THE STANDARD WEALTH รวบรวมผลการดำเนินงานประจำไตรมาสแรกปี 2566 ของธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในภาพรวมพบว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์สามารถทำกำไรรวมกันได้กว่า 6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 13.32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับธนาคารที่ทำกำไรได้สูงสุดคือ SCB มีกำไรสุทธิ 10,995 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิในภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเติบโตขึ้นถึง 17%
ตามมาเป็นอันดับ 2 คือ KBANK ที่มีกำไรสุทธิ 10,741 ล้านบาท แต่กำไรปรับลดลงจากช่วงไตรมาสแรกของปีก่อน 470 ล้านบาท หรือ 4.19% ส่วนธนาคารกรุงเทพหรือ BBL มีกำไรสุทธิ 10,129 ล้านบาท เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดถึง 42.3% จาก 7,118 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยที่เติบโตตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมที่ปรับตัวดีขึ้น
ขณะที่ธนาคารกรุงไทยหรือ KTB มีกำไรสุทธิ 10,067 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สร้างสถิติทำกำไรในไตรมาสที่ 1 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าคาดมากจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ถึงแม้ว่าสินเชื่อจะหดตัวลงก็ตาม นอกจากนี้ ธนาคารยังสามารถทำรายได้จากเครื่องมือทางการเงินอื่นได้เพิ่มขึ้นด้วย
ด้านกรุงศรีฯ หรือ BAY มีกำไรสุทธิในไตรมาสแรกที่ 8,676 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จากปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสินเชื่อเพื่อรายย่อย ส่วนอีกหนึ่งธนาคารขนาดใหญ่อย่างทีเอ็มบีธนชาตหรือ ttb มีกำไรสุทธิในไตรมาสแรก 4,295 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.4% จากปีก่อน
อย่างไรก็ดี ในกลุ่มธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กดูเหมือนจะมีอัตราการเติบโตของผลกำไรที่ไม่สวยหรูเท่ากับกลุ่มแบงก์ใหญ่ โดยมีเพียงแอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป หรือ LHFG ที่มีกำไรเติบโตขึ้น 30.9% ขณะที่ KKP, TISCO และ CIMBT มีอัตราการเติบโตของผลกำไรอยู่ที่ 1.4%, -0.2% และ -21.8% ตามลำดับ
บทความที่เกี่ยวข้อง
- กูรูแนะกลยุทธ์นักลงทุนในปี 2023 ศึกษาตลาด อย่าหวั่นไหว และรู้ข้อจำกัดตนเอง
- สินทรัพย์ไหนรุ่ง/ร่วง? เปิด 5 คำทำนายจากผู้จัดการกองทุนต่างๆ สำหรับปี 2023
- การลงทุนปี 2023 ทรงอย่าง Good จะ Smooth หรือไม่?
ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา