×

ยึดทรัพย์ ยิ่งลักษณ์ เรื่องเก่าเล่าใหม่ บ้านแม้ถูกยึด แต่สามี-บุตร ขออยู่ต่อได้

01.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ต้องชดใช้เงินค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวจำนวนกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท
  • ยิ่งลักษณ์ถูกยึดทรัพย์สินไปตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560 แต่ทีมทนายได้ยื่นขอทุเลาคำสั่งครั้งที่ 2 ก่อนถูกยกคำขอไปเมื่อ 29 มกราคมที่ผ่านมา
  • การยึดทรัพย์อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีการขายทอดตลาด เพราะเกรงจะถูกยื่นขอทุเลาคำสั่งอีกครั้ง ซึ่งกฎหมายเปิดโอกาสให้ยื่นคำขอทุเลาได้เรื่อยๆ

หลังการไม่ปรากฏตัวของอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีเพิกเฉยปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560

 

การตามหาตัวเธอก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการต่อไป เช่นเดียวกับกระบวนการยึดทรัพย์ค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว

 

ซึ่งดูเหมือนทั้ง 2 กรณีก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ มากนัก

 

ข่าวยึดทรัพย์ยิ่งลักษณ์กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง หลังศาลปกครองมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับคดีในคดีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2561

 

สื่อบางสำนักมีการพาดหัวข่าว ‘ยึดบ้านยิ่งลักษณ์’ ซึ่งสร้างความแตกตื่นพอสมควร แต่จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า นี่อาจเป็นข้อมูลเก่าที่ถูกทำให้เป็นประเด็นใหม่

 

 

ทนายความเผย ยิ่งลักษณ์ถูกยึดทรัพย์ไปตั้งแต่กลางปี 2560

นพดล หลาวทอง ทนายความของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า เตรียมยื่นคำขอทุเลาการบังคับคดีอีกครั้ง เนื่องจากกฎหมายเปิดโอกาสให้สามารถยื่นคำขอทุเลาการบังคับคดีได้เรื่อยๆ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลเพื่อยื่นขอทุเลาการยึดทรัพย์ ซึ่งถือเป็นการยื่นครั้งที่ 3 แล้ว พร้อมยืนยันว่าที่ผ่านมาอดีตนายกฯ ไม่เคยมีพฤติการณ์ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินใดๆ

 

ทนายความบอกด้วยว่า ตามข้อเท็จจริงมีการยึดทรัพย์อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ไว้ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2560 ประกอบด้วย บ้าน-ที่ดิน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด, คอนโดมิเนียมห้องชุด และอายัดบัญชีเงินฝากประมาณ 12-13 บัญชี รวมประมาณ 30 รายการ

 

เป็นเหตุให้ทีมทนายความยื่นคำขอทุเลาการบังคับคดีให้ยึดทรัพย์เป็นครั้งที่ 2 จนล่าสุดศาลปกครองมีคำสั่งยกคำขอทุเลาไปเมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา จึงทำให้กรมบังคับคดีสามารถเดินหน้ายึดทรัพย์ และสืบหาทรัพย์สินของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์อื่นๆ ต่อไปได้

 

ทนายความเปิดเผยด้วยว่า มติตุลาการศาลปกครองที่สั่งยกคำขอทุเลาคือ 5 ต่อ 2 ดังนั้น เป็นหน้าที่ของทีมทนายที่ต้องหาเหตุผลและข้อมูลเพิ่มเติมในการยื่นคำขอทุเลาครั้งต่อไปเพื่อโน้มน้าวให้ตุลาการศาลปกครองอีกอย่างน้อย 2 ท่าน เห็นคล้อยตามเหตุผลของฝ่ายอดีตนายก

 

สำหรับเหตุผลหลักที่ทีมทนายความยื่นต่อศาลปกครองที่ผ่านมา คือเห็นว่าคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ยังไม่มีคำพิพากษาออกมา ดังนั้นจึงถือว่าคดียังไม่ถึงที่สุด และเมื่อเทียบกับคดีอื่นทั่วไปที่ผ่านมา หากศาลยังพิจารณาพิพากษาไม่ถึงที่สุดก็จะไม่มีการอายัด-ยึดทรัพย์ใดๆ

 

 

แม้บ้านยิ่งลักษณ์ถูกยึด แต่สามี-บุตร ขออยู่ต่อได้

1 กุมภาพันธ์ 2561 ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการอายัดทรัพย์สินของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า สาเหตุที่ยึดบ้านพักของยิ่งลักษณ์ ภายในโยธินพัฒนา 3 เพราะเจ้าหน้าที่พิจารณาจากเอกสารสิทธิ ส.ค.1 ที่มีชื่อของนางสาวยิ่งลักษณ์เป็นเจ้าของ และแม้จะเป็นสินสมรสก็สามารถดำเนินการได้

 

วิษณุยอมรับว่า ตามคำสั่ง ม.44 เจ้าหน้าที่สามารถยึดและขายทอดตลาดได้ แต่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่พิจารณาดีแล้ว ว่าทรัพย์สินใดควรจะดำเนินการอย่างไร เพราะบางกรณีไม่ควรขาย เนื่องจากอาจเกิดปัญหาตามมา จากการขอทุเลาการบังคับคดีหรือการพิพากษาคดีในอนาคต

 

ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงดำเนินการตามสมควร ไม่ถึงขั้นเอาเป็นเอาตาย เพราะอย่างน้อยการอายัดหรือยึดไว้ก็มีประโยชน์ คือเจ้าของไม่สามารถนำไปขายได้

 

 

อย่างไรก็ตามแม้มีการอายัดบ้านไว้ แต่สามีและบุตรยังอาศัยต่อได้ โดยจะต้องขออนุญาต ซึ่งผู้ขอจะต้องรู้สถานะตนเอง และไม่สามารถตกแต่งดัดแปลง หรือรื้อถอนบ้านได้

 

ส่วนการตรวจสอบทรัพย์สินพบการยักย้ายถ่ายเทหรือไม่นั้น ตนตอบไม่ได้ แต่ผู้เป็นเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ชี้ช่องให้กรมบังคับคดีย่อมรู้ดีว่ามีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินหรือไม่และมีจำนวนกี่รายการ

 

สำหรับบ้านพักซอยโยธินพัฒนา 3 เป็นบ้านพัก 2 ชั้น พร้อมสนามฟุตบอล ตั้งอยู่ที่ซอยนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ มูลค่าล่าสุดที่แจ้งไว้กับ ป.ป.ช. คือ 110,000,000 บาท

 

มหากาพย์ตามยึดทรัพย์ยิ่งลักษณ์ งัด ม.44 กรุยทาง

ย้อนไปเมื่อ 13 กันยายน 2559 หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 56/2559 มอบอำนาจให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์จากความเสียหายการทุจริตซื้อข้าว ตามที่คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ได้เคาะตัวเลขให้ยิ่งลักษณ์ชดใช้เงิน 35,717 ล้านบาท

 

ขณะที่สาระสำคัญของคำสั่งตาม ม.44 ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์คือการคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดใดๆ ทั้งสิ้น ในการดำเนินการยึดทรัพย์อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์

 

จากนั้นมีข้อมูลว่า กรมบังคับคดีได้เริ่มต้นกระบวนการยึดทรัพย์ยิ่งลักษณ์ ด้วยการอายัดบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพจำนวน 7 บัญชี จากทั้งหมด 12 บัญชีที่กระทรวงการคลังส่งข้อมูลมาให้

 

 

ยื่นขอทุเลายึดทรัพย์ครั้งที่ 1 พร้อมฟ้องประยุทธ์

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 ยิ่งลักษณ์ได้ยื่นฟ้อง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกับพวกรวม 4 คนต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่กระทรวงการคลัง เรียกให้ยิ่งลักษณ์ชดใช้เงิน 35,717 ล้านบาท พร้อมกับขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้ตามคำสั่งดังกล่าวหรือระงับคำสั่งให้ชดใช้เงินดังกล่าวไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

 

แต่แล้วศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวของยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2560

 

ยื่นขอทุเลายึดทรัพย์ครั้งที่ 2 ศาลชี้ว่ามีมูลยักย้ายทรัพย์สิน

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ได้ยื่นขอทุเลาการยึดทรัพย์อีกครั้ง แต่ศาลปกครองก็ยกคำขอทุเลาอีกครั้ง พร้อมระบุด้วยว่า มีพฤติการณ์เชื่อได้ว่ามีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน

 

โดยศาลระบุว่า บัญชีเงินฝากทั้ง 16 บัญชีที่ยิ่งลักษณ์ยื่นต่อ ป.ป.ช. เมื่อพ้นจากตำแหน่งครบ 1 ปี มีจำนวนกว่า 24 ล้านบาท แต่เมื่อเจ้าหน้าที่อายัด พบว่ามีเงินเหลือในบัญชีประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งยิ่งลักษณ์ไม่ชี้แจงประเด็นนี้ต่อศาล จึงเชื่อได้ว่ามีพฤติการณ์ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินจริง

 

ส่วนกรณีที่ยิ่งลักษณ์อ้างว่าได้มีการใช้มาตรการบังคับทางปกครองในการยึดอายัดทรัพย์สินบางรายการไปแล้ว ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ยากแก่การเยียวยาภายหลังนั้น ศาลเห็นว่ากระทรวงการคลังมีศักยภาพในการชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นในภายหลัง หากศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพิพาทแล้ว

 

 

สำหรับทรัพย์สินของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ตามบัญชีแสดงทรัพย์สิน-หนี้สินของ ป.ป.ช. ที่เคยยื่นไว้เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2559 หลังยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 1 ปี

 

ยิ่งลักษณ์มีทรัพย์สินรวม 612,379,231.93 บาท หนี้สินรวม 33,070,803 บาท โดยกู้จากทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และพี่ชาย รวมมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 579,308,428.93 บาท

 

รายการทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. อาทิ เงินสดของยิ่งลักษณ์ จำนวน 14,298,120 บาท คู่สมรส (ไม่ได้จดทะเบียน) 4,000,000 บาท

 

เงินฝาก 16 บัญชีของยิ่งลักษณ์ 24,908,420.28 บาท คู่สมรส 5,847,160.87 บาท และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ 138,381.66 บาท

 

ยานพาหนะรวมมูลค่า 21,990,000 บาท สิทธิและสัมปทานของยิ่งลักษณ์ 569,189.32 บาท คู่สมรส 1,707,734.39 บาท บุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะ 1,397,413.52 บาท ทรัพย์สินอื่นๆ ทั้งนาฬิกาหรูและกระเป๋าแบรนด์เนมรวม 45,690,000 บาท

 

รวมถึงรายการที่ดินจำนวน 14 แปลง รายการโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 33 รายการ รวมจำนวนเงิน 162,368,182.40 บาท

 

Photo: AFP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X