×

10 คาถาป้องกันตัวเองจากโควิด-19 เมื่อ ‘จำเป็น’ ต้องออกนอกบ้าน

28.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ประเทศอังกฤษแนะนำว่าเราควรออกจากบ้านด้วยเหตุผล 4 ข้อเท่านั้นคือ 1. ซื้อของกินของใช้จำเป็น เช่น อาหาร ยา 2. ออกกำลังกายวันละครั้ง เช่น วิ่ง เดิน หรือปั่นจักรยานคนเดียว หรือกับสมาชิกในครอบครัว 3. ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ ทั้งการดูแลผู้ป่วยหรือดูแลผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และ 4. การทำงาน ในกรณีที่ไม่สามารถ Work from Home หรือทำงานที่บ้านได้
  • ถ้าจำเป็นต้องออกนอกบ้านจริง ก็ควรวางแผนการเดินทางให้ใช้เวลาสั้นลง หลีกเลี่ยงช่วงเวลาเร่งด่วนหรือช่วงเลิกงาน ซึ่งจะมีคนพลุกพล่าน ทำให้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดผู้อื่นในระยะเสี่ยงได้ และอาจเลือกใช้รถโดยสารสาธารณะที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก 
  • ถ้าเป็นไปได้เราควรมีภาชนะส่วนตัวในการกินอาหารของตัวเอง เช่น ห่อข้าวไปกินที่ทำงาน แต่อาจทำได้ยาก ผมคิดว่าอย่างน้อยเราอาจเตรียมขวดน้ำจากบ้านไปได้ เพราะจะเป็นคนหยิบขวดน้ำออกมาเปิดดื่มเอง ไม่ปะปนกับผู้อื่น

 

“อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อ…คุณเอง และคนที่คุณรัก” 

 

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยยังไม่ค่อยสู้ดีนัก รัฐบาลจึงแนะนำให้ทุกคนหยุดอยู่กับบ้าน เพื่อลดการติดต่อของผู้อื่น แล้วโรคก็จะหยุดติดต่อไปด้วย แต่ถ้าเรา ‘จำเป็น’ ต้องออกจากบ้าน นี่คือคาถา 10 ข้อที่คุณควรท่องจำให้ขึ้นใจ

 

  1. จำเป็นหรือเปล่า

สิ่งแรกสุดคงไม่ใช่ว่าเราจะป้องกันตัวอย่างไรตอนเดินทางออกจากบ้านไปแล้ว เพราะความเสี่ยงในการติดโควิด-19 ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อเราออกไปแล้วจะพบเจอกับคนอื่น (ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจเป็นผู้ป่วย) มากน้อยแค่ไหน ดังนั้นจะต้องถามตัวเองก่อนว่า ‘จำเป็นหรือเปล่า’ ที่จะต้องออกจากบ้านวันนี้

 

 

ซึ่งประเทศอังกฤษแนะนำว่าเราควรออกจากบ้านด้วยเหตุผล 4 ข้อเท่านั้นคือ 

  1. ซื้อของกินของใช้จำเป็น เช่น อาหาร ยา 
  2. ออกกำลังกายวันละครั้ง เช่น วิ่ง เดิน หรือปั่นจักรยานคนเดียว หรือกับสมาชิกในครอบครัว 
  3. ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ ทั้งการดูแลผู้ป่วยหรือดูแลผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ 
  4. การทำงาน ในกรณีที่ไม่สามารถ Work from Home หรือทำงานที่บ้านได้

 

  1. เช็กว่าเสี่ยง-ไม่เสี่ยง

เนื่องจากมีการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย คณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัดจะมีอำนาจในการสั่งปิดสถานที่ที่อาจเป็นแหล่งของการแพร่ระบาดได้ เช่น ล่าสุด (27 มีนาคม) กทม. ประกาศปิดสนามเด็กเล่นทั้งสวนสาธารณะและในหมู่บ้าน พิพิธภัณฑ์ และห้องสมุด

 

นอกจากนี้เว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค หรือเพจของหน่วยงานในจังหวัดยังเผยแพร่ ‘สถานที่ชุมนุมท่ีมีการประกาศให้ผู้เก่ียวข้องเฝ้าระวังอาการ’ เนื่องจากผู้ป่วยเคยเดินทางไปในช่วงเวลานั้นๆ จึงสามารถตรวจสอบได้ว่าสถานที่ใดมีความเสี่ยงบ้าง หากมีการทำความสะอาดและงดการใช้สถานที่นั้น 1 วันแล้วก็ถือว่าปลอดภัย เพราะเชื้อจะอยู่ตามพื้นผิวเท่านั้น

 

  1. เลี่ยงช่วงเวลาที่คนพลุกพล่าน 

ทีนี้ถ้าจำเป็นต้องออกนอกบ้านจริง ก็ควรวางแผนการเดินทางให้ใช้เวลาสั้นลง หลีกเลี่ยงช่วงเวลาเร่งด่วนหรือช่วงเลิกงาน ซึ่งจะมีคนพลุกพล่าน ทำให้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดผู้อื่นในระยะเสี่ยงได้ และอาจเลือกใช้รถโดยสารสาธารณะที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก 

 

  1. เตรียมเจลแอลกอฮอล์

เตรียมเจลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นมากกว่า 70% ขึ้นไปไว้สำหรับหยิบขึ้นมาล้างมือบ่อยๆ เช่น หลังไอจาม หลังหยิบจับสิ่งของในที่สาธารณะ แต่ถ้าไม่มีอาจเตรียมสบู่เหลวขนาดพกพาติดกระเป๋าไว้สำหรับเข้าห้องน้ำที่ไหนแล้วไม่มีสบู่เหลวใช้

 

  1. เตรียมขวดน้ำส่วนตัว

กรมอนามัยแนะนำว่า ถ้าเป็นไปได้เราควรมีภาชนะส่วนตัวในการกินอาหารของตัวเอง เช่น ห่อข้าวไปกินที่ทำงาน แต่อาจทำได้ยาก ผมคิดว่าอย่างน้อยเราอาจเตรียมขวดน้ำจากบ้านไปได้ เพราะจะเป็นคนหยิบขวดน้ำออกมาเปิดดื่มเอง ไม่ปะปนกับผู้อื่น

 

  1. สวมหน้ากากอนามัย 

หากต้องเข้าไปในพื้นที่แออัด ควรสวมหน้ากากอนามัย อาจเป็นหน้ากากทางการแพทย์หรือหน้ากากผ้าก็ได้ แต่ต้องสวมให้ถูกวิธีคือ ล้างมือก่อน-หลังสวม ปรับหน้ากากให้กระชับใบหน้า ไม่ให้มีช่องว่างบริเวณจมูก เมื่อสวมแล้วไม่นำมือมาจับหน้ากากและใบหน้าอีก

 

 

  1. เว้นระยะห่างจากผู้อื่น

การเดิน การยืนต่อคิว หรือการนั่งในรถโดยสารโดยเว้นระยะห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร หรือระยะ 1 ช่วงแขนที่เราแตะไหล่คนข้างหน้า (อย่าเผลอยกขึ้นมาจริงๆ ล่ะครับ) จะป้องกันเราจากการไอจามของผู้อื่น เพราะโควิด-19 ติดต่อผ่านละอองน้ำมูกน้ำลายหรือเสมหะเป็นหลัก

 

  1. ระวังการหยิบจับสิ่งของ

ละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะอาจตกอยู่ตามพื้นผิวต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณที่หลายคนสัมผัสร่วมกัน เช่น ราวจับ ราวโหนบนรถโดยสาร พนักเก้าอี้ ราวบันได ปุ่มกดลิฟต์ จึงควรระมัดระวังไม่จับโดยไม่จำเป็น แต่ถ้าจับแล้วก็ควรล้างมือทันทีที่สะดวก (เตรียมเจลแอลกอฮอล์มาแล้ว)

 

สำหรับลิฟต์ สถานที่หลายแห่งเริ่มมีการออกแบบให้ผู้ใช้ยืนเว้นระยะห่างระหว่างกัน และหันหน้าเข้าผนัง แต่ถ้าเป็นช่วงพักเที่ยงอาจมีคนต้องการใช้เยอะ คงต้องเลี่ยงไปเดินขึ้น-ลงบันไดแทน (ฟิตเนสปิดก็ออกกำลังแบบนี้แทน) หรือเหลื่อมเวลาการเข้า-ออกออฟฟิศไม่ให้ตรงกับเพื่อนร่วมงานคนอื่น

 

  1. สังคมไร้เงินสด

การหยิบจับเหรียญหรือธนบัตรจะเพิ่มโอกาสในการได้รับเชื้อต่อจากคนอื่นเป็นทอดๆ ดังนั้นแอปพลิเคชันแทนเงินสดจึงต้องมา #ของมันต้องมี ไม่ว่าจะ E-Banking, E-Wallet, E-Payment หรือ QR Code จ่ายเงิน รวมถึงช้อปปิ้งออนไลน์จับจ่ายผ่านมือถือของเราเอง

 

  1. ล้างมือก่อนเข้าบ้าน 

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องเน้นย้ำถึงความสำคัญของการล้างมือ เพราะมือของเราอาจนำเชื้อโรคเข้ามาติดเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุในบ้าน ถ้าเป็นไปได้อาจอาบน้ำเปลี่ยนชุดไปเลยก่อนจะทำกับข้าว นั่งกินข้าว นั่งดูทีวี หรือนอนดูซีรีส์แล้วเผลอหลับไป

 

สุดท้าย (แถม) ถ้าเราไม่สบาย ยังไม่ควรออกจากบ้าน ผมเชื่อว่าทุกคนหมั่นสังเกตอาการของตัวเองกันอยู่แล้ว หากมีอาการเล็กน้อย เช่น ไข้ต่ำๆ เริ่มเจ็บคอ อาจหยุดพักสังเกตอาการที่บ้านดูก่อน โรคหวัดก็มีอาการคล้ายกับช่วงแรกของโควิด-19 ได้ หาก 2-3 วันไม่ดีขึ้นค่อยไปพบแพทย์อีกที ยกเว้นมีประวัติเสี่ยงชัดเจนครับ

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X