได้ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพลังงานได้มากมาย และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เช่น จุลินทรีย์ Synechococcus ที่สามารถดึงคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมาผลิตเป็นน้ำตาล

     ขณะที่แบคทีเรีย Shewanella จะนำน้ำตาลดังกล่าวมาเป็นอาหารของตัวเองเพื่อกระบวนการผลิตกรดไขมัน และยังเป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารประกอบอินทรีย์จำพวกไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนอย่าง Liquid Fuels ได้ในอนาคต

     ซึ่งโอกาสของประเทศไทยในการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ก็ถือว่ามีมากพอสมควร เนื่องจาก สวทช. ระบุว่าไทยเป็นประเทศอันดับ 1 ของอาเซียน อันดับ 4 ของเอเชีย และอันดับ 8 ของโลก ที่มีการเก็บสะสมปริมาณจุลินทรีย์สูงสุด

 

 

——————

4. บรรจุภัณฑ์กินได้ ช่วยลดทอนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Edible Packaging)

     บรรจุภัณฑ์จำพวกพลาสติก โพลิเมอร์ และโฟม เป็นวัสดุที่ยากแก่การย่อยสลายและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในเชิงลบ หน่วยงานจำนวนไม่น้อยจึงมีแนวคิดผลิตบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรับประทานได้ เพราะช่วยลดปริมาณขยะให้กับโลก ทั้งยังไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

     ดร. ณรงค์ยกการคาดการณ์ของนิตยสาร Times ขึ้นมาพูดบนเวทีว่า ‘บรรจุภัณฑ์กินได้’ จะกลายเป็น Game Changer ที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมภายในปี 2022 หรือในอีก 5 ปีข้างหน้า

 

 

     ซึ่งถ้ายังจำกันได้ ไม่นานมานี้ขวดน้ำทรงกลมรับประทานได้ หรือ Ooho จาก Skipping Rocks Lab ก็กลายเป็นนวัตกรรมที่ได้รับความสนใจและถูกเผยแพร่ในพื้นที่สื่อมากมาย ขณะที่ประเทศไทยก็มีบริษัท ซีโอ สวนสระแก้ว จำกัด ที่ผลิต ‘Juice Ball’ เพื่อบรรจุน้ำผลไม้และสามารถบริโภคได้ทั้งหมด

     ไม่เพียงเท่านี้ ดร. ณรงค์ยังมองว่าเทคโนโลยีนี้น่าจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์กับอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภคได้อีกด้วย เช่น บรรจุภัณฑ์สำหรับผงซักฟอกแบบย่อยสลายได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศ

 

——————

5. ถุงปลูกแบบไม่ต้องถัก ช่วยเพิ่มผลผลิตได้กว่า 50% (Nonwovens for Agriculture)

     ปกติแล้วเสื้อผ้าที่เราใส่กันทุกวันนี้จะมาจากกระบวนการผลิตที่ต้องเริ่มต้นจากการถักทอเส้นใยก่อน (wovens) แต่ในอนาคตเราจะสามารถนำเส้นใยมาขึ้นรูปได้เลย ไม่จำเป็นต้องถักทอกันอีกต่อไป สินค้าจากกระบวนการนี้ที่สังเกตได้ง่ายที่สุดก็คือหน้ากากอนามัย ผ้าอนามัย

 

 

     ที่ผ่านมา สวทช. ได้มีการจับมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวรในการพัฒนาถุงปลูกจากกระบวนการ Nonwovens มาแทนถุงปลูกที่ใช้โพลิเมอร์แบบเดิม ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าทำให้พืชผลที่ได้จากการเก็บเกี่ยวมีคุณภาพที่ดีขึ้นถึง 50% ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการเกษตรของประเทศไทยในอนาคต

 

——————

6. หุ่นยนต์หมอนาโน ช่วยรักษาเฉพาะจุด ลดความเสี่ยง และช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (Medical Nanorobot)

     เทคโนโลยีนี้เป็นการลำเลียงเซลล์ที่ใช้ในการรักษาโรคไปยังส่วนของร่างกายเฉพาะจุดที่ต้องการให้สารดังกล่าวออกฤทธิ์ โดยโรคที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ได้เป็นอย่างดีคือ ‘โรคมะเร็ง’ เนื่องจากการทำคีโมไม่เพียงแต่จะมีผลกับเซลล์มะเร็งเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลเสียต่อเซลล์ในส่วนอื่นๆ ของร่างกาย

     ตรงกันข้ามกับนาโนโรบอตที่เริ่มต้นจากการแปลงสเต็มเซลล์เป็น T-Cell ที่ใช้ในการส่งยาเพื่อเข้าไปปล่อยยาเข้าสู่เซลล์มะเร็ง และฉายรังสีกระตุ้นอนุภาคนาโนให้ปราบเซลล์มะเร็งเหล่านั้น

 

 

     ในอนาคต เทคโนโลยีนี้จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการแพทย์และการรักษาเฉพาะจุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเชื่อว่าจะมีมูลค่าสูงราว 3.5 ล้านล้านบาทในอีก 6 ปีข้างหน้า ส่วน Google ก็คาดการณ์ไว้ว่านาโนโรบอตน่าจะนำไปใช้รักษามนุษย์ได้จริงในอีก 13 ปีข้างหน้า

 

——————

7. เข็มฉีดยาขนาดจิ๋ว การรักษาด้วยเข็มจะไม่เจ็บอีกต่อไป (Micro Nano Needle)
     เป็นเทคโนโลยีการผลิตเข็มฉีดยาขนาดเล็กแค่ 0.1 มิลลิเมตร ซึ่งช่วยให้การรักษาด้วยการฉีดยาไม่รู้สึกเจ็บอีกต่อไป และทำให้ตัวเข็มเจาะไปถึงเนื้อเยื่อชั้นหนังแท้ และปล่อยยาเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เหมือนเข็มฉีดยาที่ใช้อยู่ในทุกวันนี้ได้เช่นกัน

     มีการยกตัวอย่างการใช้เข็มจิ๋วในการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งสามารถส่งสารอินซูลินตลอดระยะเวลาของการรักษาด้วยการใช้เข็มสัมผัสผู้ป่วยเพียงเล็กน้อย เช่นเดียวกับการใช้เพื่อนำส่งวัคซีนรักษาโรคพิษสุนัขบ้า หรือเวชสำอางเสริมความงามเข้าสู่ร่างกาย

     ปัจจุบันเริ่มมีการทดลองใช้เทคโนโลยีนี้กับการรักษาผู้ป่วยแล้ว ขณะที่ระดับของการรักษาก็เริ่มเพิ่มวงกว้างและขยายขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนเข็มฉีดยาขนาดจิ๋วชนิดนี้จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน

     ดร. ณรงค์ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่าเทคโนโลยีนี้น่าจะเข้ามา disrupt อนาคตของการรักษาทางการแพทย์ในเวลาเดียวกัน

 

——————

8. บล็อกเชนเพื่อสุขภาพ เชื่อมต่อข้อมูลทางการแพทย์ถึงกันโดยตรง (Blockchain for Health)

     ทุกวันนี้เราจะได้ยินเรื่องของบล็อกเชนกับบริการทางการเงินเป็นส่วนใหญ่ แต่ต่อจากนี้บล็อกเชนจะเข้ามามีบทบาทในการรักษาทางการแพทย์และการแบ่งปันข้อมูลระหว่างสถานประกอบการต่างๆ ตลอดจนโรงพยาบาลเข้าด้วยกัน เพื่อทำการศึกษาทางการแพทย์และดำเนินงานวิจัยร่วมกัน

 

 

     ว่ากันว่า Blockchain for Health จะกลายเป็นการจัดเก็บข้อมูลการรักษาทางการแพทย์ ซึ่งช่วยให้เกิดความปลอดภัยของข้อมูลตัวผู้รักษาที่สูง ขณะที่สตาร์ทอัพในไทยอย่าง Block MD ก็เริ่มพัฒนาแพลตฟอร์ม ‘Electronic Health Record’ ที่นำบล็อกเชนเข้ามามีบทบาทในการเก็บข้อมูลและรักษาผู้ป่วยแล้ว

 

——————

9. โรงยิมสมองเพื่อการบำบัดและฟื้นฟูผู้ป่วย (Brain Gym)

     Brain Gym คือเทคโนโลยีที่ใช้ในการจำลองการทำงานของสมอง เพื่อช่วยบำบัดผู้ป่วยที่สมองเกิดการบกพร่องในการทำงาน ไม่ว่าจะด้วยอุบัติเหตุหรือโรคต่างๆ และความชรา เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถพัฒนาและฟื้นฟูการทำงานของสมองได้ ผ่านการสร้างเกมหรือแอปพลิเคชันขึ้นมาเป็นเครื่องมือในการรักษา


     โดยปัจจุบันในประเทศไทยก็มีบริการของ Cognitive Fitness Center ที่ตั้งอยู่ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นโปรเจกต์การฟื้นฟูสมองด้วยเทคโนโลยี ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สวทช. และได้รับรางวัลเหรียญทองจากการประกวดในโครงการของเจนีวามาแล้ว

 

——————

10. การพิมพ์ฟังก์ชันแบบ 3 มิติ ต่อยอดประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม (Functional 3D Printing)

     การพิมพ์แบบ 3 มิติในปัจจุบัน (3D Printing) วัสดุที่ใช้ส่วนใหญ่ยังเป็นโพลิเมอร์อยู่ ซึ่งทำให้ผลผลิตที่ได้ออกมาไม่สามารถใช้งานเพื่อประโยชน์ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ในอนาคต การปรินต์แบบ 3 มิติด้วยวัสดุที่สามารถนำไฟฟ้าได้จะเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมยิ่งขึ้น ทั้งการผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น จอยสติ๊ก หรือชิ้นส่วนที่ใช้ภายในรถยนต์

 

 

     ในช่วงท้ายๆ ของการบรรยาย ดร. ณรงค์ได้กล่าวว่าสิ่งสำคัญที่สุดของการแนะนำเทคโนโลยีคือกระบวนการเชื่อมโยงเทคโนโลยีทั้งหมดให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยชี้ให้เห็นว่าภาคผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการศึกษาว่าจะสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้อย่างไร

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising