จากผลสำรวจของบริษัทผู้ให้ข้อมูลด้านการตลาด TNS Global Market Research ระบุว่า ตลอดปี 2560 ที่ผ่านมา คนใช้อินเทอร์เน็ตในกรุงเทพฯ และปริมณฑลกว่า 93% เข้าชมแพลตฟอร์ม YouTube ส่วนอีก 92% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต่างจังหวัดก็เข้าชม YouTube เช่นกัน ที่น่าสนใจคือจุดประสงค์ของการใช้งานส่วนใหญ่เป็นการฟังเพลงและการรับชมคอนเทนต์ย้อนหลัง ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์มีชั่วโมงเฉลี่ยการใช้งานมากกว่า 2.9 ชั่วโมงต่อวัน
เบน คิง ผู้บริหาร Google ประจำประเทศไทย เผยว่า YouTube เป็นแพลตฟอร์มที่หาตัวจับยากและเป็นแพลตฟอร์ม ‘for every you’ หมายถึงเป็นช่องทางรับชมคอนเทนต์สำหรับกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย มีคอนเทนต์ให้ชมทุกรูปแบบ ทุกประเภท โดยตลอดปีที่ผ่านมา YouTube พบพฤติกรรมของผู้ใช้งานทั่วโลกที่น่าสนใจดังนี้
- 1 พันล้านชั่วโมง ชั่วโมงการรับชมคอนเทนต์และใช้ระยะเวลาบน YouTube โดยเฉลี่ยในแต่ละวัน
- 1.5 พันล้านราย จำนวนผู้ล็อกอินเข้าระบบในแต่ละเดือน
- 400 ชั่วโมง จำนวนระยะเวลาของคอนเทนต์ที่มีการอัปโหลดในทุกๆ นาที
- 80 ภาษา จำนวนคอนเทนต์หลากภาษาในกว่า 90 ประเทศทั่วโลก
ขณะที่ในประเทศไทยพบว่ามีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากถึง 46 ล้านราย ในจำนวนนี้มีผู้เข้าใช้ YouTube ประมาณ 40 ล้านราย ส่วน Official Channel ของช่อง 3 ในรอบ 30 วันที่ผ่านมาก็มียอดวิวคอนเทนต์รวมมากกว่า 34.7 ล้านครั้ง ด้าน Workpoint มีจำนวนยอดวิวมากกว่า 22 ล้านครั้ง สาเหตุมาจากการมีคอนเทนต์คุณภาพที่สามารถดึงดูดผู้ใช้งานที่แพร่หลาย
เบนยังเปรียบเทียบการรับชมคอนเทนต์บน YouTube และดิจิทัลแพลตฟอร์มเจ้าอื่นๆ ผ่านการนำรายการทีวี 5 รายการมาเปรียบเทียบกันแล้วพบว่า 89% ของการรับชมคอนเทนต์รายการทีวีล้วนแล้วแต่มาจากช่องทางของ YouTube ทั้งสิ้น นั่นหมายความว่าแพลตฟอร์มนี้เป็นตัวเลือกในการรับชมคอนเทนต์ทีวีอันดับ 1
เบนบอกว่าสิ่งที่ทำให้ YouTube มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากๆ ไม่ใช่แค่เรื่องช่องว่างสัดส่วนการดูคอนเทนต์รายการโทรทัศน์ที่สูงลิ่วเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มเจ้าอื่นๆ แต่เป็นเพราะว่าคอนเทนต์ในช่องทางของพวกเขามีความหลากหลายด้านเนื้อหา ไม่ใช่แค่รายการทีวี เพลง หรือเรื่องราวความบันเทิงเท่านั้น
“ตัวผมเองชอบดูกีฬา แต่ภรรยาชอบดูทอล์กโชว์ คนอื่นๆ อาจจะชอบฟังเพลง ดูข่าว รับชมคอนเทนต์ความบันเทิง หรือเนื้อหาเพื่อการศึกษา ไม่ว่าคุณจะชอบเรื่องแบบไหน YouTube ก็สามารถตอบสนองคอนเทนต์ที่คุณต้องการรับชมได้หมด นี่คือส่ิงที่ทำให้บริการของเรายูนีกและหาตัวจับได้ยากมากๆ ในไทย ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้ก็เป็นผลมาจากพวกคุณด้วยเช่นกัน (คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ และคนดูทั้งหลาย)”
คนไทยใช้ YouTube ดูอะไร ช่วงเวลาไหน
มุกพิม อนันตชัย หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรธุรกิจบันเทิงประจำ YouTube ประเทศไทย เผยข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคที่จากการเก็บข้อมูลของ TNS ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2561 พบสถิติที่น่าสนใจดังนี้
- ผู้ใช้งานประมาณ 75% เข้า YouTube ทุกวัน แบ่งตามกลุ่มอายุได้ดังนี้
- 85% เป็นกลุ่มผู้ใช้งานช่วงอายุ 16-24 ปี
- 79% เป็นกลุ่มผู้ใช้งานช่วงอายุ 25-34 ปี
- 67% เป็นกลุ่มผู้ใช้งานช่วงอายุมากกว่า 35 ปี
- ผู้ใช้งานประมาณ 62% เข้า YouTube วันละหลายๆ ครั้ง
คนเข้า YouTube เพราะอะไร
- 70% ให้เหตุผลว่าต้องการฟังเพลง ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ 77% และ 62% เป็นผู้ใช้งานที่อยู่ในวัย 16-34 ปี และ 35 ปีขึ้นไป
- 51% บอกว่าเข้ามาดูทีวีย้อนหลัง ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ 59% เป็นกลุ่มที่อยู่ในวัย 25-34 ปี
- 33% ต้องการเข้ามาหาความรู้ ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ 40% เป็นกลุ่มที่อยู่ในวัย 16-24 ปี
- 24% เข้ามาหาข้อมูลเพิ่มเติมของสินค้าและบริการที่ตนสนใจ ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ 30% และ 24% เป็นผู้ใช้งานที่อยู่ในวัย 25-34 ปี และ 35 ปีขึ้นไป
ข้อมูลที่น่าสนใจคือกลุ่มผู้ใช้รุ่นใหม่วัย 16-24 ปี มีสัดส่วนการชมคอนเทนต์ด้านการเงินและการศึกษามากที่สุด และถ้าไม่นับคอนเทนต์จำพวกเพลง ละคร และรายการทีวีรีรันที่ลอยลำเข้าเส้นชัยไปแล้วจะพบว่า ผู้ใช้งานวัย 25-34 ปี นิยมคอนเทนต์แนวคอเมดี้มากที่สุด ส่วนผู้ใช้งานที่อายุ 35 ปีขึ้นไป ชอบคอนเทนต์ประเภทข่าวมากที่สุด
ระยะเวลากับการใช้ YouTube
จันทร์ถึงศุกร์
- ผู้ใช้งานส่วนใหญ่จะดู YouTube เฉลี่ย 2.3 ชั่วโมงต่อวัน
- ผู้ใช้งานส่วนใหญ่จะเป็นเด็กๆ ช่วง 16-24 ปี
- รองลงมาจะเป็นช่วงวัย 25-34 ปี และ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งมีจุดร่วมเหมือนๆ กันคือนิยมเข้าแพลตฟอร์มในช่วงพักเที่ยงเป็นหลัก และจะไม่ได้ใช้อีกเลยจนกระทั่งเดินทางกลับบ้านและถึงเวลานอน
สุดสัปดาห์ (เสาร์-อาทิตย์)
- ผู้ใช้งานส่วนใหญ่จะดู YouTube เพิ่มขึ้น 30% เฉลี่ย 2.9 ชั่วโมงต่อวัน และพบว่าคนจะเปิด YouTube ตั้งแต่เช้าตรู่ (6.00 น.)
คนต่างจังหวัดดู YouTube ผ่านสมาร์ทโฟนเป็นอันดับ 1
จากข้อมูลยังพบว่า 97% ของผู้ใช้งาน YouTube นอกเมืองเข้าใช้ผ่านมือถือ โดยผู้ใช้ 93% ยกให้โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์อันดับ 1 ในการเข้าใช้งาน ส่วนอีก 63% บอกว่าเข้า YouTube ทุกวัน
“ผู้ผลิตเนื้อหาจะต้องคำนึงถึงการสร้างคอนเทนต์เพื่อให้รับชมได้ง่ายๆ บนหน้าจอมือถือขนาดเล็กๆ เป็นหลัก
“เพราะความแตกต่างในเชิงชั่วโมงการใช้งานบนแพลตฟอร์มต่อวันของผู้ใช้งานในเมืองและนอกเขตเมืองก็แทบจะไม่ต่างกันแล้ว (ประมาณ 1 ชั่วโมง) ผู้ใช้งานไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในเมืองหรือนอกเมืองก็มีส่วนร่วมกับแพลตฟอร์มการชมวิดีโอเหมือนๆ กัน”
หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรธุรกิจบันเทิง YouTube ประเทศไทย ยังบอกอีกด้วยว่า สถิติจาก TNS ถือเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าผู้ใช้งานนอกเขตเมือง และผู้ใช้งานที่อยู่ในช่วงวัย 35 ปีขึ้นไปกำลังเริ่มเข้ามาที่แพลตฟอร์มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะท่ีเทรนด์การฟังเพลงของคนไทยก็ยังคงนิยมเพลงลูกทุ่งเป็นหลัก เพราะจาก 10 อันดับเพลงยอดฮิตในแพลตฟอร์ม มีมากถึง 6 เพลงที่เป็นเพลงลูกทุ่ง โดยทุกเพลงมียอดการรับชมสูงเกิน 100 ล้านวิว ส่วนคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่ทำคลิปวิดีโอเนื้อหาเฉพาะกลุ่ม เน้นเจาะกลุ่มโลคัลเป็นหลัก ก็ได้รับความนิยมสูงมากๆ ไม่แพ้กัน
อีกหนึ่งชุดข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของแพลตฟอร์ม YouTube ในปัจจุบันคือการที่คอนเทนต์จำพวกละครย้อนหลังอย่าง บุพเพสันนิวาส ได้รับความยิมมากๆ จนขึ้นอันดับ 1 ในแพลตฟอร์มได้สำเร็จ หรือยอดวิวเพลง คุกกี้เสี่ยงทาย ของ BNK48 ที่ใกล้จะทะลุ 100 ล้านวิว ไปจนถึงคอนเทนต์ปรากฏการณ์ข่าวหวย 30 ล้าน ที่ ณ ปัจจุบันรวมทุกๆ ชาแนลมียอดชมรวมกันมากกว่า 500 ล้านวิวเข้าไปแล้ว
ในยุคที่ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่กุมอำนาจ ควบคุม ปรับเปลี่ยนแพลตฟอร์มของตัวเองเบ็ดเสร็จ 100% เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง ผู้ได้รับผลกระทบหนักสุดก็หนีไม่พ้นผู้ใช้งาน คนทำสื่อ และแบรนด์เจ้าต่างๆ
ดังนั้นสิ่งที่ผู้ใช้แพลตฟอร์มควรทำ ณ เวลานี้คือศึกษาข้อดี ข้อเสีย และธรรมชาติของแต่ละช่องทางจากการใช้งานจริงด้วยตัวเอง ต้องไม่ผูกมัดตัวเองกับผู้ให้บริการเจ้าใดเจ้าหนึ่งเพื่อป้องกันผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเองและรีดศักยภาพของแต่ละแพลตฟอร์มที่ใช้สื่อสารคอนเทนต์ออกมาให้ได้มากที่สุด