รวมคำถามและคำตอบของโครงการแก้หนี้ครัวเรือน ‘คุณสู้ เราช่วย’ ปิดหนี้ได้ไว ไปต่อได้เร็ว ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับกระทรวงการคลัง, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์), สมาคมธนาคารไทย, สมาคมธนาคารนานาชาติ, สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) บางแห่ง เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs เฉพาะกลุ่ม ซึ่งในช่วงเริ่มต้นการช่วยเหลือจะครอบคลุมลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจ Non-Bank ที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งประกอบด้วย 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการ ‘จ่ายตรง คงทรัพย์’ และมาตรการ ‘จ่าย-ปิด-จบ’
Q&A มาตรการ ‘จ่ายตรง คงทรัพย์’ การปรับโครงสร้างหนี้แบบเน้นตัดเงินต้น ลดภาระดอกเบี้ย
- สถาบันการเงินใดเข้าร่วมมาตรการนี้บ้าง
- ธนาคารพาณิชย์และบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์
- สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.)
- ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการจะได้รับความช่วยเหลืออย่างไร
- ลูกหนี้จ่ายค่างวดน้อยลงเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยปีที่ 1 ชำระ 50% ของค่างวดเดิม ปีที่ 2 ชำระ 70% ของค่างวดเดิม และปีที่ 3 ชำระ 90% ของค่างวดเดิม
- ค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดเงินต้นทั้งหมด
- หากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ครบ 3 ปี สถาบันการเงินจะยกดอกเบี้ยที่พักไว้ให้หลังสิ้นสุดโครงการ
- ลูกหนี้สามารถตกลงกับเจ้าหนี้ในการชำระค่างวดมากกว่าที่กำหนดได้ เพื่อให้ปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น
- คุณสมบัติลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการ
ลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ บริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
- มีวงเงินรวมเป็นรายลูกหนี้ในแต่ละประเภทสินเชื่อกับสถาบันการเงินที่ร่วมมาตรการ ดังต่อไปนี้
-
- สินเชื่อบ้าน/บ้านแลกเงิน วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท
- สินเชื่อเช่าซื้อ/จำนำทะเบียนรถยนต์ วงเงินไม่เกิน 8 แสนบาท
- สินเชื่อเช่าซื้อ/จำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ วงเงินไม่เกิน 50,000 บาท
- สินเชื่อธุรกิจ SMEs วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท
- กรณีสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต หากมีหนี้บ้านหรือรถที่เข้าเงื่อนไขข้างต้น สามารถพิจารณาเข้ามาตรการรวมหนี้ได้ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่สถาบันการเงินรับได้ โดยวงเงินเมื่อรวมแล้วไม่เกินเงื่อนไขที่กำหนด
- เป็นสัญญาสินเชื่อที่ทำก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567
- มีสถานะบัญชี ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 เป็น
-
- หนี้ค้างชำระเกิน 30 วัน แต่ไม่เกิน 365 วัน
- หนี้ปกติ ที่เคยมีประวัติการค้างชำระเกิน 30 วัน และได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นมา
- คำนวณวงเงินรวมของสินเชื่อแต่ละประเภทตามเงื่อนไขอย่างไร
คำนวณจากวงเงินของสินเชื่อแต่ละประเภทที่ลูกหนี้มีกับสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567
ตัวอย่าง:
- ลูกหนี้มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินแห่งเดียวกัน 3 บัญชี ได้แก่ สินเชื่อบ้าน 2 บัญชี (วงเงิน 5 ล้านบาท และ 3 ล้านบาท) และสินเชื่อเช่าซื้อรถวงเงิน 6 แสนบาท หนี้บ้านจะเข้ามาตรการไม่ได้ เนื่องจากมีวงเงินรวมเกิน 5 ล้านบาท แต่หนี้เช่าซื้อรถเข้าร่วมมาตรการได้
- ลูกหนี้มีสินเชื่อกับ 2 สถาบันการเงิน ได้แก่
- สถาบันการเงิน 1: สินเชื่อบ้าน วงเงิน 2 ล้านบาท สินเชื่อเช่าซื้อรถวงเงิน 6 แสนบาท หนี้ทั้ง 2 ประเภทเข้าร่วมมาตรการได้
- สถาบันการเงิน 2: สินเชื่อบ้าน วงเงิน 3 ล้านบาท เข้ามาตรการได้
- วงเงินรวมของสินเชื่อบ้าน/เช่าซื้อรถยนต์นับรวมสินเชื่อ Top up ที่มีหลักประกันเดียวกันหรือไม่
- ให้นับรวมวงเงินสินเชื่อ Top up ด้วย แต่ไม่รวมวงเงินประกันคุ้มครองสินเชื่อบ้าน หรือ MRTA (Mortgage Reducing Term Assurance) เพื่อมิให้ลูกหนี้ถูกตัดสิทธิ์เพียงเพราะมีการทำประกันเพื่อคุ้มครองความเสี่ยง
- ทั้งนี้ เมื่อเข้าร่วมมาตรการแล้วให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้โดยรวม MRTA ด้วย เนื่องจากอยู่บนหลักประกันเดียวกัน เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรการที่ต้องการช่วยลูกหนี้ให้รักษาทรัพย์ไว้ได้
ตัวอย่าง:
- ลูกหนี้มีวงเงินสินเชื่อบ้าน 4.5 ล้านบาท + วงเงิน Top up อีก 0.5 ล้านบาท และมีวงเงินสินเชื่อ MRTA อีก 20,000 บาท สามารถเข้าร่วมมาตรการได้ เพราะวงเงินรวมที่ไม่รวม MRTA ไม่เกิน 5 ล้านบาท (4.5+0.5 = 5 ล้านบาท) ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือตามมาตรการ ให้นำ MRTA มารวมในการปรับโครงสร้างหนี้ด้วย จึงทำให้ยอดหนี้ในการปรับโครงสร้างคือ 5.02 ล้านบาท
- ลูกหนี้มีวงเงินสินเชื่อบ้าน 5 ล้านบาท หลังจากที่ผ่อนชำระเหลือหนี้คงค้าง 3 ล้านบาท ได้รับวงเงิน Top up เพิ่มเติมก่อนวันที่ 31 ตุลาคม 2567 อีก 2.5 ล้านบาท บนหลักประกันเดิมที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ลูกหนี้รายนี้ไม่สามารถเข้าร่วมมาตรการได้ เพราะวงเงินรวมของลูกหนี้อยู่ที่ 5.5 ล้านบาท (3+2.5 = 5.5 ล้านบาท)
- ลูกหนี้มีสินเชื่อบ้าน/รถมากกว่า 1 สัญญา เช่น สินเชื่อบ้าน 1 ล้านบาท จัดชั้นปกติไม่เคยปรับโครงสร้างหนี้ และสินเชื่อ Home for Cash 1 ล้านบาท จัดชั้น SM (ค้างชำระเกิน 30 วัน แต่ไม่เกิน 90 วัน) ลูกหนี้จะขอเข้ามาตรการนี้ได้ทั้ง 2 สัญญาหรือไม่
เข้ามาตรการได้ทั้ง 2 สัญญา เพราะมาตรการนี้ต้องการให้ลูกหนี้สามารถรักษาทรัพย์สิน เช่น บ้าน รถ ไว้ได้ จึงให้ความช่วยเหลือเป็นรายลูกหนี้ หากมีสินเชื่อบางบัญชีที่เข้าข่ายตามมาตรการนี้ ลูกหนี้สามารถนำสินเชื่อบัญชีอื่นในประเภทเดียวกันเข้ามาตรการนี้ได้
- ลูกหนี้มีหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่ยังไม่ได้รวมหนี้กับสินเชื่อบ้าน (Debt Consolidation) จะขอรวมหนี้และเข้ามาตรการนี้ได้หรือไม่
ได้ หากเป็นหนี้บ้าน/หนี้รถยนต์/หนี้รถจักรยานยนต์ ที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ลูกหนี้สามารถนำหนี้บัตรเครดิต/สินเชื่อส่วนบุคคล มารวมได้ และเมื่อนำหนี้ไปรวมแล้วยังต้องมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดด้วย
ตัวอย่าง:
- สินเชื่อบ้าน วงเงิน 5 ล้านบาท ผ่อนชำระเหลือยอดคงค้าง 4.7 ล้านบาท มีสินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคล (CCPL) 0.2 ล้านบาท สามารถเข้าร่วมมาตรการนี้ได้ เพราะวงเงินรวมไม่เกิน 5 ล้านบาท (4.7+0.2 = 4.9 ล้านบาท)
- สินเชื่อบ้าน วงเงิน 5 ล้านบาท ผ่อนชำระเหลือยอดคงค้าง 4.7 ล้านบาท มีสินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคล (CCPL) 0.5 ล้านบาท ไม่สามารถเข้ามาตรการนี้ได้ เพราะวงเงินรวมเกิน 5 ล้านบาท (4.7+0.5 = 5.2 ล้านบาท)
- ลูกหนี้เคยปรับโครงสร้างหนี้มาแล้วหรืออยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้จะสามารถเข้าร่วมมาตรการนี้ได้หรือไม่
ได้ หากลูกหนี้มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด
- ลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างกระบวนการทางศาลสามารถเข้าร่วมมาตรการนี้ได้หรือไม่
ได้ โดยสถาบันการเงินจะชะลอการฟ้องออกไปก่อน (แต่ไม่ได้ถอนฟ้อง) ในกรณีที่ลูกหนี้โดนยึดทรัพย์แล้ว แต่ทรัพย์ยังไม่ได้ถูกขายทอดตลาด/การขายทอดตลาดยังไม่สำเร็จ ลูกหนี้ที่เข้าข่ายตามคุณสมบัติของมาตรการสามารถเข้าร่วมมาตรการได้ แต่เมื่อเข้าร่วมมาตรการแล้วและไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรการได้ สถาบันการเงินจะเดินเรื่องในกระบวนการทางศาลต่อไป
- ลูกหนี้มีสินเชื่อที่เป็นสัญญาแบบกู้เดี่ยวและกู้ร่วมสามารถเข้าร่วมมาตรการนี้ได้ทั้ง 2 สัญญาหรือไม่
หากสินเชื่อทั้งแบบกู้เดี่ยวและกู้ร่วมของลูกหนี้มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขการเข้าร่วมมาตรการ ลูกหนี้สามารถเข้าร่วมมาตรการได้ทั้ง 2 สัญญา
ตัวอย่าง:
กรณีนาย ก. มีสินเชื่อบ้านวงเงิน 5 ล้านบาทกับธนาคาร A ซึ่งมีวันค้างชำระ 270 วัน (
กู้เดี่ยว) และนาย ก. กู้ร่วมกับนาง ข. มีสินเชื่อบ้านวงเงิน 3 ล้านบาท (กู้ร่วม) ซึ่งมีวันค้างชำระ 90 วัน ลูกหนี้สามารถเข้าร่วมมาตรการได้ทั้ง 2 สัญญา โดยสถาบันการเงินจะพิจารณาวงเงินกู้ร่วมและวงเงินกู้เดี่ยวแยกกัน
- ลูกหนี้มีสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และ/หรือไมโครไฟแนนซ์ สามารถเข้าร่วมมาตรการนี้ได้หรือไม่
ได้ เพราะสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์/ไมโครไฟแนนซ์นับเป็นสินเชื่อ SMEs รายย่อย จึงสามารถเข้าร่วมมาตรการได้ หากลูกหนี้มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขการเข้าร่วมมาตรการ
- ลูกหนี้สามารถเข้าร่วมมาตรการนี้กับเจ้าหนี้ได้มากกว่า 1 แห่งหรือไม่
ได้ หากลูกหนี้มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งที่เป็นไปตามเงื่อนไขการเข้าร่วมมาตรการ
- ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขอะไรบ้าง
- ลูกหนี้ต้องลงทะเบียน (Opt-in) ผ่านระบบกลางของ ธปท. ที่ https://www.bot.or.th/khunsoo ระหว่างวันที่ 12 ธันวาคม 2567 (เริ่มเวลา 08.30 น.) – 28 กุมภาพันธ์ 2568 (สิ้นสุดเวลา 23.59 น.)
- ลูกหนี้จะไม่สามารถขอสินเชื่อใหม่ในช่วง 12 เดือนแรกที่เข้าร่วมมาตรการ ยกเว้นลูกหนี้ SMEs ที่หากจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเป็นสภาพคล่องเพิ่มเติม เจ้าหนี้สามารถปล่อยกู้ใหม่ได้ โดยพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ตามความเหมาะสม
- เจ้าหนี้จะรายงานสถานะลูกหนี้ไปยังเครดิตบูโร (NCB) ได้แก่
1. รหัสที่ระบุว่าลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการ ซึ่งมีระยะเวลา 3 ปี
2. รหัสที่ระบุว่าลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการอยู่ในระยะเวลาห้ามก่อหนี้เพิ่มเป็นเวลา 12 เดือน
- ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการสามารถจ่ายค่างวดต่ำกว่าที่กำหนดในมาตรการได้หรือไม่
ไม่ได้ ลูกหนี้ต้องผ่อนชำระค่างวดขั้นต่ำตามที่มาตรการกำหนดในลักษณะทยอยปรับขึ้นในแต่ละปี (ปีแรก 50% / ปีที่ 2 70% / ปีที่ 3 90%) เพื่อให้มั่นใจว่าลูกหนี้จะสามารถกลับมาชำระที่ 100% ของค่างวดเดิมได้ในปีที่ 4 หลังจบมาตรการ
- ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการสามารถจ่ายค่างวดสูงกว่าที่กำหนดในมาตรการ เพื่อให้ปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้นได้หรือไม่ (เช่น ปีแรกชำระ 60% / ปีที่ 2 70% / ปีที่ 3 90%)
ได้ โดยลูกหนี้สามารถเจรจากับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ เพื่อขอจ่ายค่างวดสูงกว่าที่กำหนดได้
- ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการสามารถชำระหนี้ปิดบัญชีก่อนครบระยะเวลามาตรการ 3 ปีได้หรือไม่
ได้ หากลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้และเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาที่ตกลงไว้กับสถาบันการเงิน โดยสถาบันการเงินจะยกดอกเบี้ยที่พักไว้ในช่วงที่ลูกหนี้เข้ามาตรการให้
- ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการ แต่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดได้ หรือต้องการออกจากมาตรการก่อนกำหนด จะต้องดำเนินการอย่างไร
- ลูกหนี้สามารถติดต่อสถาบันการเงินได้ ทั้งในกรณีที่ (i) ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดได้ เช่น 1. ลูกหนี้ก่อหนี้ใหม่ก่อนระยะเวลา 12 เดือน หรือ 2. ลูกหนี้ค้างชำระหนี้จนกลายเป็น NPL หรือ 3. ลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อหรือจำนำทะเบียนรถได้คืนรถ/ถูกยึดรถ หรือสถาบันการเงินยื่นฟ้องร้องและศาลรับฟ้องแล้ว หรือเมื่อมีหลักฐานชัดเจนว่ารถไม่อยู่แล้ว และ (ii) ลูกหนี้ต้องการออกจากมาตรการก่อนกำหนด ซึ่งทั้ง 2 กรณี สถาบันการเงินจะเรียกเก็บดอกเบี้ยกับลูกหนี้ในอัตรา 50% ของดอกเบี้ยที่พักไว้ในระหว่างที่เข้ามาตรการ
- หากออกจากมาตรการแล้ว ลูกหนี้สามารถติดต่อสถาบันการเงิน เพื่อขอความช่วยเหลือด้วยแนวทางอื่นของสถาบันการเงิน เช่น มาตรการแก้หนี้ตามเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) หรือมาตรการแก้หนี้อื่นๆ เช่น คลินิกแก้หนี้ by SAM
- ลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดจะได้รับการช่วยเหลือตามมาตรการนี้โดยอัตโนมัติหรือไม่
ไม่ใช่ ลูกหนี้ต้องลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการตามความสมัครใจ (Opt-in) ซึ่งสถาบันการเงินจะติดต่อลูกหนี้เพื่อเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ตามมาตรการต่อไป
Q&A มาตรการ ‘จ่าย-ปิด-จบ’ การลดภาระหนี้ให้ลูกหนี้ NPL ที่มียอดหนี้
- สถาบันการเงินใดเข้าร่วมมาตรการนี้บ้าง
- ธนาคารพาณิชย์และบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์
- สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.)
โดยตรวจสอบรายชื่อสถาบันการเงินที่เข้าร่วมมาตรการได้ที่ https://www.bot.or.th/khunsoo
- ใครเข้าร่วมมาตรการได้บ้าง
ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่มีสถานะเป็นหนี้เสีย (NPL) ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 และมีภาระหนี้คงค้าง (รวมเงินต้นและดอกเบี้ย) ไม่เกิน 5,000 บาทต่อบัญชี
- รูปแบบการช่วยเหลือ/เงื่อนไขการเข้ามาตรการเป็นอย่างไร
สถาบันการเงินจะปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรนให้ลูกหนี้ เพื่อช่วยให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ปิดจบบัญชีได้ ซึ่งสถานะลูกหนี้ใน NCB จะถูกปรับเป็นรหัส 11 คือ ชำระหนี้หมดตามยอดที่ได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้
- มาตรการครอบคลุมหนี้บุคคลธรรมดาทุกประเภทหรือไม่
หนี้บุคคลธรรมดาทุกประเภททั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขการเข้าร่วมมาตรการ
- หากลูกหนี้มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขและลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการจะได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินทุกคนหรือไม่
หากลูกหนี้มีคุณสมบัติครบถ้วน ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ และปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรการ จะได้รับความช่วยเหลือทุกราย
ประเด็นอื่นๆ
- ธปท. จะมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่เข้าคุณสมบัติตามมาตรการครั้งนี้อย่างไร
- กรณีลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ทุกประเภท สามารถขอรับความช่วยเหลือโดยการปรับโครงสร้างหนี้ได้ตามเกณฑ์ Responsible Lending คือ จะได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็นหนี้เสียอย่างน้อย 1 ครั้ง และหลังเป็นหนี้เสียอีกอย่างน้อย 1 ครั้ง ก่อนฟ้อง โอนขายหนี้ ยึดทรัพย์
- กรณีลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ ประเภทวงเงินหมุนเวียน เช่น บัตรกดเงินสด ที่ยังไม่เป็น NPL แต่ชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมเป็นระยะเวลานาน (5 ปี) สามารถขอเข้ามาตรการปิดจบหนี้เรื้อรังได้ โดยสถาบันการเงินจะแปลงสินเชื่อจากวงเงินหมุนเวียน (Revolving Loan) เป็นสินเชื่อผ่อนชำระเป็นงวด (Installment Loan) ลดดอกเบี้ยเหลือไม่เกิน 15% ต่อปี และปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี (ธปท. ขยายระยะเวลาปิดจบหนี้จาก 5 ปีเป็น 7 ปี เริ่ม 1 มกราคม 2568)
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ มาตรการแก้หนี้ยั่งยืน
- กรณีลูกหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อส่วนบุคคลไม่มีหลักประกัน ที่เป็น NPL ค้างชำระมากกว่า 120 วัน ยอดหนี้ไม่เกิน 2 ล้านบาท สามารถขอเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ได้ โดยลูกหนี้จะได้รับข้อเสนอปรับโครงสร้างหนี้ในการรวมหนี้เสียจากทุกเจ้าหนี้ที่เข้าร่วมโครงการไว้ที่เดียว ผ่อนชำระนานสูงสุด 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 3-5% ต่อปี สำหรับดอกเบี้ยและค่าปรับค้างชำระเดิมก่อนเข้าโครงการ เจ้าหนี้จะยกให้เมื่อลูกหนี้ชำระได้ครบถ้วนตามสัญญา
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คลินิกแก้หนี้ – DEBT หนี้บัตร หนี้บุคคล จบที่เดียว
วิธีการลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ
- ลูกหนี้ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการได้จากช่องทางใดบ้าง
ลูกหนี้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการผ่านระบบกลางของ ธปท. ที่ https://www.bot.or.th/khunsoo
- ลูกหนี้มีระยะเวลาในการลงทะเบียนกี่วัน
ลูกหนี้สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2567 (เริ่มเวลา 08.30 น.) – 28 กุมภาพันธ์ 2568 (สิ้นสุดเวลา 23.59 น.)
- ลูกหนี้ต้องกรอกข้อมูลอะไรบ้างในการลงทะเบียนผ่านระบบในเว็บไซต์ของ ธปท.
ข้อมูลที่ใช้และขั้นตอนการกรอกข้อมูลในหน้าเว็บไซต์ลงทะเบียนของ ธปท.:
- อ่านรายละเอียดมาตรการในหน้าเว็บไซต์ที่ https://www.bot.or.th/khunsoo เพื่อตรวจสอบสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ เงื่อนไขและคุณสมบัติในการเข้าร่วมมาตรการ กดยืนยันคุณสมบัติ และกดลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ
- เตรียม ThaID เพื่อเข้าระบบและยืนยันตัวตน (ดูวิธีการลงทะเบียน ThaiD ได้ที่ ขั้นตอนการลงทะเบียน ThaID ด้วยตัวเอง)
- เข้าสู่ระบบ โดยสามารถทำได้ 2 แบบ คือ
3.1 เข้าสู่ระบบผ่าน ThaID – ต้องสแกน ThaID ผ่านแอปพลิเคชันทุกครั้งที่เข้ามาใช้ระบบ
3.2 เข้าระบบผ่าน e-mail โดยยืนยันตัวตนผ่าน ThaID ครั้งแรกเท่านั้น
- กรอกข้อมูลเพิ่มเพื่อลงทะเบียนขอเข้าร่วมมาตรการ ดังนี้
4.1 ข้อมูลส่วนบุคคล/นิติบุคคล
-
- ข้อมูลส่วนบุคคลเบื้องต้นระบบจะดึงมาจาก ThaID
- กรอกข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่ม ได้แก่ หมายเลขโทรศัพท์ (เพื่อรับการติดต่อจากสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้), e-mail (เพื่อส่ง e-mail เตือนแจ้งสถานะ) และจังหวัด (เพื่อเป็นข้อมูลสถิติ)
4.2 กรอกข้อมูลหนี้
-
- เลือกสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ และเลือกสินเชื่อที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ
- กรณีเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย จะสอบถามความสนใจที่จะทำเรื่องรวมหนี้หรือไม่
- กรณีที่ต้องการลงทะเบียนหลายผลิตภัณฑ์ สามารถกดเพิ่มผลิตภัณฑ์ได้
- กดยอมรับเงื่อนไขการใช้บริการ และกดส่ง ระบบจะขึ้นข้อความการลงทะเบียนสำเร็จและแสดงหมายเลขคำร้อง เพื่อให้ลูกหนี้ใช้ติดตามสถานะการลงทะเบียน
- หลังการลงทะเบียนเสร็จสิ้นแล้ว สถาบันการเงินจะได้รับข้อมูลทันทีโดยอัตโนมัติ และจะเริ่มทยอยติดต่อกลับลูกหนี้ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
- ลูกหนี้ที่ลงทะเบียนผ่านระบบของ ธปท. ต้องยืนยันตัวตนผ่านทาง ThaID หรือไม่
ลูกหนี้ต้องยืนยันตัวตนผ่าน ThaID ก่อนการลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ
- ลูกหนี้ที่กู้ร่วมต้องลงทะเบียนอย่างไร
ให้ลูกหนี้ที่กู้ร่วมเพียงคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ลงทะเบียน (ไม่ต้องลงทะเบียนทุกคน) โดยเจ้าหนี้จะติดต่อลูกหนี้และผู้กู้ร่วมหากมีคุณสมบัติตามที่กำหนด เพื่อเข้าร่วมมาตรการต่อไป
- ลูกหนี้ลงทะเบียนไม่ถูกต้อง เช่น เบอร์โทรติดต่อกลับ, ชื่อเจ้าหนี้, ประเภทสินเชื่อ จะสามารถแก้ไขได้อย่างไร
- กรณีเบอร์โทรติดต่อผิด สามารถส่งข้อความผ่านระบบเพื่อแจ้งเบอร์โทรติดต่อที่ถูกต้องให้แก่สถาบันการเงินได้
- กรณีชื่อเจ้าหนี้ผิด สามารถยกเลิกคำร้องที่ผิด และยื่นคำร้องสำหรับเจ้าหนี้ใหม่
- กรณีเลือกประเภทสินเชื่อผิด เมื่อเจ้าหนี้ติดต่อกลับ สามารถแจ้งกับเจ้าหนี้เพื่อขอเปลี่ยนประเภทสินเชื่อได้โดยตรง
- ลูกหนี้จะได้รับการติดต่อกลับจากเจ้าหนี้ภายในกี่วันหลังลงทะเบียนสำเร็จ
- กรณีลงทะเบียนก่อนวันที่ 2 มกราคม 2568 เพื่อให้เวลาสถาบันการเงินในการจัดการระบบ สถาบันการเงินจะเริ่มทยอยติดต่อลูกหนี้ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
- กรณีลงทะเบียนหลังวันที่ 2 มกราคม 2568 สถาบันการเงินจะติดต่อลูกหนี้กลับภายใน 10 วันทำการหลังลงทะเบียนสำเร็จ
- ลูกหนี้สามารถติดตามสถานะการลงทะเบียนได้อย่างไร
ลูกหนี้สามารถเรียกดูสถานะการดำเนินการผ่านเว็บไซต์ ธปท. ได้ที่ https://services.bot.or.th/cpm โดยเลือกเมนูตรวจสอบสถานะคำร้อง บริการแก้หนี้ และเลือกหมายเลขคำร้องที่ได้รับหลังลงทะเบียนสำเร็จ
- กรณีลูกหนี้ลงทะเบียนผ่านระบบในเว็บไซต์ของ ธปท. และตรวจสอบสถานะแล้วขึ้น Resolved โดยที่ยังไม่ได้รับการติดต่อจากเจ้าหนี้/ไม่ได้รับการช่วยเหลือตามมาตรการ/เจ้าหนี้ปฏิเสธให้ความช่วยเหลือ ลูกหนี้ต้องทำอย่างไร
ลูกหนี้สามารถกดปุ่ม Reject ในระบบ เพื่อปฏิเสธผลการพิจารณาได้ โดยเรื่องจะถูกส่งกลับให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้พิจารณาใหม่อีกครั้ง (ลูกหนี้สามารถปฏิเสธผลการพิจารณาได้ 2 ครั้ง)
- ลูกหนี้จะมีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมในการเข้าร่วมมาตรการนี้หรือไม่
ไม่มีค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ ดังนั้นอย่าหลงเชื่อหรือโอนเงินหากมีผู้มาติดต่อให้ลูกหนี้ต้องชำระค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายอื่นใด
- ลูกหนี้มีคำถามหรือพบปัญหาในการลงทะเบียน สามารถดำเนินการได้อย่างไรบ้าง
ลูกหนี้สามารถติดต่อได้ที่สาขาหรือ Call Center ของสถาบันการเงินที่ลงทะเบียน กด 99 และหากไม่ได้รับความช่วยเหลือ สามารถติดต่อ โทร. 1213 ในวันและเวลาทำการ