×

เปิดลิสต์ 10 หุ้น ถูกเทขายหนักสุดตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. มูลค่าหายไปรวม 8 แสนล้านบาท กด SET หลุด 1,400 จุด ต่ำสุดรอบเกือบ 3 ปี

20.10.2023
  • LOADING...
10 หุ้น ถูกเทขายหนักสุดตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย.

ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET) หักหัวลงมาอีกครั้งตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา จากที่เคยอยู่ในระดับ 1,565 จุด ล่าสุด ดิ่งลงมาแตะ 1,398 จุด ลดลง 167 จุด ต่ำสุดในรอบ 2 ปี 10 เดือน 

 

แรงขายที่เกิดขึ้นมาจากทุกกลุ่มอุตสาหกรรม และหากพิจารณาเป็นรายตัว หุ้นที่ถูกเทขายออกมามากที่สุดอิงจากมูลค่าหลักทรัพย์ (Market Capitalization) จนถึง ณ วันที่ 19 ตุลาคม จากการรวบรวมข้อมูลของ THE STANDARD WEALTH ผ่านข้อมูลของ SETSMART คือ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (DELTA) ลดลงกว่า 3 แสนล้านบาท รองลงมาคือ บมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า (CPAXT) และ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ที่มูลค่าลดลงกว่า 8.4 หมื่นล้านบาท และ 8 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ 

 

ทั้งนี้ หากรวมมูลค่าที่หายไปของหุ้นที่ถูกเทขายมากที่สุด 10 อันดับแรก จะสูงถึง 8 แสนล้านบาท โดยหุ้นตัวอื่นๆ ที่ถูกเทขายมากที่สุดรองลงมา ได้แก่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) บมจ.ปตท. (PTT) และ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) 

 

หุ้นไทยไม่ฟื้น หาก 4 ปัจจัยกดดันไม่คลี่คลาย 

“หากมอง Valuation ของหุ้นไทยตอนนี้ ถือว่าอยู่ในโซนต่ำอย่างไม่ต้องสงสัย เพียงแต่ไม่มีปัจจัยบวกมากระตุ้น” ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ ให้ความเห็นต่อสถานการณ์ของหุ้นไทยปัจจุบัน 

 

ณัฐชาตกล่าวต่อว่า หุ้นไทยจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ต้องเห็นปัจจัยกดดัน 4 ด้านคลี่คลายเสียก่อน ได้แก่ 1. สงครามระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ 2. ความชัดเจนจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยรอบสุดท้าย 3. นักวิเคราะห์หยุดปรับลดคาดการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียนไทย และ 4. นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล 

 

“หุ้นไทยจะฟื้นได้อาจต้องรอไปถึงช่วงต้นเดือนธันวาคม ที่น่าจะเริ่มเห็นปัจจัยบวกเข้ามาบ้าง เช่น นโยบายใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือการส่งสัญญาณจาก Fed ตอนนี้หุ้นไทยเจอแรงขายด้านเดียว ไม่มีปัจจัยบวกทั้งจากภายในและภายนอก” 

 

อย่างไรก็ตาม ณัฐชาตกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยที่ดัชนี SET จะลดลงไปถึงกรณีเลวร้ายสุดที่ 1,310 จุด เว้นแต่ว่าสงครามจะบานปลายไปมากกว่านี้ และเชื่อว่าระดับดัชนีที่ต่ำกว่า 1,410 จุด เป็นระดับที่ได้เปรียบแล้วหากเปรียบเทียบความเสี่ยงกับผลตอบแทน (Risk Reward Ratio) 

 

“ตอนนี้ SET ซื้อขายที่ประมาณ 1.35 เท่าของมูลค่าทางบัญชี ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำแล้ว ส่วนช่วงโควิด SET เคยลดลงไปซื้อขายที่ประมาณ 1.1 เท่าของมูลค่าทางบัญชี ซึ่งรอบนี้คงไม่ต่ำแบบนั้น” 

 

ปัจจัยเรื่องสงครามเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากที่สุด นอกจากจะส่ง Sentiment เชิงลบต่อตลาด ยังส่งผลกระทบทางอ้อมผ่านราคาน้ำมันให้กลับขึ้นมาอยู่ในระดับ 90-100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นการเปิดความเสี่ยงต่อเรื่องเงินเฟ้ออีกครั้ง 

 

สถิติจากสงคราม ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ชี้หุ้นอาจฟื้นหลังผ่านไป 2 สัปดาห์

บล.กรุงศรี พัฒนสิน ระบุผ่านบทวิเคราะห์ว่า ทีมกลยุทธ์ทำการศึกษาผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครนในปี 2565 ต่อดัชนีตลาดหุ้น 5 ดัชนี รวมถึงไทย โดยเริ่มคำนวณตั้งแต่วันที่รัสเซียบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 และเปรียบเทียบกับกรณีสงครามอิสราเอล-ฮามาส ซึ่งมีจุดเริ่มต้นวันที่ 7 ตุลาคม 2566 

 

จากการศึกษาพบว่า ตลาดให้ความสนใจต่อความเสี่ยงสงครามรัสเซีย-ยูเครนราว 4 สัปดาห์ ก่อนจะเข้าสู่ระดับปกติ โดยตลาดตอบรับเชิงลบต่อภาวะสงครามเต็มที่ราว 2 สัปดาห์ 

 

ผลตอบแทนของ 5 ดัชนีที่นำมาศึกษา ได้แก่ MSCI ACWI, MSCI EU, MSCI EM, S&P 500 และ SET พบว่ามีแนวโน้มปรับตัวลงในช่วง 2 สัปดาห์แรก และเริ่มฟื้นตัวในช่วงสัปดาห์ที่ 3 และ 4 สถิติดังกล่าวสะท้อนว่าตลาดใช้เวลาราว 2 สัปดาห์ในการซึมซับปัจจัยลบ

 

ในเชิงกลยุทธ์หากเปรียบเทียบความคล้ายคลึงกันระหว่าง 2 เหตุการณ์สงครามล่าสุด คาดว่าผลกระทบเชิงลบต่อตลาดหุ้นโลกจากภาวะสงครามในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสจะรุนแรงที่สุดในสัปดาห์นี้ (13-20 ตุลาคม) ก่อนที่จะค่อยๆ น้อยลงในสัปดาห์ถัดไป ในกรณีที่ไม่มีพัฒนาการเชิงลบที่สำคัญเกิดขึ้น เนื่องจากความสนใจต่อประเด็นดังกล่าวที่ค่อยๆ จางลง 

 

หากเข้าลงทุนในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ผลตอบแทนที่คาดหวังจะอยู่ในระดับ 2-2.5% จากการถือครอง 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising