×

ยูซากุ มาเอซาวา: วิธีคิดแบบคนที่จะได้ไปเที่ยวดวงจันทร์กับ SpaceX เป็นคนแรก

08.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา อีลอน มัสก์ ได้ประกาศว่า นักท่องเที่ยวคนแรกที่จะได้ขึ้นจรวดของ SpaceX ไปเที่ยวดวงจันทร์นั้นคือ ‘ยูซากุ มาเอซาวา’
  • มาเอซาวาคนนี้ยังเหมาที่นั่งของ SpaceX อีก 8 ที่ พร้อมเปรยว่า จะพาศิลปิน จิตรกร นักดนตรี ผู้กำกับ และสถาปนิก เดินทางไปเที่ยวพระจันทร์กับเขา และเขากำลังคิดอยู่ว่าจะชวนใครไปดี คำถามคือ แล้วมาเอซาวาคือใคร
  • มาเอซาวามักจะตั้งคำถามว่า ‘ทำไม’ เสมอๆ เขาเคยสงสัยว่าทำไมบริษัทถึงต้องมีคอมพิวเตอร์ ตอนที่เขาเห็นพนักงานเริ่มสื่อสารกันผ่านอีเมลเพียงอย่างเดียว ทั้งๆ ที่นั่งโต๊ะติดกัน นอกจากนี้เขายังสงสัยในสิ่งที่ประธานบริษัททั่วไปไม่ควรจะสงสัย เช่น ทำไมพนักงานต้องทำงานวันละ 8 ชั่วโมง

เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา อีลอน มัสก์ ได้ประกาศว่า นักท่องเที่ยวคนแรกที่จะได้ขึ้นจรวดของ SpaceX ไปเที่ยวดวงจันทร์นั้นคือ ‘ยูซากุ มาเอซาวา’

 

อีลอน มัสก์ไม่ได้บอกราคาทริปชมจันทร์นี้ไว้ แต่สื่อญี่ปุ่นประเมินคร่าวๆ แล้วน่าจะตก 7 แสนล้านเยนเลยทีเดียว

 

แถมไปคนเดียวไม่พอ เพราะมาเอซาวาคนนี้ยังเหมาที่นั่งของ SpaceX อีก 8 ที่ พร้อมเปรยว่า จะพาศิลปิน จิตรกร นักดนตรี ผู้กำกับ และสถาปนิก เดินทางไปเที่ยวพระจันทร์กับเขา และเขากำลังคิดอยู่ว่าจะชวนใครไปดี

 

มาเอซาวาคือใคร

 

อดีตนักดนตรีสู่นักธุรกิจเสื้อผ้าออนไลน์

ยูซากุ มาเอซาวา เคยเป็นนักดนตรี และมีวงดนตรีอินดี้เล็กๆ ของตัวเอง เขาเคยออกผลงานกับค่ายเพลงในญี่ปุ่น ระหว่างนั้นเขาเห็นว่าในญี่ปุ่นยังไม่มีซีดีหรือแผ่นเสียงดนตรีที่เขาชอบจากต่างประเทศ จึงตัดสินใจลองนำเข้าและจำหน่ายซีดีดู

 

เริ่มแรกมาเอซาวาขายซีดีนำเข้าเหล่านี้กับแฟนเพลงของตนก่อน จากนั้นลูกค้าก็เริ่มบอกปากต่อปากมากขึ้น ทำให้ธุรกิจของเขาเริ่มเติบโต

 

เมื่อธุรกิจจำหน่ายซีดีเริ่มไปได้ดีแล้ว มาเอซาวาจึงตัดสินใจเริ่มหาสิ่งใหม่ๆ ทำ

 

ตัวมาเอซาวาเองนั้นชื่นชอบการแต่งตัวและชอบด้านแฟชั่นอยู่แล้ว เขาจึงคัดเลือกแบรนด์เสื้อผ้าที่เขาชอบมาลองขายบนอินเทอร์เน็ตดูในปี 2004 และเว็บนี้ก็กลายมาเป็น ZOZOTOWN ในปัจจุบัน

 

ขณะที่ทั้งงานเพลงและธุรกิจกำลังไปได้ดี ในที่สุดมาเอซาวาตัดสินใจหยุดงานด้านศิลปิน และหันมาสร้างบริษัทของตัวเองด้วยเหตุผลว่า งานเพลงที่เขาทำอยู่นั้น ‘ไม่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์’ อีกต่อไป

 

“ผมเปลี่ยนงานเพราะรู้สึกว่างานบริหารสนุกกว่างานดนตรีแล้ว ตอนเดบิวต์วง ผมรู้สึกว่ามันเป็นงาน Routine มาก เราทำเพลง เพลงละ 3-5 นาที แล้วก็รวม 15 เพลงใส่อัลบั้ม ออกปีละครั้ง ราคา 3,000 เยน หลังจากนั้นก็ไปออกคอนเสิร์ต ขาย CD ขายเสื้อ ปีถัดไปก็ทำแบบเดียวกัน มันเหมือนชีวิตมนุษย์เงินเดือน”

 

เอาเงินจากไหนไปดวงจันทร์

ในช่วงปี 2000 นั้น เว็บขายเสื้อผ้าออนไลน์ปกติจะเน้นสินค้าราคาถูก คุณภาพกลางๆ แต่ ZOZOTOWN กลับมีภาพลักษณ์ของความ ‘เก๋’ ทั้งตัวเว็บและแบรนด์สินค้าที่วางขาย

 

ZOZOTOWN มาจากคำว่า ‘Zozo’ ซึ่งมีทั้งความหมายว่า ‘สร้าง’ และ ‘จินตนาการ’ ZOZOTOWN จึงเปรียบเสมือนเมืองที่ผู้คนมาใช้จินตนาการสรรสร้างรูปแบบของตนเอง เว็บ ZOZOTOWN เริ่มกลายมาเป็นเว็บที่จำหน่ายสินค้าแฟชั่นเก๋ๆ ในหมู่วัยรุ่นญี่ปุ่น

 

ภาพลักษณ์ สี โทนของเว็บไปในทางเดียวกัน ทำให้ดูง่าย สบายตา

 

ลูกค้าผู้หญิงท่านหนึ่งกล่าวว่า “เหตุผลที่เวลามีอะไรก็ไปที่เว็บ ZOZOTOWN เพราะที่นั่นมีทุกอย่างเลย” หรือลูกค้าบางคนก็กล่าวว่า “หากซื้อเว็บอื่น เวลาซื้อสินค้าต่างแบรนด์ก็ต้องใส่สินค้าในตะกร้าทีละครั้ง ต้องจ่ายเงินแยก แต่หากเป็น ZOZOTOWN สามารถจ่ายรวมกันและได้รับเสื้อผ้าต่างแบรนด์ในกล่องเดียว มันสะดวกมาก”

 

ด้วยข้อจำกัดทางเว็บ ทำให้ลูกค้าไม่สามารถลองเสื้อผ้าก่อนได้ ทาง ZOZOTOWN จึงพยายามให้ข้อมูลกับลูกค้าเกี่ยวกับไซส์ให้มากที่สุด เช่น บนเว็บ นอกจากบอกข้อมูลไซส์แล้ว ยังบอกความยาวของลำตัว ความยาวไหล่ ความยาวแขนเสื้อ น้ำหนักเสื้อ (กรัม) ตลอดจนมีข้อมูลเปรียบเทียบกับเสื้อผ้าชิ้นก่อนที่ลูกค้าเคยซื้อ ทำให้ลูกค้ายิ่งเห็นภาพง่ายขึ้นว่าเสื้อที่ตนเองสนใจจะมีขนาดและความยาวประมาณเท่าใด

 

บรรทัดล่างสุดคือขนาดและความยาวของเสื้อผ้าชิ้นล่าสุดที่เคยซื้อ

 

ในมุมมองของลูกค้าแล้ว ยิ่งซื้อของใน ZOZOTOWN ก็จะยิ่งคุ้นเคย และสามารถอ้างอิงข้อมูลที่ซื้อครั้งก่อนๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น

 

บริษัท ZOZO ยังสร้างธุรกิจสนุกๆ เพื่อทำให้คนสนุกกับการซื้อเสื้อผ้าออนไลน์อีก เช่น ZOZOUSED บริการรับซื้อสินค้ามือสองและนำมาจำหน่ายในเว็บต่อ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับลูกค้าที่อยากซื้อเสื้อผ้าใหม่ แต่เกรงว่าเสื้อผ้าจะเต็มตู้แล้ว เพียงธุรกิจ ZOZOUSED อย่างเดียวก็ทำรายได้ไป 180 ร้อยล้านเยนต่อปี

 

หรือ WEAR แอปพลิเคชันที่คล้ายกับอินสตาแกรม ซึ่งยูสเซอร์สามารถถ่ายภาพแฟชั่นสไตล์ตนเองอัพขึ้นเว็บ พร้อมแท็กสินค้านั้นไปยังเว็บ ZOZOTOWN ได้

 

 

ใครมาดูก็ได้ไอเดียว่าจะเอาเสื้อผ้าชิ้นไหนไปมิกซ์แอนด์แมตช์อย่างไรได้บ้าง

 

ในปี 2017 นี้มียอดดาวน์โหลดแอปฯ กว่า 10 ล้านครั้งแล้ว ว่ากันว่ายอดขายที่มาจาก WEAR นั้นสูงถึง 1 พันล้านเยน (ประมาณ 330 ล้านบาท) เลยทีเดียว

 

ZOZO ยังลิงก์ข้อมูลจาก WEAR กลับไปที่เว็บ ZOZO เวลาลูกค้ากดคลิกดูเสื้อผ้า จะไม่เห็นเพียงนางแบบในภาพเพียงอย่างเดียว แต่ยังเห็นวิธีมิกซ์แอนด์แมตช์ของยูสเซอร์คนอื่นในเว็บด้วย

 

สมมติคลิกดูกระโปรงลายสกอตตัวนี้

เมื่อเลื่อนจอลงมาก็จะเห็นภาพที่มาจากผู้ชมทางบ้าน แถมยังแสดงข้อมูลส่วนสูงและไซส์กระโปรงของยูสเซอร์แต่ละคนด้วย

 

ยูสเซอร์ของ ZOZO ส่วนใหญ่จึงดูสไตล์การแต่งตัวจาก WEAR เมื่อเจอชิ้นที่ชอบก็กดซื้อในเว็บ ZOZOTOWN หากไม่แน่ใจไซส์ก็หยิบเสื้อผ้าที่เคยซื้อจากเว็บแล้วมาเทียบ ขณะเดียวกันก็อาจนำเสื้อผ้าที่มีอยู่เต็มตู้ใส่กล่องแล้วส่งไปขายใน ZOZOUSED แล้วเอาเงินไปช้อปต่อใน ZOZO ได้ ส่วนใครอยากอวดสไตล์ตัวเอง ก็ไปโพสต์รูปโชว์ต่อใน WEAR

 

กลายเป็นว่ายิ่งช้อปใน ZOZO ก็จะยิ่งคุ้น ยิ่งสนุก… และยิ่งติด

 

ปีหนึ่งมีคนซื้อของใน ZOZOTOWN กว่า 7.4 ล้านคน และใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 1.5 หมื่นบาทเลยทีเดียว

 

มาเอซาวาสร้างเว็บสนุกๆ แบบนี้ได้อย่างไร

 

คิดแบบคนที่จะไปเที่ยวดวงจันทร์

“ผมไม่ได้อยากทำกำไรนะ ผมอยากทำให้แบรนด์แฟชั่นที่ผมรักคึกคักไปด้วยกันมากกว่า” มาเอซาวากล่าว

 

แต่หากดูผลประกอบการในปี 2017 บริษัท ZOZO มีอัตรากำไรอยู่ที่ร้อยละ 36 ในขณะที่ Uniqlo ยักษ์ใหญ่ด้านแฟชั่นนั้นมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานเพียงร้อยละ 9

 

สมัยเรียนมัธยมนั้น มาเอซาวาต้องนั่งรถไฟไปโรงเรียนทุกวัน เขาเห็นมนุษย์เงินเดือนหน้าตาเหนื่อยล้าเบียดกันยืนบนรถไฟทุกเช้า เขาจึงบอกกับตัวเองตั้งแต่สมัยนั้นว่า “เราจะไม่เป็นแบบนี้เด็ดขาด”

 

สิ่งที่มาเอซาวาตั้งใจสร้างคือ การใช้ชีวิตสนุกสนานและได้ทำงานที่ตนเองรัก เพราะฉะนั้นเขาเองไม่เคยคิดว่าจะทำอย่างไรให้ยอดขายเสื้อผ้าออนไลน์พุ่งสูงขึ้น หรือทำให้กำไรมากขึ้นกว่าเดิม เขาเพียงแต่ถามตัวเองกับลูกน้องบ่อยๆ ว่า “ทำอย่างไรให้คนสนุกสนานกับแฟชั่นได้ยิ่งขึ้น

 

“คนส่วนใหญ่สมัครงานบริษัทเพื่อทำงานเก็บเงิน แล้วก็คิดว่าตัวเองกำลังทำงานอยู่ ผมคิดว่านั่นเป็นวิธีคิดที่ผิดครับ

 

“การทำงานน่าจะเป็นกิจกรรมยามว่างชนิดหนึ่งมากกว่า จริงๆ แล้ว เราควรสมัครเข้าทำงานที่บริษัทหนึ่ง เพราะอยากทำในสิ่งที่เรารักไม่ใช่เหรอครับ ลูกค้าเองก็อยากซื้อของจากพนักงานที่ดูสนุกสนานกับงานมากกว่าใช่ไหมละครับ”

 

พนักงานเกือบพันคนของ ZOZO ที่มาเอซาวารับเข้ามานั้นจึงล้วนแล้วแต่เป็นคนที่หลงใหลในแฟชั่นทั้งนั้น พวกเขาดีใจที่เห็นเสื้อผ้าที่ตัวเองโปรดปรานขายออกหรือขายได้ดีขึ้น

 

สงสัยในเรื่องที่คนทั่วไปไม่สงสัย

มาเอซาวามักจะตั้งคำถามว่า ‘ทำไม’ เสมอๆ

 

เขาเคยสงสัยว่าทำไมบริษัทถึงต้องมีคอมพิวเตอร์ ตอนที่เขาเห็นพนักงานเริ่มสื่อสารกันผ่านอีเมลเพียงอย่างเดียว ทั้งๆ ที่นั่งโต๊ะติดกัน

 

มาเอซาวาเคยยกเลิกการทำ PowerPoint และเอกสารประกอบการประชุม เพราะเขาเห็นว่าทุกคนมัวแต่วุ่นวายกับการทำสไลด์ให้สวย ทำเอกสารให้ดูดี มาเอซาวาจะให้ลูกน้องทุกคนอธิบายงานให้เขาฟังด้วยปากเปล่า นั่นกลับทำให้ลูกน้องต้องระวังวิธีการสื่อสารมากขึ้น และกลับลดระยะเวลาการประชุมจาก 1 ชั่วโมง เหลือเพียง 30-45 นาทีเท่านั้น

 

ตอนฝ่าย HR เสนอการอบรมพนักงานใหม่เรื่องมารยาทพื้นฐาน หรือการทำ PDCA (Plan > Do > Check > Act) ซึ่งเป็นหัวข้อหลักที่บริษัทญี่ปุ่นทุกบริษัทต้องอบรมพนักงานตนเอง มาเอซาวาก็ถามฝ่าย HR ว่า “การอบรมแบบนี้มันมีประโยชน์จริงเหรอ ถ้าเป็นพวกเรา เราอยากจะมานั่งเรียนแบบนี้ไหม”

 

…แน่นอนว่าหัวข้ออบรมดังกล่าวก็ถูกยกเลิกไป

 

องค์กรที่ไม่ตำหนิพนักงานที่มาสาย

มาเอซาวายังสงสัยในสิ่งที่ประธานบริษัททั่วไปไม่ควรจะสงสัย เช่น

 

ทำไมพนักงานต้องทำงานวันละ 8 ชั่วโมง

 

ตัวเขาเองจะมีสมาธิสูงสุดเพียง 6 ชั่วโมงเท่านั้น เขาจึงให้พนักงานทุกคนลองทำงานเพียงแค่ 6 ชั่วโมง (โดยได้รับเงินเดือนเท่าเดิม)

 

นอกจากนี้มาเอซาวายังเปลี่ยนวิธีการประเมินพนักงานด้วย

 

ในอดีตบริษัทประเมินพนักงานจากผลงานที่พนักงานแต่ละคนทำ รายได้ของแต่ละคนจึงลดหลั่นแตกต่างกันไป

 

แต่มาเอซาวาเห็นว่า การประเมินเช่นนี้ทำให้เกิดความแตกร้าว พนักงานเริ่มไม่สนใจคนอื่น มุ่งแต่ทำผลงานให้ตัวเองดูดีที่สุด เวลานำเสนองานก็พยายามคิดว่า จะทำอะไรที่แตกต่างจากพนักงานคนอื่นๆ หรือไม่ก็เสนอไอเดียอะไรที่ทำให้เจ้านายตนเองถูกใจมากที่สุด

 

มาเอซาวาจึงพยายามสร้างวัฒนธรรมของการทำงานเป็นทีม และช่วยเหลือกันให้ได้มากที่สุด

 

เวลาแจกโบนัส พนักงานในทีมเดียวกันจะได้รับแบ่งโบนัสเท่ากัน โดยไม่เกี่ยวกับอายุงานหรือผลงานที่พนักงานแต่ละคนสร้าง เพราะโบนัสคือผลตอบรับจากความพยายามของทุกคน เพราะทุกคนช่วยเหลือกัน บริษัทจึงเติบโตได้

 

หากมีคนอู้งานหรือโดดงาน จะถือว่าเป็นความรับผิดชอบของทีม และไม่กล่าวโทษคนที่ไม่มาทำงาน

 

เพื่อให้พนักงานได้ทำงานอย่างมีความสุขนั้น บริษัทได้เริ่มกิจกรรมต่างๆ เช่น ให้พนักงานเลือกทำงานจากที่ใดก็ได้ เพียงแค่ขออนุญาตเจ้านาย การจัดกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์กับพนักงานคนอื่นๆ การตั้งชมรมหลากหลายในบริษัท การเซอร์ไพรส์วันเกิดเพื่อนพนักงานเนืองๆ

 

ไอเดียหนึ่งที่น่ารักมากคือ การติดตั้งกล่องรับฟังความฝัน พนักงานสามารถเขียนว่าตนเองมีความฝันอะไร และอยากให้พนักงานคนอื่นช่วยอย่างไร แล้วมาหย่อนใส่กล่อง เคยมีผู้เขียนขอเรื่องความรัก ทางฝ่ายบุคคลก็จัดปาร์ตี้นัดเดตกับพนักงานสาวคนอื่นๆ ในบริษัทให้

 

การทำงานของชาว ZOZO จึงไม่ใช่การแข่งกันสร้างผลงานหรือแย่งชิงลูกค้า แต่พนักงานทุกคนทำงานด้วยความสุขและร่วมมือร่วมใจกัน

 

“จริงๆ แล้วบริษัทควรเติบโตมาจากการทำอะไรบางอย่างที่ทำให้คนมีความสุข สร้างประโยชน์ให้กับคนอื่น แล้วค่อยๆ กลายมาเป็นองค์กร การจะมานั่งแข่งขันกับเพื่อนคนอื่น หรือการมัวแต่คิดว่าทำอย่างไรจะไม่ให้เจ้านายโมโหนั้นเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ และทำให้งานน่าเบื่อด้วย หากพนักงานมัวแต่คิดอย่างนี้ พนักงานเหล่านั้นก็คงไม่สามารถสร้างผลประกอบการที่ดีใช่ไหมครับ” มาเอซาวาเคยให้สัมภาษณ์

 

สร้างองค์กรแบบผู้ชายที่ฝันจะไปดวงจันทร์

มาเอซาวาไม่เสียเวลาไปกับการคิดว่าจะเอาชนะคู่แข่งได้อย่างไร หรือจะทำกำไรให้มากขึ้นกว่าเดิมอย่างไร

 

เขาเริ่มจากการมีความฝันดีๆ ที่จะทำให้คนสนุกไปกับเขา

 

เขารวมคนที่มีความฝันเดียวกันมาอยู่ด้วยกัน และให้อิสระลูกทีมทุกคนทำงานได้อย่างเต็มที่ ชาว ZOZO จึงมีความสุขในการทำงานกับเพื่อนพนักงานที่รักแฟชั่นเหมือนกัน และไม่ต้องแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน

 

เว็บของ ZOZO จึงกลายเป็นเว็บที่ลูกค้าเองสัมผัสแพสชันและความสนุกของผู้สร้างได้ และมีฟีเจอร์ที่แตกต่างจากเว็บแฟชั่นออนไลน์

 

ส่วนรายได้และกำไรก็เป็นผลลัพธ์ที่ตามมา

 

“แทนที่จะเหยียบคนอื่นขึ้นมาชนะ สิ่งสำคัญน่าจะเป็นการสร้างประโยชน์ให้กับคนอื่น และทำให้ทุกคนมีความสุขหรือเปล่า” มาเอซาวากล่าวทิ้งท้าย

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising