×

ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดยิ่งลักษณ์ ใช้อำนาจโอนย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี โดยมิชอบ ส่งฟ้องศาลฎีกานักการเมือง

โดย THE STANDARD TEAM
01.07.2020
  • LOADING...

วันนี้ (1 กรกฎาคม) เวลา 10.00 น. นิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการชี้มูลความผิดกรณี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับพวก ใช้อำนาจโอน ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ โดยมิชอบ

 

จากข้อเท็จจริงเมื่อ พ.ศ. 2554 ขณะ ถวิล เปลี่ยนศรี ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. เป็นหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับกิจการความมั่นคงของประเทศ โดยเป็นที่ปรึกษา เสนอแนะนโยบาย มาตรการ และแนวทางปฏิบัติด้านความมั่นคงแห่งชาติ ต่อ สมช. โดยเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้โทรศัพท์สั่งการให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีดำเนินการทำเรื่องขอรับโอน ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. มาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ จากนั้นสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีบันทึกข้อความลงวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554 ถึง กฤษณา สีหลักษณ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อขอความยินยอมรับโอน ถวิล เปลี่ยนศรี มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ และได้มีบันทึกข้อความ ลงวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554 ถึง พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ในฐานะรัฐมนตรีเจ้าสังกัดของ สมช. เพื่อให้ความเห็นชอบและยินยอมการโอน ถวิล เปลี่ยนศรี มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ซึ่งทั้ง กฤษณา สีหลักษณ์ และ พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ ต่างให้ความเห็นชอบและยินยอมการโอนดังกล่าว และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ

 

กรณีดังกล่าว สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ตรวจพบว่า วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554 เป็นวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ จึงได้มีการแก้ไขบันทึกข้อความทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554 แต่เป็นการแก้ก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

 

วันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเป็นวาระจร และในวันเดียวกันคณะรัฐมนตรีได้มีการประชุมและลงมติรับทราบให้โอน ถวิล เปลี่ยนศรี มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ จากนั้น ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ได้มีคำสั่งให้ ถวิล เปลี่ยนศรี มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีในตำแหน่งดังกล่าวทันที ซึ่งการแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าวดำเนินการอย่างเร่งรีบรวบรัดแล้วเสร็จภายใน 4 วันเท่านั้น

 

จากนั้นในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2554 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแต่งตั้ง พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. และในวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ได้เสนอชื่อ พล.ต.อ. เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555 และเป็นเครือญาติของตนเอง ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแทนตำแหน่งที่ว่างลงต่อที่ประชุม ก.ต.ช. ในการประชุมครั้งที่ 5/2554 วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ซึ่งที่ประชุม ก.ต.ช. มีมติเห็นชอบ

 

ในกรณีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.992/2556 คดีหมายเลขแดงที่ อ. 33/2557 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ว่า การแต่งตั้งโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ให้มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ เป็นการลดบทบาทและอำนาจหน้าที่ลง โดยไม่แสดงเหตุผลที่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ถวิล เปลี่ยนศรี ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีประสิทธิภาพ มีข้อบกพร่อง หรือไม่สนองนโยบายของรัฐบาล ซึ่งถือได้ว่ามีเหตุผลสมควรที่ผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งโอนได้ตามความเหมาะสม จึงถือได้ว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

 

อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 9/2557 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ว่า การกระทำของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เอื้อประโยชน์ให้ พล.ต.อ. เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ซึ่งเป็นเครือญาติ เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ การกระทำทั้งหมดมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและของประชาชนแต่อย่างใด อันแสดงให้เห็นถึงการมีผลประโยชน์ทับซ้อนและมีวาระซ่อนเร้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยทุจริต

 

การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ ถวิล เปลี่ยนศรี ได้รับความเสียหาย และเป็นการกระทำเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ พล.ต.อ. เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ซึ่งเป็นเครือญาติของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

 

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนแล้วเห็นว่า การกระทำของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหา มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจ ในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542       แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192

 

ส่วนผู้ถูกกล่าวหาอื่นเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

 

ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็น พร้อมสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 76 ต่อไป

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising