ใครที่เคยหงุดหงิดหรือมีปัญหากับการใช้งานแอปฯ YouTube ฟังเพลงหรือฟังเรื่องผีแล้วต้องเปิดหน้าจอค้างไว้ตลอดเวลา ทนดูโฆษณาที่เล่นต่อเนื่องมากกว่า 2 ตัว ตอนนี้ปัญหาต่างๆ กำลังจะหมดลงแล้ว เมื่อ Google ประเทศไทยได้ประกาศเปิดตัวบริการใหม่ ‘YouTube Music’ และ ‘YouTube Premium’ อย่างเป็นทางการแล้ววันนี้ (6 พฤศจิกายน)
บริการใหม่ของ YouTube แยกออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย
1. YouTube Music บริการสตรีมมิงมิวสิก ซึ่งมีทั้งแบบฟรีและแบบคิดค่าบริการรายเดือนในโมเดล Subscribe ความพิเศษอยู่ตรงที่ YouTube ได้แยกเอาคอนเทนต์เพลงทุกรูปแบบรวมถึง Remix, Mixtapes, Covers หรือ Live Performance มาใส่ไว้บน YouTube Music สำหรับคนที่ชอบฟังเพลง โดยเฉพาะ ที่สำคัญยังสามารถดูมิวสิกวิดีโอเพลงนั้นๆ จากบนตัวแอปฯ ได้ทันทีโดยไม่ต้องสลับสับเปลี่ยนแอปฯ ให้ยุ่งยาก
แพลตฟอร์ม YouTube Music ยังนำ AI เข้ามายกระดับประสบการณ์การใช้งานบริการสตรีมมิงให้ดียิ่งขึ้น ทั้งระบบเสิร์ชเพลงแบบ ‘Smart Search’ โดย Google ที่สามารถค้นหาเพลงจากเนื้อเพลงแค่บางท่อนได้ รวมถึงการจัดเพลย์ลิสต์แนะนำเพลงที่ต้องการจะฟังแบบ Personalization ตามรสนิยมการฟังเพลงของผู้ใช้แต่ละคน
ถ้าสมัครใช้บริการแบบเสียเงิน YouTube Music Premium ค่าบริการจะอยู่ที่ 129 บาทต่อเดือน (iOS 169 บาทต่อเดือน) แลกกับฟีเจอร์พิเศษเพิ่มอีก 3 อย่าง คือ เล่นเพลงแบบ Background ล็อกหน้าจอ หรือใช้แอปฯ อื่นๆ ได้ ไม่มีโฆษณามากวนใจระหว่างฟังเพลง และดาวน์โหลดเพลงมาฟังแบบออฟไลน์ (ค่าบริการแบบ Family Plan ใช้งานได้สูงสุด 6 บัญชีอยู่ที่ 199 บาทต่อเดือน ส่วน iOS 259 บาทต่อเดือน)
(หมายเหตุ: สาเหตุที่ผู้ใช้ iOS จะต้องจ่ายแพงกว่าเนื่องจาก Apple เก็บค่าธรรมเนียม in-app purchases fee บน App Store ที่ 30%)
ตัวแอปฯ สามารถดาวน์โหลดผ่าน Play Store และ App Store ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ส่วนผู้ใช้งาน iOS แล้วยังดาวน์โหลดไม่ได้หรือกดเสิร์ชไม่เจอ ทาง YouTube ให้ข้อมูลว่าจะเริ่มทยอยเปิดให้ดาวน์โหลดได้ครบภายใน 24 ชั่วโมง
2. YouTube Premium บริการดูวิดีโอบน YouTube แบบพรีเมียม ที่ไม่มีโฆษณามากวนใจ เล่นแบบล็อกหน้าจอและเซฟวิดีโอเพื่อดูแบบออฟไลน์ได้ด้วย สนนค่าบริการที่ 159 บาทต่อเดือน (iOS 209 บาทต่อเดือน) แถมยังพ่วงใช้งาน ‘YouTube Music’ ได้แบบฟรีๆ อีกต่างหาก ส่วนแพ็กเกจสำหรับครอบครัวจะอยู่ที่ 239 บาทต่อเดือน (iOS 309 บาทต่อเดือน)
ทั้งสองบริการ Music และ Premium จะมีแพ็กเกจสำหรับนักเรียนนักศึกษาด้วย ซึ่งราคาสำหรับผู้สมัครบนเว็บไซต์และ Play Store จะอยู่ที่ 65 บาทต่อเดือน และ 95 บาทต่อเดือน ตามลำดับ ส่วนแพ็กเกจราคาสำหรับผู้ใช้งานกลุ่มนักเรียนนักศึกษาบน iOS ยังไม่มีการประกาศออกมา
ปัจจุบัน YouTube จะเปิดให้ผู้ใช้งานได้ทดลองใช้บริการ YouTube Music Premium ฟรีเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือนเต็ม ส่วนผู้ใช้งานสมาร์ทโฟน Samsung รุ่นแฟลกชิปจะได้ใช้งานฟรีถึง 4 เดือน รุ่นรองลงมาจะใช้งานได้ฟรี 2 เดือน (เนื่องจากทั้ง Samsung และ Google เป็นพาร์ตเนอร์กัน)
ทีมงาน YouTube ประเทศไทยให้ข้อมูลว่า สาเหตุที่ตัดสินใจเปิดตัวบริการสตรีมมิงมิวสิก และบริการดูคอนเทนต์วิดีโอแบบพรีเมียม เป็นเพราะว่าผู้ใช้งาน YouTube ในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ วัดจากงานวิจัยของ Globalwebindex ที่ระบุว่า 9 ใน 10 ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ณ วันนี้ใช้ YouTube ด้วย
ซึ่งส่วนใหญ่การใช้งาน YouTube ของคนไทยจะเน้นไปที่การใช้เพื่อความบันเทิงเป็นหลัก อ้างอิงจากงานวิจัยของ YouTube ประเทศไทย (2018) พบว่า 70% ของผู้ใช้งานใช้แพลตฟอร์มเพื่อฟังเพลง, รองลงมา 51% ใช้ดูคอนเทนต์ละคร ซีรีส์ รายการย้อนหลัง, 33% ใช้เพื่อหาข้อมูลเพื่อการศึกษา และอีก 24% ใช้เพื่อหาข้อมูลผลิตภัณฑ์ สินค้าต่างๆ
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ตอนนี้ยอดการรับชมคอนเทนต์ มิวสิกวิดีโอเพลงต่างๆ ยังกลายเป็น KPI ที่ศิลปินและค่ายเพลงใช้ชี้วัดความสำเร็จของคอนเทนต์พวกเขาไปแล้ว แถมยังเป็นพื้นที่ที่เปิดให้ผู้คนทั่วโลกเข้าถึงการฟังเพลงใหม่ๆ โดยไม่มีข้อจำกัดด้านกำแพงภาษา ตัวอย่างคือเพลงเกาหลี Gangnam Style ที่มียอดวิวสูงแตะหลัก 1 พันล้านครั้งได้เป็นเพลงแรกของ YouTube เช่นเดียวกับ Despacito ที่ตอนนี้มียอดการรับชมสูงกว่า 6.5 พันล้านครั้งแล้ว
เพราะฉะนั้น การรับฟังเพลงแต่ละเพลงของศิลปินผ่าน YouTube Music ก็จะถูกนำยอดการกดฟังไปคำนวณรวมบนแพลตฟอร์ม YouTube ด้วย พร้อมกันนี้ทาง YouTube ยังให้สัญญาอีกด้วยว่า ตัวศิลปินและค่ายเพลงก็จะได้รับค่าตอบแทนและผลประโยชน์ที่ดีแน่นอน (ไม่เปิดเผยโมเดลการแชร์รายได้) ซึ่งเพลงที่คัดมาอยู่บน YouTube Music จะเป็นเพลงที่ผ่านการตรวจสอบด้านลิขสิทธิ์แล้ว
ขณะที่ตัวศิลปินอิสระที่ต้องการจะส่งผลงานเพลงเข้ามาอยู่ใน YouTube Music อาจจะต้องทำงานร่วมกับ Distributors หรือตัวแทนที่ทำงานร่วมกับ YouTube โดยตรง โดยตอนนี้ YouTube Music จะโฟกัสไปที่คอนเทนต์กลุ่มเพลงมากกว่า จึงยังไม่มีแพลนเพิ่มเนื้อหาประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะ ‘พอดแคสต์’ ที่กำลังได้รับความนิยมเข้ามาอยู่รวมในแพลตฟอร์มสตรีมมิงมิวสิกของพวกเขา
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์