×

‘เด็กยังเป็นครีเอเตอร์ได้’ แต่การหารายได้จากคอนเทนต์เด็ก ‘ยากขึ้น’ ทำความเข้าใจกฎใหม่ YouTube

29.11.2019
  • LOADING...
YouTube

เชื่อว่าถ้าทำแบบสอบถามอาชีพในฝันกับกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ ‘ครีเอเตอร์’ หรือที่หลายคนเรียกกันจนติดปากว่ายูทูเบอร์ ที่ทำคอนเทนต์บนแพลตฟอร์ม YouTube น่าจะติดเข้ามาอยู่ในโผอาชีพยอดนิยมเป็นลำดับต้นๆ แน่นอน

 

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการแชร์ข้อมูลจากโพสต์บน Facebook ที่สร้างความเข้าใจที่ผิดๆ และทำให้หลายคนตีความกันไปว่า ต่อไปในอนาคต เด็กๆ อาจจะไม่สามารถเป็นครีเอเตอร์ผลิตคอนเทนต์ได้อีกต่อไปแล้ว รวมถึงไม่สามารถมีตัวแสดงในคอนเทนต์นั้นๆ เป็นเด็กได้เลย เนื่องจากละเมิดนโยบายและกฎใหม่ที่ทาง YouTube ได้ประกาศออกมา 

 

ความจริงแล้ว กฎข้อบังคับฉบับใหม่ว่าด้วยข้อปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับคอนเทนต์เด็กที่ทาง YouTube ได้ประกาศออกมาตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน และประกาศเมื่อวันอังคารที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ให้มีผลบังคับใช้จริงตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2020 เป็นต้นไปนั้น มีรายละเอียดเชิงลึกที่มากกว่านั้น ถ้าลองไปพลิกข้อมูลอ่านดูให้ดีก็จะเข้าใจว่า YouTube ไม่ได้ห้ามเด็กทำคอนเทนต์บนแพลตฟอร์ม

 

ทำความเข้าใจตรงกันก่อนว่า จุดเริ่มต้นทั้งหมดเกิดขึ้นในวันที่ 4 กันยายน หลังจาก Google และ YouTube ถูกสั่งปรับเป็นจำนวนเงินกว่า 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 5,200 ล้านบาท โดยคณะกรรมาธิการการค้าสหรัฐฯ (Federal Trade Commission) ข้อหาละเมิดกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานเด็กบนโลกออนไลน์หรือ COPPA

 

คณะกรรมาธิการการค้าสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่า YouTube ครอบครองข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานกลุ่มเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 13 ปี โดยมิได้รับการอนุญาตหรือความยินยอมจากผู้ปกครอง และข้อมูลดังกล่าวยังถูกนำไปใช้ประโยชน์ทำโฆษณาแบบ Targeted Ads อีกด้วย (อ่านข้อมูลเต็มๆ ย้อนหลังได้ที่ thestandard.co/youtube-fined-over-childrens-privacy-violation)

 

การสั่งปรับด้วยจำนวนเงินดังกล่าวถือเป็นการสั่งปรับครั้งใหญ่ที่สุดที่ทาง Google ต้องเผชิญในช่วงเวลานั้น และยังส่งผลให้พวกเขาต้องปรับนโยบายการให้บริการสำหรับผู้ใช้งานกลุ่มเด็กใหม่อย่างจริงจัง

 

ในวันเดียวกัน (4 กันยายน) YouTube จึงได้ประกาศปรับปรุงข้อกำหนดและกฎเกณฑ์การให้บริการใหม่สำหรับผู้ใช้งานกลุ่มเด็กโดยเฉพาะ พร้อมให้เหตุผลว่าก่อนหน้านี้พวกเขาคือแพลตฟอร์มสำหรับผู้ใช้งานที่มีอายุมากกว่า 13 ปีขึ้นไป 

 

แต่ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทำได้ง่ายขึ้น ความแพร่หลายของคอนเทนต์ประเภทครอบครัว และผลกระทบจากข้อกังวลที่คณะกรรมาธิการการค้าสหรัฐฯ มีต่อแพลตฟอร์มจึงทำให้พวกเขาต้องปรับปรุงมาตรการการให้บริการใหม่ ซึ่งจะคลอบคลุมใน 4 ส่วนหลักๆ ประกอบด้วย

 

1. ข้อกำหนดใหม่สำหรับคอนเทนต์เด็กบน YouTube – YouTube จะเหมารวมว่าผู้ใช้งานที่คลิกชมคอนเทนต์วิดีโอประเภทเด็กบนแพลตฟอร์มของทุกคนคือผู้ใช้งานในกลุ่มเด็กโดยไม่คำนึงถึงอายุของผู้ใช้งาน ซึ่งจะเป็นการ ‘จำกัดการเก็บและการใช้งานข้อมูล’ ที่ได้จากวิดีโอเด็กโดยเฉพาะ

 

พร้อมกันนี้ยังได้ดำเนินการหยุดการโฆษณาแบบระบุกลุ่มเป้าหมายหรือ Personalized ads จากคอนเทนต์เด็กๆ ทุกรูปแบบ รวมถึงงดการใช้ฟีเจอร์บางอย่างเช่น การไลก์ การแสดงความคิดเห็น และการแจ้งเตือน

 

ซึ่งตัวครีเอเตอร์ที่ผลิตคอนเทนต์เกี่ยวกับเด็กก็จะต้องระบุในขั้นตอนการพับลิชวิดีโอให้ชัดเจนด้วยว่า คอนเทนต์ที่อัปโหลดลง YouTube เป็นคอนเทนต์สำหรับเด็ก เพราะถึงแม้คุณจะจงใจหลบเลี่ยง ทาง YouTube ก็จะใช้แมชชีนเลิร์นนิงมาช่วยค้นหาวิดีโอที่เจาะกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้งานเด็ก เช่น คอนเทนต์มีตัวละครคาแรกเตอร์สำหรับเด็ก ของเล่นหรือเกม พร้อมปักป้ายว่าเป็นวิดีโอสำหรับเด็กแบบอัตโนมัติ

 

2. แนะนำให้ผู้ใช้งานกลุ่มผู้ปกครองที่มีบุตรหลานใช้งาน YouTube Kids – นอกจากแพลตฟอร์ม YouTube แบบปกติ YouTube ยังมี ‘YouTube Kids’ ที่เอาไว้รองรับการใช้งานของคนดูกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปีโดยเฉพาะ เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว (ให้บริการในไทยอย่างเป็นทางการปีที่แล้ว) ปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากกว่า 10 ล้านรายในทุกสัปดาห์ ซึ่ง YouTube ยืนยันว่าจะพยายามโปรโมต และพัฒนาฟีเจอร์การใช้งานให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

 

3. ไม่ทอดทิ้งครีเอเตอร์คอนเทนต์เนื้อหาสำหรับครอบครัว – YouTube รู้ดีว่าการเปลี่ยนแปลงมาตรการการเก็บข้อมูล การทำโฆษณาแบบระบุตัวตน ตลอดจนการบังคับให้ครีเอเตอร์ต้องติดป้ายกำกับว่าคอนเทนต์ของตัวเองเป็นคอนเทนต์สำหรับเด็ก มีผลกับการดำเนินธุรกิจของบรรดาครีเอเตอร์มากแค่ไหน 

 

ดังนั้น พวกเขาจึงให้เวลาครีเอเตอร์ 4 เดือน (เดือนกันยายน-ธันวาคม 2019) สำหรับการเตรียมตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การบังคับใช้มาตรการใหม่ และยังได้ประกาศอัดฉีดงบลงทุนมูลค่ารวมกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลอดระยะเวลา 3 ปี เพื่อสนับสนุนกลุ่มครีเอเตอร์ที่ผลิตเนื้อหาสำหรับเด็ก ครอบครัว และเนื้อหาด้านการศึกษาโดยเฉพาะ

 

4. ฝึกฝนทีมงาน – จากการเปลี่ยนแปลงมาตรการใหม่ YouTube จะเพิ่มโปรแกรมการฝึกและการให้ข้อมูลความรู้ใหม่ๆ ที่จำเป็นสำหรับการอบรบประจำปีของทีมงาน เพื่อให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

 

เพราะฉะนั้นแล้ว ถ้าสรุปดูดีๆ จะพบว่า ปัญหาสำคัญและข้อกังวลที่แท้จริงจากมาตรการใหม่ของ YouTube มีด้วยกันสองข้อหลักๆ คือ 

 

การหารายได้จากครีเอเตอร์จากการโฆษณาแบบระบุกลุ่มเป้าหมายจะทำได้ยากขึ้นกว่าเดิม ถึงขั้นที่อาจจะทำไม่ได้เลย แบรนด์สินค้าสำหรับเด็ก ของเล่น ขนม ฯลฯ ก็ต้องปรับกลยุทธ์การสื่อสาร และการทำโฆษณากันใหม่ทุกกระบวนท่า เพราะจะไม่สามารถเก็บข้อมูลเชิงลึกจากผู้ชม ยิงโฆษณาก็ไม่ได้ ส่วนจะสะเทือนแค่ไหนเราน่าจะเห็นภาพผลกระทบชัดๆ ก็ต่อเมื่อมาตรการนี้เริ่มบังคับใช้ในปีหน้า

 

อีกข้อคือการที่ YouTube จะใช้แมชชีนเลิร์นนิงหรือทีมงานมาคอยนั่งมอนิเตอร์ ว่าคอนเทนต์วิดีโอไหนเป็นคอนเทนต์สำหรับเด็ก คำถามก็คือแว่นขยายหรือไม้บรรทัดที่ YouTube ใช้กับคอนเทนต์แต่ละชิ้นจะเป็นมาตรฐานไหน มีรายละเอียดในการชี้วัดอย่างไร แยกแยะได้ละเอียดแค่ไหน

 

เพราะต้องไม่ลืมว่า คอนเทนต์เกมบางอย่างก็อาจจะไม่ได้ตั้งเป้าเจาะกลุ่มเป้าหมายเป็นคนดูเด็ก หรือคอนเทนต์ที่ใช้ตัวแสดงเป็นเด็กก็อาจจะไม่ได้หมายความว่าเป็นคอนเทนต์สำหรับเด็กจริงๆ เสมอไปก็ได้

 

ปัญหาข้อนี้ทางโฆษก YouTube ระบุเบื้องต้นว่า บริษัทจะรับฟังฟีดแบ็กที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด เพราะถ้าพบว่าอัลกอริทึมทำงานไม่ถูกต้องเมื่อไรก็จะหยุดใช้งานทันที แต่ขณะเดียวกันตัวครีเอเตอร์ก็จะไม่สามารถยื่นอุทธรณ์การตัดสินใจของ YouTube เหมือนกัน 

 

ถึงจะดูเป็นเรื่องไกลตัวผู้ใช้งานบางส่วน แต่อย่าลืมว่ายังมีกลุ่มครอบครัวและผู้ใช้งานเด็กอีกมากที่เป็นแฟนพันธ์ุแท้ YouTube มาตรการที่ออกมานี้ถึงจะไม่กระทบคนดู แต่สำหรับครีเอเตอร์ แบรนด์และเอเจนซีแล้ว งานนี้ต้องปรับตัวหนักแน่นอน

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X