×

ผู้นำเกาหลีใต้เยือนญี่ปุ่นครั้งแรกในรอบ 12 ปี สองชาติจะก้าวข้ามความบาดหมางในอดีตได้หรือไม่

17.03.2023
  • LOADING...
ผู้นำเกาหลีใต้เยือนญี่ปุ่น

ยุนซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ บินตรงสู่กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 16 มีนาคม เพื่อร่วมประชุมกับ ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นการประชุมนัดประวัติศาสตร์ เพราะเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปีที่ผู้นำของเกาหลีใต้เดินทางเยือนญี่ปุ่นเพื่อเจรจากับผู้นำ โดยผลลัพธ์สูงสุดที่หลายฝ่ายคาดหวังจากประชุมครั้งนี้ คือการกลับมาประสานรอยร้าวของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ คู่ปรับไม้เบื่อไม้เมาที่มีความบาดหมางกันมานมนาน ท่ามกลางภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือที่กำลังสั่นคลอนความมั่นคงของทั้งสองชาติ

 

THE STANDARD ชวน ผศ.นิมิต อังก์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มาร่วมพูดคุยกันว่า การเดินทางเยือนญี่ปุ่นของยุนซอกยอลครั้งนี้มีนัยสำคัญอย่างไร ทำไมเกาหลีใต้จึงเลือกกลับมากระชับมิตรกับญี่ปุ่นในเวลานี้ ตลอดจนคำถามสำคัญที่ว่าการประชุมครั้งนี้จะช่วยพาทั้งสองชาติก้าวข้ามความขัดแย้งได้จริงหรือไม่

 

การเดินทางเยือนญี่ปุ่นของยุนซอกยอลมีนัยสำคัญอย่างไร 

 

ในประเด็นนี้ ผศ.นิมิตวิเคราะห์ว่า มีหลากหลายประเด็นด้วยกันในการอธิบายถึงนัยสำคัญของทริปการเดินทางเยือนญี่ปุ่นครั้งประวัติศาสตร์ของผู้นำเกาหลีใต้ 

 

ประการแรกเลยคือ นี่เป็นความพยายามของยุนซอกยอลที่จะส่งสัญญาณอันแข็งกร้าวไปถึงเกาหลีเหนือ โดยยุนซอกยอลเป็นผู้นำฝ่ายขวาที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่า ในยุคของเขาจะไม่ใช้นโยบายที่จะหันไปผูกมิตรกับเกาหลีเหนืออย่างเช่นความพยายามของผู้นำในอดีต แต่จะเปลี่ยนมาใช้มาตรการที่เข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิม 

 

ต้องเท้าความกลับไปก่อนว่า ก่อนที่จะก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีนั้น ยุนซอกยอลประกาศมาตั้งแต่ช่วงหาเสียงแล้วว่า เขาจะเป็นผู้นำที่เข้ามาซ่อมแซมความสัมพันธ์ที่เคยแตกหักกับญี่ปุ่น ผ่านนโยบายต่างประเทศในยุคของตนเอง เหตุผลสำคัญประการหนึ่งอาจเป็นเพราะเขาคือผู้นำที่ต้องการหันไปใช้ ‘ไม้แข็ง’ กับเกาหลีเหนือ เพราะในช่วงเวลาที่เกาหลีเหนือมีพฤติกรรมยั่วยุมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น การแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองกับญี่ปุ่นและการประสานความร่วมมือด้านกองทัพก็ดูจะเป็นผลดีกับเกาหลีใต้อย่างมาก

 

และแล้วเขาก็สามารถทำได้สำเร็จ โดยเมื่อวานนี้ผู้นำทั้งสองตกลงที่จะกลับมาฟื้นฟูภารกิจการเดินทางเยือนกันและกันอีกครั้ง หลังจากที่ระงับไปเมื่อ 12 ปีก่อน ขณะที่คิชิดะเปิดเผยหลังเสร็จสิ้นการประชุมด้วยว่า ญี่ปุ่นเห็นพ้องที่จะกลับมาฟื้นฟูข้อตกลง GSOMIA รอบใหม่ เพื่อแลกเปลี่ยนข่าวกรองเกี่ยวกับภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยขีปนาวุธและทดลองนิวเคลียร์ หลังจากที่เคยระงับไปในปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงที่ความสัมพันธ์ถดถอยหนักถึงขีดสุด

 

ประการที่สองคือ เกาหลีใต้หวังที่จะแสดงความเป็นมิตรไมตรีกับญี่ปุ่นอย่างเป็นกิจจะลักษณะ โดยหากมองย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของทั้งสองชาติตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น จะเห็นได้ว่าเกาหลีใต้และญี่ปุ่นถือเป็นชาติที่เป็นศัตรูกันมาอย่างยาวนาน หรือถ้าจะเป็นพันธมิตรกันก็จะอยู่แค่ในขอบเขตที่มีความจำเป็นเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่นต่างเป็นชาติพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา ฉะนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงมีส่วนที่ตกอยู่ในภาวะ ‘จำยอม’ ที่จะต้องร่วมผนึกกำลังกันในบางภาคส่วน

 

สถานการณ์ที่ชัดเจนที่สุดคือ หากเกาหลีใต้และญี่ปุ่นสามารถคืนดีกันได้ (แม้จะบางส่วน) ก็จะช่วยผนึกกำลังกันต้านอำนาจจีน สิ่งนี้นอกจากจะเป็นผลดีกับญี่ปุ่นเองที่กำลังมองว่าจีนเป็น ‘ภัยคุกคามระยะยาว’ ก็ยังเป็นผลดีกับอีกหนึ่งตัวละครสำคัญอย่างสหรัฐฯ ชาติมหาอำนาจจากอีกซีกโลกที่อยากจะต้านอิทธิพลจีนมากที่สุด และนี่ก็เป็นสิ่งที่จีนไม่อยากเห็น เพราะจะทำให้ตนตกที่นั่งลำบากได้ 

 

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์จากต่างประเทศมองว่า ยุนซอกยอลเองก็ดูเหมือนจะต้องการเอาใจพันธมิตรคนสำคัญอย่างสหรัฐฯ ที่เวลานี้ก็พยายามรุกคืบเข้ามาในเอเชียเพื่อหาพรรคพวกต่อกรกับอิทธิพลจีน โดย โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้กล่าวชื่นชมข้อตกลงของเกาหลีใต้ที่จะชดเชยแก่แรงงานทาสแทนญี่ปุ่นของยุนซอกยอลว่าเป็น ‘การเริ่มต้นบทใหม่ที่สำคัญ’ ของพันธมิตรทั้งสองของสหรัฐฯ รวมถึงเป็นก้าวสำคัญที่จะสร้างอนาคตที่ปลอดภัยกว่า มั่นคงกว่า และเจริญรุ่งเรืองยิ่งกว่าสำหรับพลเมืองของทั้งสองชาติ และในวันต่อมา ไบเดนก็ได้ส่งคำเชิญให้ยุนซอกยอลมาเยือนทำเนียบขาวในวันที่ 26 เมษายน ในโอกาสฉลองครบรอบ 70 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์สหรัฐฯ-เกาหลีใต้ ซึ่งนั่นก็อาจเป็นโอกาสใหม่ที่ผลักดันให้เกาหลีใต้มีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้น แทนที่จะโฟกัสอยู่แต่กับประเด็นเกาหลีเหนือ ยุนซอกยอลได้มองไปไกลกว่านั้น หรือมองไปถึงภาพใหญ่คืออินโด-แปซิฟิก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกาหลีใต้จะมีบทบาทเด่นได้มากขึ้น 

 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยในปี 2019 อันเป็นช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติอยู่ในช่วงถดถอยนั้น ญี่ปุ่นได้ออกข้อจำกัดควบคุมการส่งออกสารเคมีหลายชนิดที่เกาหลีใต้ต้องการ ซึ่งล้วนแต่เป็นวัตถุดิบสำคัญต่อการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อตอบโต้ที่เกาหลีใต้ยังคงรื้อฟื้นเรื่องของสงครามโลกอย่างไม่ลดละ ฉะนั้น ประเด็นดังกล่าวก็เป็นอีกหนึ่งเหตุเร่งด่วนที่เกาหลีใต้อยากแก้ไขให้ได้เร็วที่สุดเช่นกัน 

 

ด้วยเหตุนี้ เกาหลีใต้ที่ตกอยู่ในภาวะเสียแต้มให้กับญี่ปุ่นมายาวนาน จึงเริ่มเปิดฟลอร์ด้วยการออกสเต็ปเต้นรำก่อน ท่ามกลางสปอตไลต์ที่สาดส่องมายังเวทีแห่งนี้ และทุกสายตาที่คอยจับจ้องว่า ในเมื่อเกาหลีใต้ได้ยื่นมือเชื้อเชิญให้ญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาบนเวทีนี้ด้วยกัน แล้วญี่ปุ่นจะยอมเดินร่วมไปเต้นรำในจังหวะเดียวกันด้วยหรือไม่

 

และยุนซอกยอลก็ทำมันได้สำเร็จ เพราะในที่สุดญี่ปุ่นได้ตกลงที่จะยกเลิกมาตรการควบคุมการส่งออกเรียบร้อยแล้ว ส่วนเกาหลีใต้เองก็ตกลงที่ถอนคำร้องเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวต่อองค์การการค้าโลก (WTO)

 

แต่หากถามความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปแล้ว ผศ.นิมิตกล่าวว่า คนในประเทศจะไม่ค่อยสนับสนุนให้เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรกันสักเท่าไร เพราะปมความขัดแย้งที่ฝังรากลึก แต่ถึงเช่นนั้น ก็ดูเหมือนว่าในเวลานี้ผู้นำเกาหลีใต้จะพยายามใช้กลยุทธ์การยกระดับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจากที่เคยย่ำแย่มาเป็นสิบๆ ปี

 

ทำไมเกาหลีใต้จึงเลือกกลับมาประสานรอยร้าวกับญี่ปุ่นเอาเวลานี้

 

ต้องเล่าย้อนกลับไปก่อนว่า ความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้นั้นมีการกระทบกระทั่งกันมานานหลายทศวรรษ เนื่องจากว่าในอดีตนั้น เกาหลีใต้เคยเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นมาก่อนตั้งแต่ปี 1910 จนถึงช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงเวลาดังกล่าวทหารญี่ปุ่นได้บังคับให้ชาวเกาหลีใต้หลายแสนคนใช้แรงงานอย่างหนักในเหมืองและโรงงานหลายแห่ง ที่เลวร้ายกว่านั้นคือมีผู้หญิงหลายคนต้องพลีกายเป็นทาสบำเรอกามให้กับทหารญี่ปุ่นให้ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

 

วันเวลาผ่านไป แผลที่เคยสดและเจ็บปวดก็แห้งลง แต่กลับกลายเป็น ‘แผลเป็น’ ที่ถึงแม้จะไม่เจ็บ แต่ก็เป็นเครื่องเตือนใจที่คอยย้ำให้ชาวเกาหลีใต้จดจำว่า ญี่ปุ่นเคยทำอะไรกับพวกเขาไว้บ้าง ทำให้ไม่ใช่แค่ในระดับรัฐบาลที่มีความขัดแย้ง เพราะก็มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงมองญี่ปุ่นในแง่ลบ แม้ช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากจะผ่านพ้นมานานแล้ว

 

ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ตกต่ำลงอย่างหนักในสมัยของอดีตประธานาธิบดีมุนแจอิน หลังจากที่เมื่อปี 2018 ศาลฎีกาของเกาหลีใต้มีคำสั่งให้บริษัทญี่ปุ่น 2 แห่ง ซึ่งได้แก่ Mitsubishi Heavy Industries และ Nippon Steel ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นชาวเกาหลีใต้ที่ถูกบังคับใช้แรงงานในช่วงสงครามระหว่างปี 1941-1943 คำตัดสินดังกล่าวสร้างความโกรธแค้นให้กับฝั่งของญี่ปุ่นอย่างมาก จน ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศในช่วงเวลาดังกล่าวถึงลั่นวาจาว่ารัฐบาลจะหาวิธีตอบโต้อย่างเด็ดขาด เพราะคำพิพากษาของศาลสูงเกาหลีใต้ไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ 

 

แต่มาในสมัยของยุนซอกยอล ท่าทีของเกาหลีใต้ที่มีต่อญี่ปุ่นนั้นกลับมีความนุ่มนวลมากกว่าสมัยของมุนแจอินอยู่หลายขุม โดยหลังจากที่เขาเข้ารับตำแหน่งสำคัญในเดือนพฤษภาคม 2022 ยุนซอกยอลก็พยายามผลักดันให้เกาหลีใต้กลับมาฟื้นสัมพันธ์กับญี่ปุ่น ควบคู่ไปกับการยกระดับความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในด้านปฏิบัติการทางทหาร เพื่อป้องปรามเกาหลีเหนือที่นับวันจะยิ่งก่อการยั่วยุด้วยการกระหน่ำทดสอบยิงขีปนาวุธมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

ล่าสุดเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม เกาหลีใต้ประกาศว่าจะชดเชยเงินให้กับเหยื่อที่ถูกบังคับใช้แรงงานด้วยตนเอง ผ่านมูลนิธิต่างๆ ของรัฐซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากบริษัทเอกชน โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลไม่ต้องการให้ความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นย่ำแย่อีกต่อไปแล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ของชาติและตัวประชาชนทุกคนเอง ขณะที่พรรคฝ่ายค้านก็จวกกลับหนักว่า การที่ผู้นำเกาหลีใต้ตัดสินใจยอมชดใช้แทนญี่ปุ่น แถมไม่มีคำขอโทษออกมาจากปากฝั่งนั้น ถือเป็นเรื่องอัปยศที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติ แต่คำพูดดังกล่าวก็ไม่อาจหยุดยั้งความพยายามของยุนซอกยอลได้

 

สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า ยุนซอกยอลเอาจริงกับการฟื้นสัมพันธ์อันดีกับญี่ปุ่น แต่ในขณะเดียวกันหลายคนก็เกิดคำถามว่า เหตุใดเกาหลีใต้ที่มีความสัมพันธ์รสขมกับญี่ปุ่นมานาน ถึงจะมาพยายามสร้างสัมพันธ์หวานชื่นเอาในวันนี้

 

สำหรับประเด็นนี้ ผศ.นิมิตแสดงความคิดเห็นว่า ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ทะเลาะกันมานมนาน เปรียบเทียบคงคล้ายๆ กับไทยที่ทะเลาะกับพม่าตั้งแต่สมัยอยุธยา สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้อาจไม่ใช่การคืนดีกัน แต่เป็นการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศมากกว่า เพราะตัวยุนซอกยอลมองว่าการทำเช่นนี้จะทำให้เขาได้ผลงานทางการเมือง ได้ภาพลักษณ์ของผู้ที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนนโยบายที่นำพาเกาหลีใต้ไปสู่ประเทศที่มีความมั่นคงมากขึ้น และนโยบายเด่นของยุนซอกยอลก็คือการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นนั่นเอง 

 

“แต่จะสำเร็จหรือไม่นั้นจะต้องรอดูกันต่อไป” ผศ.นิมิตกล่าว

 

หากให้อ่านใจฝั่งของญี่ปุ่นบ้าง ผศ.นิมิตกล่าวว่า ญี่ปุ่นไม่น่าจะคาดหวังผลลัพธ์อะไรมากเท่ากับฝั่งของเกาหลีใต้ ญี่ปุ่นอาจจะมองแค่ว่า ‘ถ้าได้เกาหลีใต้มาเป็นเพื่อนอีกชาติหนึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี’ แต่อย่างที่บอกไปแล้วว่า ทางญี่ปุ่นคงไม่ขอโทษเกาหลีใต้แน่นอน ฉะนั้น ความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้คงไม่ออกมาในลักษณะการคืนดีกันอย่างสนิทใจแบบที่ฝรั่งเศสและอังกฤษเป็น แต่จะออกมาในรูปแบบของ ‘เพื่อนกันในยามจำเป็น’ ไม่ใช่ ‘เพื่อนแท้ในยามยาก’

 

“สำหรับตัวญี่ปุ่นเองผมมองว่า เขาไม่ได้แคร์เกาหลีใต้ในเชิงที่ว่าฉันจะต้องไปขอโทษเธอนะ เพราะญี่ปุ่นมองว่ามันจบไปตั้งแต่ที่ทำสนธิสัญญาตอนนั้นแล้ว ตอนนี้มันก็มีกลุ่มล็อบบี้ภายในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่จะมาร่วมมือกันเพื่อตั้งเป็นองค์กรการกุศล และเอาเงินของเกาหลีใต้ไปบริจาคให้เหยื่อที่ถูกบังคับใช้แรงงานแทน จะเห็นได้ว่าแท้จริงแล้วก็มีความพยายามอยู่เบื้องหลัง และเป็นเกาหลีใต้ที่ออกหน้าแทน ทั้งๆ ที่ประชาชนในประเทศก็ไม่ได้เห็นด้วย” ผศ.นิมิตกล่าว

 

การประชุมที่เกิดขึ้นจะช่วยฟื้นความสัมพันธ์ที่บาดหมางระหว่างสองชาติได้มากน้อยแค่ไหน

 

“ผมว่าได้ไม่มาก” นี่คือประโยคแรกที่ ผศ.นิมิตตอบคำถามกับ THE STANDARD ในประเด็นนี้ 

 

ผศ.นิมิตให้เหตุผลต่อไปว่า “เพราะว่ารัฐบาลญี่ปุ่นแทบไม่เคยเปลี่ยนขั้วอำนาจ และหากมองย้อนกลับไปญี่ปุ่นได้ยืนยันหนักแน่นมาตลอดว่าการชดเชยแก่ชาวเกาหลีใต้ตั้งแต่ช่วงสมัยสงครามโลกนั้นมันจบลงไปนานแล้ว แต่กลับกันคือในฝั่งเกาหลีใต้จะมีการหมุนเวียนรัฐบาลกันบ่อย ทำให้นโยบายต่างประเทศนั้นไม่นิ่ง บางคนก็อยากกระชับสัมพันธ์ บางคนก็อยากโจมตี เปลี่ยนไปตามแต่ว่าใครจะได้เป็นผู้กำหนดนโยบาย”

 

เป้าหมายดังกล่าวจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ต้องดูในหลายปัจจัยด้วยกัน ที่ชัดเจนสุดคือปัจจัยเรื่องของเศรษฐกิจ จะเห็นว่าจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลเลยทีเดียว 

 

เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดอันดับ 3 และ 4 ของจีน สำหรับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น จีนก็ต่างเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของทั้งคู่ ส่วนญี่ปุ่นเองนั้นก็มีเกาหลีใต้เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 เส้นใยที่เชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อนนี้ทำให้เห็นว่าในทางเศรษฐกิจชาติเหล่านี้แยกกันไม่ขาด

 

“หากเจาะเฉพาะเกาหลีใต้ จะเห็นว่าเกาหลีใต้ยังคงต้องพึ่งพาตลาดจีนอย่างมหาศาล เพราะเกาหลีใต้ประเทศเล็กนิดเดียว คนไม่กี่สิบล้านคน ฉะนั้น ตลาดที่สำคัญของเกาหลีใต้คือจีนที่มีประชาชนหลักพันล้านคน”

 

ถ้าไม่มีจีน เกาหลีใต้อยู่ไม่ได้ ถึงแม้จะบอกว่าเกาหลีใต้จะหันกลับไปเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น แต่อย่างไรเสียก็เป็นพันธมิตรที่ทำได้แบบจำกัด เพราะเกาหลีใต้เองยังต้องพึ่งพาจีนอยู่ไม่น้อย

 

“ถามว่าความบาดหมางจะดีขึ้นได้แค่ไหน ก็คงดีได้แค่ถึงจุดจุดหนึ่ง เนื่องจากเศรษฐกิจของเกาหลีใต้และญี่ปุ่นมันผูกกันไว้กับจีนมาก ถ้าจีนรู้สึกว่าทั้งสองประเทศนี้ร่วมมือกันก่อหวอดเป็นภัยกับตัวเอง จีนก็อาจใช้นโยบายเศรษฐกิจมาเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าได้ อย่างเช่นที่คนจีนพากันแบนสินค้าของ H&M อย่างหนัก ฉะนั้นเกาหลีใต้จึงต้องระมัดระวังในการเดินเกมว่า ตนเองจะเข้ากับญี่ปุ่นหรือสหรัฐฯ ได้มากน้อยแค่ไหน”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising