×

ย้อนเส้นทางคดีจำนำข้าว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สู่วันพิพากษา ชี้ชะตาการเมืองไทย!

23.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins Read
  • กว่า 6 ปี ที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินอยู่บนถนนการเมือง แม้ว่าเวลานี้จะไม่มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการใดๆ แต่เธอ คือ ‘นักการเมือง’ ตลอดกาล มรสุมที่ถาโถมทั้งในช่วงเป็นนายกฯ และตกเก้าอี้ มีนับไม่ถ้วน แต่ ‘คดีจำนำข้าว’ จะเป็นจุดชี้ชะตาทางการเมืองเธออีกครั้ง พร้อมๆ กับชี้อุณหภูมิและบรรยากาศทางการเมืองของไทยนับแต่รู้ผลคำพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาคมนี้
  • 2 ปี 6 เดือน คือจำนวนตัวเลขเวลาที่ต้องต่อสู้คดีจำนำข้าว ซึ่งกินเวลาช่วงใหญ่ในระหว่างลงสนามการเมือง ผลการตัดสินอาจออกมาได้ 3 แนวทาง ตามกฎเกณฑ์ของกฎหมาย และมีหนทางให้ใช้สิทธิอุทธรณ์คดีตามสิทธิของคู่ความ

     อภิมหากาพย์คดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ที่ยืดเยื้อยาวนานเป็นเวลากว่า 2 ปี 6 เดือน กำลังจะรูดม่านปิดฉาก หากนับจากจุดสตาร์ทเริ่มต้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2558 ที่อัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

     จะออกหัวหรือออกก้อย รู้ผลการตัดสินคดี ในวันที่ 25 สิงหาคมนี้

     อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งตกเป็นจำเลย เริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการไต่สวนของศาลฎีกาฯ นับตั้งแต่ที่ศาลได้รับฟ้องคดีไว้ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2558

     ศาลได้นัดไต่สวนพยานโจทก์และจำเลยรวม 45 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 26 นัด ฝ่ายโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม 21 ครั้ง ไต่สวนพยานไป 15 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 10 นัด ฝ่ายจำเลยยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติม 51 ครั้ง ไต่สวนพยาน 30 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 16 นัด

     THE STANDARD จะพาย้อนไปทบทวนเส้นทางของคดีนี้ ซึ่งถูกจับตาอย่างมากจากทั้งสื่อไทยและต่างประเทศ ว่าผลสรุปของคดีจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะนี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้ง ที่ส่งให้อุณหภูมิการเมืองนับจากนี้ไปอาจร้อนระอุ หรือถึงขั้นกลับมาสู่จุดเดือดอีกครั้ง แบบที่หลายฝ่ายพยายามวิเคราะห์

 

 

จุดเริ่มต้นโครงการรับจำนำข้าว ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์

     ย้อนกลับไปเมื่อปี 2554 รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ชนะการเลือกตั้ง ได้เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล โดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง สร.1 เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย แต่ถึงกระนั้นก็ยังถูกมองว่าเป็น นอมินี หรือตัวแทนของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้มีศักดิ์เป็นพี่ชายแท้ๆ ของเธอเอง

     รัฐบาลพรรคเพื่อไทย กลับมาใช้นโยบายรับจำนำข้าวเปลือกอีกครั้งในปีการผลิต 2554/2555 และยกระดับราคารับจำนำข้าวเปลือก เป็นตันละ 15,000 บาท ซึ่งได้ประกาศเป็นนโยบายตอนหาเสียงเลือกตั้ง รวมทั้งแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยประกาศเริ่มโครงการรับจำนำผลผลิตข้าวจากชาวนาหมดทุกเมล็ดในวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ทั้งแบบประทวนและยุ้งฉาง ขณะนั้นมี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ดำรงตำแแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ดำเนินโครงการ

     และหากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ มีการจัดทำโครงการรับจำนำข้าวมาแล้ว 35 ปี ซึ่งรัฐบาลขาดทุนตลอด โดยครั้งแรกเริ่มต้นเมื่อปี 2525 ขณะนั้นมีการจัดทำโครงการนี้ เป็นการรับจำนำข้าวเปลือก ของ ธ.ก.ส. โดยให้ชาวนานำข้าวเปลือกมามาจำนำกับ ธ.ก.ส. และต้องนำไปฝากไว้ที่หน่วยงานองค์การคลังสินค้าในพื้นที่

 

 

ลำดับเวลาคดีจำนำข้าว จากสภาสู่ ม็อบ จบที่ ศาล

     อีกไม่กี่วันก็จะได้รู้ผลของคำพิพากษา ‘คดีโครงการรับจำนำข้าว’ พร้อมกันทั่วประเทศ สำหรับข้อหาที่อัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลย ก็คือ ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามมาตรา 123/1 ซึ่งแก้ไขตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 จากกรณีปล่อยปละละเลยไม่ยับยั้งโครงการจำนำข้าวที่ทำให้รัฐได้รับความเสียหายนับแสนล้านบาท ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาท ถึงสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

     และต่อไปนี้คือลำดับเวลาของเหตุการณ์สำคัญแต่ละช่วงในคดีนี้

 

 

ปี 2555

     เดือนตุลาคมต่อเนื่องถึงเดือนพฤศจิกายน มีการยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. 3 ครั้งให้ตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว โดยพรรคการเมืองใหม่, องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส. พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ในการยื่นครั้งนี้โฟกัสไปที่การทุจริตระบายข้าวแบบจีทูจี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรับจำนำข้าว

     ขณะที่ปลายปีเดียวกันนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นำ ส.ส. ฝ่ายค้าน ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ประเด็นทุจริตโครงการรับจำนำข้าว โดยเฉพาะการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G2G)

 

ปี 2556

     5 มิถุนายน นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม ยื่น ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบการระบายข้าวค้างเก่าในโครงการรับจำนำปี 2554/2555 เป้าหมายในการยื่น ป.ป.ช. ครั้งนี้ เน้นไปที่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงคณะกรรมการนโยบายข้าว และนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าว

 

 

ปี 2557

     20 มกราคม กปปส. หรือ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่เปิดฉากชุมนุมขับไล่รัฐบาลเพื่อไทย ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556-เดือนพฤษภาคม 2557 ได้เคลื่อนขบวนจากเวทีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปปิดล้อมธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ที่สะพานควาย เพื่อคัดค้านการนำเงินฝากของประชาชนมาช่วยเหลือโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันการทุจริต

     28 มกราคม ป.ป.ช. ตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ไต่สวนนางสาวยิ่งลักษณ์ ในคดีโครงการรับจำนำข้าว และใช้เวลา 21 วันในการแจ้งข้อกล่าวหา

     8 พฤษภาคม ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ชี้มูลนางสาวยิ่งลักษณ์ คดีจำนำข้าว ส่งเรื่องให้ ส.ว. ดำเนินการถอดถอน

     22 พฤษภาคม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐประหารรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์

     17 กรกฎาคม ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ชี้มูลนางสาวยิ่งลักษณ์ คดีจำนำข้าว ผิดในส่วนคดีอาญา

 

 

ปี 2558

     23 มกราคม อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์วันเดียวกับที่ สนช. มีมติถอดถอนด้วยคะแนน 190 ต่อ 18 เสียง ตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี

     12 กุมภาพันธ์ ป.ป.ช. ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ให้เรียกค่าเสียหายจาก นางสาวยิ่งลักษณ์ในโครงการรับจำนำข้าว

     19 กุมภาพันธ์ อัยการสูงสุดยื่นฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ต่อ ‘ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง’ ให้เอาผิดฐานปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 123/1 วรรคสี่ มีอัตราโทษสูงสุดคือจำคุก 10 ปี

     19 มีนาคม ศาลฎีกาฯ รับฟ้อง

     19 พฤษภาคม ศาลฎีกาฯ เริ่มพิจารณาคดีครั้งแรก โดยให้นางสาวยิ่งลักษณ์มาศาลทุกครั้งในการไต่สวนพยานทั้งฝ่ายโจทก์-จำเลย และให้ประกันตัวด้วยเงินสด 30 ล้านบาท

     29 กันยายน นางสาวยิ่งลักษณ์ ยื่นฟ้องอัยการสูงสุดกับพวกต่อศาลอาญา ข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีสั่งฟ้อง แต่ศาลไม่รับคำฟ้อง

 

 

ปี 2559

     15 มกราคม เริ่มไต่สวนพยานนัดแรก

     13 พฤษภาคม นางสาวยิ่งลักษณ์ยื่นฟ้องนายจิรชัย มูลทองโร่ย ประธาน คกก. ตรวจสอบความรับผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าว

     13 ตุลาคม รมว. คลัง เซ็นคำสั่งทางปกครองให้นางสาวยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว 35,717,273,028 ล้านบาท ภายใน 30 วัน

     23 พฤศจิกายน นางสาวยิ่งลักษณ์ยื่นฟ้องพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวก เรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท กรณีตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความรับผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าว

 

 

ปี 2560

     26 มกราคม ศาลปกครองกลางรับฟ้องคดีที่นางสาวยิ่งลักษณ์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งชดใช้ค่าเสียหาย 35,717 ล้านบาท ต่อมาศาลมีคำสั่งไม่ทุเลาบังคับคดี

     29 มิถุนายน นางสาวยิ่งลักษณ์ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาฯ ออกเดินเผชิญสืบที่โรงสีข้าว จ.อ่างทอง แต่ศาลยกคำร้อง

     7 กรกฎาคม นางสาวยิ่งลักษณ์ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาฯ ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายวิธีพิจารณาคดีในศาลฎีกาฯ ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ศาลยกคำร้อง

     21 กรกฎาคม ไต่สวนพยานนัดสุดท้ายในคดีจำนำข้าว

     26 กรกฎาคม กรมบังคับคดีได้รับคำสั่งให้อายัดบัญชีของยิ่งลักษณ์ 12 บัญชี แต่พลเอกประยุทธ์ยืนยันว่ายังไม่มีการยึดทรัพย์

     1 สิงหาคม นางสาวยิ่งลักษณ์แถลงปิดคดีด้วยวาจาต่อศาลฎีกาฯ ถ้อยแถลงมีความยาว 19 หน้า ใน 6 ประเด็น

     25 สิงหาคม ศาลฎีกาฯ นัดฟังคำพิพากษา

 

 

อ่านคำพิพากษา 2 คดีข้าววันเดียวกัน

     หากดูจากลำดับคดีแล้ว เป็นเวลาเกือบ 6 ปีบนเส้นทางการเมืองของนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่ต้องเผชิญมรสุมต่างๆ ตั้งแต่เริ่มเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศ ไปจนถึงกรณีนิรโทษกรรมเหมาเข่ง ซึ่งเป็นตัวก่อชนวนให้ประชาชนออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ขณะเดียวกัน นโยบายรับจำนำข้าวถูกตรวจสอบอย่างหนักหน่วง นำมาขยายเป็นประเด็นทางการเมืองโจมตีเรื่องการทุจริตอย่างหนัก พร้อมๆ กับที่ฝ่ายรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ก็พยายามออกมาอธิบายถึงความรัดกุมและการจัดการอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้เกิดช่องโหว่ต่อการทุจริตในภาคปฏิบัติ แต่หลังการรัฐประหารดูเหมือนว่า คดีนี้จะได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ และเป็นคดีแรกๆ ในจำนวนอีกหลายสิบคดีในมือ ป.ป.ช. ที่จ่อคิวให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องพิสูจน์ตัวเอง

    นับเวลาจากนี้อีกไม่กี่อึดใจ ชีวิตของนางสาวยิ่งลักษณ์ อาจจะโล่งโปร่ง สดใส หรือมืดดำ ต้องรอคอยผลสรุป แต่เป็นที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ติดตามคดีอีกว่า ในวันที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นวันเดียวกันกับที่ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาคดีทุจริตจีทูจีของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวกรวม 28 ราย เนื่องจากข้อเท็จจริงและหลักฐานเสนอในคดีเชื่อมโยงกัน อีกทั้งองค์คณะผู้พิพากษามีจำนวน 5 คนที่ร่วมพิจารณาทั้ง 2 สำนวน

     ขณะที่มีรายงานว่าศาลจะอ่านคำพิพากษาในส่วนคดีของนายบุญทรงก่อนเป็นคดีแรก แต่ต้องลุ้นว่า จำเลย 28 ราย จะมาฟังคำพิพากษาครบหรือไม่ เพราะอาจเป็นเหตุให้ต้องเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปก่อนก็เป็นได้ และส่งผลต่อคดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ด้วย ซึ่งประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล

     สำหรับแนวทางการตัดสินคดี ซึ่งจะส่งผลต่อบรรยากาศของการเมืองไทย จะสามารถคาดการณ์ได้อย่างไรบ้างนั้น โปรดติดตามจาก THE STANDARD ในอีกไม่ช้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X