×

เลือกตั้ง 2566 : ‘ยุทธพร’ ชี้ รัฐบาลแห่งชาติคือสิ่งที่ไร้เหตุผล-กลไกสู่รัฐสภาบิดเบี้ยว มอง 3 อุปสรรคการเป็นนายกฯ ของพิธา

02.06.2023
  • LOADING...
ยุทธพร อิสรชัย

วานนี้ (1 มิถุนายน) รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้สัมภาษณ์ในรายการ THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ ถึงประเด็นการเสนอแนวคิด ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ ของ จเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และอุปสรรคในการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

 

รศ.ดร.ยุทธพรมองว่า ไม่มีเหตุผลในการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติตามแนวคิด ส.ว. โดยจำแนกออกเป็น 2 ประเด็นใหญ่ ดังนี้

 

  1. ส.ว. ทราบได้อย่างไรว่าจะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ผ่าน เนื่องจากยังไม่ได้มีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมร่วมกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ ส.ว. ตามมาตรา 272 (การให้อำนาจ ส.ว. แต่งตั้ง 250 คน ร่วมโหวตนายกฯ พร้อมกับ ส.ส. เป็นเวลา 5 ปี คือปี 2562-2567) ในรัฐธรรมนูญปี 2560 และพูดถึงคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม ฉะนั้น ส.ว. อาจมีคำตอบ หรือพูดคุยกันแล้วก็เป็นได้

 

  1. รัฐบาลแห่งชาติยังไม่เคยเกิดขึ้นในการเมืองไทย และเป็นสิ่งที่ไม่ควรพูดถึงในบรรยากาศการเมืองแบบนี้ เว้นเสียแต่ว่าจะมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปสู่ทางตันทางการเมือง ซึ่งไม่แน่ใจว่าผู้เสนอต้องการตัวเหตุอะไรกันแน่

 

ดังนั้น การเมืองในระบบรัฐสภาคือการเลือกตัวแทนของประชาชน ซึ่ง ส.ส. ก็จะไปตั้งรัฐบาลขึ้นมา หรือกรณีที่เป็นรัฐบาลผสมก็ต้องแบ่งกันไปตามสัดส่วน ไม่ใช่การเลือกคนหัวกะทิของแต่ละพรรคมาทำงานร่วมกันอย่างที่จเด็จเสนอ ซึ่งกลไกแบบนั้นคือกลไกที่ทำให้รัฐสภาบิดเบี้ยวมาจนถึงทุกวันนี้ 

 

“ถ้าอยู่ในการเมืองภาวะปกติ การจัดตั้งรัฐบาลจบเรียบร้อยแล้ว เพราะว่าได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของ ส.ส. หรือเกิน 250 เสียงก็เป็นรัฐบาลได้แล้ว ฉะนั้นตอนนี้จึงอยู่ในภาวะที่เรียกว่า ‘จะทำอย่างไรให้เสียงข้างมากที่มีอำนาจน้อย กับเสียงข้างน้อยที่มีอำนาจมาก’ สามารถที่จะอยู่กันได้ลงตัว แต่ปัญหาใหญ่คือ เสียงข้างน้อยที่มีอำนาจมากไม่ฟังเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” รศ.ดร.ยุทธพรเผย

 

นอกจากนี้ รศ.ดร.ยุทธพรได้วิเคราะห์ถึงอุปสรรคการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไว้ 3 ประเด็น ได้แก่

 

  1. การถือหุ้นสื่อไอทีวี ซึ่งมี 2 ส่วนที่ต้องพิจารณา คือ  

 

1.1 คุณสมบัติลักษณะต้องห้ามที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญปี 2560 เรื่องการถือครองหุ้นสื่อ มาตรา 98 (3) ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถานะการเป็น ส.ส. และในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ก็เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 160 ซึ่งอ้างอิงคุณสมบัติจากมาตรา 98 (3) เช่นกัน

 

ทั้งนี้ หากตรวจสอบข้อเท็จจริงจะพบว่าไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมา 10 กว่าปีแล้ว ซึ่งมีแนวทางของคำวินิจฉัยที่ตรงกันของศาลรัฐธรรมนูญและศาลฎีกาว่า ‘ถ้าหุ้นตัวนั้น แม้จะไม่ได้มีการจดแจ้งหรือยกเลิกความเป็นนิติบุคคลใดๆ ก็ตาม แต่ไม่มีรายได้จากการประกอบกิจการสื่อ ก็ไม่ถือว่าเป็นหุ้นสื่อ’ 

 

ดังนั้น ถ้าดูในแง่ของกฎหมายคือไอทีวีไม่เข้าข่าย และไม่มีอะไรน่ากังวลกับพิธา อย่างไรก็ตาม ในทางการเมืองไม่สามารถคาดเดาอะไรได้

 

1.2 ผลที่เกิดขึ้นจากการเซ็นรับรองผู้สมัคร ส.ส. ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งถ้าไปดูพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองปี 2560 ไม่มีกำหนดว่าหัวหน้าพรรคห้ามถือหุ้นสื่อ 

 

จึงต้องไปดูข้อบังคับของพรรคและคำร้องว่าเป็นอย่างไร หากผิดข้อบังคับพรรคก็อาจทำให้สถานภาพการเป็นหัวหน้าพรรคไม่มีตั้งแต่ต้น และการเซ็นเป็นโมฆะทั้งหมด 

 

อย่างไรก็ตาม หากเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น ส.ส. ที่ลงเลือกตั้งทั้งหมดสามารถสมัครใหม่ได้ เนื่องจากไม่ได้มีความผิดเรื่องถือครองหุ้นสื่อ แต่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ (เฉพาะเขตที่พรรคก้าวไกลชนะ และเลือกแค่ ส.ส. แบบแบ่งเขต)

 

  1. การเลื่อนโหวตนายกรัฐมนตรีจากมติที่ประชุม ส.ส. กับ ส.ว. เนื่องจากไม่มีกำหนดว่าต้องเลือกให้เสร็จในกี่วัน ฉะนั้น อาจยกประเด็นการถือหุ้นสื่อที่ยังไม่ผ่าน รวมถึงคุณสมบัติที่ยังไม่ชัดเจนมาเป็นข้ออ้างในการเลื่อนโหวตได้

 

  1. รัฐบาลเสียงข้างน้อย แม้จะเป็นไปไม่ได้เพราะคะแนนเสียงต่ำกว่า 250 เสียง แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้น และไม่สามารถประมาทได้เช่นกัน 

 

“รัฐบาลปัจจุบันมี 188 เสียง ผสมกับ ส.ว. 250 เสียง ก็ได้มา 430 กว่าเสียง ก็สามารถเลือกนายกฯ ได้ทันที แต่โหวตเลือกนายกฯ เสร็จแล้วกลับไม่สามารถเดินต่อได้ เพราะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภา แต่ถ้าเกิดเขา (รัฐบาลปัจจุบัน) ไม่ได้อยากเดินต่อ โหวตเพื่อเป็นนายกฯ แล้วยุบสภาต่อหลังจากนั้นอีก 1-2 เดือน แล้วล้างไพ่ใหม่ ก็เกิดขึ้นได้” รศ.ดร.ยุทธพรกล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising