×

‘Youth In Charge’ แพลตฟอร์มเพื่อเยาวชนที่กำลังเดินหน้าภารกิจใหญ่ ‘Youth Power ขับเคลื่อน Soft Power’ เพราะเชื่อว่า ‘ไม่มีใครเหมาะจะขับเคลื่อน Soft Power เท่ากับเยาวชน’ [ADVERTORIAL]

12.12.2023
  • LOADING...

นับตั้งแต่ เอริกา เมษินทรีย์ เช็น กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิน เดอะ ลีด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม Youth In Charge คิกออฟแพลตฟอร์มเพื่อพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำและโอกาสของเยาวชนไทย ในฐานะพื้นที่แห่งโอกาส เพื่อให้เยาวชนทุกคนได้พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำงานกับคนเจนเดียวกัน และภาคีเครือข่ายจากหลายภาคส่วนไปเมื่อปลายปี 2563 จนถึงวันที่ Youth In Charge กำลังจะจัดงานใหญ่ ‘Youth Power ขับเคลื่อน Soft Power’ ที่หอศิลปกรุงเทพฯ (BACC) ในวันที่ 12-17 ธันวาคมนี้ ‘Youth In Charge’ ดึงศักยภาพของพลังเยาวชน และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเมืองไทยในมิติใดบ้าง และเรื่องเหล่านี้เกี่ยวข้องกับคนทุกเจนอย่างไร?  

 

เอริกา เมษินทรีย์ เช็น กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิน เดอะ ลีด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด
และผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม Youth In Charge

 

เผื่อใครที่ไม่เคยรู้จัก ‘Youth In Charge’ ขอสรุปสั้นๆ ว่า นี่คือแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำของเยาวชนไทย ด้วยความเชื่อว่าเยาวชนมีศักยภาพและพลังล้นเหลือ และพวกเขานี่แหละคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สุดที่จะต้องใช้ชีวิตอยู่ในอนาคต พวกเขาจึงควรมีบทบาทในการนำหรือร่วมนำการออกแบบอนาคตผ่านการเป็น ‘พันธมิตรของชาติ’ ร่วมขับเคลื่อนวาระสำคัญกับผู้ใหญ่ในทุกภาคส่วน โดยมีภาคีพันธมิตรที่จะร่วมกันเสริมสร้างองค์ความรู้ พัฒนาทักษะ และเติมเต็มความสามารถที่หลากหลาย เพื่อให้พวกเขาเป็น ‘เยาวชนผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ (Future Changer) ได้จริง

 

ไม่เกินจริง เพราะเบื้องหลังการเกิดขึ้นของ Youth In Charge ก็มาจากตัวเอริกา ที่ขณะนั้นกำลังศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 3 เธอบอกกับเราว่า เธอสนใจเรื่องการศึกษาและการพัฒนาคนมาโดยตลอด โอกาสที่เธอได้รับจากการเข้าไปเรียนรู้เรื่องของการเป็นผู้ประกอบการตอนเรียนมหาวิทยาลัยเมื่อ 10 ปีก่อน และได้ฝึกงานที่ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการแห่งหนึ่ง คือจุดสตาร์ทของ Youth In Charge ในอีกหลายปีต่อมา

 

“มันเริ่มมาจากที่ผู้ใหญ่ให้โอกาสเราลองออกแบบกิจกรรมที่จะสร้างการมีส่วนร่วม และสร้างจิตวิญญาณการเป็นผู้ประกอบการให้กับคนรุ่นใหม่ ซึ่งในตอนนั้นเป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับทุกคน เขาก็เลยให้เราลองรันกิจกรรมเอง คนที่มาอบรมหลายคนอายุมากกว่า มีประสบการณ์มากกว่า นอกจากความท้าทายแล้วยังเป็นงานที่เปิดทางให้เราได้เจอกับโอกาสอีกมากมาย จนได้ไปเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ต้องไปออกแบบกิจกรรมและสอนเรื่องการบ่มเพาะความเป็นผู้ประกอบการ ความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นผู้นำ จุดนั้นเองที่คอนเฟิร์มว่าเราสนใจเรื่องการพัฒนาคนจริงๆ”

 

เอริกาบอกว่า ตอนเริ่มต้นยังหาทิศทางที่ชัดเจนไม่เจอว่าจะทำให้องค์กรเติบโตไปในทิศทางไหน รู้แค่ว่าอยากทำให้เยาวชนที่มีความสามารถต่างกัน มีความสนใจไม่เหมือนกัน จากต่างสถาบัน ได้มาเจอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทำงานร่วมกันผ่านแพลตฟอร์มของ Youth In Charge

 

แนวคิดและจุดยืนของ Youth In Charge เริ่มชัดเจนขึ้นหลังจากเริ่มคิกออฟภารกิจแรกในปี 2020 กับโครงการ Youth In Charge Leadership Academy โดยคัดเลือกเยาวชนอายุ 16-26 ปี จากทั่วประเทศ 85 คน เข้ามาเป็นตัวแทนของความหลากหลาย ทั้งพื้นเพ ความรู้ ความสามารถ ความสนใจ โอกาส และข้อจำกัด มาร่วมรับฟังแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดที่แตกต่างในสังคม 

 

 

“คอนเซปต์ ณ ตอนนั้นคือ ดึงเยาวชนกับข้าราชการรุ่นใหม่ในกระทรวงต่างๆ ให้พูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิดและรับฟังซึ่งกันและกัน เป็นการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง นโยบายที่อยากเห็น ฟีดแบ็กดีมาก ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะปีนั้นเกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชน แม้จะมีหลายหน่วยงานที่เริ่มอยากฟังเสียงของเยาวชน เริ่มดึงพวกเขาเข้าไปมีส่วนร่วม แต่ส่วนตัวมองว่ายังเป็นเพียงการรับฟังที่ยังไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง เยาวชนควรจะได้เป็นผู้นำตั้งแต่ต้นทาง และในระหว่างทางก็ต้องมีส่วนร่วม เพราะเวลาที่พูดถึงวาระสำคัญของอนาคต คนที่จะมีส่วนได้ส่วนเสียก็คือเยาวชน เราไม่ควรไปตัดสินใจแทนเขา แต่ควรให้เขาได้มีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคต ทุกเรื่องที่ผู้ใหญ่ขับเคลื่อนอยู่ เยาวชนต้องสามารถมีส่วนร่วมได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเยาวชนไปจนถึงภาพอนาคต” 

 

เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการต้องแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และทำงานร่วมกันอย่างเข้มข้นตลอด 24 สัปดาห์ เอริกาบอกว่า นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอเห็นว่า อะไรที่จะกระตุ้นการมีส่วนร่วมของพวกเขาได้ และอะไรคือกุญแจสำคัญที่ทำให้แพลตฟอร์มนี้ขับเคลื่อนพลังเยาวชนได้อย่างแท้จริง   

 

 

“ช่วงเริ่มต้นหลายคนไม่เข้าใจว่า Youth In Charge ต่างอะไรกับสภานักเรียนนักศึกษาที่พวกเขามีอยู่ หรือเป็นแค่อีกหนึ่งองค์กรเยาวชน แต่เราพิสูจน์ให้เห็นว่า หน้าที่ของเราคือการผนึกกำลังทุกสถาบันการศึกษา ทุกองค์กรเยาวชนเข้าด้วยกัน และทำให้ผู้ใหญ่ได้เห็นว่า เยาวชนเหล่านี้มีมิติที่หลากหลาย มีศักยภาพที่รอการปลดปล่อยอีกหลายด้าน โดยมี Youth In Charge เป็นตัวกลางเชื่อมเยาวชนและผู้ใหญ่ให้ปรับตัวเข้าหากันอย่างเป็นธรรมชาติ” 

 

กุญแจสำคัญของแนวคิดข้างต้นคือ ‘คอนเน็กชัน’ ซึ่งเป็นจุดแข็งของ Youth In Charge ด้วย เอริกาบอกว่า อีกพาร์ตหนึ่งของ Youth In Charge คือการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อแก้ Pain Point ของเยาวชนที่ไม่สามารถต่อยอดแนวคิดดีๆ ให้กลายเป็นรูปเป็นร่างได้ 

 

“เยาวชนมีศักยภาพ มีพลัง มีความหลากหลาย แต่สิ่งที่พวกเขาทำได้มีข้อจำกัด อย่างไรเด็กก็ต้องการผู้ใหญ่ Youth In Charge จึงพยายามหาจุดที่พวกเขาสามารถปรับจูนกันได้ โดยที่ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ ดังนั้น เราเองต้องหาให้ได้ว่าทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์อะไรจากการมาร่วมแพลตฟอร์มเรา” 

 

 

ภารกิจต่อมาที่เอริกาบอกว่าช่วยพิสูจน์ศักยภาพและพลังเยาวชนไปอีกขั้นคือ การพาเยาวชนไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในเวที APEC เมื่อปี 2565 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน เช่น โครงการ Youth APEC: Amplify Your Voices, Amplify Your Ideas, Amplify Your Impact เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ได้ร่วมเสนอแนวทางการสร้างสังคม เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นให้กับพื้นที่ของตน ผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG 

 

ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติและหนึ่งในหัวข้อหลักของการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค หรือการจัดกิจกรรม Regional Youth Symposium เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอของเยาวชนต่อการพัฒนาพื้นที่ของตนอย่างสมดุล ทั่วถึง และยั่งยืน (Sustainable) รวมไปถึงการได้คัดเลือก 10 โครงการ ‘เยาวชนขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG’ และนำไปจัดแสดงที่งาน APEC 2022 

 

“เวที APEC เป็นเรื่องไกลตัวมากสำหรับเยาวชน แต่เราเห็นโอกาสตรงนั้น โชคดีว่าประเทศไทยเป็นเจ้าภาพและหยิบประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ BCG ของไทย และ SDGs ของโลกเป็นประเด็นหลัก ซึ่งเรื่องความยั่งยืนเป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ และไม่ได้จำกัดแค่มิติของสิ่งแวดล้อม เพราะพอพูดถึงเรื่อง SDGs มันครอบคลุมไปถึงความเท่าเทียม การศึกษา ดังนั้นเยาวชนควรจะเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งเยาวชนตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับ BCG อยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องที่ไปเกี่ยวข้องกับทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน ผลสำเร็จที่เห็นได้ชัดคือ พวกเขามีโอกาสเข้าไปแลกเปลี่ยน หารือกับผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ในงาน APEC Senior Officials’ Meeting (SOM) รวมไปถึงโครงการต้นแบบต่างๆ ของเยาวชน ก็ถูกนำไปจัดแสดงที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สะท้อนให้เห็นว่าเรากำลังก้าวข้ามกำแพงที่ใหญ่มากๆ ได้ และเป็นการมีส่วนร่วมของเยาวชนแบบมีนัย ไม่ใช่แค่มีส่วนร่วมพอเป็นพิธี” 

 

เมื่อทลายกำแพงใหญ่สำเร็จ Youth In Charge ก็เร่งเครื่องเดินหน้าเรื่อง Soft Power ทันที ภายใต้แคมเปญ ‘Youth Power ขับเคลื่อน Soft Power’ โดยเริ่มคิกออฟกิจกรรมตั้งแต่ปลายปี 2022  

 

“การขับเคลื่อน Soft Power ต้องการความคิดสร้างสรรค์และความสดใหม่ ที่สำคัญประเทศไทยไม่สามารถขาด Soft Power ได้ เพราะเราเป็นประเทศเล็กๆ การจะทำให้เรามีพื้นที่บนเวทีโลกและเป็นที่ยอมรับได้ จำเป็นต้องมี Soft Power ส่วนตัวมองว่า Soft Power ของไทยอย่างไรก็หนีไม่พ้นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และทุนทางวัฒนธรรม เพราะไทยมีแต้มต่อเรื่องความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม รวมถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมจากความต่างของแต่ละภูมิภาค” 

 

เมื่อพูดถึงเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ความสดใหม่ กลุ่มคนที่เติบโตมาพร้อมองค์ความรู้ใหม่ๆ และอยู่บนโลกที่เทรนด์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาก็คือ ‘เยาวชน’  

 

“ไม่มีใครเหมาะจะขับเคลื่อน Soft Power เท่ากับเยาวชน พวกเขาเกิดและเติบโตในพื้นที่ เขาได้เห็นทั้งสิ่งเก่า สิ่งปัจจุบัน และสิ่งที่เขาอยากจะต่อยอด ขณะเดียวกันในอนาคตเยาวชนจะเป็นทั้ง Demand และ Supply ของ Soft Power”  

 

ตั้งแต่ต้นปี 2023 ‘Youth Power ขับเคลื่อน Soft Power’ สร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนในภูมิภาคต่างๆ ผ่านกิจกรรมหลากหลาย อย่างภาคอีสาน ได้ลงพื้นที่ในช่วงเทศกาล ‘อีสานสร้างสรรค์ (Isan Creative Festival)’ ซึ่งเยาวชนได้ขึ้นเวทีเสวนาหาแนวทางในการสร้างและขับเคลื่อน Soft Power ของภูมิภาค เพื่อค้นหาจุดเด่นทางชีวภาพและวัฒนธรรมในพื้นที่ อีกทั้งยังได้แสดงศิลปวัฒนธรรมต่างๆ รวมถึงเข้าร่วม Soft Power Workshop และ Focus Group อีกด้วย   

 

 

“ค่าย Youth Power ขับเคลื่อน Soft Power ก็เป็นกิจกรรมที่สร้างผลลัพธ์ที่ดี เป็นการรวมตัวแทนจากภูมิภาคต่างๆ ให้มาเจอกัน เขาได้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เราก็มีคำถามให้เขาได้ดีเบต เช่น คิดว่าการขับเคลื่อน Soft Power ไทยควรขับเคลื่อนกระแสหลักหรือกระแสรอง เด็กบางคนมองว่า Soft Power กระแสหลักคือโขน ต้มยำกุ้ง มวยไทย พอถามว่าอะไรคือกระแสรอง เขาจะมองเรื่องของเพลงลูกทุ่ง ที่สามารถพัฒนาเป็น Global Music ได้ งานคราฟต์ เทศกาลท้องถิ่น หรืออาหารบางอย่างที่ยกระดับให้แมสได้ 

 

“สุดท้ายเขาอยากเห็นความสำคัญมากขึ้นในกระแสรอง เพราะจะสร้างโอกาสและความแปลกใหม่ให้กับประเทศ แต่จะไปถึงจุดนั้นได้ต้องเอาสิ่งที่คนคุ้นเคยอยู่แล้วเป็นด่านแรกเพื่อดึงดูดคนเข้ามา แล้วใช้โอกาสนั้นในการแนะนำไปสู่กระแสรองต่อไป เพื่อวันหนึ่งกระแสรองจะกลายเป็นกระแสหลัก นี่คือสิ่งที่เยาวชนในค่ายช่วยกันสรุปออกมา”  

 

 

เอริกายกตัวอย่างการขับเคลื่อนพลัง Soft Power ที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ‘Hatyai on Earth’ กลุ่มเยาวชนจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่สนใจเรื่องศิลปะและมองเห็นเสน่ห์ของหาดใหญ่ จึงอยากสร้างพื้นที่ให้ศิลปินและคนทั่วไปได้มาจัดแสดงงาน มีพาร์ตเนอร์กับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เช่น Songkhla National Museum (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา) จัดนิทรรศการ ‘SongKhla Reviving City: สงขลาฟ้าฟื้น’ ดึงเสน่ห์ความเก่าแล้วเล่าด้วยความเป็นสากล เพื่อเชื่อมผู้คนและยุคสมัยเข้าด้วยกัน  

 

“มีหลายผลงานที่เราภูมิใจเพราะเริ่มต้นมาจากเรา อย่างทีม ‘Hatyai on Earth’ พอจุดไฟติดเขาก็ไปต่อยอดขยายผลกันเอง หรืออย่างเยาวชนจากภาคใต้และภาคเหนือ ที่นำผ้าท้องถิ่นของพื้นที่มาฟิวชันและทำแฟชั่นโชว์ร่วมกัน หรือน้องที่อยู่วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทำเครื่องประดับโดยได้แรงบันดาลใจจากลายไทยหรือความเชื่อไทย มาดีไซน์ให้เป็นเครื่องประดับสมัยใหม่”  

 

จะเห็นว่ากิจกรรมที่ผ่านมา และตัวอย่างความสำเร็จของเยาวชนที่เข้าร่วม Youth In Charge ให้มากกว่าแค่พื้นที่ในการแสดงศักยภาพ เอริกาบอกว่า นอกจากการได้เพื่อน ได้สังคม ได้เครือข่าย ยังได้ประสบการณ์ในการเป็นผู้นำ  

 

“เราให้เยาวชนได้ In Charge สมชื่อ อย่างงาน ‘Youth Power ขับเคลื่อน Soft Power’ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 12-17 ธันวาคมนี้ ที่หอศิลปกรุงเทพฯ (BACC) ไอเดียตั้งต้นก็มาจากเยาวชน แถมมาช่วยเป็นสตาฟฟ์ในการเตรียมงานและจัดงานด้วย”  

 

 

เอริกาย้ำว่างานครั้งนี้ไม่ใช้เส้นชัย และไม่ใช่บทสรุปของ Youth In Charge แต่เป็นการรวบรวมสิ่งต่างๆ ที่ทำมาภายใต้แคมเปญ ‘Youth Power ขับเคลื่อน Soft Power’  

 

“การทำแคมเปญนี้ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าเราสร้างการมีส่วนร่วมกับเยาวชนทั่วประเทศได้จริง และค้นพบว่าพวกเขามีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับ Soft Power คิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับภูมิภาคของเขา เห็นศักยภาพอะไรซ่อนอยู่ อยากบอกอะไรกับผู้ใหญ่ จะได้เห็นการเดินทางตั้งแต่จุดเริ่มต้นแคมเปญกว่าจะถึงวันนี้ว่าผ่านอะไรมาบ้าง และได้อะไรมาแล้วบ้าง

 

 

“อยากให้งานที่จะเกิดขึ้นเป็นจุดเริ่มต้นบทใหม่ของ Youth In Charge มากกว่า ส่วนตัวมองว่าเรามาไกลมากในส่วนของภาคีและเครือข่ายเยาวชน แต่มันจะก้าวต่อไปได้ต้องมีฝ่ายส่งเสริมสนับสนุนงบประมาณ ความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ และความสนใจของเยาวชน ภายในงานจึงเชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับก้าวต่อไปของ Youth In Charge ไม่ว่าจะเป็นภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน เช่น รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ, ผู้นำจากมูลนิธิเอสซีจี, กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน), สื่อ, นักการตลาด, ครีเอทีฟชั้นนำ รวมถึงตัวแทนเยาวชนของ Youth In Charge และตัวแทน Soft Power Ambassadors”  

 

ภายในงานนอกจากจะได้รับฟังมุมมองที่หลากหลายจากคนต่างเจน ในหัวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน Soft Power ยังถือโอกาสเปิดตัวแคมเปญ Soft Power Ambassadors อีกด้วย 

 

“แคมเปญ Youth In Charge Soft Power Ambassadors เกิดจากการที่เราลงพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อเสาะหาคนรุ่นใหม่เก่งๆ ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงคนไทยที่แสดงศักยภาพและสร้างชื่อเสียงในต่างประเทศในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มาเป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนและคนรุ่นใหม่คนอื่นๆ เรามองว่าคนกลุ่มนี้คือ Unsung Hero มีศักยภาพความคิดสร้างสรรค์สิ่งดีๆ แม้อาจไม่มีใครเห็นแต่ก็ยังคงทำต่อไป บางคนเริ่มเป็นที่รู้จัก แต่บางคนควรจะได้รับการยกย่องมากขึ้น และควรจะมีพื้นที่บนเวทีระดับประเทศ 

 

“Soft Power Ambassadors กว่า 50 เคส คือตัวอย่างของศักยภาพที่หลากหลาย เราอยากให้คนเหล่านี้เป็นต้นแบบให้เยาวชนได้เห็นว่า อุตสาหกรรมสร้างสรรค์สามารถทำเป็นอาชีพ สร้างรายได้ สร้างชื่อเสียงได้จริง ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับโลก ดังนั้นเราจึงมองหาคนที่สามารถเอาทุนท้องถิ่นมายกระดับหรือต่อยอดได้ และพัฒนาต่อจนเห็นเป็นรูปธรรม ไปจนถึงคนไทยในต่างประเทศ เพื่อเป็นข้อพิสูจน์ว่า เยาวชนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก”

 

ขอยกตัวอย่าง Soft Power Ambassadors ส่วนหนึ่งที่น่าสนใจ อย่าง ‘บิทเติ้ล’ ศิลปินเจ้าของเพลงดัง ‘ห้านาทีบรรลุธรรม’ ผู้นิยามลูกคอไทย ไร้ขีดจำกัด ที่นำเรื่องราวหลากหลายมาเล่าในสำเนียงแบบไทยๆ ให้มีสีสันน่าสนุกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น หนัง อนิเมะ วรรณคดีไทย  

 

‘DRCAS’ ศิลปินกราฟฟิตี้ ผู้ก่อตั้ง ADDICT ART STUIO และกระชับความสัมพันธ์ในชุมชนผ่าน Street Art บนฝาผนัง กำแพงบ้านของคนในชุมชนควรค่าม้า จังหวัดเชียงใหม่ เกิดเป็นคอมมูนิตี้ของชุมชนที่เข้มแข็ง และสามารถขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ใหม่ของชุมชนไปด้วยกัน 

 

อภิญานันท์ จงภักดี (ทอไหม) ผู้ก่อตั้งบริษัท TORMAI STUDIO ที่ไม่ใช่แค่สตูดิโอเสื้อผ้า แต่เป็นพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ที่มีแพสชันและเป้าหมายในอุตสาหกรรมแฟชั่น ได้เข้ามาเรียนรู้และสนุกกับการทำงานไปด้วยกัน 

 

วินนี่-เคสิยาห์ ชุมพวง และ ฮีโร่-วจนะ ชุมพวง ศิลปินสองพี่น้องผู้ที่ชื่นชอบและสนุกไปกับการสร้างสรรค์ เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Keziah รังสรรค์เสื้อผ้าจากภาพวาดแนว Abstract ของวินนี่ และ Impressionism ของฮีโร่ จนได้ขึ้นโชว์ใน New York Fashion Week 2022 และ Milan Fashion Week 2023 

 

 

เมื่อถามว่าทำไมเยาวชนและคนรุ่นใหม่ถึงควรมางานนี้ เอริกาบอกว่า “อยากให้ร่วมเฉลิมฉลองให้กับเสียง และความสามารถของเยาวชน

 

“อย่างที่บอกไป งานทั้งหมดเกิดขึ้นมาจากไอเดียของเยาวชน การมาร่วมงานจะทำให้เห็นว่าคนรุ่นเขามีความสามารถขนาดไหน และมาดูให้เห็นว่าที่ผ่านมาเสียงและไอเดียของเยาวชนสร้างคุณค่าและความหมายอย่างไร และเรื่องที่เคยคิดว่าไกลตัวอาจจะไม่ไกลอย่างที่คิด

 

“แต่ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน กลุ่มคนทั่วไปที่สนใจเรื่อง Soft Power สิ่งที่คุณจะได้กลับไปจากการมาร่วมงานคือ จะตอบตัวเองได้ว่า นิยาม Soft Power ในมุมมองของคุณคืออะไร และจะได้รู้ว่า Soft Power เกี่ยวข้องกับตัวคุณอย่างไร ภายในงานเราจัดนิทรรศการ ‘จุดเริ่มต้นเล็กๆ…สู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่’ เปิดพื้นที่ให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเยาวชนหรือคนทั่วไปที่คิดว่าตัวเองยังมีพลัง สามารถเสนอไอเดียดีๆ เพื่อขับเคลื่อน Soft Power ของไทยไปด้วยกันอย่างเป็นรูปธรรม” 

 

สำคัญที่สุด เราอยากให้ทุกคนได้เห็นต้นแบบของสังคมที่มีส่วนร่วม เดินหน้าขับเคลื่อนวาระสำคัญของประเทศไปด้วยกัน ถ้าเราทำแบบนี้กับเรื่อง Soft Power ได้ อีกหน่อยไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา ความเท่าเทียม ก็สามารถสร้างพื้นที่ให้คนทุกวัยเข้ามามีส่วนร่วม ทลายช่องว่างระหว่างวัย และระหว่างคนต่างอาชีพได้  

 

 

อย่างที่เอริกาบอกไปข้างต้นว่า อยากให้งาน ‘Youth Power ขับเคลื่อน Soft Power’ ที่จะเกิดขึ้นเป็นจุดเริ่มต้นบทใหม่ของ Youth In Charge เธอขยายความเพิ่มเติมพร้อมเล่าถึงการเดินทางบทต่อไปของ Youth In Charge ว่า

 

“เรื่อง Soft Power เป็นเรื่องที่ถูกจริตสำหรับเรา และเรามาถูกทางแล้ว เพราะเป็นเรื่องที่เยาวชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ และรากของมันซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ก็กระจายตัวไปทั่วประเทศ เรื่อง Soft Power เกี่ยวข้องกับปากท้องและรายได้ของคนในประเทศโดยตรง ถ้าผลักดัน Soft Power ได้จริงจะช่วยให้หลายคนลืมตาอ้าปากได้ ดังนั้น ปีหน้า Youth In Charge เดินหน้าขับเคลื่อน Soft Power ต่อแน่นอน และจะขยายผลจากปีนี้ รวมไปถึงเรื่อง APEC เราคงไม่หยุดแค่นั้น แต่จะค่อยๆ ขยับไปสู่การเป็น International Platform มากขึ้น” 

 

ย้ำอีกครั้งว่า ถ้าคุณคือเยาวชนที่มีศักยภาพ มีพลัง และมีความฝันที่อยากจะขับเคลื่อน Soft Power ไทย นี่คืองานที่จะทำให้ได้เห็นความเป็นไปได้ทุกช่องทางจากมุมมองของเยาวชนคนรุ่นใหม่เช่นคุณ รวมไปถึงบุคคลทั่วไปที่ยังเชื่อเต็มหัวใจว่ายังมีพลังที่พร้อมจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง และอยากเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน Soft Power ไทยให้ไปไกลสู่ระดับโลก มาพบปะแลกเปลี่ยนมุมมอง เสนอแนวคิดกันได้ในงาน ‘Youth Power ขับเคลื่อน Soft Power’ วันที่ 12-17 ธันวาคมนี้ ที่ห้อง New Gen Space: Space For All Generations ชั้น 3 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X