×

10 เหตุผลที่สายงานความยั่งยืนไม่มีหลุดเทรนด์

28.01.2024
  • LOADING...
สายงานความยั่งยืน

หากลองค้นหาในเว็บไซต์หางาน หนึ่งในอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการและ Headhunter พร้อมยื่นข้อเสนอคือเจ้าหน้าที่พัฒนาความยั่งยืน หรือ Sustainability จะเป็นแบบทั่วไปหรือ Specialist ก็ว่ากันไปตามลักษณะขององค์กรหรืออุตสาหกรรมนั้นๆ ซึ่งลองมาไขข้อข้องใจกันว่า เพราะเหตุใดอาชีพนี้กำลังอินเทรนด์

 

1. ทุกมุมโลกล้วนมีวิกฤต ESG 

 

เพราะปัจจุบันเราเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมจากภาวะของสังคม สิ่งแวดล้อม หรือปัญหาเรื่องการบริหารจัดการที่ไม่โปร่งใส และการคำนึงถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ไม่ดีพอ (บรรษัทภิบาล) หรือ ESG ที่เห็นกันแทบจะทุกส่วนบนแผนที่โลกปัจจุบันว่าเริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตร่วมกัน เห็นได้ชัดสุดคือเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่หลายฝ่ายพยายามช่วยกันไม่ให้เกิดภาวะโลกร้อนจนอุณหภูมิขยับสูงถึง 1.5 องศาเซลเซียส แต่ทีท่าก็น่าจะทะลุกว่าที่คาดกันไว้ จึงต้องทำข้อตกลงส่วนรวมไว้ว่า ถ้าใครไม่ทำก็จำเป็นต้องมีมาตรการทางการค้าหรือทางสังคม เป็นการบังคับทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

2. UN มีวาระพัฒนาความยั่งยืนของ SDGs 17 ประการ

 

มีข้อตกลงที่ร่วมกันเห็นด้วยกับ 17 เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 5 มิติ โดยสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดไว้ให้เกิดขึ้นภายในปี 2030 ที่จะพยายามไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งเกี่ยวข้องตั้งแต่คน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สันติภาพ และการพัฒนากันหลายส่วน ที่พูดถึงตั้งแต่การดูแลสุขภาพให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การเข้าถึงแหล่งอาหาร การมีคุณภาพด้านการศึกษา มีพลังงานสะอาด ขจัดความเหลื่อมล้ำ รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกิดความร่วมมือกันสู่เป้าหมายที่ยั่งยืน ส่งผลให้แต่ละประเทศต่างช่วยกันผลักดันให้เกิดการปฏิบัติตามข้อตกลงให้เกิดขึ้นในประเทศตัวเองให้ได้

 

3. ทุกธุรกิจ/หน่วยงานต้องแสดงความใส่ใจเพื่อความยั่งยืน

 

เมื่อภาพประเทศขยับ ถ้าองค์กรหรือหน่วยงานใดไม่เขยื้อนคงไม่ได้ ทำให้ต้องรื้อโครงสร้าง การทำแผนงานรับมือหรือตั้งคณะทำงานเหล่านี้ขึ้นมาอย่างจริงจัง อย่างภาคเอกชนก็อาจตั้งหน่วยงานแผนพัฒนาสู่ความยั่งยืนของบริษัท หรืออยู่ในส่วนงานการบริหารความเสี่ยงขึ้นมาโดยตรง เพื่อดูกระบวนการทำงานตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำของบริษัทว่า มีโอกาสหรือความเสี่ยงเข้าไปสร้างผลกระทบต่อ ESG ในสายการงานผลิตหรือห่วงโซ่ทางธุรกิจในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมหรือไม่ แล้วหาทางแก้ไขปัญหาพร้อมป้องกันโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงเหล่านั้นอีกหรือไม่

 

4. สิ่งใหม่ที่จำเป็นของทุกหน่วยงานต้องการบุคลากร

 

4-5 ปี เรื่องความยั่งยืนอาจเป็นเรื่องใหม่ แต่ตอนนี้ถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวที่ทุกองค์กรหรือแม้แต่บริษัทขนาดกลางและเล็กก็ต้องเริ่มหันมาใส่ใจรายละเอียดเรื่องนี้แล้ว ไม่เช่นนั้นอาจโดนมาตรการทางสังคมได้ว่าไม่ให้ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ที่นับวันโลกยิ่งรวน อากาศผันแปรได้หลากหลายภายใน 1 วัน แม้บางองค์กรอาจไม่ถึงขั้นจัดตั้งเป็นฝ่ายงานความยั่งยืนโดยเฉพาะ แต่อย่างน้อยก็ต้องมอบหมายบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ต้องหันมาดูเรื่องนี้แน่นอน ประหนึ่งมันคือสิ่งใหม่ในโลกปัจจุบันที่ไม่มีไม่ได้

 

5. บริษัทขนาดใหญ่ยิ่งต้องมี เพราะมีผลต่อภาพลักษณ์

 

มักเห็นรายชื่อบริษัทอันดับต้นๆ ของประเทศที่ประกาศรับสมัครพนักงานด้านความยั่งยืน หรือส่งพนักงานไปเรียนหรืออบรมกับหน่วยงานต่างๆ อย่างจริงจัง ซึ่งส่วนใหญ่ได้กำหนดนโยบายและแผนงานชัดเจน จนเกิดการผลักดันเป็นแผนการปฏิบัติงานเข้าไปในทุกกระบวนการของการทำธุรกิจให้ได้ จนมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามลำดับขั้นตอนจนเหลือสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero และพร้อมอุดขั้นตอนที่อาจมีส่วนสร้างผลกระทบต่อขั้นตอนต่างๆ เพราะมีผลโดยตรงต่อการค้าขายระหว่างประเทศหรือถูกกีดกันทางการค้าได้ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการสูญเสียโอกาสทางธุรกิจแล้ว ที่สำคัญคือมีผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กรหรือแบรนด์บริษัทได้

 

6. บริษัทจดทะเบียนต้องมีคนทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ

 

ถ้าจะให้สโคปแคบแต่ลึกของงานด้านนี้จะเห็นได้จากในวงการตลาดทุนที่ต้องมีแผนการดำเนินงานด้านนี้ชัดเจน ตั้งแต่การที่บริษัทที่มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR, การดำเนินงานให้เป็นบรรษัทภิบาลที่ดี หรือการมี CG จนเริ่มเข้าสู่การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึง ESG ซึ่งบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ได้รับการผลักดันให้ใส่ใจและปฏิบัติต่อเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง จนเปิดให้มีการอบรมในหลักสูตรต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้ บจ. ได้เข้าถึงข้อมูลและหลักการปฏิบัตินี้ด้วยความเข้าใจ พร้อมส่งพนักงานเข้ามาเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การกลับไปปฏิบัติในองค์กรได้ทันต่อสถานการณ์โลก ซึ่งยังสอดรับกับการจัดกลุ่ม บจ. ที่มีการคำนึง ESG ได้ครอบคลุม และขณะเดียวกันก็เพื่อเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนด้านนี้ได้อย่างดี เช่น กองทุนด้าน ESG

 

7. ทุกหมวดอุตสาหกรรมกำลังมุ่งสู่คาร์บอนต่ำ หรือ Go Green

 

เมื่อแทบทุกหมวดธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อคำนึง ESG อย่างครอบคลุม และประเด็นสิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นอันดับแรกที่ทำให้เกิดเป็นรูปธรรมให้เห็นชัดก่อน จึงมักต้องการบุคลากรที่จะเข้ามาช่วยปรับกระบวนการทำงานให้บริษัท ตั้งแต่ต้องทำความเข้าใจข้อมูลการปล่อยหรือการวัดค่าก๊าซเรือนกระจก การทรานส์ฟอร์มหรือปรับโมเดลธุรกิจ การใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดำเนินการ ซึ่งงานเหล่านี้มักต้องทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับฝ่ายงานอื่นๆ อย่างปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบการเก็บข้อมูลทั้งก่อนหรือหลังการวัดค่าคาร์บอน หรือแม้กระทั่งการนำไปขอสินเชื่อสถาบันการเงิน ที่ปัจจุบันให้การสนับสนุนสินเชื่อกับโครงการที่มีลักษณะ Go Green เช่น การสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสะอาดต่างๆ รวมถึงการลงทุนและวิจัยเพื่อใช้เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน

 

8. เทคโนโลยีที่ช่วยพัฒนาด้านความยั่งยืนหรือการเก็บข้อมูลองค์กร

 

ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์เสมือนเป็นหนึ่งกลไกและเครื่องมือสำคัญสำหรับทุกอาชีพแล้ว เพราะสามารถทำให้งานดำเนินไปอย่างเป็นระบบ พร้อมกับเก็บข้อมูลในการปฏิบัติทั้งในแง่ที่สำเร็จและไม่สำเร็จไว้เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือทำให้เกิดการพัฒนาไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนได้ในระยะเวลาที่เร็วกว่าไม่มีเครื่องมือใดๆ เช่น การใช้โดรนช่วยเก็บข้อมูลในอุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อช่วยวิเคราะห์สภาพอากาศภูมิประเทศหรือพืชพันธุ์ที่เหมาะกับสภาพพื้นที่ ซึ่งถือเป็นตัวช่วยได้ดีในการทำการเกษตรอินทรีย์ สร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัย

 

9. นักสื่อสารที่ดีที่ต้อง Input และ Output ให้องค์กร

 

จริงๆ เรื่องความยั่งยืนไม่ได้เป็นหน้าที่หรือความรับผิดชอบของใครคนใดคนหนึ่งในองค์กร เพียงแต่อาจต้องแบ่งสัดส่วนงานหลักเพื่อทำความเข้าใจรายละเอียดเชิงลึก เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือการนำเรื่องนี้เข้าไปให้ทุกๆ คนในทุกฝ่ายงานได้เห็นชัดเจนว่าในฝ่ายงานตัวเองนั้นสามารถปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มประสิทธิภาพอย่างไรที่จะทำให้องค์กรไปถึงเป้าหมายความยั่งยืนได้จริงๆ สิ่งสำคัญคือการไปรับข้อมูลข่าวสารด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อมาสื่อสารและพร้อมส่งต่อทั้งภายในและภายนอกองค์กรว่า มีปัจจัยหรือเหตุผลอะไรบ้างที่ต้องถึงเวลาแล้ว ถ้าไม่เริ่มหรือแก้ไขคอขวดตรงไหนก็จะไม่ทันการณ์ พร้อมกับเมื่อดำเนินการเปลี่ยนปรับและเริ่มใหม่ในสิ่งที่เกี่ยวกับความยั่งยืนในองค์กรแล้ว ก็มีความสำคัญไม่น้อยที่จะต้องประกาศให้ภายนอกรับรู้ว่าองค์กรเราทำอะไรไปบ้าง อีกทั้งในอนาคตมีแบบแผนที่จะดำเนินการต่ออย่างไร

 

10. วงล้อมที่ทุกฝ่ายต้องก้าวสู่ความยั่งยืนไปพร้อมกัน 

 

เพราะมิติสุดท้ายที่ไม่ว่าจะเป็นห่วงโซ่ทางธุรกิจช่วงไหน หรือจะเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านไหน ก็ควรต้องตระหนักไว้ก่อนว่า หน่วยงานหรือองค์กรเราจะเติบโตหรืออยู่ได้อย่างยั่งยืนไม่ได้เพียงผู้เดียวโดยที่ไม่สนใจชุมชนหรือบริบทที่แวดล้อมสถานที่ตั้งของหน่วยงาน หรือสินค้าที่เราผลิตจะไปสร้างผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อมแก่สังคมหรือวิถีชีวิตใครบนโลกนี้หรือไม่ เพราะอย่างนั้นจะไม่ถือว่าเป็นการเติบโตอย่างยั่งยืนที่แท้จริง ดังนั้นผู้ที่ดำเนินการด้านความยั่งยืนเองก็ต้องมีกระบวนการคิดและมีระบบทำงานในลักษณะที่ร่วมกันพัฒนาระดับชุมชนที่แวดล้อม โดยมิอาจปฏิเสธการมีส่วนร่วมรับผิดชอบใดๆ ได้ เพราะเท่ากับแสดงถึงความไม่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ซึ่งทำให้เห็นชัดเจนว่าการบริหารที่มีแต่ห่วงการเติบโตของตัวเองสะท้อนความเป็นบรรษัทภิบาลที่ไม่ดีออกมา

 

เมื่อ AI คือสิ่งใหม่ที่เรากำลังเรียนรู้และนำมาปรับใช้กับโลกการทำงานเช่นใด โลกของความยั่งยืนก็เป็นเรื่องใหม่ที่พวกเราต้องหันมาเรียนรู้มากขึ้นด้วยเช่นกัน แม้ดูเป็นเรื่องที่เข้าถึงและต้องรอผลของการปฏิบัติที่ใช้ระยะเวลาพิสูจน์นาน แต่ถือว่ามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน อยู่ที่ว่าเราพร้อมจะปรับตัวไปเรียนรู้ขนาดไหน ทั้งๆ ที่ส่วนงานเหล่านี้ยังต้องการบุคลากรอยู่อีกมาก

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X