ทุกบ่ายวันจันทร์ที่สตูดิโอของเวิร์คพอยท์ ทีมงานกว่าร้อยชีวิตจะเริ่มต้นเซตฉาก จัดแสง เตรียมเวทีไว้สำหรับศึกมวยสากล รายการที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
ศึกนี้มีชื่อว่า 10 Fight 10 แต่ทว่ารายการนี้ไม่ใช่ศึกมวยสากลทั่วไปที่นำเอานักชกอาชีพมาขึ้นเวทีชกกันเพื่อค้นหาผู้ที่มีความสามารถมากกว่า แต่เป็นการนำเอาดารามาขึ้นชกทั้งหมด 10 คู่ในซีซันแรก
ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ของวงการมวยสากลของไทย เมื่อเพจและกลุ่มมวยสากลที่ต่างติดตามความเคลื่อนไหวมวยโลกและแชมป์โลกชาวไทยเริ่มต้นพูดถึงมวยรายการนี้มากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งดาราหลายคนเริ่มท้าประลองกำลังกันผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ เพื่อเตรียมขึ้นชกรายการนี้ในซีซัน 2 กันแล้ว
THE STANDARD ได้รับโอกาสพิเศษในการนั่งลงพูดคุยกับ แก้ว-ชยันต์ จันทวงศาทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการผลิต เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ถึงจุดเริ่มต้นของศึก 10 Fight 10 ที่นำเอาศิลปะการต่อสู้มาพัฒนาสู่ Sport Entertainment เต็มรูปแบบได้ในวันนี้
“มันเริ่มจาก 2 ปีที่แล้ว เจ-เจตริน วรรธนะสิน เขาเป็นเพื่อนกับผมตั้งแต่สมัยเรียน วันหนึ่งเจเขาก็โทรมาหาผมว่า น้าแก้ว ผมอยากเอาเซเลบริตี้มาต่อยกัน นั่นคือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แล้วก็หายกันไปเลย ไม่ได้คุยกันต่อ พออีกสักปีก็คุยกันเหมือนเดิม เขาก็ถามว่ายังทำได้ไหม คือเจบอกแค่ว่าเขารู้จักเซเลบริตี้ที่ต่อยมวย ส่วนที่เหลือให้ผมจัดการหมด (หัวเราะ)
แต่ตอนที่คุยกันครั้งแรกบอกไปว่าขอ 3 ชื่อที่จะมาขึ้นชก เขาก็ยืนยันว่า 3 คนนั้นพร้อมขึ้นชก หลังจากวันนั้นแค่คิดว่าถ้าจะชวนเซเลบริตี้หรือดารามาต่อยกัน แค่นี้ก็ไม่ต้องพูดเรื่องอื่นแล้ว พอเล่าให้ใครฟังเขาถามกันว่าจริงเหรอวะ ต่อยกันจริงเหรอ
ซึ่งถ้าเราตอบคำถามข้อแรกได้ว่าต่อยกันจริง จบเลย แค่นั้นเลย เพราะคอนเทนต์นี้บอกใครไปก็น่าดูอยู่แล้ว แถมไม่เคยมีใครทำด้วย เราใช้เวลาทำอยู่เกือบๆ ปี เพราะการติดต่อ 20 คนมาไม่ใช่เรื่องง่าย ใช้ทีมงานตามไปคุยทีละคน กว่าจะติดต่อแต่ละคน เงื่อนไขก็แตกต่างกันออกไป ใช้เวลาติดต่อประมาณ 4-5 เดือน พอติดต่อได้หมดก็เริ่มทำงาน หารูปแบบว่าจะทำยังไงดี ในคอนเซปต์ที่คิดไว้คืออยากทำเป็นรูปแบบ Sport Entertainment เพราะมีดารามา ก็อย่างที่เห็น เราพยายามใส่การออกแบบต่างๆ เข้าไป ทั้งใส่ชุดสัตว์บ้าง ร้องเพลงแรปบ้าง ในเทปแรกก็พยายามไปในทิศทางนั้น
กว่าจะได้มาซึ่งดารา 20 คนแรกบนสังเวียนมวย
“ต้องบอกว่ามีหลากหลายวิธีในการหา บางคู่อยากต่อยกัน บางคู่ก็เป็นเพื่อนกัน หรือไม่ได้เป็นแต่อยากต่อยกันก็มี ซึ่งมันคือการโทรหากันแบบสุ่ม ยกตัวอย่างเช่น โทรหาคุณก่อนว่าชกไหม พอตกลงเราก็ไปลิสต์รายชื่อมาว่ามี 3 คนให้คุณเลือก พอตอบได้ว่าเป็นคนนี้ เราก็โทรหาว่ามีคนนี้อยากต่อยด้วย ก็ลงตัว
“แต่สิ่งที่พูดไปทั้งหมดคือกว่าจะดำเนินการได้ก็ใช้เวลานาน ไม่ง่าย สงสารน้องที่โทรไปมาก เพราะโดนกดดันตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงที่ใกล้แถลงข่าวเราได้รายชื่อมาเพียง 8-9 คู่ แต่ในที่สุดก็ได้มา 10 คู่ 20 คนก่อนแถลง ซึ่งก็สุดยอดแล้ว เพราะเปิดมาแบบนี้ใครๆ ก็อยากดู
“และคำถามที่เราเจอจากทุกคนคือ ‘ต่อยจริงหรือไม่ พูดให้ตายก็ไม่เท่ากับตาเห็น ดังนั้นแมตช์แรกที่ทำการถ่ายทอดสดออกไปคือคำตอบ”
ผลงานในไฟต์แรกเหนือความคาดหมายของผู้จัดทั้งในและนอกเวที
“ความคาดหวังนอกเวทีก็คิดว่าน่าสนใจ เพราะในวงการทีวียังไม่มีใครทำ แต่พอคิดขึ้นมาและทำสำเร็จ เราคิดว่ายังไงทุกคนก็ต้องหันมามอง ต้องมีกระแส ในใจคิดไว้แบบนั้น แล้วก็ไม่ค่อยพลาดเท่าไร พอคนบอกต่อๆ กัน แชร์กันไป เห็นต่อยกันจริงๆ ทุกอย่างตอบโจทย์หมด พอชกกันจริงๆ ก็คือคำตอบทั้งหมด
“ทีนี้ไฟต์แรกเนี่ยบอกเลยว่าเหนือความคาดหมายจริงๆ เราวางไว้เป็นคู่แรกเพราะทั้งคู่ฟิตซ้อมดี มีวินัย และจริงจัง แต่ละคู่ก็จะมีการตกลงเรื่องน้ำหนักว่าเท่าไร แต่คู่แรกจริงจังกับน้ำหนักมาก วันที่ต่อยกันเทปแรก ทุกคนก็กังวลหลายๆ เรื่อง แต่ไม่คิดว่าผลมันจะได้ขนาดนั้น คือเหมือนกับเขียนบทมา
“ยกแรกเป้ต่อยดี กะว่ามาแน่ ยกสองบีมน็อกเป้ ยกสามเป้ล้มลงไป บีมชนะ แต่ร้องไห้ บอกว่าไม่อยากทำน้องเลย แต่เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ พอออกมาแบบนี้ก็เพอร์เฟกต์เลย เหมือนการเปิดตัวที่ทุกคนหันมามองหมดเลย
“ถือว่ากระแสดีมาก ไปไหนมาไหนคนก็ถามตลอด และบังเอิญแมตช์ที่ 2 กับ 3 ก็ชกดีด้วย สวยงาม ชกเหมือนมืออาชีพ”
ผู้หญิงที่ไม่เคยดูมวย กลุ่มเป้าหมายของศึก 10 Fight 10
“แน่นอน เป้าหมายแรกที่เราอยากได้คือแมสไว้ก่อน แต่กลุ่มที่อยากได้และได้มาจริงๆ คือผู้หญิง เพราะที่ผ่านมาผู้หญิงไม่ค่อยดูมวย แต่พอเป็นดาราชกกันก็จะหันมาดูบ้าง ซึ่งก็จริงด้วยที่เขาหันมาดูมวย แล้วเขาไม่ได้สนใจว่ามวยจะเป็นอย่างไร ใครชกเป็นหรือไม่เป็น ทีมไหนได้คะแนนนำ กติกาชกชนะได้เท่าไร แต่เขาติดตามแมตช์ต่อแมตช์ว่าใครชกกับใคร ตามลุ้นเหมือนรายการบันเทิงอื่นๆ เลย
“แต่ก่อนเริ่มรายการผมจะบอกทีมงานไว้ว่าจุดที่ประสบความสำเร็จคือเมื่อไรก็ตามที่เว็บไซต์พนันเริ่มมีการตั้งราคามาให้แทง นั่นคือเราประสบความสำเร็จแล้ว แล้วมันก็มีจริงๆ เริ่มตั้งแต่แมตช์ที่ 2 ลองหาดูได้ในเว็บไซต์พนันสิ เขียนไว้เลยว่าศึกยอดมวย 10 Fight 10 อยู่ใกล้ๆ กันกับศึกมวยอื่นๆ เท่ากับว่าวงการมวยเขายอมรับว่านี่เป็นรายการมวยที่ชกกันจริงๆ ไม่ใช่การเฟก ผมก็บอกทีมงานว่าเราถึงเป้าหมายแล้ว”
มุมมองของเวิร์คพอยท์กับ Sport Entertainment คือการเปิดประตูสู่โลกกีฬา
“ปีสองปีมานี้เทรนด์การออกกำลังกายมีเยอะขึ้น โดยเฉพาะดาราหลายคนชักชวนกันมาออกกำลังกาย เพียงแต่มันไม่มีรายการทีวีที่พาไปถึงตรงนั้นได้ พอสตาร์ทด้วยมวย มันกลายเป็นมิติใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น มีคนติดต่อมาว่าอยากทำรายการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการออกกำลังกายทั้งหมด ซึ่งก็น่าสนใจ และคิดอยู่ว่าก้าวต่อไปเราควรจะทำอะไรดี เหมือนเป็นการเปิดประตูไปสู่โลกกีฬา
“ทีมงานของ 10 Fight 10 ก็เป็นชุดเดียวกับรายการ The Mask Singer ซึ่งเป็นทีมงานกว่าร้อยชีวิตที่ทำงานด้วยแล้วมีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะ ดาว-ดาราราย ศรีจิตรแจ่ม กรุ๊ปเฮดฝ่ายผลิตรายการที่ร่วมกันทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม”
ปรากฏการณ์ใหม่ของวงการมวยสากลไทยที่วงการมวยยอมรับ
“จริงๆ ต้องขอบคุณที่พูดถึงรายการนี้ เพราะเสียงชื่นชมและความยินดีต่อรายการนี้ในนามของบริษัทและตัวผมเองหลังจากแมตช์แรกไปแล้วก็ไหลมามากมาย เพื่อนในวงการ เพื่อนสนิท ดารา คนรู้จักก็โทรมายินดี ชื่นชมในการทำรายการแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
“อีกสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกโอเคเลยคือคนในวงการมวยก็ให้การยอมรับว่าสุดท้ายแล้วทำให้กลายเป็น Sport Entertainment จนได้ เพราะกีฬามวยอยู่คู่กับคนไทยมาเป็นเวลานาน มันอยู่มานานจนไม่ต้องอธิบายอะไรมาก คำว่ามวยทุกคนรู้หมดว่ากติกาคือผู้ชายสองคนเอาหมัดมาต่อยหน้ากัน ซึ่งมันเป็นกีฬาที่ตื่นเต้นทุกวินาที เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง”
มวยคือกีฬาที่เหมาะสมสำหรับ Sport Entertainment
“สิ่งที่คิดมา ทำมา รูปแบบรายการต่างๆ ก่อนที่ไฟต์จะเริ่มทั้งหมดมันคือเครื่องเคียง แต่สุดท้ายก็อยู่ที่เมนคอร์ส เพราะคนก็รอจานหลัก แต่นั่นหมายความว่าเครื่องเคียงต้องอร่อยด้วยมันถึงจะชิมไปได้เรื่อยๆ จนถึงจานหลัก เพราะคนรู้อยู่แล้วว่าจานหลักอร่อยแน่ ได้ชิมตั้งแต่ไฟต์แรกก็รู้แล้วว่าอร่อย เพราะฉะนั้นเครื่องเคียงต่อจากนี้ไม่ว่าจะทำอะไรไปคนดูก็น่าจะชอบ
“แต่ด้วยพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เท่ากับว่าเครื่องเคียงของรายการต้องเปลี่ยนแปลงตลอด น่าจะเป็นแบบนั้น เพราะรายการมีแค่ 10 ตอน เครื่องเคียงต่างๆ ในแต่ละตอนเราก็พยายามจะคิดให้มันแตกต่างกันไป เพียงแต่ว่าการนำเสนอยังคงคล้ายๆ กัน”
จัดมวยในรูปแบบที่ตัวเองอยากดู
“ระหว่างรายการเราจะพยายามทำให้มันเรียลมากที่สุด ระหว่างยกเราจะได้ยินเสียงโค้ชชัดเจน เราติดไมค์หลายจุดเพื่อให้คนดูได้ยิน ดูภาพช้าได้ทันที บ้างก็ตัดมาสัมภาษณ์แฟนๆ กองเชียร์ คือเราอยากให้ได้ครบทุกมิติ นี่คือสิ่งที่เราคิดมาทั้งหมด ตอบโจทย์ที่ว่าถ้าเราทำมวยแล้วเราอยากเห็นอะไรบ้าง เพราะส่วนใหญ่การถ่ายทอดสดมวยที่ผ่านมา พอครบยก เสียงระฆังระหว่างยกดังขึ้น ภาพก็ตัดไปโฆษณาแล้ว
ความตื่นเต้นทุกวินาทีคือเสน่ห์ของมวยสากล
“ผมเคยเป็นนักกีฬาฟุตบอลมาก่อน ชื่นชอบกีฬาอยู่แล้ว แต่มวยเป็นอะไรที่ไกลตัว ตอนที่เริ่มใกล้ตัวขึ้นคือตอนที่บัวขาวมาชกที่ช่องเวิร์คพอยท์แล้วถ่ายทอดสด ได้ไปดูสดๆ ข้างสนามก็พบว่าเลือดสูบฉีดมาก เหงื่อแตก มันไม่เคยเห็น เพราะในทีวีไม่มีเสียงเวลาปะทะกัน แต่เวลาไปยืนข้างเวทีแล้วเสียงมันดังมาก เหงื่อกระเด็นมาโดนหน้า หันมาอีกทีนึกว่าเหงื่อ แต่กลับเป็นเลือด มันตื่นเต้นมาก เราเลยเข้าใจความมันของการดูสด เพราะมันคนละอารมณ์กับในทีวี
“ก็เลยเข้าใจความมันและความสนุกของมวย พอเราเริ่มทำรายการถ่ายทอดสดเองก็คิดมาตลอดว่ากีฬามวยเหมาะที่สุดสำหรับทีวี ไม่อย่างนั้นทุกช่องคงไม่ทำมวยหมดหรอก พอดารามาชกก็กลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย”
เป้าหมายของรายการ 10 Fight 10 แรงจูงใจให้คนไปออกกำลังกาย
“เราว่าอย่างน้อยคนดูทั่วไปคงรู้สึกได้ว่าขนาดดาราที่ทำงานเยอะ มีเวลาน้อย เขายังไปต่อยมวยเพื่อซ้อม เขายังมีเวลาออกกำลังกาย ผมว่ากระแสมวยยังไม่เท่ากับกระแสให้คนออกกำลังกาย ตรงนั้นสำคัญมากกว่า ขนาดดาราถ่ายละครทุกวันยังหาเวลามาซ้อมมวยได้เลย พวกเขาจัดเวลากันยังไง เพราะอะไร เพราะตอนนี้เขามีแรงจูงใจ นั่นคือวันที่ขึ้นชกกัน เพราะฉะนั้นตลอด 3-4 เดือนเขาต้องเตรียมพร้อมทุกอย่างเพื่อการขึ้นชกด้วยฝีมือที่โอเค
“สุดท้ายมันก็เหมือนทุกคนแหละ เหมือนกับเราหาทางลดน้ำหนัก เราต้องหาแรงจูงใจให้เจอ ผมเชื่อว่าทุกคนมีเป้าหมายหมดนะ แต่ไม่เท่ากับแรงจูงใจ เพราะแรงจูงใจมันคือแรงที่คอยผลักเราให้ทำจนไปถึงเป้าหมาย”
แรงจูงใจในสิ่งที่แตกต่าง เพราะถ้าเราทำเหมือนเดิม ผลลัพธ์ก็จะไม่ต่างจากเดิม
“ผมไม่ได้มีแรงจูงใจอะไรมาก แต่ส่วนใหญ่จะคิดว่าถ้าเราปฏิบัติเหมือนเดิมก็จะได้ผลลัพธ์เหมือนเดิม ลองคิดเรื่องนี้ดีๆ เอาไปเปรียบกับเรื่องอะไรก็ได้ ถ้าเราอยากลดน้ำหนักแล้วเราใช้ชีวิตเหมือนเดิม ก็อ้วนเหมือนเดิม ถ้าเราอยากคืนดีกับแฟน แต่ไม่ง้อเลย มันก็ไม่มีทาง ผลลัพธ์มันก็เหมือนเดิม เท่าเดิม ในทุกวันเราจึงพยายามปฏิบัติตัวอย่างไรไม่ให้เหมือนเดิม เดี๋ยวผลลัพธ์อื่นๆ มันก็จะออกมาเอง ถ้าคนในสถานที่แห่งนี้ทำตัวเหมือนเดิมกันหมด ทุกอย่างก็เหมือนเดิมทุกวัน เราก็จะไม่ไปไหน”
อนาคตของ 10 Fight 10 คือการเติบไปสู่วงการอื่นๆ
“ก็คิดว่านอกจากดาราแล้วอยากไปวงการอื่นๆ บ้างที่เป็นคนมีชื่อเสียงเล่นกีฬามวย ถ้าเขามาชกกันได้น่าจะสนุก ไม่เคยคิดถึงว่าจะต้องมีกี่ซีซัน แค่ทำไปให้ดีที่สุด ก็อย่างที่บอกไป ถ้าปฏิบัติเหมือนเดิม ผลลัพธ์มันก็ได้เท่าเดิม ซีซัน 2 มาแน่ครับ ตอนนี้เริ่มต้นพูดคุยกับเจแล้ว”
สำหรับศึก 10 Fight 10 ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ของวงการกีฬาไทยที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นการผสมผสานกีฬากับความบันเทิงได้อย่างลงตัว
ซึ่งมวยสากลถือเป็นกีฬาที่เหมาะสมสำหรับการหาวิธีนำเสนอในรูปแบบของ Sport Entertainment เพราะต้องยอมรับว่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้มวยสากลเป็นนิยมไปทั่วโลกก็มาจากการที่นักชกอย่าง มูฮัมหมัด อาลี ตำนานวงการมวยโลกจากสหรัฐฯ มีฝีปากในการท้าทายคู่ชกทั้งก่อนและหลังขึ้นเวที ซึ่งทำได้ดีพอๆ กับฝีมือมวยจนดึงดูดคนให้หันมาสนใจกีฬามวยสากลมากขึ้น
โดยอาลีเผยถึงจุดเริ่มต้นการขายไฟต์ของเขาเองไว้ในวันที่ได้พบกับ กอร์กอส จอร์จ นักมวยปล้ำอาชีพในลาสเวกัส เมื่อเดือนมิถุนายน 1961 โดยให้สัมภาษณ์กับ AP ถึงเหตุการณ์ในวันนั้นเมื่อปี 1969 ว่า
“ผมเห็นคนดู 13,000 คนเต็มเวที ผมคุยกับจอร์จเป็นเวลา 5 นาทีหลังจบการแข่งขัน และผมก็เริ่มกลายเป็นคนที่เสียงดังและพูดจาโอ้อวดมากขึ้นหลังจากนั้น
“จอร์จบอกผมว่าคนจะมาดูเขาแพ้ และคนอีกกลุ่มหนึ่งก็จะมาดูเขาชนะ เขาสามารถดึงดูดคนดูได้”
แน่นอน เวลาที่เปลี่ยนไปทำให้วิธีการดึงดูดคนเข้ามาดูมวยก็ปรับตัวไปตามกาลเวลาและเทคโนโลยี มาถึงวันนี้จึงได้ก่อกำเนิด 10 Fight 10 ขึ้น ถือเป็นโอกาสที่ดีของวงการกีฬาไทยที่จะต่อยอดจากพัฒนาการจุดนี้ไปสู่การดึงดูดให้คนหันมารักษาสุขภาพและสนใจชนิดกีฬาที่หลากหลายมากขึ้นในอนาคต
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์