บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 2 หมื่นล้านแข่งเดือด หลังบะหมี่อิมพอร์ตจากเกาหลี-จีนมาแรง เบียดแย่งลูกค้าวัยรุ่น ‘ยำยำ’ เปิดเกมรุกตลาดพรีเมียม ออกรสชาติใหม่ ปรับโฉมแพ็กเกจจิ้ง พร้อมทุ่มงบ 70 ล้านบาท ดึง ‘โบกี้ไลอ้อน’ เป็นพรีเซนเตอร์คนใหม่ เจาะกลุ่ม Gen Z ด้านยำยำช้างน้อย ปรับขึ้นราคาในรอบ 20 ปี ยังได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มเด็ก ตั้งเป้ารายได้ปี 2566 เติบโตมากกว่า 14%
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอิมพอร์ตจากเกาหลีและจีนเข้ามาตีตลาดไทยและได้รับความนิยมจากกลุ่มวัยรุ่น จนสามารถเบียดแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศได้มากขึ้น แม้ราคาจะแพงกว่าหลายเท่าตัวก็ตาม แน่นอนว่าทำให้เกิดการแข่งขันอย่างรุนแรง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘พาณิชย์’ ไฟเขียว ‘มาม่า-ไวไว-ยำยำ’ ขยับราคาขายปลีกเป็น 7 บาท มีผล 25 ส.ค. นี้
- กรมการค้าภายใน สำรวจราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตามห้าง ย้ำขณะนี้มีเพียง ‘มาม่า ไวไว ยำยำ’ ที่ได้ปรับราคา
- ขึ้นราคาสินค้าอีกรอบ! ‘P&G’ ยักษ์ผู้ผลิตสินค้าคอนซูเมอร์ ปรับราคารับต้นทุน-ดอลลาร์แข็ง แม้อาจกระทบการใช้จ่ายผู้บริโภค
จนทำให้ ‘ยำยำ’ ต้องรีบประกาศรุกตลาดครั้งใหญ่ โดยปัจจุบันยำยำมีส่วนแบ่งตลาด 21.4% ในเชิงปริมาณ และเพิ่งขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบเส้นเหลือง ปี 2565 จากการผลักดันของกลุ่มสินค้าพรีเมียมและช้างน้อย เรียกว่ามาร์เก็ตแชร์ใกล้เคียงกับแบรนด์คู่แข่งอย่างไวไวกันเลยทีเดียว
ยูจิ มิซุตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท วันไทยอุตสาหกรรมการอาหาร จำกัด ฉายภาพว่า ภาพรวมตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปี 2565 มีมูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เติบโตมากกว่า 14% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเส้นเหลือง คิดเป็นสัดส่วน 94% ของตลาดทั้งหมดและยังเติบโตในเชิงมูลค่าได้ต่อเนื่อง จากผลของการปรับราคาของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบซองจากเดิมปกติ 6 บาทเป็น 7 บาท ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา
เช่นเดียวกับกลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพรีเมียม ปัจจุบันสินค้ายำยำพรีเมียมเติบโต 24% และมีส่วนแบ่งตลาด 21.4% ในเชิงปริมาณ ถ้าสังเกตจะเห็นว่าทุกๆ แบรนด์เริ่มหันมาจับกลุ่มพรีเมียมด้วยการเปิดตัวรสชาติใหม่ทั้งแบบซองและแบบถ้วยอย่างหลากหลาย
ประกอบกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะบะหมี่เกาหลีเข้ามาทำตลาดมากขึ้น ทำให้ตลาดพรีเมียมมีการแข่งขันสูงมาก แต่อีกด้านก็ยังมีโอกาส เพราะเทรนด์การบริโภคของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปตามยุค New Normal และเริ่มมองหาสินค้าที่ตอบโจทย์ความสะดวก คุ้มค่าในราคาที่เข้าถึงง่าย
ด้าน ชินานันท์ บุญศิริยะ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดกลุ่มธุรกิจในและต่างประเทศ กล่าวต่อว่า จากโอกาสดังกล่าวยำยำจึงเปิดตัวยำยำ สูตรเด็ด โฉมใหม่ ที่มาพร้อมกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์และปรับรสชาติใหม่ ได้แก่ กลิ่นเห็ดทรัฟเฟิลซอสครีมปูแบบแห้ง จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 3-4 รสชาติ จำหน่ายในราคา 11 บาท
ทุ่ม 70 ล้านบาท เสริมแกร่งแบรนด์
พร้อมทุ่มงบการตลาด 70 ล้านบาท จัดแคมเปญ ‘Beyond Irresistible’ สื่อสารแบรนด์ผ่านนักร้องที่กำลังฮิตอย่าง โบกี้ไลอ้อน (Bowkylion) ซึ่งรับหน้าที่เป็นพรีเซนเตอร์คนใหม่ และเน้นทำการตลาดผ่านช่องทางดิจิทัลและสื่อนอกบ้าน พร้อมกับการจัดกิจกรรมให้ทดลองชิมและส่งเสริมการขายทั่วประเทศ โดยเชื่อมั่นว่าคาแรกเตอร์ของพรีเซนเตอร์จะช่วยให้ขยายฐานลูกค้า Gen Z ได้มากขึ้น และสามารถสร้างการเติบโตได้มากกว่า 24%
เช่นเดียวกับ ‘ยำยำช้างน้อย’ ที่อยู่ในตลาดมากว่า 60 ปี มีเป้าหมายหลักคือ เด็กอายุ 6-12 ปี ส่วนใหญ่เด็กเลือกกินแบบไม่ใส่น้ำร้อน เราจึงพยายามปรับไลน์สินค้าให้ไปอยู่ในกลุ่มขนม ปัจจุบันมีทั้งหมด 5 รสชาติ และรสชาติที่ขายดีคือ รสข้าวโพด และบาร์บีคิว ส่วนรสชาติออริจินัลหรือรสดั้งเดิม เตรียมนำกลับมาทำเป็นสินค้าลิมิเต็ดเอดิชันจำหน่ายในบางช่วงเท่านั้น
สำหรับภาพรวมของบริษัท ปัจจุบันโครงสร้างรายได้ของยำยำยังเป็นกลุ่มสินค้าหลัก ยำยำจัมโบ้ 70% และอีก 30% ที่เหลือเป็นของยำยำช้างน้อยและพรีเมียม สูตรเด็ด โดยผลิตภัณฑ์ที่ขายดีสุด ได้แก่ ยำยำ จัมโบ้ รสหมูสับ, รสต้มยำกุ้ง และ รสต้มยำกุ้งน้ำข้น ส่วนในกลุ่มพรีเมียมคือ ยำยำ สูตรเด็ด สไปซี ล็อบสเตอร์
“ต้องยอมรับว่าในช่วงก่อนหน้าที่กรมการค้าภายในจะอนุญาตให้ปรับขึ้นราคาสินค้า เราแบกรับต้นทุนวัตถุดิบอย่างหนัก จนทำให้ไตรมาส 1-2 ปี 2565 บริษัทมีผลขาดทุน แต่หลังจากภาครัฐอนุญาตให้ปรับขึ้นราคา ทำให้ผลประกอบการพลิกฟื้นกลับมาในไตรมาส 3-4”
ขึ้นราคา ‘ช้างน้อย’ ครั้งแรกรอบ 20 ปี
ส่วนสินค้าที่ปรับขึ้นอย่าง ‘ยำยำช้างน้อย’ ก่อนหน้านี้ได้ปรับราคาขึ้นซองละ 30 สตางค์ จากเดิมขายราคาซองละ 3 บาท ขยับเป็นซองละ 3.30 บาท หลังไม่ได้ปรับราคามากกว่า 20 ปี เพื่อรองรับต้นทุนวัตถุดิบแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม และพลังงานที่เพิ่มขึ้น
ในช่วงแรกยอมรับว่าค่อนข้างกังวลว่าหน้าร้านจะขายลำบาก แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นร้านยี่ปั๊ว ซาปั๊ว จำหน่ายในราคา 4 บาท และแน่นอนว่าหลังจากปรับขึ้นราคา ส่งผลกระทบต่อยอดขายร้านค้าทันที แต่หลังจากนั้น 2-3 เดือน สถานการณ์เริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติ
เรียกได้ว่าการทำธุรกิจหลังยุคโควิดไม่ใช่เรื่องง่าย และสิ่งที่ต้องจับตาดูอย่างต่อเนื่องคงเป็นสัญญาณของต้นทุนที่มีความไม่แน่นอน สงครามจะจบเมื่อไร ยังไม่มีใครรู้ ซึ่งอาจมีผลต่อต้นทุนหลัก เราจึงพยายามบาลานซ์วัตถุดิบทั้งพอร์ตโฟลิโอให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จ่อเพิ่มไลน์ผลิตรุกส่งออก
นอกจากนี้ ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า บริษัทยังเตรียมลงทุนซื้อไลน์ผลิตใหม่ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต จากปัจจุบันมีกำลังการผลิต 2 ล้านลังต่อปี ทั้งนี้ก็จะสามารถเพิ่มสัดส่วนการส่งออกในตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น โดยเฉพาะยุโรปที่เป็นตลาดส่งออกหลัก ตามด้วยจีนที่เตรียมบุกหนักในปีนี้ โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้ส่งออกอยู่ที่ 30% ส่วนตลาดในประเทศอยู่ที่ 70%
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายรายได้ในปี 2566 ยำยำคาดว่าจะมีการเติบโตมากกว่า14% เมื่อเทียบกับปีก่อน 2565 จากกลยุทธ์การขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์กลุ่มพรีเมียมซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดโดยรวม