วานนี้ (6 พฤศจิกายน) สำนักข่าว BBC รายงานว่า สมาคมฟุตบอลจากสหภาพยุโรปรวม 10 ประเทศออกมาตอบโต้สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) โดยยืนยันว่า “สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสากลและนำไปใช้ได้ทุกที่” หลังจากที่องค์กรลูกหนังโลกขอให้ประเทศต่างๆ ที่แข่งขันไปร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลก ‘โฟกัสไปที่ฟุตบอล’
ฟีฟ่าได้ออกจดหมายถึงทั้ง 32 ทีม หลังจากเกิดการโต้เถียงกันเกี่ยวกับทัวร์นาเมนต์ ฟุตบอลโลก 2022 ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ หลังเจ้าภาพกาตาร์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงจุดยืนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน ประวัติอันไม่ค่อยดีนักด้านสิทธิมนุษยชน ร่วมการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติที่ใช้ในการก่อสร้างสนามแข่งขันที่ใช้ในฟุตบอลโลกครั้งนี้
จดหมายของฟีฟ่าถูกวิพากษ์วิจารณ์โดย Human Rights Watch, Amnesty International และกลุ่มนักรณรงค์เพศทางเลือก LGBTQIA+ ในอังกฤษและเวลส์
โดยเนื้อหาในจดหมายของฟีฟ่าระบุว่า “เรารู้ว่าฟุตบอลไม่ได้อยู่อย่างสูญเปล่า และเราตระหนักดีว่ายังมีความท้าทายและความยากลำบากมากมายในธรรมชาติทางการเมืองอยู่รอบตัวทั่วโลก แต่ได้โปรดอย่าปล่อยให้ฟุตบอลถูกลากเข้าไปในทุกการต่อสู้ทางอุดมการณ์หรือทางการเมืองที่มีอยู่
“พวกเราฟีฟ่าพยายามเคารพความคิดเห็นและความเชื่อทั้งหมด โดยไม่ประจานด้วยบทเรียนทางศีลธรรมกับส่วนอื่นๆ ของโลก ไม่มีใครหรือวัฒนธรรมหรือชาติใด ‘ดี’ ไปกว่ากัน หลักการนี้เป็นรากฐานที่สำคัญมากของการเคารพซึ่งกันและกันและไม่เลือกปฏิบัติ”
“และนี่ก็เป็นหนึ่งในค่านิยมหลักของฟุตบอล ดังนั้น ขอให้ทุกคนจำไว้ และปล่อยให้ฟุตบอลเข้ามาเป็นศูนย์กลาง
“เรามีโอกาสและนับเป็นโอกาสพิเศษในการต้อนรับและโอบกอดทุกคน โดยไม่คำนึงถึงถิ่นกำเนิด ภูมิหลัง ศาสนา เพศ รสนิยมทางเพศ หรือสัญชาติ”
โดยจดหมายดังกล่าวได้รับการลงนามโดย จานนี อินฟานติโน ประธานฟีฟ่า และ ฟัตมา ซามูรา เลขาธิการทั่วไป
ล่าสุดมีแถลงการณ์ร่วมจากชาติยุโรปจำนวน 10 ประเทศ ที่สังกัดต่อสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ออกมาตอบโต้จดหมายดังกล่าวของฟีฟ่าเรียบร้อยแล้ว โดยหนึ่งในนั้นมีสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ) ร่วมด้วย โดยเรียกร้องให้มีการชดเชยสำหรับ ‘การบาดเจ็บหรือการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างใดๆ’ สำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลก
แถลงการณ์ร่วมของยูฟ่าระบุว่า “เราจะยังคงสนับสนุนช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกเพื่อความก้าวหน้าต่อไป และยังคงสนับสนุนผลสรุปและอัปเดตสาระสำคัญในสองประเด็นที่เราได้พูดคุยกับฟีฟ่ามาเป็นเวลานาน
“ฟีฟ่ามุ่งมั่นที่จะให้คำตอบที่เป็นรูปธรรมในประเด็นเหล่านี้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นกองทุนชดเชยสำหรับแรงงานข้ามชาติ และแนวคิดของศูนย์แรงงานข้ามชาติที่จะสร้างขึ้นในกรุงโดฮา และเราจะกดดันต่อไปเพื่อให้ได้รับสิ่งเที่เรียกร้องเหล่านี้
“เราเชื่อในพลังของฟุตบอลเพื่อสร้างผลกระทบที่ดี รวมไปถึงความน่าเชื่อถือที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในโลกที่ก้าวหน้า”
ขณะที่ฝั่งแฟนบอลเองก็มีปฏิกิริยาตอบโต้ต่อฟีฟ่าเช่นกัน โดยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมามีการประท้วงฟุตบอลโลกที่กาตาร์ ในเกมบุนเดสลีกา เยอรมนี โดยมีแฟนบอลบางส่วนถือป้ายประท้วงเรื่องนี้อยู่ในกลุ่มแฟนบอลให้ได้เห็นกันแล้ว
ด้าน ชีค โมฮัมเหม็ด บิน อับดุลราห์มาน อัล ธานี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของกาตาร์ กล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกที่จัดขึ้นในประเทศของเขาถือเป็น ‘ความหน้าซื่อใจคด’ ในขณะที่การเรียกร้องให้คว่ำบาตร “เกิดขึ้นในคนจำนวนน้อยกว่า 10 ประเทศ ซึ่งไม่ได้เป็นตัวแทนของส่วนอื่นๆ ของโลก”
อ้างอิง: