×

เช็กสถานะ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ขอลี้ภัยไปไหนได้บ้าง

28.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • สื่อหลายสำนักตีข่าวว่า อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์จะขอลี้ภัยที่อังกฤษ ซึ่งมีบ้านพักหรูของนายทักษิณอยู่ และเป็นประเทศที่นายทักษิณเดินทางไปบ่อย
  • ยิ่งลักษณ์อาจเข้าข่ายการขอลี้ภัยตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2492
  • คนในพรรคเพื่อไทยหลายคนเห็นตรงกันว่า อดีตนายกฯ หญิงจะแสดงท่าทีอย่างเป็นทางการภายในสัปดาห์นี้

     หลังการไม่ปรากฏตัวของ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในวันนัดอ่านคำพิพากษาคดีละเลยปล่อยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา

     คำถามที่ว่า “ยิ่งลักษณ์ อยู่ที่ไหน?”

     ยังไม่มีคำตอบอย่างเป็นทางการ มีแต่คำตอบที่อ้างจากแหล่งข่าวคนใกล้ชิดมาอีกที

     เอเอฟพี (AFP) สำนักข่าวดังระดับโลก อ้างแหล่งข่าวระดับสูงในรัฐบาล ระบุว่า ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายเตรียมแผนการให้น้องสาวหลบหนีมานานแล้ว เพราะเขายอมไม่ได้ที่จะเห็นน้องสาวของเขาต้องติดคุกแม้เพียงวันเดียว

     ขณะเดียวกันเป้าหมายปลายทางสุดท้ายของยิ่งลักษณ์ไม่ใช่ดูไบ แต่เป็นการขอสถานะผู้ลี้ภัยในอังกฤษ ประเทศที่เป็นรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2492 มีกว่า 147 ประเทศ ในอาเซียนมีทั้งกัมพูชาและฟิลิปปินส์ ส่วนไทยก็เข้าร่วมภาคีนี้ ขณะที่ประเทศยุโรปก็มีทั้งสหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, เบลเยียม, สวีเดน, สวิตเซอแลนด์, สหรัฐอเมริกา และแคนาดา เป็นต้น (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.unhcr.or.th/sites/default/files/3c0f495f4.pdf )

     การลี้ภัยไปอยู่อังกฤษมีความเป็นไปได้ไม่น้อย เนื่องจากทักษิณมีบ้านพักในกรุงลอนดอน มูลค่า 264 ล้านบาท (มูลค่าตามที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. สมัยเป็นนายกฯ) ขณะที่การฉลองวันคล้ายวันเกิดของนายทักษิณ 2 ปีล่าสุด ก็จัดงานเบิร์ธเดย์ที่ประเทศอังกฤษ

การไม่ได้ฟังคำพิพากษา หรือ การหนีคดี ไม่ผิดเงื่อนไขการขอลี้ภัย จากประสบการณ์การทำงานกับผู้ลี้ภัยที่มาลี้ภัยในไทย ยังไม่ต้องถึงขั้นไปขึ้นศาล แค่ถูกออกหมายจับก็หนีมาขอสถานะผู้ลี้ภัยได้แล้ว ถ้าพิสูจน์ได้ว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศต้นทางไม่น่าเชื่อถือ

ทางเข้าบ้านพักส่วนตัวของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ประเทศอังกฤษ 

 

     และหากย้อนไปหลังการรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ โดยคมช. เมื่อปี 2549 อังกฤษก็เป็นประเทศที่นายทักษิณ ไปพำนักอยู่ถึง 1 ปี 5 เดือน ก่อนจะกลับเมืองไทยมามอบตัวในคดีที่ดินรัชดา และหนีไปอีกครั้งหลังศาลให้ประกันตัว โดยอ้างว่าจะไปร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศจีน

 

การขอลี้ภัยต้องทำอย่างไร?

     อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2492 (Convention relating to the Status of Refugees) ให้คำนิยาม และความหมายของสถานภาพผู้ลี้ภัยว่า

     ผู้ลี้ภัย หมายถึง บุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหารหรือได้รับการคุกคามต่อชีวิตเนื่องจากสาเหตุข้อหนึ่งข้อใด เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สมาชิกภาพในกลุ่มทางสังคม สมาชิกภาพในกลุ่มความคิดทางการเมือง

 

Photo: PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP

 

     นักกฎหมายที่ทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในประเทศไทย อธิบายเพิ่มเติมให้ THE STANDARD ฟังว่า ใครก็ตามในโลกนี้สามารถยื่นคำขอเป็นผู้ลี้ภัยได้ทั้งหมด เพราะการยื่นคำขอเป็นสิทธิพื้นฐาน แต่การที่ UN จะให้สถานะ ‘ผู้ลี้ภัย’ กับใครนั้นมีเงื่อนไขกำหนดไว้ตามอนุสัญญาฯ

 

เงื่อนไขการขอลี้ภัย

  • ต้องอยู่นอกประเทศตัวเอง จะขอลี้ภัยในประเทศตัวเองไม่ได้
  • รัฐบาลประเทศต้นทางไม่สามารถคุ้มครองบุคคลคนนั้นได้
  • บุคคลนั้นอยู่ที่ใดที่หนึ่งของประเทศตัวเองไม่ได้

 

     ขณะที่ ‘การลี้ภัย’ คำว่า ‘ภัย’ ในที่นี้คือ การถูกประหัตประหารหรือได้รับการคุกคามต่อชีวิต ซึ่งมีที่มา 5 อย่าง ได้แก่

     1) เชื้อชาติ เช่น เป็นชนกลุ่มน้อย

     2) สัญชาติ

     3) ศาสนา

     4) ความเห็นทางการเมือง

     5) กลุ่มเฉพาะทางสังคม ซึ่งจะนิยามกว้างหน่อย อาจจะเป็นอะไรก็ได้ที่ส่งผลกระทบถึงการใช้ชีวิต เช่น บางคนเป็นโรคเจ็บป่วยร้ายแรง แล้วประเทศต้นทางเห็นว่าเป็นโรคน่ารังเกียจสมควรตาย ก็สามารถใช้เงื่อนไขนี้ขอลี้ภัยได้เหมือนกัน

 

     การพิจารณา ‘ขอลี้ภัย’ ต้องพิจารณาครบองค์ประกอบทั้งหมด คือ อยู่นอกประเทศ รัฐบาลคุ้มครองไม่ได้ อยู่ที่ใดที่หนึ่งในประเทศตัวเองไม่ได้ และเข้านิยามคำว่า ‘ภัย’ หนึ่งใน 5 ข้อข้างต้น โดยจะเข้าอันใดอันหนึ่งหรือหลายอันก็ได้ ซึ่งถ้าพิสูจน์ได้ว่าไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้ เพราะยังมีภัยต่อเนื่องอยู่ก็จะได้สถานะผู้ลี้ภัย

     “แม้ว่าแต่ละประเทศจะมีกระบวนการพิจารณาสถานะผู้ลี้ภัยที่ต่างกัน ถ้าเป็นประเทศที่อยู่ในภาคีอนุสัญญา รัฐบาลประเทศนั้นๆ จะเป็นผู้พิจารณาเอง แต่เงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์การพิจารณาจะใช้เหมือนกันทั่วโลก” นักกฎหมายกล่าว

 

‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ เข้าข่าย ‘ผู้ลี้ภัย’ หรือไม่?

     ในความเห็นของนักกฎหมายที่ทำงานด้านการลี้ภัยโดยตรงมองว่า กรณีอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ น่าจะเข้าข่ายขอลี้ภัยได้ โดยใช้เงื่อนไขความเห็นทางการเมือง และอาจใช้เงื่อนไขกลุ่มเฉพาะทางสังคม ในฐานะเป็นน้องสาวของทักษิณ ชินวัตร ในการยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัย

     “การไม่ได้ฟังคำพิพากษา หรือ การหนีคดี ไม่ผิดเงื่อนไขการขอลี้ภัย จากประสบการณ์การทำงานกับผู้ลี้ภัยที่มาลี้ภัยในไทย ยังไม่ต้องถึงขั้นไปขึ้นศาล แค่ถูกออกหมายจับก็หนีมาขอสถานะผู้ลี้ภัยได้แล้ว ถ้าพิสูจน์ได้ว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศต้นทางไม่น่าเชื่อถือนักกฎหมายยืนยัน

 

 

กว่าจะได้สถานะ ‘ผู้ลี้ภัย’ ไม่ง่ายอย่างที่คิด

     จักรภพ เพ็ญแข หนึ่งในผู้ลี้ภัยการเมือง เคยอธิบายขั้นตอนการขอลี้ภัยการเมืองไว้ว่า มีทั้งทางตรงและทางอ้อม

     กลุ่มลี้ภัยการเมืองทางตรง คือเข้ามายื่นเรื่องขอวีซ่าลี้ภัยทางการเมืองทันที (Asylum Visa) ซึ่งวีซ่าประเภทนี้ รัฐบาลของประเทศที่จะยื่นขอ จะต้องทำการพิสูจน์ทั้งหลักฐาน การสัมภาษณ์เจาะลึก เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนว่า หากบุคคลที่ยื่นขอเดินทางกลับประเทศตัวเองแล้วจะไม่ปลอดภัยถึงขั้นต้องเสียชีวิต ติดคุก หรือถูกทำร้ายหรือไม่

     ขณะเดียวกัน บุคคลที่ยื่นขอจะต้องไม่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวพันกับการใช้ความรุนแรง เป็นสมาชิกของกลุ่มองค์กรที่ใช้ความรุนแรง มีคดีอาชญากรรมติดตัว หากพิสูจน์ตรวจสอบด้วยพยานหลักฐานที่ชัดเจนแล้วก็ได้รับอนุมัติในเวลาเพียงไม่นาน

     ส่วน กลุ่มลี้ภัยการเมืองทางอ้อม ก็อาจจะหอบเงินเข้ามาทำธุรกิจ ลงทุนในจำนวนเงินที่รัฐบาลประเทศนั้นๆ กำหนด หรืออาจจะมาเป็นโรบินฮู้ดไปก่อน แล้วค่อยๆ หาช่องทางเพื่อที่จะอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

 

 

     จากนี้ยิ่งลักษณ์จะไปอยู่ที่ไหน ใช้ชีวิตอย่างไร คงไม่ใช่แค่คนที่รักเธอเท่านั้นที่สนใจ ฝ่ายตรงข้ามกับเธอก็คงอยากรู้เรื่องนี้ไม่แพ้กัน แต่จนถึงเวลานี้ยังไม่มีคำตอบยืนยันอย่างเป็นทางการจากอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์โดยตรง

     แต่คนในพรรคเพื่อไทยหลายคนเห็นตรงกันว่า อดีตนายกฯ หญิงจะแสดงท่าทีอย่างเป็นทางการภายในสัปดาห์นี้

 

 

Photo: PORNCHAI KITTIWONGSAKUL, MAX NASH/AFP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X