×

รู้จัก ‘บริษัทซอมบี้’ ปัญหาที่อาจกัดกินตลาดหุ้นญี่ปุ่น?

12.02.2024
  • LOADING...

ตลาดหุ้นไหนให้ผลตอบแทนสูงสุดของเอเชียในปีนี้? 

 

คำตอบคือ ‘หุ้นญี่ปุ่น’ เมื่อวัดจากผลตอบแทนของดัชนีหลักในแต่ละประเทศ 

 

ปีนี้ดัชนี Nikkei 225 ให้ผลตอบแทนประมาณ 10% มากกว่าอันดับสองของเอเชียคือ ดัชนี VN 30 ของเวียดนาม ส่วนดัชนีที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดของโลกจากต้นปี 2024 คือ BIST 100 ของตุรกี

 

หุ้นญี่ปุ่นไม่ได้เพิ่งจะมาร้อนแรงในปีนี้ แต่โดดเด่นอย่างมากตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา จากจุดต่ำสุดในช่วงวิกฤตโควิดมาจนถึงจุดนี้หุ้นญี่ปุ่นพุ่งขึ้นมาแล้วกว่า 100% จนทำจุดสูงสุดในรอบ 34 ปี และใกล้เคียงอย่างมากที่จะพุ่งขึ้นไปทำลายสถิติสูงสุดเดิมที่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1989 

 

แต่เส้นทางขาขึ้นของหุ้นญี่ปุ่นอาจสะดุดลงได้จากสิ่งที่เรียกว่า ‘บริษัทซอมบี้ (Zombie Firms)’

 

จุดกำเนิดบริษัทซอมบี้ญี่ปุ่น?

 

บริษัทซอมบี้เป็นคำเปรียบเทียบธุรกิจที่ติดชะงักกับปัญหาด้านการเงิน ไม่มีกำไร แต่ก็ยังสามารถบริหารจัดการให้อยู่รอดไปได้ บริษัทพวกนี้ยังสามารถจ่ายค่าแรง ค่าเช่า จ่ายดอกเบี้ย แต่ก็ไม่ได้มีเงินสดเหลือพอที่จะไปลงทุนหรือสร้างการเติบโตต่อไปได้ 

 

William Pesek ผู้เขียนหนังสือ Japanization: What the World Can Learn from Japan’s Lost Decades เคยบอกไว้ว่า ปัญหาบริษัทซอมบี้ในญี่ปุ่นเกิดขึ้นมานานแล้ว 

 

แต่ปัญหานี้อาจขยายวงกว้างและสร้างผลกระทบมากขึ้น จากการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan) อาจตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2007 

 

ต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้นจะทำให้บริษัทซอมบี้มีความเสี่ยงจะขาดสภาพคล่อง จนนำไปสู่การล้มละลายและกระทบต่อการจ้างงาน

 

สำหรับญี่ปุ่น บริษัทซอมบี้เกิดขึ้นมาจำนวนมากหลังจากฟองสบู่แตกช่วงทศวรรษที่ 1990 ซึ่งธนาคารต่างๆ ได้เข้ามาช่วยเหลือบริษัทที่ประสบปัญหาไม่ให้ล้มละลายอย่างที่ควรจะเป็น

 

William Pesek ให้สัมภาษณ์กับ CNBC ไว้ว่า ณ สิ้นปี 2023 ญี่ปุ่นมีบริษัทซอมบี้มากถึง 250,000 บริษัท โดยตลอด 11 ปีที่ผ่านมาบริษัทซอมบี้เพิ่มขึ้นราว 30% โดยอุตสาหกรรมที่มีบริษัทซอมบี้มากที่สุดคือค้าปลีก คิดเป็นสัดส่วนราว 27.7% รองลงมาคืออุตสาหกรรมขนส่งและสื่อสาร คิดเป็นสัดส่วน 23.4% ถัดมาคืออุตสาหกรรมการผลิต คิดเป็นสัดส่วน 17.8% 

 

วิกฤตโควิดทำให้จำนวนบริษัทซอมบี้เพิ่มขึ้นมาประมาณ 1 ใน 3 ระหว่างปี 2021-2022 ซึ่งสอดคล้องกับผลวิจัยการตลาดของบริษัท Teikoku Databank เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการให้เงินช่วยเหลือโดยที่ไม่มีดอกเบี้ยและหลักประกันแก่บริษัทขนาดกลางและเล็ก 

 

ผลกระทบจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

 

อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า บริษัทซอมบี้ยังสามารถจ่ายต้นทุนต่างๆ เพื่อให้อยู่รอดต่อไปได้ แต่ก็ไม่ได้มีเงินเหลือมากพอหลังจากนั้น แต่เมื่อต้นทุนบางอย่างเพิ่มขึ้น บริษัทเหล่านี้ก็อาจจะเอาตัวรอดไม่ได้อีกแล้ว 

 

ต้นทุนการเงินที่อาจจะเพิ่มขึ้นเพียงแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ อาจมากพอที่จะทำให้บริษัทเหล่านี้หายวับไปกับตา เพราะฉะนั้นการตัดสินใจของธนาคารกลางญี่ปุ่นหลังจากนี้จะเป็นสิ่งที่ยากลำบากอย่างยิ่งในสายตาของ William Pesek

 

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ Bhaskar Laxminarayan ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน (CIO) ในภูมิภาคเอเชียของ Julius Baer มองว่า บริษัทซอมบี้ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทขนาดเล็ก ส่วนบริษัทขนาดใหญ่มีเงินสดตุนอยู่ในมือค่อนข้างมาก ซึ่งมากพอจะรองรับกับต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้น 

 

โดย Julius Baer ประเมินว่า ในปี 2024 บริษัทญี่ปุ่นมีเงินสดคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 21% ต่อมูลค่าตลาด ซึ่งสูงกว่าตัวเลข 7% ของบริษัทในสหรัฐฯ 

 

จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี กล่าวว่า บริษัทซอมบี้ที่ยังมีชีวิตรอดไม่ใช่เพราะดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากปัจจัยด้านสายสัมพันธ์ทางธุรกิจ ทำให้บางบริษัทยังสามารถขายสินค้าได้อยู่ แม้ว่าราคาสินค้า (ที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน) อาจจะสูงกว่าคู่แข่ง

 

“2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นเข้ามาคุมเข้มเรื่องธรรมาภิบาลมากขึ้น ทำให้บริษัทซอมบี้บางส่วนล้มตายไป”

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทซอมบี้อาจมีจำนวนมาก แต่ด้วยขนาดที่ไม่ใหญ่มาก ทำให้ผลกระทบต่อตลาดหุ้นหรือเศรษฐกิจจะไม่ได้น่ากังวลแต่อย่างใด กลับกันหากบริษัทซอมบี้ลดลงไป ก็อาจทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นได้ดียิ่งขึ้น

 

“แต่ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นคือ ตัวเลขการว่างงานที่อาจเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนมากจะเป็นกลุ่มที่มีอายุมากและอาจปรับตัวเข้ากับการทำงานยุคใหม่ได้ยาก”​

 

จิติพลกล่าวทิ้งท้ายว่า หนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงจะกลายเป็นบริษัทซอมบี้มากขึ้นคือ อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งไม่ใช่แค่ญี่ปุ่น แต่เป็นทั่วโลก รวมทั้งในไทยด้วย เนื่องจากต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นและดีมานด์ที่หดตัวจากอัตราการเกิดน้อยลง และเทรนด์ Work from Home เป็นต้น

 

ภาพ: gremlin / Getty Images 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X