พิษจากวิกฤตโควิด-19 ระลอกสาม ทำให้งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติในปีนี้ต้องเลื่อนแล้วเลื่อนอีก จากกำหนดการเดิมวันที่ 17-25 เมษายน 2564 ต้องปรับรูปแบบครั้งที่ 1 ผ่านออนไลน์ในวันที่ 17 เมษายน ถึง 5 พฤษภาคม 2564 และออฟไลน์อีกครั้งกลางเดือนนี้ในวันที่ 15-23 พฤษภาคม 2564 ซึ่งล่าสุดก็ได้ประกาศเลื่อนอย่างไม่มีกำหนด
แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับคนรักหนังสือแต่อย่างใด ไฮไลต์ของงานหนังสือไม่ใช่แค่เรื่องลดราคา แต่ยังหมายถึงการเปิดตัวหนังสือใหม่หลายต่อหลายเล่มของสำนักพิมพ์ต่างๆ ทั่วฟ้าเมืองไทย ซึ่งหนึ่งในกลุ่มคนที่เฝ้ารองานหนังสือทุกครั้งไปคงหนีไม่พ้น Bookstagrammers มาจากคำว่า Book + Instagrammer รวมกัน อธิบายง่ายๆ ก็คือ เป็นแอ็กเคานต์อินสตาแกรมที่มีหนังสือเป็นศูนย์กลาง รีวิวหนังสือบ้าง ชวนกันอ่านหนังสือบ้าง อัปเดตข่าวสารวงการหนังสือบ้าง
เราขอสวมหมวก Bookstagrammers (@bookbuchbook) พาคุณไปรู้จักกับเหล่าคนรักหนังสืออีก 9 แอ็กเคานต์ ที่จะมาแนะนำหนังสือออกใหม่น่าอ่านจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ‘อ่านเท่’ ในปีนี้
“ชอบอ่าน Fiction มากกว่า Non-Fiction เพราะรู้สึกว่าโลกปัจจุบันมันน่าเหนื่อยใจอยู่แล้ว เลยหาอะไรจรรโลงใจอ่าน ส่วนธีมของนิยายที่ชอบอ่านก็หลากหลายค่ะ บางช่วงหลงใหลแฟนตาซี บางทีก็อยากไปแนวสืบสวนสอบสวน แต่รักโรแมนติกไม่ค่อยใช่แนว แต่ก็อ่านได้ถ้านึกอยากชุ่มชื่นหัวใจหน่อย”
@booksinthetearoom’s pick
เด็กหญิงน้ำตาล
Sugar Child
ผู้เขียน: Olga Gromova
ผู้แปล: ช้องนาง ปรีชาเจริญศิลป์
สำนักพิมพ์: Library Terrace
โดยส่วนตัวสนใจเรื่องผลกระทบของสงครามที่มีต่อประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกับเด็กและสตรีอยู่แล้ว และหนังสือนิยายที่เขียนอิงประวัติศาสตร์ก็มีออกมาหลายเล่ม แต่ที่เกี่ยวกับเด็กดูเหมือนจะมีไม่เยอะ พอเห็นมี เด็กหญิงน้ำตาล เล่มนี้ออกมา ก็รู้สึกว่าน่าสนใจมากเลยที่มีหนังสือที่จะบอกเล่าถึงผลกระทบของสงครามที่มีต่อเด็ก
ที่ดีไปกว่านั้นคือเนื้อหาเป็นการบอกเล่าเรื่องราวอย่างกล้าหาญ โดยแสดงให้เห็นว่าทุกปัญหามีทางออก และการมองโลกในแง่ดีไม่ใช่การหลอกตัวเอง แต่เราแสดงความกล้าที่จะไม่แสดงความอ่อนแอออกมา และให้เห็นว่าถึงแม้ชีวิตจะไม่มีทางเลือกมากนัก แต่เราก็กล้าที่จะต่อกรด้วยการเลือกสิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต และให้ผู้คนที่ทำสิ่งไม่ดีเห็นว่า สิ่งที่พวกคุณทำมันไร้ค่า ไม่ควรกับการจดจำเสียด้วยซ้ำ
ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือ Non-Fiction ในหมวดธุรกิจ จิตวิทยา และการพัฒนาตนเองค่ะ แต่ช่วงหลังๆ ก็เริ่มหันมาอ่าน Fiction ที่เป็นนิยายแปลของฝั่งญี่ปุ่นและเกาหลีมากขึ้นค่ะ
@onemorechapter.th’s pick
ยินดีที่ (ไม่) ได้รู้
The Joy of Missing Out: Live More by Doing Less
ผู้เขียน: Tanya Dalton
ผู้แปล: ณพศรี รอดเจริญ
สำนักพิมพ์: Cactus Publishing
เราอยู่ในโลกยุคอินเทอร์เน็ตที่ทุกคนสามารถติดต่อสื่อสารและรับข้อมูลต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว จนมาถึงจุดที่เร็วและมากเกินไปจนเรากลัวจะพลาดอะไรบางอย่างในชีวิตไปเสียหมด แต่ในขณะเดียวกันเราเชื่อว่าหลายๆ คนก็คงมองหาวิธีรับมือและจัดการกับความรู้สึกเหล่านี้เช่นกัน
เราอยากเลือก ยินดีที่ (ไม่) ได้รู้ เล่มนี้ เพราะคิดว่าคงช่วยให้เข้าใจถึงมุมมองของ ‘ความสุขที่ได้พลาดบางสิ่งบางอย่าง’ มากขึ้น แล้วหันกลับมาโฟกัสกับชีวิตที่อยู่ตรงหน้าของเราจริงๆ ซึ่งอาจจะเป็นความสุขแบบง่ายๆ ก็ได้ เช่น การอ่านหนังสือ ออกกำลังกาย หรือเล่นกับสัตว์เลี้ยง คิดว่าตัวเองคงได้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ไม่มากก็น้อยเลยค่ะ
ปกติชอบอ่านนิยายแปลและ Memoir ชอบเรื่องที่อ่านแล้วเห็นชีวิตความเป็นอยู่และความคิดของคนในประเทศอื่นและยุคสมัยต่างๆ
@nosyruplatte’s pick
24 แก้วตา
ผู้เขียน: สึโบะอิ ซาคาเอะ
ผู้แปล: ภัทร์อร พิพัฒนกุล
สำนักพิมพ์: JLittle (เจ ลิตเติ้ล)
เลือกเพราะเป็นนิยายที่สะท้อนความเป็นอยู่และความคิดของคนในช่วงสงครามได้เรียบง่ายและจริงใจ ในนิยายพูดเรื่องสงครามและผลพวงจากความรุนแรงค่อนข้างเยอะ ทำให้เราเห็นว่าชีวิตของเด็กคนหนึ่งที่เกิดในยุคนั้นต้องเจออะไรบ้าง โดยเล่าผ่านสายตาของผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องไปเป็นครูในโรงเรียนบนเกาะห่างไกล และต้องดูแลเด็กนักเรียน 12 คน เป็นที่มาของชื่อเรื่อง 24 แก้วตา ซึ่งหมายถึงแก้วตา 24 ดวง ของเด็กๆ ที่มองดูชีวิตของตัวเอง เหตุการณ์ในเรื่องกินเวลายาวนานกว่า 20 ปี เราจะเห็นการเติบโตของพวกเขาไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงในสังคม
ในเรื่องนี้พูดถึงความรู้สึกและความคิดของตัวละครเด็กในช่วงวัยต่างๆ ตลอดทั้งเล่ม ทั้งที่เราเองก็เคยผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาก่อนเหมือนกัน แต่พอโตมากลับลืมไปหมดว่าเคยคิดหรือรู้สึกอย่างไรบ้าง อ่านเล่มนี้แล้วจะเข้าใจมุมของเด็กๆ มากขึ้น และได้ Re-Connect กับตัวเองตอนเป็นเด็กอีกครั้งด้วย
ส่วนใหญ่จะอ่านแนวสืบสวน ฆาตกรรมค่ะ โดยจะเน้นที่ฝั่งเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น หรือเกาหลี เพราะรู้สึกว่าสภาพสังคมใกล้เคียงกับเรามากกว่าฝั่งตะวันตก ทำให้อินได้ง่ายกว่า
@bookbeforebed_’s pick
ประตูฆาตกร
ผู้เขียน: ฮิงาชิโนะ เคโงะ
ผู้แปล: Kantie JK Takasashi
สำนักพิมพ์: Daifuku
“ตัวแปรอะไรทำให้คนคนหนึ่งกลายเป็นฆาตกร” นอกเหนือจากชื่อเสียงของเคโงะแล้ว สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกสนใจในหนังสือเล่มนี้ก็คือประโยคนี้จากปกหลังค่ะ หนังสือเล่มนี้จะเล่าถึงมุมมองตัวละครหนึ่งว่าต้องเจออะไรบ้าง ก่อนที่เขาจะตัดสินใจลงมือเปิดประตูฆาตกรในตัวเองออกมา
ปัจจุบันเมื่อมีข่าวฆาตกรรมเกิดขึ้น เรามักจะรับรู้ความรู้สึกจากมุมมองของเหยื่อมากกว่า แต่น้อยครั้งที่เราจะได้เจาะลึกไปถึงสภาพจิตใจของผู้กระทำ ว่ามีแรงจูงใจอะไรมากน้อยขนาดไหน ถึงผลักดันให้เขาสามารถลงมือฆ่าคนคนหนึ่งได้ มันน่าจะดีถ้าเราได้รู้ถึงสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง และแก้ไขได้ถูกจุด มากกว่าที่จะไปโฟกัสแค่การกระทำสุดท้ายของเขาที่ตัดสินใจปลิดชีวิตคนอื่น
ชอบอ่านนิยายแปลญี่ปุ่นค่ะ โดยเฉพาะแนวฆาตกรรม (ทำไมนะ) แต่ตอนนี้กำลัง Explore ตัวเองให้อ่านหนังสือฟิสิกส์อย่างของ Stephen Hawking เพิ่มอยู่ค่ะ
@myandmybook’s pick
ฟรีดริช ฮาเย็ก: ต้นธารความคิดเสรีภาพนิยมยุคใหม่
Friedrich Hayek: The Ideas and Influence of the Libertarian Economist
ผู้เขียน: Eamonn Butler
ผู้แปล: พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
สำนักพิมพ์: Bookscape
เลือกเล่มนี้เพราะบอกตามตรงว่า เราหาหนังสือเศรษฐศาสตร์สายออสเตรียนแบบภาษาไทยยากมากๆ (และการจะอ่านแบบอังกฤษและเศรษฐศาสตร์เนี่ยนะ ถามจริง?) แต่ในที่สุดก็มีภาษาไทยออกมาในจังหวะที่เหมาะเจาะ ที่ทำให้เราเข้าใจเรื่องราวของเศรษฐศาสตร์ ที่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นต้นธารความคิดของบิตคอยน์ได้
การที่จะเข้าใจการเงิน การเมือง ปัจจุบัน สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่รู้ปัจจุบัน แต่เข้าใจอีกหลายแนวคิดที่หลอมรวมเป็นเราด้วยเช่นกันค่ะ ฟรีดริช ฮาเย็ก: ต้นธารความคิดเสรีภาพนิยมยุคใหม่ จึงเป็นหนังสือที่เราอยากอ่านเป็นอันดับต้นๆ ในตอนนี้เลยทีเดียว
ปกติชอบอ่านวรรณกรรมคลาสสิกค่ะ อยากรู้ว่าทำไมถึงกลายมาเป็นวรรณกรรมคลาสสิกที่อยู่มาถึงปัจจุบันนี้ (ต้องมีอะไรดีสักอย่างในเรื่องแน่ๆ) และอีกแนวที่ชอบคือวรรณกรรมแปลญี่ปุ่นค่ะ แนวฟีลกู้ดๆ ของญี่ปุ่นอ่านแล้วจะรู้สึกสงบใจมากๆ
@i_abook10’s pick
ว่าด้วยความรักและบรรดาปิศาจ
Of Love and Other Demons
ผู้เขียน: Gabriel García Márquez
ผู้แปล: ชัยณรงค์ สมิงชัยโรจน์ และ ชนฤดี ปลื้มปวารณ์
สำนักพิมพ์: บทจร
(ฉบับพิมพ์ที่สอง ตรวจทานใหม่ทั้งหมดกับต้นฉบับภาษาสเปน)
ได้ยินชื่อ Gabriel García Márquez มานานแล้วจากเล่ม หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ซึ่งยังไม่เคยอ่านเพราะเล่าถึงหลายเจนมากๆ และมันอาจจะยากสำหรับคนเพิ่งเริ่มอย่างเราๆ เลยรู้สึกว่าถ้าจะลองอ่านงานเขียนของ Márquez สักเล่มก็จะเลือก ว่าด้วยความรักและบรรดาปิศาจ มาลองก่อนเป็นเล่มแรก อาจจะทำให้เรารู้จักวิธีการเขียนของเขาค่ะ
จากคำโปรย “เพื่อเธอฉันจึงได้เกิดมา เพื่อเธอฉันจึงมีชีวิต เพื่อเธอฉันจะยอมตาย และเพื่อเธอฉันกำลังตายอยู่ทั้งเป็น” แค่ประโยคเดียวก็สร้างความสั่นสะเทือนในใจแล้วค่ะ ตัวละครเอกเป็นเด็กสาวจากตระกูลขุนนาง มาพบกับบาทหลวงหนุ่มที่มาขับไล่ปิศาจออกจากร่างเธอ แต่แล้วมันกลับเกิดเป็นความรักระหว่างทั้งคู่ได้อย่างไร แล้วสุดท้ายจะเกิดอะไรขึ้น
ปกติเป็นคนที่ชอบอ่านแนว Fiction อยู่แล้ว แต่ช่วงนี้สนใจอ่านไปทาง Literary Fiction และหนังสือคลาสสิกค่ะ
@babeandherbooks’s pick
ขุมทรัพย์สุดปลายฝัน (ฉบับปรับปรุง)
The Alchemist
ผู้เขียน: Paulo Coelho
ผู้แปล: กอบชลี และ กันเกรา
สำนักพิมพ์: นานมีบุ๊คส์
เรื่องราวของเด็กหนุ่มที่ชื่อว่า ‘ซานติอาโก’ เด็กเลี้ยงแกะที่ตัดสินใจเดินทางตามหาขุมทรัพย์ที่เขาเห็นในความฝันของตน เขาพบคนมากมาย และได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างในระหว่างการเดินทาง ซึ่งในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอน มีแต่ความสิ้นหวังแบบนี้ ทำให้การออกเดินทางตามหาความฝันเป็นเรื่องที่ทำได้ยากหรือเป็นไปได้ยาก สำหรับเราในยามที่ต้องการความหวังและกำลังใจ หนังสือ ขุมทรัพย์สุดปลายฝัน คือสิ่งนั้นของเราค่ะ
เหตุผลที่อ่านแล้วชื่นชอบมากๆ เป็นเพราะว่าอ่านแล้วได้สังเกตเห็นถึงความคล้ายคลึงกันของชีวิตของเรากับการเดินทางของเขา และทำให้เกิดมีแรงบันดาลใจให้ออกตามหาความฝันของเราเช่นกันค่ะ ภาษาเป็นภาษาที่ค่อนข้างเข้าถึงได้ง่าย คล้ายกับนิทานหรือเรื่องเล่าที่คุณตาสักคนเล่าให้เราฟัง มันมีเสน่ห์มากๆ เลยค่ะ
ชอบอ่านแนวสืบสวน แฟนตาซี Contemporary ค่ะ
@chaaimreads’s pick
กลเกลียวสุดห้วงกาล
Turtles All the Way Down
ผู้เขียน: John Green
ผู้แปล: ปณต ไชยมงคล
สำนักพิมพ์: Classact Publishing
เรามี Depression บางครั้งก็มี Anxiety ร่วมด้วย กลเกลียวสุดห้วงกาล เล่มนี้เท่าที่อ่านรีวิวมาก็เกี่ยวกับ Mental Issue แต่มีเรื่องสืบสวนเป็นเรื่องรองค่ะ ที่จริงแล้วยังไม่เคยอ่านงานของ John Green แต่มีดองไว้เพียบค่ะ แล้วก็คิดว่าเล่มนี้น่าจะใกล้ตัวเราที่สุด
ชอบอ่านวรรณกรรมดาร์กๆ ดิสโทเปีย คนชายขอบ วรรณกรรมหัวขบถ ความรัก ความสัมพันธ์ อีโรติก ส่วน Non-Fiction จะชอบอ่านพวกบันทึกประสบการณ์ต่างๆ ธุรกิจ กับจิตวิทยาค่ะ
@worldschool.student’s pick
Something In Between
บางอย่าง ระหว่าง ระยะห่าง
ผู้เขียน: วรวรรณ
สำนักพิมพ์: P.S.
งานเขียน งานประพันธ์ ประเภทบทกวี หรือกลอนเปล่า มันทำให้เรากลับมาอยู่กับตัวเอง เชื่อมต่อกับห้วงอารมณ์ หรือความรู้สึกนึกคิดภายในได้ค่อนข้างมาก Something In Between บางอย่าง ระหว่าง ระยะห่าง บรรจุไปด้วยหลากหลายอารมณ์ ทั้งความถวิลหา โหยอยาก ซาบซ่าน ความใคร่ ความรัก คลั่งรัก ความผิดหวัง อารมณ์เศร้าๆ เหงาๆ หม่นๆ
โดยรวมแล้วรู้สึกว่าเป็นเล่มที่โอเค ภาษาก็สวยดี ไม่ได้หวือหวาอะไรมาก ใช้คำธรรมดาสามัญแต่อัดแน่นไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึก และเรื่องราว บางเรื่องที่เรามีประสบการณ์ร่วมหรืออารมณ์ความรู้สึกร่วมก็จะอินเป็นพิเศษ บางเรื่องที่ไม่เคยประสบมาก่อนก็เพลินดีที่ได้อ่าน ได้ดื่มด่ำไปกับแต่ละตัวอักษร ละเลียดไปแต่ละบท
ค้นพบว่าตัวเองสมาธิสั้น เลยชอบอ่านรวมเรื่องสั้นเป็นพิเศษ ทั้ง Fiction และ Non-Fiction เพราะมันจบไปเป็นเรื่องๆ ตอนๆ ไม่ค้างคา แต่ถ้าเป็นเรื่องยาวก็จะเลือกอ่าน Historical Fiction ไปเลย โดยเฉพาะเรื่องราวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ค่ะ
@bookbuchbook’s pick
บินสักที
Fly Already
ผู้เขียน: Etgar Keret
ผู้แปล: ธนรรถวร จตุรงควาณิช
สำนักพิมพ์: กำมะหยี่
ก่อนหน้านี้สำนักพิมพ์กำมะหยี่หยิบผลงานของ Etgar Keret มาแปลไทยแล้ว 2 เล่ม ได้แก่ คิดถึงคิสซิงเจอร์ และ นิมรอดนอตหลุด เราอ่านและมีความรู้สึกกลางๆ ไม่ดี-ไม่แย่กับทั้งสองเล่ม แต่มันมีอะไรบางอย่างจากปลายปากกาของ Etgar Keret ที่ดึงดูดให้เรารออ่าน รอดูว่า บินสักที จะ Mind-f*cked ขนาดไหน เพราะถ้าจะมีนักเขียนสักคนที่สามารถพาเราออกจากโลกแห่งนิยายน้ำเน่า—สัก 200 หน้าก็ยังดี—ก็คงจะมีแค่ Etgar Keret นี่แหละที่ทำได้
เล่มนี้คือความ Mature สุดแสนกลมกล่อม แต่ก็ยังอัดแน่นไปด้วยความแสบสัน ความร้ายกาจ ความฉลาดเจ้าเล่ห์ในแบบฉบับของ Etgar Keret เรื่องสั้นบ้างยาวบ้างในเล่มมีความเสียดสีจิกกัดที่เป็นเหตุเป็นผล บ้างก็ผสมความ Magical Realism กำลังดีที่อ่านแล้วไม่จั๊กจี้ มีมุมมองผู้ใหญ่ มุมมองพ่อที่ไม่เคยได้อ่านในเล่มก่อนๆ อีกด้วย
# # #
นักอ่านหน้าเก่าและหน้าใหม่ ระหว่างที่รอสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ชวนไปช้อปหนังสือออนไลน์พร้อมส่วนลดสุดพิเศษมากมายบนเว็บไซต์ ThaiBookFair.com
ส่วนแฟนหนังสือที่อยากมาเก็บตก พบปะนักเขียน หรือชมนิทรรศการต่างๆ ภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 49 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 19 อดใจรออีกนิด สถานการณ์คลี่คลายเมื่อไร ได้เจอกันอีกครั้งแน่นอน! ติดตามกำหนดการต่างๆ ได้จากเพจ Thai Book Fair
นอกจากนี้หากคุณเป็นคนรักหนังสือ และชอบพูดคุยเรื่องหนังสือ สามารถติดตาม Bookstagrammers ทั้ง 10 คนได้เลย เพราะพวกเขาอัปเดตหนังสือใหม่ๆ ให้ได้ตามกันอย่างสม่ำเสมอ
ภาพประกอบ: พุทธิพงศ์ โรจน์ศตพงค์
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์