×

‘วายแอลจี’ ชี้ เทรนด์ทองคำปีนี้ขาขึ้น เหตุดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ กองทุนซื้อสะสมต่อเนื่อง พร้อมมองราคาในประเทศ 29,000 บาทต่อบาททองคำ

15.02.2022
  • LOADING...
เทรนด์ทองคำ

วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส มองเทรนด์ทองคำปีนี้เป็นขาขึ้น แม้ Fed เตรียมขึ้นดอกเบี้ย เหตุดอกเบี้ยแท้จริงติดลบ ขณะที่ข้อพิพาทยูเครนระอุ ดึงกองทุนเก็บทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยต่อเนื่อง พร้อมประเมินแนวโน้มราคาทองคำในประเทศรอบนี้แตะ 29,000 บาทต่อบาททองคำ เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่ากดดัน ด้านราคาทองคำวานนี้ (15 กุมภาพันธ์) ทะยานเข้าหาแนวต้าน 1,880 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนโดนแรงขายทำกำไร 

 

ฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาด TFEX เปิดเผยว่า ในช่วงต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบัน แม้ราคาทองคำจะไม่ได้เคลื่อนไหวอย่างหวือหวา แต่ภาพรวมยังเป็นการปรับตัวขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป 

 

โดยล่าสุดนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ล่าสุดราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้นไปยืนเหนือ 1,850 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เนื่องจากมีเม็ดเงินไหลเข้าจาก SPDR ซึ่งเป็นกองทุนทองคำขนาดใหญ่ หลังจากที่ปีที่ผ่านมากองทุนได้เทขายทองคำอย่างต่อเนื่อง 

 

ปัจจัยสนับสนุนให้นักลงทุนหันมาลงทุนในทองคำในปีนี้ คือแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงในรอบ 40 ปี จึงทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังติดลบอยู่ แม้ว่าปีนี้จะเป็นปีที่ตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยการปรับที่เร็วสุดน่าจะเกิดขึ้นในการประชุมเดือนมีนาคมนี้

 

นอกจากนี้ ทองคำยังได้รับปัจจัยบวกจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนกรณีความขัดแย้งสหรัฐฯ-รัสเซีย ในข้อพิพาทยูเครน ที่ต้องเริ่มจับตาอย่างใกล้ชิดหลังจากที่มีข่าวว่าอาจจะมีการโจมตีเกิดขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของความต้องการทองคำจากอินเดียและจีน จึงทำให้ความต้องการทองคำมีมากขึ้นทั้งในส่วนของการลงทุนในตลาดทองคำล่วงหน้า (Futures) และทองคำกายภาพ 

 

โดยวายแอลจีแนะนำให้หาจังหวะซื้อที่แนวรับ 1,834-1,848 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 1,895-1,916 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำในประเทศรอบนี้มองว่ามีโอกาสแตะ 29,000 บาท เนื่องจากค่าเงินบาทค่อนข้างแข็งค่า 

 

ด้านความเคลื่อนไหวราคาทองคำวานนี้ (15 กุมภาพันธ์) ราคาไต่ระดับขึ้นมาทดสอบแนวต้านที่ 1,880 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จากนั้นมีแรงขายทำกำไรต่อเนื่อง กดราคาปรับระดับไปซื้อขายในช่วง 1,860 ดอลลาร์ต่อออนซ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising