×

“Youth is a Future Changer” สุวิทย์ เมษินทรีย์ กับภารกิจเปลี่ยนประเทศ เตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21

24.12.2019
  • LOADING...
สุวิทย์ เมษินทรีย์

HIGHLIGHTS

9 MINS. READ
  • ดร.สุวิทย์ ตั้งเป้าให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นต้นแบบของการปฏิรูประบบราชการให้เป็นราชการน้อย คล่องตัว สามารถปลดล็อกกฎระเบียบบางอย่างได้ และมีการจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานในกระทรวงแบบ Block Grant และ Multi-year Budgeting งบประมาณต่อเนื่องแบบหลายปี ซึ่งหมายถึงการจัดสรรงบประมาณเป็นวงเงินรวมให้หน่วยงานสามารถบริหารงบประมาณได้อย่างอิสระ ยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพ แผนงานสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องจนบรรลุผลสำเร็จ
  • ทุกหน่วยงานมีศักยภาพ มีพลังการบริหารที่แม้จะถูกมองว่าเหมือนจับปูใส่กระด้ง แต่ ดร.สุวิทย์ ได้วางแนวทางโครงการที่จะให้หน่วยงานวิจัย สถาบันอุดมศึกษา สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า และสภาเกษตรกร ตลอดจนหน่วยงานสนับสนุนงบอย่างสํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย มาร่วมสร้างคน สร้างความรู้ สร้างนวัตกรรม โดยไม่ลืมเป้าหมายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจท้องถิ่น
  • โจทย์สำคัญของการเปลี่ยนประเทศไทยวันนี้ ดร.สุวิทย์ เน้นความสำคัญของกลุ่มเยาวชน นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ ที่จะเข้าถึงโอกาสและเป็นกำลังสำคัญต่อการสร้างประเทศไทยในอนาคต เพราะโลกอนาคตเป็นของคนรุ่นต่อไป
  • โครงการสำคัญของกระทรวงมีทั้งด้านที่สนับสนุนวัยทำงานอย่าง Non Degree และการเปิดโอกาสให้นักศึกษาผ่านโครงการยุวชนอาสาสร้างชาติ ที่ประกอบไปด้วย ยุวชนอาสา บัณฑิตอาสา และกองทุนยุวสตาร์ทอัพ

ผ่านพ้นศึกใหญ่ที่กระทรวงต่างๆ ต้องรับมือกับการอภิปรายร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กระทรวงน้องใหม่อย่าง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือในชื่อย่อภาษาไทยว่า ‘อว.’ และชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า MHESI อ่านได้ว่ามเหสี ที่มีอีกความหมายว่าผู้แสวงหาคุณธรรม หรือแปลว่าพระพุทธเจ้า เป็นหนึ่งในกระทรวงที่ถูกอภิปราย เพราะถือว่าดูแลด้านการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะพัฒนาคน

 

กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ถูกตั้งข้อสังเกตว่าได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับบทบาทความสำคัญของภารกิจ เช่น โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้ทรัพยากรมนุษย์สามารถต้านทานและอยู่ร่วมกับกระแส Technology Disruption ได้ 

 

ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงสำหรับอุตสาหกรรม New Growth Engine ตามนโยบาย Thailand 4.0 และการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย ปี 2561-2565

 

สุวิทย์ เมษินทรีย์

 

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ในฐานะเจ้ากระทรวง บอกว่างบประมาณจะมากหรือน้อยไม่สำคัญเท่ากับงบประมาณต้องได้รับการจัดสรรอย่างต่อเนื่อง

 

คำถามคือทำไมต้องเป็นงบประมาณต่อเนื่อง และกระทรวงน้องใหม่นี้มีอะไรที่น่าทำความรู้จักอีกบ้าง

 

THE STANDARD มีนัดกับเจ้ากระทรวงเพื่อทำความเข้าใจ ‘แนวทางปฏิรูป’ ทั้งปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูประบบงบประมาณ และปฏิรูปปลดล็อกกฎระเบียบ เพื่อทำให้กระทรวงสนองภารกิจได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ติดขัด 

 

พร้อมจะเป็นกระทรวงต้นแบบของการสร้าง ‘สร้างคน สร้างความรู้ สร้างนวัตกรรม’ พาประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 อันเป็นความท้าทายทั้งสำหรับรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเจ้ากระทรวงที่ผ่านงานปฏิรูปมาอย่างโชกโชน

 

สุวิทย์ เมษินทรีย์

 

กระทรวงนี้จัดตั้งขึ้นมาเพื่ออะไร

เพื่อคิดว่าเราจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ จะเตรียมคนไทยให้ไปสู่ศตวรรษที่ 21 ได้อย่างไร ประเด็นคือองคาพยพที่มีอยู่เดิมมันไม่ตอบโจทย์ เพราะตัวขับเคลื่อนคือองค์ความรู้ แต่เดิมนั้นองค์ความรู้ก็ไปอยู่กระทรวงศึกษาธิการ อีกส่วนหนึ่งก็อยู่ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และการจัดสรรงบประมาณการวิจัย ซึ่งการวิจัยเป็นหัวหอกสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศก็ไปอยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี (เทียบเท่ากระทรวง) จึงมองว่าต่างคนต่างอยู่ เราน่าจะมารวมกันแล้วมีโจทย์ให้ชัดเจน 

 

ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ดูแลอุดมศึกษา ซึ่งอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ บวกกับสภาวิจัยแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ทั้ง 4 หน่วยงานนี้รวมกันเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 

 

ภารกิจมี 3 ข้อ หนึ่ง สร้างและพัฒนาคนให้มีความพร้อมไปสู่ศตวรรษที่ 21 สอง คนที่เราสร้างก็จะไปสร้างองค์ความรู้ งานวิจัยต่างๆ และองค์ความรู้ก็จะไปตอบโจทย์ภารกิจที่สาม คือสร้างนวัตกรรม โดยกระทรวงนี้ยังเป็นต้นแบบของการปฏิรูปในอีก 3 เรื่องคือ

 

หนึ่ง ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน โดยให้มีความคล่องตัว มีระบบราชการน้อยที่สุด ซึ่งหน่วยราชการในองค์กรนี้น้อยมาก

 

การปฏิรูปอันที่สองคือเรื่องงบประมาณ ซึ่งที่ผ่านมาเราติดขัดเรื่องนี้เยอะมาก เราต้องมาลุ้นปีต่อปีว่าปีนี้มีงบ ปีหน้าไม่มีงบหรือไม่ 

 

ดังนั้นระบบงบประมาณของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จึงเป็นแบบ Multi-year คือสามารถทำงบประมาณต่อเนื่องแบบหลายปีได้ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่าองค์ความรู้จากการวิจัยจะงอกเงยในปีที่ 2 หรือปีที่ 3 ดังนั้นก็จะเกิดความคล่องตัว และงบก็จะเป็นก้อนใหญ่ (Block Grant) ซึ่งดีกว่าแบบเดิมที่เมื่อก่อนการให้งบประมาณการวิจัยจะมีการพิจารณาตามรายการและตามจำนวนที่มีการประมาณการมาตามข้อเสนอ 

 

แต่ด้วยลักษณะของการทำวิจัยที่จะต้องมีการทดลองหรือทดสอบหลายครั้ง ทำให้รายการหรือจำนวนที่ใช้ในการทำวิจัยจริงอาจไม่ตรงกับข้อเสนอ ซึ่งนักวิจัยจะไม่สามารถนำงบประมาณวิจัยไปใช้จ่ายในส่วนที่แตกต่างนี้ได้เลย นั่นคือแบบเดิมจะขาดความยืดหยุ่น

 

แต่ด้วยการให้งบประมาณวิจัยแบบ Block Grant คือการให้งบประมาณในการทำวิจัยเป็นก้อนนี้ นักวิจัยจะสามารถบริหารจัดการการใช้เงินภายในก้อนนี้ได้เองอย่างอิสระ ทำให้ช่วยแก้ปัญหาการใช้งบประมาณวิจัยได้ ซึ่งจะช่วยพัฒนาประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการทำงานวิจัยได้ดียิ่งขึ้น

 

การปฏิรูปเรื่องที่สามคือการปลดล็อกกฎระเบียบบางอย่างในปัจจุบันที่ปิดกั้นไม่ให้นวัตกรรมนั้นเกิด เพื่อให้เกิดการทดสอบได้ เรียกว่าเป็น Regulatory Sandbox เป็นสนามทรายที่จะลองว่าทำแล้วเวิร์กหรือไม่ ทำให้ผู้พัฒนาแต่ละโครงการจะสามารถพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสม เรียนรู้ผ่านการใช้งานจริง เห็นจุดบกพร่องและข้อดีข้อเสียได้ชัดเจน ทั้งยังปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ได้เมื่อใช้งานจริง

 

สุวิทย์ เมษินทรีย์

 

จากที่เล่ามา ภารกิจของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เหมือนยังเป็นเรื่องของนักวิจัย นักวิชาการ แต่สำหรับชาวบ้านทั่วไปจะได้รับอะไร หรือมีความเกี่ยวพันอย่างไรบ้างกับกระทรวงนี้ 

จริงๆ มันครอบคลุมหลายอย่าง เช่น เรื่องโดรนก็จะเอาไปใช้ในหลายเรื่อง ทั้งด้านเกษตร ด้านขนส่ง แต่กฎระเบียบต่างๆ ที่มีอยู่วันนี้มีหลากหลายและอยู่ต่างกระทรวง มันจึงเป็นอุปสรรค สมมติเราเชื่อว่าโดรนจะพลิกโฉมการเกษตรและการขนส่งหลายๆ เรื่อง วันนี้ถ้ามีคนพูดว่าจะให้โดรนทำประโยชน์ได้จริงๆ ต้องมีการปลดล็อกเรื่องของ Sandbox หรือบางเรื่องที่เราค้างคากันมานาน แต่เราต้องดูอีกเยอะในวันหน้า เช่น การรักษาที่เรียกว่าเป็นการแพทย์แม่นยำ ซึ่งดูไปถึงระดับดีเอ็นเอ แต่ก็มีประเด็นเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวของข้อมูลว่าจะเก็บรักษาอย่างไร ก็จะมีผลกระทบต่างๆ ถ้าเราประกาศไปทันที ซึ่งถ้านำกฎระเบียบเก่ามายึดถือก็จะทำอะไรไม่ได้เลย ตรงนี้ก็จะต้องมี Sandbox

 

ถ้าให้สรุป กระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะดูแลลูกหลานในวันข้างหน้าได้อย่างไรบ้าง

หนึ่ง ทำให้ลูกหลานมีปัญญา สอง กระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะสร้างโอกาสเพื่อให้ลูกหลานมีอนาคต เราเป็นกระทรวงแห่งปัญญา โอกาส และอนาคต ซึ่งอนาคตจะมีได้เมื่อคุณเปิดโอกาส แต่ถ้าไม่มีปัญญาก็จะอยู่ไม่ได้ ในศตวรรษที่ 21 โลกอนาคตไม่ใช่โลกของคนแก่ เป็นโลกของคนหนุ่มสาวแล้ว เขามีอะไรดีๆ เยอะ เพียงแต่เราไม่ให้โอกาสเขา   

 

สุวิทย์ เมษินทรีย์

 

แล้วในอนาคต กระทรวงการอุดมศึกษาฯ มองตัวเองไว้อย่างไร

มองว่าเราจะมีส่วนบูรณาการอย่างไรในกระแส Technology Disruption และเมื่อกระทรวงได้ส่งเสริมพลังให้คนทุกช่วงวัยมีนวัตกรรม มีทักษะที่เท่าทัน มีโครงการที่ดำเนินไปได้ต่อเนื่อง เราก็จะไปต่อได้ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และสามารถผลักดันประเทศด้วยเศรษฐกิจใหม่อย่าง BCG Economy ในที่สุด

 

การเปลี่ยนผ่านจากโครงสร้างเดิมหลายหน่วยงานหลักๆ มาสู่การตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ทิศทางของการทำงานร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาหรือหน่วยงานที่โอนมามีความยากอย่างไร และจะทำงานร่วมกันอย่างไรบ้าง

อย่างที่บอกว่าที่เราควบรวมเพราะคิดว่าดีกว่าต่างคนต่างอยู่ มันจะเกิดพลังเพราะองค์ความรู้ ส่วนหนึ่งก็อยู่ในสถาบันการศึกษา ส่วนหนึ่งก็อยู่ในสถาบันวิจัยของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็มาคิดกันว่าจะทำให้เกิดประโยชน์อย่างไร 

 

อย่าง ณ วันนี้ แนวคิดของสถาบันอุดมศึกษาก็ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ผลิตบุคลากรที่มีการศึกษาชั้นสูง ผลิตบัณฑิตอย่างเดียว แต่ต้องเปลี่ยนเป็นสนับสนุนการศึกษาตลอดชีวิต ‘Lifelong Education’ 

 

คิดง่ายๆ นักศึกษาที่จบมาแล้ว 5 ปี ณ วันนี้ก็โดนเทคโนโลยีป่วนโลก เผลอๆ งานที่ทำ วิชาชีพที่เรียนมา ความรู้ที่เรียนมาก็ใช้ไม่ได้ มี AI มาทำงานแทน แต่เราต้องไม่กลัว AI และต้องรู้ว่าจะทำงานร่วมกับ AI อย่างไร 

 

ดังนั้นบทบาทของมหาวิทยาลัยก็จะมีโจทย์ที่มากขึ้น ไม่ใช่แค่การผลิตบัณฑิตแล้ว เพราะนอกจากจำนวนบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยผลิตออกมาปีละ 4-5 แสนคน เรายังมีคนวัยทำงานกว่า 38 ล้านคนที่ก็มีโอกาสโดน Technology Disrupt ทำให้ต้องเปลี่ยนงาน ต้องอัปเกรดทักษะ ซึ่งเรียกว่า Reskill, Upskill และ New Skill ดังนั้นจึงเป็นตลาดใหญ่ เพราะวัยทำงานก็อยากหาทักษะใหม่ๆ อาชีพใหม่ๆ มหาวิทยาลัยก็จะมาตอบโจทย์ตรงนี้ โดยจะมี Non Degree Program ที่จะให้ผู้เรียนมีทักษะ มาเติมเต็มให้วัยทำงานที่จำเป็นต้องรู้ทักษะเหล่านั้นเพื่อเอาไปทำงานได้มาเรียน 

 

สุวิทย์ เมษินทรีย์

 

เป้าหมายของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ อีกเรื่องคือเยาวชน โดยคิดว่าจะทำอย่างไรให้เยาวชนเป็นผู้กำหนดอนาคตประเทศ เราจึงมีโครงการยุวชนสร้างชาติ ประกอบไปด้วย กองทุนยุวสตาร์ทอัพ เป็น Youth Startup Fund ที่จะตั้งต้นสำหรับทำไอเดียสร้างสรรค์ต่างๆ สนับสนุนเยาวชนและสถาบันการศึกษา พัฒนาศักยภาพเยาวชนไปสู่การเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ผ่านการบ่มเพาะ (Grooming) สร้างประสบการณ์จริง (Experiencing) สร้างทรายเม็ดใหม่ (Enterprising) พร้อมทั้งเปิดเวทีแสดงความสามารถของคนรุ่นใหม่โดยมาเอาเงินจากกองทุนนี้ เริ่มต้น 3-5 หมื่นบาท จากนั้นเมื่อเกิดเป็น Prototype เริ่มมองเห็นลางๆ เป็นธุรกิจ หรือวิสาหกิจทางสังคม ก็เอาไปอีก 3 แสนบาทเพื่อไปทำต่อ แล้วท้ายที่สุดก็อาจเอาบริษัทมาร่วมมือกับสตาร์ทอัพนั้น หรือเรามีกองทุนตั้งตัวอีก 3 ล้านบาท ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างสังคมแห่งโอกาส เปลี่ยนคุณค่าความคิดออกมาเป็นมูลค่าทางธุรกิจ นี่คือกองทุน

 

อีกโครงการคือ โครงการยุวชนอาสา ที่จะให้นักศึกษาปี 3-4 หลากคณะจับกลุ่มกันไปอยู่กับชุมชน 3-4 เดือน หรือ 1 ภาคการศึกษา ซึ่งตรงนี้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือของสถาบันการศึกษาให้เป็นวิชาที่มีหน่วยกิตเพื่อไปช่วยชุมชน เช่น ไปทำอีคอมเมิร์ซให้ชุมชน ช่วยให้เกิดการท่องเที่ยวชุมชน ช่วยบริหารจัดการให้เกิด Smart Farmer ในชุมชน ก็จะทำให้ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์ ได้ติดอาวุธทางปัญญา ได้มีนวัตกรรม และนักศึกษาก็ได้ประโยชน์ ได้เรียนรู้จากชุมชนจริง ได้นำสิ่งที่เรียนมาไปใช้ทำงานกับประชาชนในพื้นที่โดยมีหน่วยกิตจากมหาวิทยาลัย และได้รับการโค้ชชิ่งด้วย โดยผลลัพธ์คือหากเกิดนวัตกรรมชุมชนได้ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะมีการประกวดแข่งขันได้รางวัลด้วย ก็จะเกิดการพัฒนาในระดับชุมชนมากขึ้น

 

แล้วเมื่อไปอีกขั้นก็จะเป็นโครงการสำหรับบัณฑิตที่จบไปคือ โครงการบัณฑิตอาสา จะมีรายได้จากรัฐบาลขณะไปทำงานในชุมชน 1 ปี เพื่อสร้างนวัตกรรมให้ชุมชนโดยได้รับความร่วมมือกับสรรพกำลังทั้งมหาวิทยาลัยในพื้นที่อย่างราชภัฏ หรือมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีและมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ บวกกับสถาบันวิจัยของเรา รวมถึงพลังของ 3 ภาคส่วนอย่างสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาเกษตรกร ก็จะมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระดับฐานรากได้ 

 

ทั้ง 3 โครงการนี้ก็จะช่วยผลักดันให้เยาวชนคนรุ่นใหม่สามารถเติบโตขึ้นมาเพื่อใช้พลังและความตั้งใจที่มีอยู่ร่วมกันเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้น โดยมีปัญญา มีนวัตกรรม มีทักษะ ซึ่งเป็นเป้าหมายของนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษาฯ คือ ‘Youth is a Future Changer’

สุวิทย์ เมษินทรีย์

 

จากโครงการจำนวนมาก อยากทราบว่ากระทรวงการอุดมศึกษาฯ มีแนวทางจัดลำดับความสำคัญอย่างไรที่จะทำโครงการใดก่อนหรือหลัง

กระทรวงนี้ไม่เหมือนกับกระทรวงอื่น บางโครงการก็เห็นผลช้า เพราะมันเป็นงานฐานรากของประเทศ เราทำแบบประเดี๋ยวประด๋าวไม่ได้ ไม่สามารถเห็นผลได้ใน 3 เดือนหรือ 6 เดือน แต่ถ้าอะไรที่ทำได้ก่อนเลยก็คือ Non Degree มหาวิทยาลัยพร้อมอยู่แล้ว และคนก็ต้องการอยู่แล้ว ต้องบริหารจัดการให้ดี ซึ่งล่าสุด 11 บริษัทเอกชนใหญ่บวกกับสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย บวกกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศประมาณ 150 แห่ง ก็มาตั้งโจทย์และนำเสนอโครงการของบริษัท นำเสนอโปรแกรมของมหาวิทยาลัยว่ามีอะไรบ้าง เราก็นำมาเชื่อมต่อกันกับข้อเสนอของสรรพากรและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่หากบริษัทไหนมีทำโครงการ Reskill หรือ Upskill ก็จะมีการลดหย่อนภาษีให้

 

อีกโครงการคือกรณีพนักงานอยากไปลงเรียนโปรแกรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเองเพื่อหาความรู้ ก็จะมีโครงการให้คูปองเพื่อเป็นการลงทุนในตัวคน คนก็จะพัฒนาตัวเองได้แล้วจ่ายภาษีให้ประเทศได้สูงขึ้น ประเทศก็จะวิน-วิน 

 

สำหรับโครงการยุวชนสร้างชาติจะเป็นระยะปานกลางหรือระยะยาวจึงจะเห็นผล แต่อีกเรื่องที่ทำได้เลยก็คือการสร้างองค์ความรู้หรือนวัตกรรมโดยสถาบันอุดมศึกษาที่จะตอบโจทย์ประเทศ โดยกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะมีโจทย์ให้ ไม่ให้เป็นเบี้ยหัวแตก อย่างการวิจัยที่เป็นเรื่องของการขจัดความยากจน เรื่องของ Local Economy ก็จะเป็นบทบาทวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นเจ้าภาพ

 

แต่ถ้าวิจัยเกี่ยวกับนวัตกรรม อุตสาหกรรม 10 S-Curve ก็จะมี 3 พระจอม, ราชมงคล, อาชีวะ เป็นเจ้าภาพ แต่ถ้าเป็นวิจัยชั้นสูง เป็นเรื่อง Genomics ก็จะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำไปสู้กับต่างประเทศ อย่างนี้มหาวิทยาลัยก็จะตอบโจทย์ประเทศไทย

 

สุวิทย์ เมษินทรีย์

 

ต้องยอมรับว่าความต่อเนื่องของโครงการขึ้นอยู่ความต่อเนื่องของการเมือง จะทำอย่างไรให้โครงการเหล่านี้ต่อเนื่อง

ผมเชื่อว่าถ้าเราติดกระดุมเม็ดแรกถูก ที่เหลือก็คงไม่ได้ยาก เพราะฉะนั้นหน้าที่ผมตอนนี้ก็เป็นการสร้างโครงให้เข้ารูปเข้ารอย กระทรวงนี้เป็นอะไรที่มีวิชาการอยู่ ดังนั้นคงไม่เป็นการเมือง

 

สุวิทย์ เมษินทรีย์

 

ด้วยความเป็นกระทรวงใหม่ การเริ่มต้นเข้ามาทำงานต้องยากแน่ๆ แล้วระบบบังคับบัญชาก็ดูจะน้อย ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานในกำกับดูแล การทำงานเป็นอย่างไรบ้าง

เขามีพลังอยู่แล้ว เราเพียงแต่ไปช่วยและสนับสนุนเขา ดังนั้นจะเห็นว่าหน้าที่ของผมคือ หนึ่ง จุดไฟให้มันกระพือ ทำอย่างไรให้นโยบายทำได้ชัด สองคือบริหารจัดการ เพราะต่างคนต่างทำก็ไม่มีพลัง สามคือเตรียมงบประมาณที่จะเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต ติดอาวุธทางปัญญาด้วยการสร้างคน ให้เกิดนวัตกรรมสร้างคน นวัตกรรมสังคม 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X