การเสียชีวิตของ มาห์ซา อามินี เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2022 หลังถูกตำรวจศีลธรรมของอิหร่านจับกุมในกรุงเตหะราน เนื่องจากไม่สวมฮิญาบ ทำให้เกิดการประท้วงใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศอิหร่าน
เพื่อเป็นการรำลึกครบรอบ 1 ปีการเสียชีวิตของเธอ ผู้คนหลายพันคนในหลายเมืองทั่วโลก ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี เบลเยียม ออสเตรเลีย และอินเดีย พากันออกมาเดินขบวนตามท้องถนน
ขณะที่สถานการณ์ในอิหร่านนั้น กลุ่มสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่ม ซึ่งรวมถึง Hengaw กลุ่มสนับสนุนชาวเคิร์ด และองค์กรสิทธิมนุษยชนอิหร่าน (Iran Human Rights) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในนอร์เวย์ รายงานว่า อัมจาด พ่อของอามินี ถูกกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (Iranian Revolutionary Guard) ควบคุมตัวและเตือนไม่ให้เขาจัดงานรำลึกครบรอบการเสียชีวิตของลูกสาว ก่อนที่เขาจะได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ดี สำนักข่าว IRNA ของรัฐบาลอิหร่านปฏิเสธข่าวดังกล่าว และรายงานว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงได้ขัดขวางความพยายามที่จะสังหาร อัมจาด อามินี
ขณะเดียวกัน เครือข่ายสิทธิมนุษยชนเคอร์ดิสถาน (Kurdistan Human Rights Network) รายงานว่า สมาชิกในครอบครัวของผู้ที่ถูกสังหารระหว่างการประท้วงที่มีชนวนเหตุมาจากการเสียชีวิตของ มาห์ซา อามินี ก็ถูกจับกุมหรือถูกข่มขู่คุกคามเช่นกัน
ย้อนกลับไปเมื่อ 1 ปีที่แล้ว ชาวอิหร่านจำนวนมากได้ออกมาประท้วงตามท้องถนนในหลายเมืองทั่วประเทศ รวมถึงกรุงเตหะราน เมืองหลวง หลังจาก มาห์ซา อามินี หญิงสาวชาวเคิร์ด วัย 22 ปี เสียชีวิตหลังถูกตำรวจศีลธรรมจับกุมในกรุงเตหะราน เนื่องจากไม่สวมฮิญาบ โดยผู้ประท้วงเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติต่อสตรี รวมทั้งยุติการบังคับสวมฮิญาบ มีรายงานว่าผู้ประท้วงหลายสิบคนเสียชีวิตจากการปะทะกับกองกำลังรักษาความมั่นคง
แม้การลุกฮือขึ้นประท้วงต่อต้านรัฐบาลจะมีชนวนเหตุมาจากการตายของอามินี แต่การเรียกร้องความรับผิดชอบในตอนแรกได้แปรเปลี่ยนไปเป็นการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิงที่ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและข้อจำกัดด้านสิทธิที่รุนแรงมานานหลายทศวรรษ นับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามปี 1979
การเสียชีวิตของอามินีจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่อย่างรุนแรงที่ผู้หญิงในอิหร่านต้องเผชิญมานานหลายทศวรรษ และชื่อของเธอได้แพร่กระจายไปทั่วโลก แม้แต่ผู้นำระดับโลกที่เข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในนครนิวยอร์กเมื่อปีที่แล้วก็กล่าวถึงชื่อของ มาห์ซา อามินี
ภาพ: Lev Radin/Pacific Press/LightRocket / Probal Rashid / Ameer Alhalbi / Stefano Montesi – Corbis/Corbis / Getty Images
อ้างอิง: