×

เงินหยวน อ่อนค่าหนักแตะ 7.3 หยวนต่อดอลลาร์ คาดมีโอกาสร่วงลงอีก เหตุวิตกกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจ

25.10.2022
  • LOADING...
เงินหยวนอ่อนค่า

Bloomberg รายงานว่า ค่า เงินหยวน นอกประเทศจีนอ่อนค่าลงผ่านระดับ 7.3 หยวนต่อดอลลาร์ หลังจากการประชุมของพรรคคอมมิวนิสต์และกระแสทุนไหลออกจากการเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)

 

ทั้งนี้ ค่าเงินหยวนลดลงมาอยู่ที่ 7.3098 ต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตลอดกาลนับตั้งแต่หน่วยเริ่มซื้อขายในปี 2010 เนื่องจากการต่ออำนาจของรัฐบาลประธานาธิบดีสีจิ้นผิง คือการยืนยันว่าจีนจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย Zero-COVID แม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็ตาม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 ค่าเงินหยวนยังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้ปรับตัวร่วงลงอีก เนื่องจากการที่ Fed เดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ย เสี่ยงทำให้ทุนไหลออกจากตลาดจีน บวกกับการที่ธนาคารกลางจีนประกาศยุติการตรึงค่าเงินหยวนอย่างต่อเนื่องในวันจันทร์ (24 ตุลาคม) ซึ่งถือเป็นสัญญาณหนุนค่าเงินหยวนให้อ่อนค่า

 

จากผลการสำรวจของ Bloomberg เมื่อสัปดาห์ที่แล้วพบว่า ผู้ค่าเงินหยวนประมาณ ครึ่งหนึ่งที่เข้าร่วมตอบแบบสอบถามคาดการณ์ว่า ค่าเงินหยวนปีนี้มีสิทธิอ่อนค่าแตะระดับ 7.4 หรือ 7.5 หยวนต่อดอลลาร์ ขณะที่ประมาณ 10% มองว่าเงินหยวนมีโอกาสแตะ 7.25 หยวนต่อดอลลาร์ 

 

ทั้งนี้ ค่าเงินหยวนในตลาดนอกประเทศจีนถือเป็นสกุลเงินที่มีผลงานแย่ที่สุดในตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ของเอเชียเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (24 ตุลาคม) ขณะที่ค่าเงินหยวนในประเทศจีนก็ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 14 ปี 

 

วันเดียวกัน กรมศุลกากรจีนเปิดเผยข้อมูลการส่งออกของประเทศประจำเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่า การค้าต่างประเทศของจีนขยายตัว 8.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี สะท้อนถึงความสามารถในการรักษาอัตราการเติบโตที่แข็งแกร่งของจีน แม้จะเผชิญกับปัจจัยท้าทายต่างๆ ท่ามกลางอุปสงค์ในต่างประเทศที่อ่อนตัวลงอันเนื่องมาจากภาวะถดถอยทั่วโลก และความท้าทายภายในประเทศจากการฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด และนโยบาย Zero-COVID

 

บรรดาผู้เชี่ยวชาญชาวจีนตั้งข้อสังเกตว่า การฟื้นตัวของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกจะสร้างความมั่นใจให้กับโลกในช่วงเวลาที่ปั่นป่วนในปัจจุบัน แต่ก็เตือนให้จีนเตรียมพร้อมเผชิญกับภาวะแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 4 ที่อาจก่อให้เกิดความท้าทายมากขึ้นต่อการส่งออกของประเทศ 

 

รายงานของกรมศุลกากรจีนระบุว่า การค้ารวมของจีนมีมูลค่า 3.81 ล้านล้านหยวนในเดือนกันยายน โดยการส่งออกเพิ่มขึ้น 10.7% ที่ 2.19 ล้านล้านหยวน และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 5.2% ขณะที่ยอดเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้น 29.9% อยู่ที่ 573,570 ล้านหยวน 

 

ในกรณีที่คิดเป็นเงินดอลลาร์ มูลค่าการค้าจีนเพิ่มขึ้น 3.4% โดยการนำเข้าเติบโต 0.3% ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนสิงหาคม และการส่งออกเพิ่มขึ้น 5.7% ลดลงจากการเติบโต 7% ในเดือนสิงหาคม

 

Bai Ming รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยตลาดระหว่างประเทศ สถาบันการค้าระหว่างประเทศและความร่วมมือทางเศรษฐกิจของจีน กล่าวว่า การเติบโตของการส่งออกที่ชะลอตัวสะท้อนผลกระทบของอุปสงค์ที่ลดลงในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในขณะที่อัตราการนำเข้าที่สม่ำเสมอบ่งชี้ว่าอุปสงค์ภายในประเทศค่อนข้างคงที่ โดยได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล กระนั้น การส่งออกก็ยังถูกจำกัดเพราะมาตรการคว่ำบาตรของรัฐบาลสหรัฐฯ 

 

ในมุมมองของ Bai Ming สถานการณ์การค้าต่างประเทศของจีนโดยรวมยังคงทรงตัวในช่วง 9 เดือนแรกของปี แม้ว่าอัตราการเติบโตจะเห็นสัญญาณชะลอตัวตั้งแต่เดือนสิงหาคม ท่ามกลางสภาพแวดล้อมภายนอกที่ซับซ้อน

 

ทั้งนี้ ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี มูลค่าการค้าทั้งหมดของจีนปรับตัวแตะระดับ 31.11 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 9.9% จากปีก่อนหน้า โดยการส่งออกเพิ่มขึ้น 13.8% สู่ระดับ 17.67 ล้านล้านหยวน ขณะที่การนำเข้ารวม 13.44 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 5.2% และยอดเกินดุลการค้าแตะ 4.23 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 53.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี

 

ในด้านผลิตภัณฑ์ การส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องกลและไฟฟ้ามีมูลค่ารวม 10.04 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 10% คิดเป็นสัดส่วน 56.8% ของการส่งออกทั้งหมด ขณะที่การส่งออกยานยนต์แข็งแกร่งเป็นพิเศษ โดยเพิ่มขึ้น 67.1% สู่ระดับ 259,840 ล้านหยวน และการส่งออกโทรศัพท์มือถือ วงจรรวม และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ยังคงเติบโตในระดับสูง

 

Tian Yun อดีตรองผู้อำนวยการ Beijing Economic Operation Association กล่าวว่า จีนกำลังดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างผลิตภัณฑ์ของตนอย่างต่อเนื่อง และการส่งออกไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยผลิตภัณฑ์ราคาถูกที่มีอัตรากำไรต่ำอีกต่อไป

 

Tian ระบุว่า ข้อมูลที่ออกใหม่ยังสะท้อนว่าโมเมนตัมของการอัปเกรดของเศรษฐกิจจีนไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ หรือความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน

 

ภูมิภาคอาเซียนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของจีนในช่วง 9 เดือนแรก คิดเป็น 15.1% ของการค้าต่างประเทศทั้งหมดของจีน คิดเป็นมูลค่าการค้ารวม 4.7 ล้านล้านหยวน ตามด้วยสหภาพยุโรปที่ 9% หรือ 4.23 ล้านล้านหยวน และสหรัฐอเมริกาที่ 8% หรือ 3.88 ล้านล้านหยวน 

 

ส่วนอันดับ 4 คือ เกาหลีใต้ โดยมีการค้าทวิภาคีเพิ่มขึ้น 7.1% เป็น 1.81 ล้านล้านหยวน ส่วนการค้ากับบรรดาประเทศตามแผนริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง เพิ่มขึ้น 20.7%

 

การค้ากับรัสเซียเพิ่มขึ้น 32.5% ในช่วงเก้าเดือนแรก โดยการนำเข้าจากรัสเซียเพิ่มขึ้น 51.6% ขณะที่การค้ากับรัสเซียเพิ่มขึ้น 32.5% ในช่วงเก้าเดือนแรก โดยการนำเข้าจากรัสเซียเพิ่มขึ้น 51.6%

 

แม้ว่าตัวเลขการค้าของจีนจะสดใส แต่บรรดาหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เหมือนจะไม่ได้สดใสตามไปด้วย โดยมีรายงานว่า หุ้นของบรรดาบริษัทจีนในตลาดสหรัฐฯ ร่วงลงอย่างรวดเร็วเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (24 ตุลาคม) หลังจากที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเดินหน้ากระชับอำนาจได้อย่างรัดกุม สั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งมองว่าการกุมอำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดทำให้หุ้นของบริษัทจีนไม่น่าลงทุน 

 

ทั้งนี้ Invesco Golden Dragon China ETF ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวของดัชนี Nasdaq Golden Dragon China ร่วงลง 14.5% แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2009 โดย ETF ร่วงลงมากกว่า 20% เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (24 ตุลาคม) 

 

รายงานระบุว่า หุ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง Alibaba ลดลงแล้วมากกว่า 12% หลังจากก่อนหน้านี้ลดลงไปมากกว่า 19% จนระดับต่ำสุดในรอบ 52 สัปดาห์ ด้าน Tencent Music Entertainment ปรับตัวลดลง 5% เทียบกับการลดลงก่อนหน้านี้ที่ 18% หรือหุ้นของ Pinduoduo ปิดตลาดลดลง 24.6% หลังจากที่ก่อนหน้านี้ตกลงไป 34% เมื่อวานนี้ (24 ตุลาคม)

 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงสามารถปูทางสู่การเป็นผู้นำในสมัยที่ 3 ได้อย่างราบรื่น และเดินหน้าตอกย้ำความมั่นคงทางการแต่งตั้งคณะกรรมการประจำ Politburo ซึ่งเป็นวงจรหลักของอำนาจในพรรคคอมมิวนิสต์จีน

 

รายงานระบุว่า ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง จีนได้ดำเนินการตามนโยบายที่มีกฎระเบียบที่เข้มงวดในภาคเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ตั้งแต่การปกป้องข้อมูลไปจนถึงการควบคุมวิธีการใช้อัลกอริทึม

 

ความเชื่อมั่นในแนวโน้มการเติบโตของจีนที่ชะลอตัวลง ยังเป็นผลจากการที่ผู้นำจีน ยังคงยึดมั่นในนโยบาย Zero-COVID ที่เข้มงวด แม้ว่าโลกส่วนใหญ่ได้เปิดเศรษฐกิจแล้วก็ตาม

 

Mark Schilsk นักวิเคราะห์ตลาดกล่าวว่า หุ้นจีนไม่น่าลงทุนอีกต่อไป โดยดัชนีฮั่งเส็งของฮ่องกงดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2009 ขณะที่ดัชนี  Shanghai Composite และดัชนี Shenzhen Component ในตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ต่างปรับตัวประมาณ 2%

 

Marko Kolanovic นักยุทธศาสตร์ระดับแนวหน้าของ Wall Street จาก J.P. Morgan  เชื่อว่าการเทขายออกในหุ้นจีนนั้นขาดการเชื่อมต่อจากปัจจัยพื้นฐาน ลดโอกาสในการซื้อ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X