การเปลี่ยนแปลงชื่อของ Facebook ไปสู่ชื่อ Meta ไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนแปลงชื่อใหม่ แต่จะทำให้เกิดการดิสรัปต์และการปรับโฉมเปลี่ยนแปลงโลกใหม่ตามไปด้วย เนื่องด้วยเป้าหมายใหม่ของ Facebook คือการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อมุ่งสู่ การสร้างสรรค์โลกเสมือนจริง เพื่อให้ผู้คนสามารถสัมผัสประสบการณ์บนโลกออนไลน์ได้ในหลายมิติ หรือที่เรียกว่า Metaverse
โครงสร้างของ Metaverse ประกอบด้วย 3 กลุ่มธุรกิจคือ 1. Upstream 2. Midstream และ 3. Downstream ซึ่งจะมุ่งไปที่โครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมโยง และผู้ใช้งานตามลำดับ
แน่นอนว่าแนวคิดในการสร้างโลกเสมือนจริงของ Meta ผ่าน Metaverseในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ให้เพิ่มพูนขึ้นในอนาคต หลังจากที่ Facebook ประสบความสำเร็จจากการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อใช้เป็นแหล่งพบปะพูดคุยของหลากหลายชุมชนบนโลกออนไลน์ จนสามารถสร้างรายได้จากการขายโฆษณาผ่านช่องทางนี้ได้อย่างมหาศาล
และแน่นอนอีกว่าการขยับปรับตัวรอบใหม่ของ Facebook หรือ Meta ครั้งนี้ได้สร้างแรงผลักดันระดับโลก และเป็นกระแสดิสรัปต์ระลอกใหญ่ในการพัฒนาเทคโนโลยีของผู้ประกอบการทั่วโลก รวมทั้งผู้ประกอบการไทย เพื่อมุ่งสู่ Metaverse ด้วยเช่นกัน
ภาดล วรรณรัตน์ Head of Research บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า การมาของ Metaverse จะเป็นอีกปัจจัยที่จะหนุนให้ Digital Assets มีความสำคัญมากขึ้นในระยะกลาง-ยาว โดยเฉพาะ Cryptocurrency, NFTs และระบบ Smart Contract ที่เป็นส่วนสำคัญของ Metaverse
สำหรับประเทศไทยแล้วมองว่า Metaverse จะเป็นปัจจัยบวกให้กับหุ้น 5 กลุ่มคือ 1. กลุ่มสื่อสาร (ICT) 2. กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics) 3. กลุ่มการแพทย์ (Healthcare) 4. กลุ่มธนาคาร (Bank) และ 5. กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล จากความสามารถในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาต่อยอดกับธุรกิจในปัจจุบัน แต่จะส่งผลลบต่อกลุ่มพลังงานจากการเดินทางที่น้อยลง
ทั้งนี้ ทีมวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า เมื่อ Metaverse ก้าวเข้ามามีบทบาท ทุกอุตสาหกรรมต้องปรับตัว ขณะที่หลายอุตสาหกรรมมีโอกาสได้ประโยชน์จากการเข้าสู่เทคโนโลยี Metaverse
โดยกลุ่ม ICT ได้ประโยชน์ เนื่องจาก Metaverse ต้องเชื่อมต่อกันด้วย อินเทอร์เน็ต (Internet) ที่ดีและมีประสิทธิภาพ ดังนั้นกลุ่มผู้ให้บริการ Fixed Broadband และผู้ให้บริการโครงข่ายมือถือ (Mobile Operator) จะได้รับประโยชน์โดยตรง
นอกจากนี้กลุ่มผู้ให้บริการโครงข่ายมือถือ อาจสร้างรายได้จากห้างเสมือนจริง เช่น กรณี V-Avenue.Co powered by AIS 5G เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะเห็นการใช้อุปกรณ์แก็ดเจ็ตจำพวก VR, AR เพิ่มขึ้น เป็นประโยชน์ต่อร้านค้าผู้จำหน่ายสินค้าไอที และที่สำคัญ Metaverse จะทำให้เกิดการลงทุนด้านโครงข่ายไอที หรือ IT Infrastructure ส่งผลดีต่อผู้ให้บริการ SI และทำให้เกิดการลงทุนด้าน Cryptocurrency และ Data Privacy เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
ขณะที่กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ประเมินว่า ผู้ผลิต PCB และ CHIP จะได้ประโยชน์เพราะการทำ Metaverse หลายอุตสาหกรรมต้องลงทุนเพิ่มเติมในหลายด้านเพื่อรองรับการใช้งานใหม่ๆ
ส่วนกลุ่มการแพทย์ มีโอกาสนำเทคโนโลยี VR มาเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการรักษาต่อยอดจากปัจจุบัน ที่มีการรักษาแบบระยะไกลผ่าน VDO Conference และกลุ่มธนาคาร ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มแรกๆ ที่จะเริ่มปรับตัวเข้าสู่ระบบการให้บริการทางการเงินบน Metaverse ทั้งการปรับรูปแบบสาขา ให้เป็น Virtual Branch หรือการให้บริการเสมือนจริงโดยลูกค้า ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่สาขาของธนาคารมากขึ้น รวมถึงการต่อยอดฟังก์ชันการใช้งานของดิจิทัล แพลตฟอร์ม หรือฟินเทคต่างๆ ที่ลงทุนทำระบบอยู่แล้วให้ทำงานได้บนโลกเสมือนจริงมากขึ้น
นอกจากนี้สินทรัพย์ดิจิทัลที่จะถูกนำไปใช้งานในโลกเสมือนจริงดังกล่าว ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ 1. Cryptocurrency 2. Utility Token 3. Security Token พบว่าการซื้อขายเพื่อเก็งกำไรส่วนใหญ่จะเป็น Cryptocurrency และ Security Token รวมทั้งยังมีการนำ Token ไปอิงกับสินทรัพย์ลงทุน หรือสกุลเงินสำคัญเพื่อออกเป็น Stable Coin สำหรับใช้พักเงินหรือสร้างผลตอบแทนในระบบของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย
ซึ่งรวมถึงการนำระบบ Sandbox และ Roblox มาใช้ซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนในโลกเสมือนจริงหรือเกมได้ด้วย
แม้เทรนด์ของ Metaverse อาจจะเพิ่งเริ่มต้นขึ้น แต่เป็นประเด็นที่ต้องติดตาม เพราะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันดั้งเดิม และเป็นโอกาสทางธุรกิจหากผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้ทัน ท่ามกลางความเสี่ยงที่พฤติกรรมของผู้คนจะเปลี่ยนแปลงไป การสื่อสารแบบไร้พรมแดนจะดิสรัปต์ธุรกิจเดิมๆ ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ เพราะจะถูกแย่งส่วนแบ่งตลาด ซึ่งจะส่งผลกระทบในระยะกลางจากนี้
ซึ่งเบื้องต้นทีมวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ได้เลือกหุ้นเด่นในธีม Metaverse ประกอบด้วย บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC), บมจ.ซินเน็ค (ประเทศไทย) (SYNEX), บมจ.เอ็ม เอฟ อี ซี (MFEC), บมจ.เอ็นฟอร์ซ ซีเคียว (SECURE), บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE), บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) และธนาคารกสิกรไทย (KBANK)
ส่วนหุ้นที่ได้รับผลกระทบ แบ่งเป็น 1. กลุ่มผลกระทบจำกัด หรือยังไม่ชัดเจน คือ กลุ่มไฟแนนซ์, มีเดีย, ท่องเที่ยว, ค้าปลีก, อาหารและเครื่องดื่ม, ยานยนต์, นิคมอุตสาหกรรม และธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าและสาธารณูปโภค โดยคาดว่าจะได้รับผลบวกในระยะสั้น แต่ในระยะกลาง-ยาวจะได้รับผลเชิงลบที่มากกว่า
- กลุ่มที่เสียประโยชน์ คือกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี เนื่องจากผู้คนจะใช้เวลากับโลกเสมือนจริง ทำให้กิจกรรมการเดินทางในชีวิตประจำวันจะลดลง และกลุ่มพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ และรีท เพราะความจำเป็นในการมีหน้าร้าน หรือสถานที่ในการจัดอบรมสัมมนามีน้อยลง จากการที่ผู้คนหันไปใช้ชีวิตในโลกเสมือนจริงมากขึ้น
มุมมองดังกล่าวสอดคล้องกับ เบญจพล สุทธิ์วนิช หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ บล.เอเชีย เวลท์ ที่ระบุว่า Metaverse เป็นเทรนด์ของโลกที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่สำหรับประเทศไทยอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งบริษัทจดทะเบียนในทุกกลุ่มจะถูกแรงกดดันให้ต้องปรับตัว แต่คาดว่าคือ กลุ่มการแพทย์และกลุ่มสื่อสาร รวมถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประเภทอีสปอร์ต จะเกิดการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วกว่ากลุ่มอื่นๆ
โดยในกลุ่มสื่อสารประเมินว่า บริษัทที่มีความพร้องรองรับแรงกดดันและการเปลี่ยนแปลงของโลกคือ กลุ่มบริษัทที่มีโครงข่าย 5G จึงจะสามารถรองรับ Metaverse ได้ และยังต้องมีฐานทุนแข็งแกร่ง เพราะในอนาคตจะต้องพัฒนาศักยภาพโดยการลงทุนด้วยเม็ดเงินอีกจำนวนมาก มองว่ามีเพียง ADVANC และ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE)
ขณะที่กลุ่มการแพทย์ คาดว่ากลุ่มโรงพยาบาลขนาดใหญ่จะได้เปรียบจากฐานทุนที่ใหญ่ และการให้บริการลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ทำให้สามารถต่อยอดธุรกิจไปยังการเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพในโลกเสมือนจริงได้ คาดว่าบริษัทที่มีศักยภาพคือกลุ่ม BDMS, กลุ่ม บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) และกลุ่มโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) จะได้ประโยชน์
ด้าน ฐาปน พาณิชย์ นักวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย Metaverse ยังต้องใช้เวลา โดยกลุ่มสื่อสารประเภทผู้ให้บริการโครงข่ายมือถือจะเป็นภาคอุตสาหกรรมกลุ่มแรกที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากถือเป็นท่อในการนำส่งสำคัญ เช่น อินเทอร์เน็ต ที่จะสามารถสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจะได้เห็นการจับมือของธุรกิจมือถือเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ๆ มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็จะเกิดการลงทุนมูลค่ามหาศาลเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันประเมินว่ามีเพียง ADVANC และ TRUE ที่จะมีศักยภาพในการพัฒนาไปสู่ Metaverse ได้
“เรื่องนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เร็ว ผมมองว่าอย่างน้อยๆ น่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี กว่าประเทศไทยจะไปจนถึงจุดนั้น ผมยังมองภาพไม่ชัดว่าจะได้ประโยชน์และเสียประโยชน์อย่างไรบ้าง แต่ที่ชัดที่สุดคือกลุ่ม ICT ที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องแน่นอน ถามว่าศักยภาพของใครที่จะทำได้ ก็ต้องเป็นคนที่มี 5G อยู่ในมือจำนวนมาก ตอนนี้ก็มีแค่ ADVANC และ TRUE”