×

รู้จัก ‘หยวนดิจิทัล’ จุดเปลี่ยนเงินกระดาษสู่เงินดิจิทัล และความท้าทายของจีนในการชิงบัลลังก์สกุลเงินหลักของโลกแทนดอลลาร์สหรัฐ

08.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • จีนคลอด ‘หยวนดิจิทัล’ สู่ขั้นทดลองใช้ใน 4 เมืองใหญ่ ซึ่งเป็นเงินดิจิทัลแห่งชาติที่จีนหมายมั่นจะนำมาแทนที่เงินสดทั้งหมดในประเทศ 
  • นักวิเคราะห์มองว่าหยวนดิจิทัลอาจสั่นคลอนสถานะของดอลลาร์สหรัฐที่ครองความเป็นเจ้าสกุลเงินของโลกมานานหลายทศวรรษ
  • การทำธุรกรรมด้วยเงินดิจิทัลจะเป็นโอกาสดีของจีนในการเพิ่มบทบาทและทำให้ทั่วโลกหันมาใช้เงินหยวนกันแพร่หลายมากขึ้นในเวทีการค้าระหว่างประเทศ โดยช่วยเปิดทางให้ธุรกิจต่างชาติสามารถทำข้อตกลงการค้าโดยที่ไม่ต้องใช้เงินดอลลาร์ ซึ่งลดความเสี่ยงเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนและมีต้นทุนต่ำกว่า
  • การเปลี่ยนรูปแบบจากเงินกระดาษมาเป็นดิจิทัลเป็นมากกว่าสัญญาณว่าถึงเวลาของยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัวแล้ว โดยจีนกำลังสร้างทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการควบคุมการทูตเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 ด้วยการกำหนดมาตรฐานสำหรับระบบเงินตราดิจิทัล

ในขณะที่หลายประเทศกำลังสาละวนกับการแก้วิกฤตโควิด-19 ในประเทศ ณ มุมหนึ่งของโลก จีนได้ผลักดันนวัตกรรมทางการเงินอย่าง ‘หยวนดิจิทัล’ ออกมาอย่างเงียบๆ ตามแผนที่ประกาศไว้ โดยได้เริ่มทดลองใช้ใน 4 เมืองใหญ่ ซึ่งนับเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจชาติแรกของโลกที่พัฒนาเงินดิจิทัลแห่งชาติออกมาอย่างเป็นรูปธรรมสู่เป้าหมายการใช้แทนเงินสดทั้งหมดในอนาคต และเป็นก้าวย่างที่สำคัญสู่การช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาดและท้าทายอำนาจครอบงำของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ 

 

หลายคนยังสงสัยว่า ‘หยวนดิจิทัล’ (Digital Yuan) คืออะไร ทำงานอย่างไร คล้ายคริปโตเคอร์เรนซีหรือสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ ที่เราเคยได้ยินกันจนคุ้นหูหรือไม่ และจีนจริงจังแค่ไหนกับการพัฒนาเงินดิจิทัลแห่งชาตินี้ หาคำตอบได้จากบทความนี้

 

หยวนดิจิทัลคืออะไร

แตกต่างจากคริปโตเคอร์เรนซีอื่นๆ อย่างบิตคอยน์ที่คนควบคุมกติกาไม่ใช่รัฐบาล แต่หยวนดิจิทัลซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือ Digital Currency Electronic Payment (DCEP) จะออกโดยธนาคารกลางจีน (PBOC) ดังนั้นจึงมีความน่าเชื่อถือของประเทศและมีกฎหมายรองรับ โดยรัฐบาลสามารถออกเงินหรือเรียกเก็บคืนเมื่อใดก็ได้ ไม่เหมือนกับคริปโตเคอร์เรนซีอื่นๆ ที่ความน่าเชื่อถือขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของการได้เหรียญมา

 

อธิบายง่ายๆ ก็คือ CBDC เป็นเงินหยวนที่เปลี่ยนจากเงินกระดาษมาเป็นดิจิทัลบนเทคโนโลยีบล็อกเชนที่พัฒนาขึ้น ไม่ใช่เงินสกุลใหม่ตามที่หลายคนเข้าใจ เงินดิจิทัลนี้มีมูลค่าเท่ากับเงินหยวนกระดาษแบบ 1 ต่อ 1 ซึ่งจีนหมายมั่นที่จะนำมาใช้แทนเงินหยวนกระดาษรูปแบบเดิม 

 

ในปี 2014 จีนมองเงินตราดิจิทัลว่าเป็นทางเลือกใหม่ที่จะหลีกหนีจากดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับแต่นั้นมาจีนได้พัฒนาเทคโนโลยีเงินดิจิทัลและบล็อกเชนอย่างจริงจังในฐานะเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ชาติที่สำคัญ และได้ประกาศอย่างเป็นทางการในปีที่แล้วว่าจะเปิดตัวเงินดิจิทัลของตัวเองเพื่อปกป้องอำนาจอธิปไตยในการปริวรรตเงินตราระหว่างประเทศ 

 

จากนั้นในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ธนาคารกลางของจีนได้ประกาศทดลองใช้หยวนดิจิทัลใน 4 เมือง ได้แก่ เซินเจิ้น (มณฑลกวางตุ้ง), ซูโจว (มณฑลเจียงซู), เฉิงตู (มณฑลเสฉวน) และเขตพัฒนาพิเศษสงอัน ทางใต้ของกรุงปักกิ่ง โดยมีภาคธุรกิจที่ให้การรองรับรวม 19 แห่ง ซึ่งรวมถึงเชนร้านอาหารชื่อดังจากสหรัฐฯ อย่าง Starbucks, Subway และ McDonald’s 

 

ท้ายที่สุดหยวนดิจิทัลจะถูกหมุนเวียนใช้ในระบบเศรษฐกิจจนแทนที่เงินสดทั้งหมดในจีน โดยคาดว่าจะรองรับกับแพลตฟอร์มชำระเงินยอดนิยมอย่าง Alipay ของ Alibaba และ WeChat Pay ของ Tencent รวมถึงระบบธนาคารที่มีอยู่ ซึ่งสำหรับจีนที่ประชากรเกิน 500 ล้านคนใช้ระบบชำระเงินผ่านมือถือกันอยู่แล้ว จะทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่เงินตราดิจิทัลแห่งชาติสามารถทำได้อย่างราบรื่นไร้รอยต่อ

 

ชาตรี โรจนอาภา รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัทหลักทรัพย์เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (KTBST SEC) ให้ความเห็นกับ THE STANDARD ว่า โดยปกติคนจีนส่วนใหญ่จะใช้จ่ายผ่านระบบออนไลน์อยู่แล้ว โดยเอาเงินหยวนไปฝากธนาคาร แล้วก็โอนเงินจากธนาคารเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) เพื่อทำธุรกรรมต่างๆ 

 

 

จีนจึงเป็นตัวอย่างที่ดีในการ Digitize เงิน ด้วยฐานการใช้ที่ปัจจุบันสูงอยู่แล้ว การเปลี่ยนมาใช้เงินดิจิทัลเต็มรูปแบบจะไม่เป็นอุปสรรค เพราะร้านค้าจำนวนมากในประเทศก็รับชำระเงินในรูปแบบ Digital Money อยู่แล้ว เช่น การสแกนรหัส QR 

 

ชาตรีมองว่ารัฐบาลจีนจะเริ่มปล่อยซัพพลายเงินหยวนดิจิทัลโดยการกระจายทดสอบใน 4 เมืองที่ว่านี้ผ่านการจ่ายในรูปเงินเดือนบางส่วนเข้าบัญชีของพนักงานรัฐ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะนำเงินไปใช้จ่ายในเมือง โดยที่การทดสอบนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น โดยเป้าหมายแท้จริงของรัฐบาลคือการนำเงินดิจิทัลแห่งชาติมาใช้แทนเงินสดทั้งหมดในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 ปี หรืออาจเร็วกว่านั้น

 

การเปลี่ยนรูปแบบจากเงินกระดาษมาเป็นดิจิทัลเป็นมากกว่าสัญญาณว่าถึงเวลาของยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัวแล้ว โดยจีนกำลังสร้างทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการควบคุมการทูตเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 ด้วยการกำหนดมาตรฐานสำหรับระบบเงินตราดิจิทัล 

 

อะไรคือข้อดีของหยวนดิจิทัล

ชาตรีมองว่าเมื่อแบงก์ชาติจีนเป็นคนออกเงินดิจิทัลเอง พวกเขาจะสามารถติดตามหรือสืบย้อนที่มาที่ไปของเงินได้ สามารถดูว่าเงินที่ออกมาตอนนี้ไปอยู่ในมือใครบ้าง ถ้าเป็นเงินกระดาษเหมือนเมื่อก่อนจะไม่รู้ว่าใครถืออยู่ หรือเคลื่อนย้ายจากที่ไหนไปที่ไหนบ้าง เพราะฉะนั้นจึงเป็นประโยชน์ในแง่ความโปร่งใสของธุรกรรมทางการเงิน

 

ถ้าคนที่ชอบระบบความโปร่งใสว่าเงินนี้ได้รับการโอนมาจากไหน อยากรู้ที่มาของเงินว่าผิดกฎหมายหรือเปล่า ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก

 

หากการทดลองใช้หยวนดิจิทัลใน 4 เมืองของจีนได้ผลดี จีนก็จะขยายใช้ทั่วประเทศ แล้วก็เพิ่มธุรกรรมของการซื้อขาย โดยปัจจุบันธุรกรรมที่ทำกันมากที่สุดคือการซื้อขายในธุรกิจค้าปลีก

 

ต้องเข้าใจด้วยว่าหยวนดิจิทัลไม่ได้ทำลายธุรกิจ E-Wallet เดิม เพราะเป็นเพียงการเปลี่ยนจากการโอนเงินหยวนที่เป็นกระดาษมาเป็นหยวนดิจิทัล ซึ่งระบบก็ยังไปต่อได้อยู่ดี ในแง่ฟังก์ชัน ฟีเจอร์ หรือการรองรับจากรัฐบาลและร้านค้าต่างๆ ก็ทำได้เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นชาตรีจึงเชื่อว่าโครงการหยวนดิจิทัลจะประสบความสำเร็จและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ

 

ถ้าสำเร็จจนครอบคลุมทั่วทั้งประเทศแล้ว จีนก็จะเริ่มกระจายออกนอกประเทศ ซึ่งจุดเด่นสำคัญอีกอย่างของหยวนดิจิทัลคือความรวดเร็วในการทำธุรกรรมและต้นทุนต่ำ ทุกวันนี้การโอนเงินระหว่างประเทศหรือซื้อขายสินค้าจากต่างประเทศจะใช้เงินดอลลาร์เป็นหลัก ถ้าโอนเงินในรูปดอลลาร์จากไทยไปต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น เวียดนาม จะใช้เวลา 2 วัน ผ่านตัวกลาง 3 คนช่วยกันยืนยันว่าเงินในบัญชีต้นทางมีจริงหรือไม่ ไปจนถึงการตรวจสอบเงินในบัญชีปลายทางและเครดิตว่าถูกต้องหรือไม่ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายตก 2-3 พันบาทต่อการทำธุรกรรม 1 ครั้ง 

 

แต่ถ้าเป็นการทำธุรกรรมในรูปเงินดิจิทัล ต้นทุนจะใกล้ศูนย์ และใช้เวลารวดเร็วกว่ามาก เพราะโอนปุ๊บได้ปั๊บ

 

ดังนั้นจึนจึงเชื่อว่านี่จะเป็นจุดขายที่ทำให้คนที่ค้าขายสินค้าระหว่างประเทศอาจเริ่มหันมาใช้เงินหยวนดิจิทัลเป็นตัวกลางกันมากขึ้น เพราะแทบไม่มีต้นทุน อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพ และเงินไม่หล่นหายระหว่างทาง

 

ความท้าทายในการชิงบัลลังก์สกุลเงินดอลลาร์ที่ครอบงำเศรษฐกิจโลก

อย่างที่เราทราบกันดีว่าดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลหลักที่ใช้กันสากลในระบบเศรษฐกิจโลก โดยเกือบ 90% ของธุรกรรมระหว่างประเทศในปี 2019 เกิดขึ้นในรูปดอลลาร์สหรัฐ และประมาณ 60% ของทุนสำรองระหว่างประเทศ (Foreign Exchange Reserves) ทั่วโลกก็เก็บอยู่ในรูปสกุลดอลลาร์เช่นกัน ในขณะที่เงินหยวน (เหรินหมินปี้ / 人民币) ของจีนมีสัดส่วนเพียง 2% ของระบบการชำระเงินและทุนสำรองระหว่างประเทศทั่วโลก

 

ที่ผ่านมาการครอบงำของดอลลาร์ทำให้สหรัฐฯ มีอำนาจมหาศาล เพราะศูนย์กลางของระบบการเงินโลกตั้งอยู่ในมหานครนิวยอร์ก ที่ซึ่งมีธุรกรรมชำระเงินในรูปดอลลาร์จำนวนนับล้านล้านครั้ง ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยังใช้ประโยชน์จากดอลลาร์ในการคว่ำบาตรประเทศอื่นๆ ซึ่งทั้งเกาหลีเหนือและอิหร่านต่างก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก

 

ส่วนเงินหยวนของจีน โดยหลักๆ จะใช้ในกลุ่มประเทศเอเชียเพียงไม่กี่ประเทศ และจำกัดอยู่ในกรอบธุรกรรมเพียงไม่กี่อย่าง เช่น การซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่าน เพราะมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ได้สร้างอุปสรรคต่ออิหร่านในการรับชำระเงินในรูปของดอลลาร์

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่าหากจีนหันมาใช้เงินดิจิทัลเต็มตัวแล้วจะเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อสกุลเงินดอลลาร์ที่ครองความยิ่งใหญ่มานานหลายทศวรรษ

 

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

 

อธิบายให้เห็นภาพได้ง่ายๆ ว่าปัจจุบันหากสองบริษัทใช้สกุลเงินต่างกันในการทำสัญญาธุรกิจ โดยมากมักจะทำธุรกรรมกันด้วยดอลลาร์ แต่สิ่งนี้ต้องแลกมาด้วยการที่บริษัทต่างๆ ต้องแบกรับความเสี่ยงที่มูลค่าเงินของพวกเขาอาจเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าของสัญญาเปลี่ยนแปลงไปด้วย ดังนั้นบ่อยครั้งพวกเขาจำเป็นต้องให้ธนาคารเป็นตัวกลาง แต่ในอนาคตอาจไม่จำเป็นอีกต่อไป

 

ไมเคิล เจ. เคซีย์ จาก CoinDesk ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวเกี่ยวกับเงินดิจิทัล มองว่าหลังจากนี้บริษัทผู้นำเข้าสินค้าในต่างประเทศและบริษัทจีนจะสามารถป้อนคำสั่งในคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายบล็อกเชนเพื่อชำระเงินในรูปเงินหยวนดิจิทัล ซึ่งจะเป็นทางเลือกใหม่ในการทำธุรกิจนอกเหนือจากดอลลาร์

 

ดังนั้นธุรกรรมดิจิทัลจึงเป็นโอกาสดีของจีนในการเพิ่มบทบาทและทำให้ทั่วโลกใช้เงินหยวนกันแพร่หลายมากขึ้นในเวทีการค้าระหว่างประเทศ โดยช่วยเปิดทางให้ธุรกิจต่างชาติสามารถทำข้อตกลงการค้าโดยที่ไม่ต้องใช้ดอลลาร์ ซึ่งลดความเสี่ยงเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนและมีต้นทุนต่ำกว่า

 

เจเรมี อัลแลร์ ซีอีโอของ Circle บริษัทเทคโนโลยีการชำระเงินแห่งหนึ่ง เคยกล่าวไว้ในระหว่างให้สัมภาษณ์กับ CNBC เมื่อเดือนกันยายน ปี 2019 ว่าหยวนดิจิทัลจะทำให้หลายประเทศทั่วโลกหันมาใช้เงินสกุลหยวนกันมากขึ้น และจะกลายเป็นกลไกสำคัญที่ใช้ทำธุรกรรมได้ทุกวันทั่วโลก 

 

หยวนดิจิทัลถูกมองเป็นภัยคุกคาม

ในประเด็นความมั่นคงระดับชาตินั้น สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ เคยกล่าวไว้ในเดือนกรกฎาคม ปี 2019 ว่าคริปโตเคอร์เรนซีได้กลายเป็นเครื่องมือที่ถูกนำไปใช้สนับสนุนกิจกรรมที่ผิดกฎหมายมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นปัญหาความมั่นคงระดับชาติของสหรัฐฯ 

 

แต่หยวนดิจิทัลมีความน่าเชื่อถือกว่าตรงที่ธนาคารกลางเป็นคนออก และสามารถติดตามได้ว่าเงินไปไหนหรืออยู่ในมือใครได้ แตกต่างจากคริปโตเคอร์เรนซีอื่นๆ ที่ผู้ควบคุมกติกาคือบริษัทที่พัฒนาเงินดิจิทัลต่างๆ 

 

ดังนั้นเพื่อรักษาสถานภาพของดอลลาร์และความมั่นคงแห่งชาติ นักวิเคราะห์จึงเชื่อว่าสหรัฐฯ จะไม่ปล่อยให้จีนนำหน้าในเทคโนโลยีคริปโตเคอร์เรนซีอย่างแน่นอน

 

ทิม มอร์ริสัน ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน Hudson และเคยเป็นผู้ช่วยพิเศษของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้ความเห็นกับ Voice of America ว่าจีนมีแนวโน้มครองความเป็นเจ้าในเทคโนโลยีการเงินเกิดใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตก

 

เพราะในสหรัฐฯ เงินดิจิทัลยังอยู่ในขั้นตอนการวางแผนเท่านั้น โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมา สมาชิกสภาคองเกรสได้เสนอร่างกฎหมายเพื่อมอบอำนาจแก่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในการสร้างกระเป๋าบัญชีดอลลาร์ดิจิทัล (Digital Dollar Account Wallets) หรือที่เรียกว่า ‘FedAccounts’ เพื่อจ่ายเช็คกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับภาคธุรกิจและประชาชนโดยตรง แต่โครงการนี้ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการดำเนินการ ขณะที่เงินดิจิทัลระดับโลกอย่าง ‘Libra’ ของ Facebook ก็มีหลายธุรกิจทยอยถอนตัวไม่เอาด้วย และต้องรอการอนุมัติจากหลายหน่วยงานจึงจะใช้ได้จริง

 

โดยเคซีย์จาก CoinDesk กล่าวสรุปว่าชัยชนะของจีนในการแข่งขันด้านเงินดิจิทัลจะส่งผลกระทบแง่ลบต่อระบบทุนนิยมสหรัฐฯ และตะวันตกโดยรวม

 

ขณะที่ชาตรีกล่าวเสริมกับ THE STANDARD ว่าสหรัฐฯ พยายามหาทางสกัดมาตลอด เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีเงินสกุลอื่นที่ไม่ใช่ดอลลาร์ขึ้นมาท้าทายในตลาด ก็อาจทำให้สหรัฐฯ พิมพ์ธนบัตรอัดฉีดเศรษฐกิจหรือมาตรการ QE เหมือนแต่ก่อนได้ยากขึ้น

 

เพราะแน่นอนว่าประเทศที่ทำการค้ากับจีนในอนาคต โดยเฉพาะประเทศบนเส้นทางสายไหมใหม่อาจถูกกำหนดเงื่อนไขให้ใช้เงินดิจิทัลแลกกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งการชิงส่วนแบ่งจากดอลลาร์ในตลาดโลกได้แม้เพียง 1 ใน 4 ก็ถือเป็น Market Share เบอร์ 2 ของโลกได้แล้ว เพราะปัจจุบันคนที่ใช้สกุลเงินยูโรก็มีไม่ถึง 20% ดังนั้นจีนจะมีอำนาจต่อรองมากขึ้นในแง่เศรษฐกิจ และจะเกิดขั้วอำนาจใหม่ขึ้นมาที่ท้าทายสหรัฐฯ

 

ส่วนการจะโค่นบัลลังก์ของดอลลาร์ได้หรือไม่นั้น ชาตรีมองว่าเรื่องนี้ยังต้องโยงกับอีกหลายมิติ นอกเหนือจากขนาดเศรษฐกิจแล้วยังโยงไปถึงเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ ความมั่นคงระดับภูมิภาค และอำนาจทางทหารของจีนด้วย เมื่อใดที่จีนพร้อมท้าชนกับสหรัฐฯ เต็มตัวด้วยขนาดและความทันสมัยของกองทัพ หรือพร้อมดูแลประเทศที่ใช้หยวนเหมือนกับที่สหรัฐฯ พร้อมดูแลประเทศพันธมิตรแล้ว เมื่อนั้นจึงจะสามารถท้าชิงบัลลังก์ได้ แต่อีก 10 ปีเราอาจได้เห็นวันนั้น เมื่อขนาดเศรษฐกิจของจีนใหญ่แซงหน้าสหรัฐฯ แล้ว และมีอำนาจมากพอที่จะควบคุมทิศทางเศรษฐกิจของโลกในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 21 ได้

 

หยวนดิจิทัลจึงเป็นสิ่งที่น่าจับตาทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพราะเป็นหมากตัวใหม่ที่จีนชิงเดินเกมรุกได้ก่อนสหรัฐฯ อีกครั้ง เหมือนกับที่จีนพัฒนาและนำหน้าด้านเทคโนโลยี 5G ซึ่งสร้างความหวาดระแวงให้กับสหรัฐฯ อย่างมาก

 

ภาพ: Shutterstock   

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising