×

ซีโร่คาร์บอน: ภูมิคุ้มกันเอเชียแปซิฟิกจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

20.04.2021
  • LOADING...
ซีโร่คาร์บอน: ภูมิคุ้มกันเอเชียแปซิฟิกจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ถึงแม้ว่าวันนี้สัญญาณการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลกจะปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้เกือบปกติ และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเริ่มทยอยกลับมาเปิดกิจการได้ แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า องค์กรต่างๆ ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายที่ (ไม่) ใหม่ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งรวมไปถึงปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่กลายเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมโลก เพราะภัยพิบัติทางธรรมชาติและปัญหาสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมมนุษย์และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจและโครงสร้างทางอุตสาหกรรมที่มีการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพเป็นหลัก เช่น ภาคเกษตรกรรม และภาคการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น

 

ทั้งนี้ งานวิจัย Nature Risk Rising ของสภาเศรษฐกิจโลกที่จัดทำร่วมกับ PwC ระบุว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจโลกถึงประมาณ 44 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่าครึ่งของจีดีพีโลก มาจากการพึ่งพาธรรมชาติและจะได้รับผลกระทบโดยตรงหากเกิดการสูญเสียทางธรรมชาติ เมื่อเป็นเช่นนี้ ความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงนำไปสู่ความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Global Decarbonisation) ของทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากรายงาน Net Zero Economy Index ของ PwC พบว่า ความพยายามในการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide: CO2) ทั่วโลกยังอยู่ในระดับที่เชื่องช้า และห่างไกลเป้าหมายในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้บรรลุปณิธานความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ต้องการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส 

 

ถึงเวลาเอเชียแปซิฟิกจัดการกับวิกฤตสิ่งแวดล้อม

หากเรามาวิเคราะห์การปล่อย CO2 ในระดับภูมิภาคของโลก ข้อมูลจากรายงาน Asia Pacific’s Time ของ PwC พบว่า ปัจจุบันเอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 มากที่สุดถึง 53% ต่อปี และมีปริมาณขยะมูลฝอยในเขตเทศบาลมากถึง 40% ต่อปี ในขณะที่มีปริมาณขยะเสียที่เกิดขึ้นทั่วโลกเพียง 19% เท่านั้นที่ถูกนำมารีไซเคิลหรือถูกย่อยสลายได้ นี่สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยในวันนี้ผมขอนำ 3 แนวทางในการขับเคลื่อนภูมิภาคของเราไปสู่อนาคต ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาแบ่งปันกับผู้อ่าน ดังนี้

 

1. ผลักดันความร่วมมือเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) 

ปัญหาขยะที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) ในภูมิภาค นำไปสู่การผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือการนำผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เช่น ภาครัฐต้องมีการกำหนดนโยบายเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 และผลักดันการนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น เก็บภาษีตามปริมาณขยะที่ทิ้ง หรือออกกฎหมายห้ามใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้ง เป็นต้น

 

สำหรับภาคธุรกิจ ควรศึกษาการใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ออกผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัสดุรีไซเคิล หรือวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และพัฒนารูปแบบทางธุรกิจใหม่ๆ เช่น เปลี่ยนรูปแบบสินค้าที่นำเสนอให้แก่ลูกค้าจากสินค้ามาเป็นบริการ (Product as a Service) หรือแบ่งปันทรัพยากรร่วมกันเพื่อใช้ผลิตภัณฑ์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แต่ท้ายที่สุดแล้ว ความร่วมมือจากภาคประชาชนจะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนแนวคิดนี้
 

2. ประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ (Agritech) 

ปัจจุบันเกือบ 1 ใน 4 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในโลกเกิดจากกระบวนการผลิตอาหาร และยังเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงการจ้างงานในตลาดแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีอัตราการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมสูง ดังนั้น การลงทุนในเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มปริมาณและปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต และใช้ทรัพยากรต่างๆ เช่น น้ำ ปุ๋ย พื้นที่เพาะปลูก และแรงงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม

 

ตัวอย่างของการประยุกต์ใช้ Agritech มีตั้งแต่การใช้ระบบเซ็นเซอร์เพื่อควบคุมและติดตามการเติบโตของผลผลิตแบบเรียลไทม์ ไปจนถึงการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ เช่น ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม และข้อมูลสภาพภูมิอากาศร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และเทคโนโลยีการเรียนรู้ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (Machine Learning) เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถวิเคราะห์สภาพการเติบโตของผลผลิต ปริมาณน้ำและปุ๋ยที่ต้องใช้ และช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเริ่มเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยว ช่วยเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจให้แก่ภาคเกษตรกรรม และไม่เกิดขยะเหลือทิ้งที่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

 

3. ผนวกแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเข้ากับกลยุทธ์องค์กร 

ภาคธุรกิจต้องวางแผนการจัดการกับปริมาณ CO2 ซึ่งเป็นสาเหตุของวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง ผ่านการยกระดับการรายงานข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน เช่น รายงานความยั่งยืน โดยต้องกำหนดเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม มีกรอบแนวคิด และแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบและตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ และคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม (Environmental, Social and Governance: ESG)

 

ธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการ ESG นี้ จะสามารถสร้างคุณค่าให้กับทั้งองค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนให้ระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคเติบโตได้อย่างยั่งยืน

 

สำหรับเครือข่าย PwC ทั่วโลกเอง ได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจากการดำเนินงานและห่วงโซ่อุปทานเป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) ภายในปี 2030 เช่นเดียวกับองค์กรอื่นๆ ทั่วโลกที่ลุกขึ้นมาร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง แต่อย่างไรก็ตาม ความมุ่งมั่นของภาคธุรกิจอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนควบคู่กับความร่วมมือจากภาคประชาชน จึงจะสามารถขับเคลื่อนปณิธานในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกและเอเชียแปซิฟิกให้บรรลุผลสำเร็จ

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising