ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเผยผลวิจัยด้านพฤติกรรมนักลงทุน พบนักลงทุนรุ่นใหม่สนใจลงทุนคริปโตเคอร์เรนซีเพิ่มขึ้น เพราะคาดหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับผลตอบแทนจากตลาดทุนดั้งเดิม ลดความสนใจลงทุนในตลาดหุ้นลง และเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอผลการสำรวจ ‘พฤติกรรมเชิงลึกและไลฟ์สไตล์ทางการเงินของคนรุ่นใหม่’ ซึ่งเป็นโครงการสำรวจและศึกษาด้านพฤติกรรมนักลงทุน จัดโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบพฤติกรรมของนักลงทุน (Investor) และผู้มีศักยภาพเป็นนักลงทุน (Potential Investor) ในช่วงอายุ 18-39 ปี
จากการสัมภาษณ์เชิงลึก (Behavioral Insights) ของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 30 คน พบว่าส่วนใหญ่ที่เคยหรือลงทุนอยู่ในคริปโตเคอร์เรนซี อายุไม่เกิน 24 ปี (มี 10 คน) รองลงมาอายุมากกว่า 30 ปี (มี 8 คน) และมีผู้ที่ไม่เคยลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี (มี 12 คน)
คนที่เคย/ลงทุนอยู่ในคริปโตเคอร์เรนซี อายุไม่เกิน 24 ปี สนใจในคริปโตเคอร์เรนซี เพราะขับเคลื่อนจากตลาด ปลอดจากการกำกับดูแลและทันสมัย โดย 1 คนมีมากกว่า 1 บัญชี และเทรดไม่พร้อมกัน
นอกจากนี้ยังเป็นการลงทุนทดแทนตลาดหุ้น และมักลงทุนเฉพาะสินทรัพย์สมัยใหม่อื่น โดยเชื่อว่าความเสี่ยงคือความผันผวนเป็นเรื่องปกติ มีความกล้าเสี่ยง เพราะขาดทุนแต่ไม่ติดลบ ไม่มีหนี้สินก้อนใหญ่ และยังหารายได้ได้ และบริษัทส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นมักเป็นบริษัทขนาดใหญ่
ขณะที่ผู้ที่ลงทุนรายย่อยอายุมากกว่า 30 ปี สนใจในคริปโตเคอร์เรนซี เพราะเป็นการลงทุนแบบใหม่ผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงสูง, ทั้งทดลองเทรดเองและฝากคนใกล้ชิด, ลดการถือหุ้นเดิมบ้าง แต่ซื้อเป็นการกระจายพอร์ต โดยเชื่อว่าความเสี่ยงคือความไม่แน่นอน ต้องบริหารจัดการตนเอง (กระจายพอร์ต) และกล้าเสี่ยงอยู่บ้าง ค่อยๆ เรียนรู้จากการค่อยๆ เข้าตลาด
ส่วนคนที่ไม่เคยลงทุนในอายุไม่เกิน 24 ปี ไม่สนใจลงทุนคริปโตเคอร์เรนซี เพราะไม่รู้ปัจจัยกำหนด และต้องตามข่าวต่างประเทศ, คิดจะลอง แต่ยังไม่กล้า เพราะผันผวนมาก และบางคนเชื่อว่าความเสี่ยงคือความไม่แน่นอน ต้องหลีกเลี่ยง ลงทุนหรือไม่ รอฟังแนวทางจากภาครัฐ
ทั้งนี้คุณลักษณะผู้ที่ลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างนั้น อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 27 ปี ส่วนใหญ่จบปริญญาตรี (68.6%) สาขาที่จบเกี่ยวกับการเงิน 46.7% และไม่เกี่ยวกับการเงิน 53.3% กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชาย 55% หญิง 43% อื่นๆ 2% โดยมีความสนใจหุ้นสามัญลดลง แต่สนใจในคริปโตเคอร์เรนซีและสินทรัพย์สมัยใหม่เพิ่มสูงขึ้นมากในทุกกลุ่มตัวอย่าง
ผลสรุป พบ 6 Key Insights ของการสำรวจ ประกอบด้วย
- สรุปทัศนคติของนักลงทุนมีความแตกต่างกันตามอายุ แต่ทุกคนตัดสินใจจากสถานการณ์ปัจจุบันมากกว่าประสบการณ์ในอดีต
- การตัดสินใจเข้าลงทุนในตลาดทุน ขึ้นอยู่กับทัศนคติ ระดับเงินออม และความรู้
- บุคคลต้นแบบของกลุ่มประชากรและกลุ่มตลาดฯ ไม่เหมือนกัน และส่งผลต่อความต้องการของการลงทุนที่แตกต่างกัน
- ทุกคนมีการกระจายพอร์ตการลงทุนในแบบของตัวเอง จำเป็นต้องพิจารณาสินทรัพย์ลงทุนทั้งทางการและไม่เป็นทางการ
- เส้นทางการลงทุนมีความสำคัญในการคาดการณ์การลงทุน การกำหนดนโยบาย หรือการประชาสัมพันธ์ให้มีประสิทธิผลต้องมีข้อมูลเส้นทางการลงทุน
- คนรุ่นใหม่เชื่อมโยงการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความเป็นธรรม
ดร.สันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจ (Group Chief Economist) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท Sea Group กล่าวว่า จากการสังเกตพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ในตลาดทุน พบว่า 5 ข้อสังเกตที่สำคัญและสามารถนำมาคาดการณ์แนวโน้มพฤติกรรมได้ ประกอบด้วย
- Digitalization: เทคโนโยลีดิจิทัลมีผลต่อพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ค่อนข้างมาก รวมทั้งมีผลต่อวัยผู้ใหญ่ ทั้งที่อาศัยในสังคมเมืองและต่างจังหวัด ทั้งนี้ประเมินว่ามาจาก 2 ปัจจัย คือ ช่องทางดิจิทัลทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น และเข้าถึงการใช้ช่องทางดิจิทัลได้สะดวกขึ้น ซึ่งสามารถเชื่อมโยงมาถึงจำนวนนักลงทุนที่เข้าสู่ตลาดทุนเพิ่มขึ้นอย่างมาก และมีการการกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ ไม่ได้จำกัดแค่ตลาดหุ้นเท่านั้น
- Global Mindset: คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของโลกมากขึ้น เช่น โรลโมเดลเมื่อก่อนคือพ่อแม่ แต่คนรุ่นใหม่ โรลโมเดลคือคนเก่งทั่วโลก และคนรุ่นใหม่มองหาการลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้การลงทุนของคนรุ่นใหม่มีการเปิดกว้างมากขึ้น
- Influencer: ผู้มีอิทธิพลทางความคิดและพฤติกรรมจะมีพื้นที่เพิ่มมากขึ้นและได้รับความสนใจมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปริมาณข้อมูลข่าวสารจำนวนมากในปัจจุบัน ทำให้นักลงทุนที่เป็นคนรุ่นใหม่เลือกเปิดรับข้อมูลจากผู้มีอิทธิพลต่อตัวเองเป็นหลัก ซึ่งอาจจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญที่มีใบอนุญาตในการแนะนำการลงทุนก็ได้
- Risk Appetizer: คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มพฤติกรรมที่เปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น และมีทัศนคติต่อความเสี่ยงดีขึ้น ยอมรับและเข้าใจการขาดทุนจากเงินลงทุนได้ดีขึ้น
- Invest to Express: คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มพฤติกรรมที่จะใช้ทัศนคติและความเชื่อของตัวเองมาประกอบการลงทุนมากขึ้น กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนเกิดขึ้นที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ที่นักลงทุนรายย่อยที่ลงทุนในหุ้น GameStop รวมกลุ่มกันเข้าลงทุนเพื่อเอาชนะเฮดจ์ฟันด์ เพื่อการแก้แค้น และกรณีตัวอย่างของการตั้งคำถามจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ว่าตลาดหุ้นเป็นแหล่งที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำกว้างขึ้นหรือไม่
จาก 5 ข้อสังเกตดังกล่าว ทำให้ข้อกังวลและต้องติดตามต่อคือ
- พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนรุ่นใหม่อาจทำให้เกิดความผันผวนในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น ในกรณีที่คนรุ่นใหม่ใช้ Leverage มากขึ้น หรือกู้ยืมเพื่อมาลงทุนเพิ่มขึ้น
- Influencer อาจจะชักจูงตลาดได้มากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อประสิทธิภาพของตลาดหุ้น จึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามที่มาและบทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลว่าจะสามารถเข้ามากำกับดูแลได้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด
- การเปิดรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นของคนรุ่นใหม่อาจจะกระทบต่อภาพรวมตลาดได้มากขึ้น เนื่องจากคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งยังไม่เคยเผชิญกับความเสี่ยงขาลงครั้งใหญ่ของตลาดรวม จึงน่ากังวลหากต้องเผชิญความเสี่ยงหรือวิกฤตที่แท้จริง จะเป็นอย่างไร และรับความเสียหายได้แค่ไหน
ขณะที่ ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท Siametrics Consulting และกรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา (ThailandFuture Foundation) กล่าวว่า จากข้อค้นพบด้านพฤติกรรมนักลงทุนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจคือ ความเชื่อและวัฒนธรรมมีความสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนของคนรุ่นใหม่อย่างมาก
โดยจากการทำแบบสอบถามพบว่า คนรุ่นใหม่ใช้ความเชื่อและวัฒนธรรมมาประกอบการตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ในสัดส่วนที่มาก และยิ่งอายุน้อย 2 ปัจจัยดังกล่าวก็ยิ่งมีอิทธิพลต่อนักลงทุนรุ่นใหม่มาก
“เพราะคนรุ่นใหม่เชื่อว่าการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ หรือหุ้นใดๆ ก็ตาม เป็นการตราว่ากำลังเอาเงินไปให้ใคร และสอดคล้องกับความเชื่อและวัฒนธรรมส่วนบุคคลหรือไม่” ดร.ณภัทรกล่าว
นอกจากนี้ยังพบว่าคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งยังเข้าถึงตลาดทุนได้ยาก สาเหตุหลักมาจากการขาดสภาพคล่อง (ทุน) หรือยังมีไม่เพียงพอที่จะจัดสรรมาเป็นเงินลงทุน ซึ่งวิธีการแก้ไขเรื่องนี้คือการเพิ่มสภาพคล่องให้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อให้มีเงินมาลงทุนเพิ่มขึ้น หรือจัดตั้งกองทุนการออมเพื่อการลงทุนเมื่อถึงอายุที่สามารถลงทุนได้ ซึ่งเป็นโมเดลที่สหราชอาณาจักรทำอยู่
บรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผู้จัดการอาวุโส กิจการค้าหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง กล่าวว่า ไลฟ์สไตล์ของนักลงทุนระยะ 7-8 ปีที่ผ่านมา มี Gen Y เยอะมาก และแซง Gen อื่นไปเยอะมาก แต่ปริมาณและมูลค่าการซื้อขายไม่มาก
อย่างไรก็ตาม เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา นักลงทุน Gen Y มีความแอ็กทีฟเพิ่มขึ้นมาก มูลค่าการซื้อขายก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน เป็นเรื่องของ Digitization และ Internet Trading ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความสะดวกสบายของเครื่องมือการลงทุน นอกจากนี้นักลงทุนรุ่นใหม่กระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์มากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในต่างประเทศ และมีความคาดหวังในการได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น รวมทั้งการเปิดรับความเสี่ยง
ด้านพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ กล่าวว่า นักลงทุนรุ่นใหม่มีความสนใจเรื่องเวลาในการลงทุน โดยมีความต้องการลงทุนแบบ 24/7 มากกว่านักลงทุนทั่วไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ท่ามกลางเครื่องมือส่งเสริมการลงทุนที่มีความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP