ภูวกร ศรีเนียน รองประธานกรรมการมูลนิธิเส้นด้าย องค์กรที่ช่วยเหลือสังคมเกี่ยวกับโควิด-19 ออกมาเรียกร้องให้ทุกชุมชนใน กทม. และเมืองใหญ่ ที่คนอยู่อาศัยหนาแน่นเร่งเปิดจุดพักคอยในชุมชน เพื่อแยกตัวผู้ติดเชื้อออกจากบ้านที่อยู่รวมกันหลายคนและไม่สามารถรักษาตัวที่บ้านได้
โดย ภูวกรมองว่า ปัจจุบันนโยบายการรับมือโควิดจากภาครัฐที่เปลี่ยนไป โดยการจำกัดงบประมาณ ทำให้โรงพยาบาลเอกชนไม่สามารถรับตัวผู้ติดเชื้อโควิดทั่วไปเข้ารับการรักษาใน Hospital เครือข่ายได้อย่างเดิม โดยจะสามารถรับผู้ติดเชื้อได้ตามสิทธิพื้นฐานที่มีเท่านั้น ประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วหลายหมื่นคนต่อวัน มากกว่าปีที่แล้วด้วยซ้ำ ทำให้การแยกตัวผู้ติดเชื้อทำได้ยากขึ้น ถึงแม้จะมีความมั่นใจว่าประชาชนได้รับวัคซีนกันพอสมควร ประกอบกับความเห็นทางการแพทย์ว่าเชื้อโอไมคอนไม่รุนแรง นโยบายภาครัฐจึงเน้นไปที่ให้ประชาชนรักษาตัวที่บ้าน
ภูวกรยังตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาที่พบทันทีตอนนี้คือ แม้ผู้ติดเชื้ออาการไม่รุนแรง แต่มีจำนวนมากที่ไม่พร้อมจะรักษาตัวที่บ้าน โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้น้อย เนื่องจากอยู่รวมกันหลายคน กังวลจะแพร่เชื้อไปสู่คนในครอบครัวที่มีทั้งเด็กและผู้สูงวัย ที่ผ่านมาจึงได้เกิดเหตุการณ์ผู้ติดเชื้อออกมานอนข้างถนน
โดย ภูวกรเชื่อว่า การเปิดจุดพักคอยในชุมชนเพื่อเร่งแยกผู้ติดเชื้อออกจากครอบครัวให้เร็วที่สุด จะมีส่วนช่วยลดการแพร่เชื้อ ลดปัญหาทางสังคมได้ทันที ซึ่งปีที่ผ่านมาช่วงวิกฤตหนักหลายแห่งมีการทำจุดพักคอยรองรับกันมาก แต่ในการระบาดรอบปีนี้กลับยังไม่เห็นศูนย์พักคอยชุมชนเปิดบริการอย่างที่ควรจะเป็น
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมูลนิธิเส้นด้ายร่วมกับ กวีวงศ์ อยู่วิจิตร นักธุรกิจจิตอาสา และคนในชุมชนริมทางด่วนบางนา ได้ร่วมกันปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในชุมชนเพื่อเป็นจุดพักคอย รวมถึงจะทำเป็นศูนย์สาธารณสุขชุมชนต้นแบบในระยาว เพราะเชื่อว่าโควิดจะยังอยู่กับสังคมอีกระยะยาว แม้จะเป็นโรคประจำถิ่นแต่ก็ยังต้องมีการจัดการที่พิเศษกว่าโรคทั่วไปอยู่ดี
ศูนย์พักคอยต้นแบบแห่งนี้ นอกจากจะไว้ดูแลเรื่องโควิดแล้ว จะเป็นต้นแบบของศูนย์สาธารณสุขชุมชน โดยตั้งใจจะขยายรูปแบบให้มีทั่วทั้ง 2,000 ชุมชนทั่ว กทม. รวมถึงชุมชนแออัดตามเมืองใหญ่ทั่วประเทศ